ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จริยธรรมของขงจื่อ

โดย อาจารย์ขันทอง วิชาเดช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ขงจื่อเป็นนักปราชญ์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของจีน ท่านเป็นผู้ตีความคำสอนเกี่ยวกับจารีต ประเพณี วัฒนธรรมให้มีความหมายในทางจริยธรรมมากยิ่งขึ้น จัดทำเป็นหมวดหมู่พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายและแสดงความเห็นเข้าไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้ขงจื่อจึงได้ชื่อว่าไม่เพียงแต่เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่ครั้งโบราณให้คงอยู่เท่านั้น หากยังได้เพิ่มเติมคำสอนใหม่ ๆ และขยายความวัฒนธรรมเดิมจนกลายเป็นระบบคำสอนที่ชัดเจนขึ้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรมนั้น ขงจื่อได้แบ่งจริยธรรมออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคลกับระดับสังคม

จริยธรรมระดับปัจเจกบุคคล มี 5 ประการ ได้แก่

ความชอบธรรม (อี๋)

จัดเป็นความดีสูงสุด หมายถึง ความถูกต้องเหมาะสม, การวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เข้ากับทำนองที่ว่า “รู้กาลเทศะ” หากเราเกิดความสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรและอะไรจะเป็นตัวบ่งบอกให้เราวางตัวได้เหมาะสม ขงจื่ออธิบายว่า “ก็คือหน้าที่” ซึ่งจะเป็นตัวบอกเราว่า ฐานะของเราในปัจจุบันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรในขอบเขตแค่ไหน เช่น พ่อแม่จะปฏิบัติต่อบุตรหลานอย่างไร ยอมรับว่าเป็นลูกของตนหรือไม่ อย่างนี้แหละเรียกว่า “ความชอบธรรม” คนฉลาดและมีปัญญาจะมีลักษณะเช่นนี้

มนุษยธรรม (เหริน)

คือ “รักผู้อื่น” เราอยู่ในสังคมและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันมากมาย แต่มีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งคนทั่ว ๆ ไปมักจะมองข้าม นั่นก็คือในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีหน้าที่ต้อง “รักผู้อื่น” และต้องรักจริง ๆ ปัญหาก็คือว่า เราจะรักผู้อื่นจริง ๆ ได้ไหม หรือรักอย่างไร ขงจื่อแสดงทัศนะว่า ถ้าพิจารณาจากคนใกล้ตัว ให้เอาใจใส่คนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ลูก ถ้าไกลตัวออกไป ก็รักคนทั้งโลก เหมือนกับพระพุทธศาสนาที่สอนเราว่าให้มีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ อย่าตกเป็นทาสของความรักแบบเสน่หาซึ่งไม่จีรังยั่งยืน หรือที่ศาสนาคริสต์บอกว่า “คนทั้งโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน” เพราะเกิดมาจากการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ความรู้สึกผิดชอบ (จง)

 “อยากให้เขาปฏิบัติกับเราอย่างไร เราก็ปฏิบัติอย่างนั้นกับเขา” หรือพูดตามสำนวนไทยว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ปกติแล้วเราปรารถนาจะให้ผู้อื่นเข้าใจเรามากกว่าเลยลืมนึกถึงหัวอกของผู้อื่น ถ้าเราอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เราจะซึ้งใจดีว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเกลียดความทุกข์ มุ่งหวังปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น วิธีคิดแบบนี้ขงจื่อมองว่า เมื่อเราพัฒนาตัวเองให้ดีแล้ว สังคมก็จะดีตาม ความรู้สึกผิดชอบเป็นกลไกของความเอื้ออาทร ดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน เพราะเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้

เห็นแก่ผู้อื่น (ซู่)

“อย่าปฏิบัติต่อเขาในสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา” จริยธรรมข้อนี้จะเน้นพฤติกรรมของคนที่เราไม่ชอบ แต่เราเอาพฤติกรรมนั้นไปใช้กับผู้อื่น เข้าทำนอง “นินทากาเล” ใส่ร้ายป้ายสีก่อให้เกิดความแตกแยก แตกร้าว เป็นการสร้างศัตรู บ่มเพาะความอาฆาตมาดร้าย ชิงชัง รังเกียจกันไม่มีที่สิ้นสุด

ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ (หมิ่น)

ก็คือการทำหน้าที่ของตนเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลถึงผลที่จะได้รับจากงานนั้น ทำงานด้วยเหตุว่า เป็นสิ่งที่ดีงามและสมควรทำ งานเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ไม่ว่าผลของงานจะออกมาในรูปแบบไหนก็ไม่ยึดติดกับงานนั้น เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสบอกว่า “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่” เป้าหมายมิใช่หวังอามิสสินจ้างรางวัลใด ๆ แต่ทำงานเพราะเป็นสิ่งมีคุณค่าที่มนุษย์พึงกระทำ

จริยธรรมระดับสังคม มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ความสัมพันธ์ทางสังคม สังคมที่ดีที่สุดคือสังคมที่มีความชอบธรรม ความชอบธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขงจื่ออธิบายว่า เกิดจากครอบครัวเพราะครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม และรากฐานของครอบครัวอยู่ที่ความสุข ความมั่นคง ความสุขในครอบครัวจะเกิดจากความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้คือ

  • พ่อแม่กับลูก หน้าที่ของพ่อแม่คือให้ความรักความเมตตาต่อลูก ส่วนลูกต้องมีความกตัญญู รู้คุณ
  • พี่กับน้อง หน้าที่ของพี่คือให้ความสุภาพอ่อนโยนกับน้อง ส่วนน้องก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และเคารพนับถือพี่ สามีกับภรรยา หน้าที่ของภรรยาสามีคือความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจกัน
  • เพื่อนกับเพื่อน มีหน้าที่ที่สำคัญคือมีความจริงใจ และซื่อสัตย์ต่อกัน
  • นายกับบ่าว หน้าที่ของนายหรือผู้บังคับบัญชาคือมีความเมตตา กรุณา ไม่อคติต่อบ่าวหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนบ่าวก็มีหน้าที่คือ เชื่อฟัง

การกำหนดตำแหน่งและขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของตนเอง และเป็นสิ่งกำกับหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตัวเอง

จริยธรรมของขงจื่อจะเริ่มจากตัวเองเสียก่อน แล้วค่อยขยายวงกว้างออกไปสู่สังคม เข้ากับทำนองที่ว่า “ก่อนจะสอนคนอื่น ต้องสอนตัวเองให้ได้เสียก่อน” พูดได้ทำได้ ปากกับใจต้องตรงกัน

แหล่งอ้างอิง
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, ดร. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2545.

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุดดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามโลกครั้งที่ 1
เป็นความขัดแย้งระดับโลกที่เกิดระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร และฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งไม่เคยปรากฏสงครามขนาดใหญ่ที่มีทหารหรือสมรภูมิเกี่ยวข้องมากขนาดนี้มาก่อน

» ประวัติศาสตร์ชนชาติจีน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือ 1,200 ล้านคน นั่นหมายความว่า ประชากรหนึ่งในห้าของโลกเป็นประชากรจีน

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War)
สงครามระหว่างอิรัก กับ อิหร่าน หรือที่นิยมเรียกว่าสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) นั้นได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1980 โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งอยู่หลายประการ

» แม่ไม้มวยไทย
การเล่นพื้นบ้านที่มีคุณลักษณะของการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการใช้อวัยวะในส่วนที่สามารถใช้ทำอันตรายคู่ต่อสู้ได้มาใช้งานอย่างชาญฉลาด และมีศิลปอย่างสูง

» ประวัติศาสตร์ศิลป์
วิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ศิลป์และการออกแบบศิลปะเครื่องประดับตะวันตกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ค้นพบในแต่ละช่วงสมัย และส่วนใหญ่มีแรงบันดาลใจมาจากการรู้จักธรรมชาติ