ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

นายมิตรสัน ด้วงธรรม : ครูชำนาญการ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญได้แก่

1. จารึก เป็นหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของไทย เพราะวัสดุที่ใช้จารึกมีความคงทนถาวร เช่น แท่งหิน แผ่นเงิน แผ่นทองคำ หรือทองแดง และไม่ถูกดัดแปลงแก้ไขข้อความได้ง่ายๆ ในดินแดนประเทศไทยได้พบจารึกเป็นจำนวนมาก เช่น ศิลาจารึก ฐานพระพุทธรูป ปูชนียสถานต่างๆ และจารึกด้วยอักษรและภาษาต่างๆ เช่น เขมร มอญ อินเดียใต้ และไทย บางจารึกเป็นของอาณาจักรที่มีอิทธิพลอยู่ในดินแดนไทย เช่น อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย ล้านนา อยุธยา บางจารึกไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่ที่ใด เช่น จารึก “ศรีจนาศะ”

ข้อความในศิลาจารึกส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนา เช่นจารึก “เย ธัมมา...” ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พบในภาคกลางของประเทศไทย จารึกที่ต้องการประกาศบุญของผู้ที่บูรณะพระพุทธศาสนา เช่น จารึกปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีจารึกที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการปกครอง เช่น จารึกสุโขทัยหลักที่ 38 ซึ่งเป็นกฎหมายลักษณะลักพาที่อาณาจักรอยุธยาประกาศใช้ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรสุโขทัย จารึกเจดีย์ศรีสองรักที่จังหวัดเลย ประกาศความเป็นพันธมิตรของกษัตริย์อยุธยากับล้านช้าง จารึกหลักที่ 45 (จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด) เป็นการประกาศการเป็นพันธมิตรระหว่างเมืองน่าน กับสุโขทัย ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นจารึกที่สรรเสริญพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในด้านต่างๆ จารึกวัดศรีชุม เป็นจารึกที่เป็นเรื่องราวของมหาเถรศรีศรัทธาจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทวีป ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย เป็นต้น

2. จดหมายเหตุชาวต่างชาติ เนื่องจากดินแดนไทยเป็นเส้นทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณทำให้มีเอกสารต่างชาติบันทึกเรื่องราวของดินแดนไทยไว้ เช่น วรรณคดีอินเดียที่เรียกว่า “คัมภีร์นิเทสะ และมิลินท-ปัญหา” ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 นับเป็นเอกสารต่างชาติที่เก่าที่สุด

 

ในพุทธศตวรรษที่ 8 มีนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกเดินทางมาถึงดินแดนแถบประเทศไทย และบันทึกไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์ของพโทเลมี (Ptolemy’s Geography) เอกสารจีนโบราณ เช่น จดหมายเหตุของหลวงจีนอี้จิง ในพุทธศตวรรษที่ 13 รายงานของคณะทูตจีน “โจวตากวน” ในพุทธศตวรรษที่ 19 พ่อค้าชาวอาหรับและ เปอร์เซีย ที่กล่าวถึง เมืองท่า หรือรัฐโบราณในดินแดนไทย ส่วนเอกสารชาวตะวันตกมีมากในพุทธศตวรรษที่ 21 เช่น

  • ชาวโปรตุเกส ได้แก่ จดหมายเหตุของโทเม ปิเรส์ (Tome Pires) จดหมายเหตุของบรัซ อัลบูแคร์ก (Braz d’ Albuquerque) จดหมายเหตุการณ์เดินทางของเฟอร์นันด์ เมนเดส ปินโต (Fernand Mendes Pinto)
  • ชาวฮอลันดา เช่น จดหมายเหตุของนายสเคาเตน (Joost Schouten) นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีท (Jeremias Van Vliet) จดหมายเหตุของหมอแกมป์เฟอร์
  • ชาวอังกฤษ เช่น จดหมายของนายยอร์ช ไวท์ เอกสารการติดต่อของพนักงานบริษัทกับพ่อค้าอังกฤษ เรื่อง “เอกสารบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และต่างประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 17” จดหมายเหตุของนายจอห์น ครอเฟิร์ด เอกสารของนายเฮนรี เบอร์นี และเซอร์จอห์น เบาว์ริง
  • ชาวฝรั่งเศส เช่น จดหมายเหตุลาลูแบร์ จดหมายเหตุนิโคลาส แชร์แวส จดหมายเหตุเล่าเรื่องกรุงสยามของสังฆราชปัลเลกัวซ์ ชาวอเมริกัน เช่น บันทึกของหมอบรัดเลย์ เป็นต้น

