ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อโครงการอาหาร กลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อ โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2535/42/96/8 เมษายน 2535]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ "กองทุน" หมายความว่า กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันใน โรงเรียนประถมศึกษา "โรงเรียนประถมศึกษา" หมายความว่า โรงเรียนที่จัดการศึกษา ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2523 ทุกสังกัด

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน

"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการประถม ศึกษาแห่งชาติ "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลัง ประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินอื่นตามมาตรา 5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุน หมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการ ของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะ ทุพโภชนาการของเด็กตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เงินของกองทุนให้ใช้จ่ายในการจัดหาประโยชน์ของกองทุนได้ และเฉพาะส่วนที่เป็นดอกผลของกองทุนเท่านั้นที่อาจนำไปใช้จ่ายในกิจการ ตามมาตรา 11 (2) และ(4) ได้

มาตรา 5 กองทุนประกอบด้วย

(1) ทุนประเดิมตามมาตรา 16
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปี
(3) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาค
(4) ดอกผลที่เกิดจากกองทุน

มาตรา 6 ให้ผู้ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่กองทุนได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็น รองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณหรือผู้แทน อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนหรือผู้แทน อธิบดีกรม การปกครองหรือผู้แทน อธิบดีกรมบัญชีกลางหรือผู้แทน ผู้บัญชาการตำรวจ ตระเวนชายแดนหรือผู้แทน ปลัดกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการ คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็น ผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 8 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 7 ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อน

วาระหรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับ แต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับ วาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้ง อีกได้แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา 9 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีให้ออก
(4) เป็นบุคคลล้มละลาย
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็น โทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 10 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการและรองประธาน กรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มา ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียง เพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 11 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
(2) จัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนประถมศึกษา โดยคำนึงถึงลำดับความจำเป็นแห่งภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนใน แต่ละโรงเรียน
(3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการ ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้
(4) ดำเนินการทางด้านประชาสัมพันธ์ให้ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น บรรดาโรงเรียนต่าง ๆ และผู้ปกครองของ นักเรียนตลอดจนบุคคลทั่วไปได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนและปัญหา ภาวะทุพโภชนาการของเด็ก
(5) ควบคุม ติดตามผล และประเมินผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ นี้ แล้วรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
(6) ออกระเบียบหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อ พิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และ ให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา 13 การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน รวมทั้งการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 14 การจัดทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชี ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา 15 ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้คณะกรรมการ เสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงาน ตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบรับรองแล้ว ต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

มาตรา 16 ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลจัดสรรเงิน ให้แก่กองทุนดังนี้

(1) เป็นเงินทุนประเดิมห้าร้อยล้านบาท และ
(2) เป็นเงินงบค่าใช้จ่ายห้าสิบล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2536 เป็นต้นไป ทุกปีงบประมาณให้จัดสรรเงิน ให้เป็นทุนประเดิมปีละไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาท และให้เป็นงบค่าใช้จ่ายปีละ ไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทจนกว่ากองทุนจะมีเงินตามมาตรา 5 (1) และ (2) รวมกันถึงหกพันล้านบาท เงินงบค่าใช้จ่ายที่ได้รับตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กองทุนนำมา ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุนได้ และในการดำเนินการตามวรรคสอง ไม่ให้นับเงินดังกล่าวเป็นเงินตามมาตรา 5 (2)

มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ในปัจจุบัน เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาของทางราชการบางส่วนไม่ได้ รับอาหารอย่างเพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการอันมีผลทำให้การเจริญ เติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาของเด็กนักเรียนเหล่านั้นไม่เป็นไปตามเกณฑ์ มาตรฐาน สมควรให้มีการช่วยเหลือส่งเสริมและพัฒนาเด็กนักเรียนตลอดจน ลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียนดังกล่าวโดยจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการ อาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย