ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
โลกทัศน์อภิปรัชญาของเพลโต
โดย: ดวงเด่น นุเรมรัมย์
เพลโต้ (Plato) เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งของกรีกและของโลก อีกทั้งเป็นบุคคลแรกของประวัติศาสตร์โลก ที่สร้างปรัชญาขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์ และมีขอบข่ายกว้างขวางครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะเพลโต้ได้นำเอาจุดเด่นของนักปรัชญากรีกที่สำคัญ ๆ เช่น
- ใช้ความสงสัยของพวกโซฟิสท์มาอธิบายถึงสิ่งที่รับรู้ทางประสาทสัมผัส,
- ใช้ทฤษฎีปรมาณูของกลุ่มปรมาณูนิยมมาอธิบายถึงกำเนิดโลกและความไม่มีตัวตนของโลกวัตถุ,
- ใช้หลักอนิจจภาวะของเฮราคลีตุสมาอธิบายโลกผัสสะ,
- ใช้สัตหรือภวันต์ของกลุ่มอีเลียติกมาอธิบายโลกมโนภาพ,
- ใช้เรื่องจำนวนของกลุ่มไพธากอรัสมาอธิบายถึงระเบียบของแบบต่าง ๆ ในโลกมโนภาพ เป็นต้น
มาผสมผสานกันเป็นรากฐานรองรับปรัชญาของตน เพราะฉะนั้นปรัชญาของเพลโต้จึงครอบคลุมปรัชญากรีกดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้เป็นอย่างดี
อภิปรัชญาของเพลโต้
เพลโต้ถือว่าโลกมีอยู่ 2 โลก คือ โลกแห่งวัตถุ (Material World) ซึ่งเป็นโลกที่รู้ได้ทางประสาทสัมผัส คือทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย เหล่านี้ทำให้มนุษย์รู้รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเพลโต้ถือว่าเป็นโลกแห่งผัสสะ (Sensible World) ซึ่งโลกแห่งวัตถุนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เพียงชั่วคราว มีแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ (Subjective Reality) เป็นโลกแห่งมายาที่ไม่จริงแท้ ซึ่งเป็นโลกแห่งความไม่สมบูรณ์
ส่วนโลกที่สมบูรณ์นั้น เพลโต้เชื่อว่าเป็นโลกแห่งสัจจะแท้ (The Absolute Reality) ที่ไม่แปรปรวน เป็นโลกนิรันดร นั่นคือโลกแห่งแบบ (World Of Form Or Pattern) หรือโลกเหนือประสาทสัมผัส (Transcendental World) หรือโลกแห่งมโนภาพ (World Of Idea)
ทฤษฎีแห่งมโนภาพ (Idea) หรือแบบ (forms) ของเพลโต้นับเป็นการค้นพบทางปรัชญาที่สำคัญยิ่งของเพลโต้เอง ทฤษฎีนี้เสนอแก่นแท้หรือสาระของสรรพสิ่งต่างจากปฐมธาตุของปรัชญากรีกสมัยนั้น เพลโต้เสนอว่า แก่นแท้ของสรรพสิ่งเป็นมโนภาพที่ไม่กินเนื้อที่ ไม่มีรูปร่าง คำสอนของเพลโต้ได้หักล้างปรัชญาของโซฟิสต์ ผู้สอนว่าไม่มีความรู้แท้จริงอันเป็นมาตรฐานสากล เพราะว่าสิ่งที่เรารับรู้เป็นสสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในข้อนี้เพลโต้แย้งว่า ความรู้ที่สมบูรณ์มีอยู่เพราะสิ่งที่เรารับรู้ไม่ใช่สสาร แต่เป็นมโนภาพที่เป็นอมตะและไม่เปลี่ยนแปลง
มโนภาพ (Idea) คือ ทฤษฎีแห่งแบบ (Form) หรือความคิดรวบยอด (concept) ที่มีต่อรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย เช่น คนที่มีมากมาย ซึ่งแต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นคนอยู่นั่นเอง ทั้งนี้เพราะแต่ละคนนั้นมีลักษณะร่วมกัน นั้นคือความเป็นคน หรือคนเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไปในที่สุด แต่ความเป็นคนมิได้ตายตามไปด้วย ซึ่งความเป็นคนนี้เองที่เรียกว่า "แบบ"
คุณลักษณะของมโนภาพ หรือแบบ คือ
1. แบบเป็นสารัตถะ (Substance) ศัพท์คำนี้ตามความหมายทางปรัชญาแล้ว หมายถึงสภาวะที่สมบูรณ์โดยตัวเอง อยู่เหนือปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ได้ถูกสิ่งใดทำให้เกิดขึ้น แต่ทว่าเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งอื่น ๆ เป็นต้นว่า ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเจ้าทรงบังเกิดขึ้นเอง โดยที่ไม่ทรงอาศัยสิ่งใด
2. แบบเป็นสากล (Universal) กล่าวคือ ไม่เจาะจงเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แบบของม้า ก็มิได้หมายถึงม้าตัวใด แต่หมายถึงม้าทั่วไป นั่นคือความเป็นม้า