3. จดหมายเหตุ เป็นการรวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับประเพณีและพระราชพิธีเก่าๆ เช่น จดหมายเหตุขุนโขลน จดหมายเหตุพระราชพิธีโสกันต์เจ้านาย จดหมายเหตุสมโภชช้างเผือก เป็นต้น

4. พระราชพงศาวดาร เป็นการรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ ที่เก่าแก่ที่สุดคือ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ในสมัยพระนารายณ์มหาราช นอกจากนี้มีพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด) ฉบับพันจันทรุมาศ(เจิม) ฉบับพระพนรัตน์ พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารสังเขปฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นฉบับที่ผ่านกระบวนการชำระพระราชพงศาวดารแล้ว

5. เอกสารการปกครอง ส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่มีในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งกรมหรือกระทรวงขึ้นแล้ว เอกสารเหล่านี้จะมีการจัดเก็บเป็นระบบขึ้น เช่น ใบบอก ซึ่งเป็นรายงานจากข้าราชการส่วนภูมิภาคส่งมาให้รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การส่งส่วย การส่งสิ่งของที่ถูกเกณฑ์ รายงานเรื่องการเกษตร การรบทัพ เป็นต้น ตราสารศุภอักษร คือหนังสือจากเสนาบดีที่กรุงเทพฯ มีถึงเจ้าเมือง หรือเจ้าประเทศราช บัญชีทูลเกล้า เป็นรายงานจากเจ้าหน้าที่ส่วนกลางสรุปบัญชีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร เช่นเรื่องการค้ากับเมืองจีน บัญชีไพร่กรมกองต่างๆ บันทึก เป็นเรื่องราชการต่างๆ เช่นบันทึกที่เรียกว่า “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ”และ“บันทึกพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คำให้การ เช่นคำให้การของคดีอุทธรณ์ คำให้การของข้าศึก เป็นต้น

6. บันทึกเหตุการณ์ของบุคคลต่างๆ เช่น “ความทรงจำ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทร์เทวี ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ของนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น

7. จดหมาย เช่น พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้น

8. หนังสือพิมพ์ ซึ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ ข่าวราชการที่เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” “บางกอก รีคอร์เดอร์” รวมทั้งหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน

9. งานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ และวิทยานิพนธ์

10. ตำนาน เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของเมือง ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ โดยการบอกเล่าต่อๆ กันมา แล้วรวบรวมเขียนขึ้นภายหลัง ตำนานจึงมีเรื่องนิทาน คติชาวบ้านและข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ร่วมกัน เช่น ตำนานเมืองหริภุญไชย ตำนานหิรัญนคร ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานพระธาตุช่อแฮ ตำนานพระแก้วมรกต พงศาวดารโยนก เป็นต้น มีงานนิพนธ์บางเรื่องที่ใช้ชื่อเรียกว่า ตำนาน แต่ไม่ใช่ เช่น ตำนานวังหน้า ตำนานการเลิกบ่อนเบี้ย และเลิกหวย เป็นต้น

11. วรรณกรรม เช่น เรื่องมหาชาติคำหลวง ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตโองการแช่งน้ำ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล
http://www.maceducation.com/e-knowledge/2503104100/01.htm  สืบค้นวันที่ 15 สิงหาคม2553

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

ข้อเขียน-บทความ »

» จินตนา แก้วขาว กราบเธอที่ดวงใจ
» ทะริด ตะนาวศรี คนไทยที่ถูกลืม
» ปู่เย็น ณ สะพานลำใย แห่งลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี

» จอมยุทธ แห่งบ้านจอมยุทธ (รวมงานเขียน)
» ฉายเดี่ยว (รวมงานเขียน)
» งูเขียว หางบอบช้ำ (รวมงานเขียน)

» ตีหัวเข้าบ้าน ตะคอกโลก ตีหัวหมา
» ผายลมนี้มีผลย้อนหลัง
» ได้แต่หวังว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้บนโลกที่เปรียบเสมือนบ้านของเราใบนี้ ด้วยความรู้สึกที่ดีประดุจดั่งกินข้าวจากหม้อเดียวกัน

» ขอเป็นตาแก่ขี้บ่นในหัวใจเธอ
» เมื่อคนขับรถปลอมตัวไปเล่นหุ้น (บันทึกการเล่นสด)

นิยาย-เรื่องสั้น »

» ตำนานบันลือโลก
» บันทึกทรราชย์
» ผมเกือบได้เป็นนักแต่งเพลงชื่อดังเสียแล้ว
» ชีวิตเริ่มต้นอีกครั้งหลังเกษียณ
» แสนยานุภาพแห่งการรอคอย