3. แบบเป็นความคิด มิใช่สิ่งของหรือวัตถุ สมมติว่าเป็นวัตถุ ก็จะต้องพบได้ในที่หนึ่งที่ใด และที่ว่าแบบเป็นความคิดนั้น ก็มิได้หมายความว่า แบบเป็นเพียงความคิดขึ้นมาเองเท่านั้น แต่ความคิดที่เป็นแบบจะต้องเป็นจริงโดยตัวของมันเอง และมาจากโลกแห่งแบบ
4. แบบแต่ละอย่างเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ มีเพียงหนึ่งเดียวท่ามกลางสิ่งที่มาร่วมแบบมากมาย เป็นต้นว่า แบบของคนมีเพียงหนึ่งเดียว ทั้ง ๆ ที่มีคนเป็นจำนวนมาก และก็ไม่มีแบบมากไปกว่าหนึ่ง
5. แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือแตกสลาย เนื่องจากสิ่งสวยงามทั้งหลายนั้นล้วนแต่เกิดขึ้นมาแล้วแตกสลายไป แต่ความงามจะไม่สลายลงไป คงอยู่เป็นนิรันดร์ และไม่ผันแปร เช่น แบบของคน จะคงที่อยู่อย่างนี้นิรันดร ไม่สั่นคลอนด้วยการเกิดแก่เจ็บตายไปตามตัวบุคคล
6. แบบอยู่เหนือกาละและเทศะ เพราะถ้าแบบอยู่ในกาละก็จะต้องเปลี่ยนแปลงและสูญสลาย แต่ถ้าแบบอยู่ในเทศะ ก็อาจพบได้ในที่ใดที่หนึ่งด้วยสายตา
7. แบบเป็นเหตุผล กล่าวคือ จะรู้ได้โดยเหตุผล หรือปัญญา (Wisdom) เท่านั้น เช่น ความดี ความจริง เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่จะรู้ได้ด้วยทางปัญญา
เนื่องจากเพลโต้เชื่อว่าโลกแห่งวัตถุนั้นเป็นเพียงเงา หรือภาพสะท้อน หรือลอกแบบมาจากมโนภาพในอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเพลโต้จึงถือว่าโลกแห่งมโนภาพหรือโลกแห่งแบบ เป็นโลกที่สำคัญที่สุด และสมบูรณ์ที่สุด ที่มิได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเปลี่ยนแปลง อันเป็นบ่อเกิดแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย
แต่ถึงอย่างไรโลกแห่งวัตถุก็ยังคงเป็นโลกแห่งความเป็นจริงอยู่บ้าง มิได้มีเพียงแต่ความเท็จเท่านั้น เหตุที่ว่ามีความจริงอยู่ด้วยนั้นเพราะโลกแห่งวัตถุมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นได้เพราะมีโลกแห่งแบบเป็นต้นกำเนิด กล่าวคือ ทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกล้วนแต่ลอกแบบมาจากแม่แบบในโลกแห่งมโนภาพทั้งนั้น ดังนั้นจึงมีรูปร่างต่างกัน มีคุณภาพต่างกัน เพราะต่างมีแม่แบบที่ต่างกัน ถ้าไม่มีแบบในโลกแห่งมโนภาพแล้วก็จะไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกได้เลย ดังคนกับเงา ถ้าไม่มีคน เงาของคนก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นโลกแห่งวัตถุจึงเป็นโลกที่มีความจริงเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนสมรรถภาพในการลอกแบบของสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ก็ล้วนแตกต่างกันไป บางครั้งก็ลอกแบบได้ใกล้เคียงกับแม่แบบ บางอย่างก็ลอกแบบได้ไม่ใกล้เคียง ดังนั้นอะไรที่ลอกแบบได้ใกล้เคียงกับแม่แบบมากเท่าใด ก็ย่อมสวยงามมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าสิ่งใดลอกแบบได้ห่างไกลแม่แบบมากเท่าใด ก็จะไม่สมบูรณ์มากเท่านั้น
นิทานเปรียบเทียบ
โดยทั่วไป คนเราเชื่อว่าการรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสหรือจิตเป็นบ่อเกิดของความรู้ ภาพที่เราเห็น เสียงที่เราได้ยิน เป็นของจริงแท้โดยไม่ต้องสงสัย คำสอนของ เพลโต้จึงอาจสวนทางกับความเชื่อของคนทั่วไปในสมัยกรีกโบราณ เพื่ออธิบายทฤษฎีความรู้ของเพลโต้ให้แจ่มชัด เพลโต้จึงผูกนิทานเรื่อง "ถ้า" (The Cave) ขึ้น นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า
คนหลายคนถูกกักขังอยู่ภายในถ้ำแห่งหนึ่งมาตั้งแต่วัยเด็ก พวกเขาถูกบังคับให้นั่งหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำด้านในสุด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับปากถ้ำ คนเหล่านั้นนั่งหันหลังให้กับปากถ้าตลอดเวลา พวกเขาต้องนั่งเป็นรูปปั้นเพราะถูกล่ามโซ่ที่ขาและใส่ขื่อคาที่คอ จึงไม่สามารถแม้จะเหลียวมองเพื่อนนักโทษที่นั่งอยู่ข้าง ๆ พวกเขานั่งประจันหน้าผนังถ้ำเหมือนผู้ชมหันหน้าเข้าหาจอภาพยนตร์ บริเวณด้านหลังนักโทษเหล่านั้น มียกพื้นลาดสูงขึ้นไปจนถึงปากถ้ำที่มีแสงสว่างจากโลกภายนอกสาดเข้ามารำไร ใกล้กับปากถ้ำมีกองไฟลุกโชนอยู่ แสงไฟแผ่ออกไปจับที่ผนังถ้าด้านหน้านักโทษ และในบริเวณระหว่างด้านหลังนักโทษกับกองไฟ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเดินไปมาขวักไขว่ ในมือคนเหล่านั้นมีภาชนะรูปปั้นและหุ่นจำลองของสัตว์ต่าง ๆ เงาของคนที่เดินและสิ่งของในมือที่ไปทาบอยู่ที่ผนังถ้ำด้านหน้านักโทษทั้งหลาย พวกนักโทษเห็นเพียงเงาที่ผนังถ้ำ แต่ไม่อาจเหลียวมองดูที่มาของเงา เนื่องจากนักโทษเห็นเงาเหล่านั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก พวกเขาจึงไม่ได้คิดว่าภาพที่เห็นเป็นแค่เงา พวกเขาถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นจริงในตัวเอง และเมื่อคนที่เดินอยู่ด้านหลังพูดคุยกัน นักโทษก็คิดว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกมาจากภาพที่ผนังถ้ำ
ถ้านักโทษคนหนึ่งถูกปลดปล่อยจากพันธนาการ เขาสามารถหันกลับไปด้านหลัง และมองเห็นกลุ่มคนอันเป็นที่มาของเงาบนผนังถ้ำ เขาประหลาดใจมากที่พบว่า คนเหล่านั้นกับเงาที่ผนังถ้ำเคลื่อนไหวไปมาพร้อมกัน เขาจะสรุปตามความเคยชินว่า สิ่งที่เขาค้นพบใหม่เป็นภาพลวงตา สิ่งที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำต่างหากที่เป็นของจริง ต่อเมื่อคนอื่นมาอธิบายชี้แจงจึงเข้าใจว่า ตัวเองได้หลงผิดอยู่นานที่เคยเชื่อว่าเงาบนผนังถ้าคือของจริง เขาเดินออกจากถ้ำไปสู่โลกภายนอก ได้เห็นคน สัตว์ สิ่งของ และพระอาทิตย์ เขาได้รู้จักโลกดีกว่าแต่ก่อน แล้วหวนนึกถึงเพื่อนนักโทษผู้ยังติดอยู่ในถ้ำ เขาจึงกลับเข้าถ้ำไปหาคนเหล่านั้น แล้วพยายามชี้แจงแก่พวกชาวถ้ำว่าภาพที่พวกเขากำลังเห็นอยู่บนผนังถ้ำเป็นเพียงเงา จึงไม่ใช่ของจริงอย่างที่เขาเชื่อกันในสังคมชาวถ้ำ แต่เพื่อนนักโทษจะไม่ฟังคำพูดของเขา แล้วเพื่อนนักโทษกลับชี้ไปยังผนังถ้ำและบอกว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นบนผนังถ้ำทั้งหมดเป็นความจริง ทั้งยังคิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว ท้ายที่สุดนักโทษเหล่านั้นก็ฆ่าเขา
นิทานของเพลโต้เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนส่วนมากก็เหมือนชาวถ้ำที่หลงนิยมชมชื่นอยู่กับ "เงา" วัสดุสิ่งของที่เราพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเพียงสิ่งจำลองมาจากของจริงต้นฉบับ สิ่งที่เป็นแม่แบบหรือต้นฉบับนั้นได้แก่ "แบบ" (Forms) หรือ "มโนภาพ" (Ideas) จากนิทานที่เล่ามา เงามีความเป็นจริงน้อยกว่าของจริงเบื้องหลังนักโทษฉันใด สิ่งเฉพาะที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมีความเป็นจริงน้อยกว่าแบบหรือมโนภาพฉันนั้น ทั้งนี้เพราะสิ่งเฉพาะเป็นสิ่งจำลองของมโนภาพ การรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสหรือจิต ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้โดยตรงที่ไม่ผ่านกระบวนการคิด (สัญชาน) นั้น ให้เพียงแต่ความรู้เกี่ยวกับ สิ่งเฉพาะแต่ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับมโนภาพแก่เรา
หนังสืออ้างอิง
- กอร์เดอร์, โยสไตน์. โลกของโซฟี : เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา
- แปลจาก Sophie's World, โดยสายพิณ ศุพุทธมงคล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ, 2540.
- พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต). ปรัชญากรีก : บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.
- พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2540.
- ฟื้น ดอกบัว. ปวงปรัชญากรีก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2532.
อ้างอิง: - ดวงเด่น นุเรมรัมย์. 2545. โลกทัศน์ของเพลโต. [Online]./Available: URL; http://www.geocities.com/nuremrum/Plato.html