ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ชุมชนลุ่มแม่น้ำสำคัญก่อนอาณาจักรล้านนา
ประวัติศาสตร์ล้านนา
ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา
สรุปเหตุการณ์ภายหลังอาณาจักรล้านนา
เส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังราย
ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา
ภายหลังนับจากรัชสมัยของพระเมืองเกษเกล้าเป็นต้นมา ล้านนาจึงเข้าสู่ยุคเสื่อมเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยขุนนางมีอำนาจมากพอที่จะกำหนดบุคคลที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ในเมืองเชียงใหม่ได้ ความอ่อนแอนี้เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองสามารถยึดอำนาจได้ใน พ.ศ.2101 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ หลังจากนั้นพม่าได้ให้เจ้านายเมืองเหนือปกครองต่อจนกระทั่งหมดสายสกุลของพญามังราย พม่าจึงได้จัดให้ข้าหลวงจากเมืองพม่ามาปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด และแยกการปกครองในหัวเมืองเหนือต่างๆออกจากกัน ดังเช่น ให้หัวเมืองเชียงรายปกครองโดยอิสระไม่ต้องขึ้นตรงต่อเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
ในราว พ.ศ. 2272 เจ้าอาวาสวัดนายางได้รวบรวมกำลังไพร่พลและมอบให้หนานทิพย์ช้างเป็นนายกอง เข้าโจมตีกำลังพลของเมืองลำพูนภายใต้การนำของท้าวมหายศ ที่ตั้งทัพอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนได้ชัยชนะ กษัตริย์พม่าจึงพระราชทานชื่อให้กับหนานทิพย์ช้างว่า พญาสุลวฤาชัยสงคราม ครองเมืองลำปางใน พ.ศ. 2275 เป็นอิสระโดยไม่ขึ้นต่อเมืองใดแต่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของพม่า ภายหลังพม่าได้แต่งตั้งให้เจ้าฟ้าชายแก้วซึ่งเป็นโอรสของพญาสุลวฤาชัยสงครามปกครองต่อใน พ.ศ. 2307 เจ้าฟ้าชายแก้วนั้นมีบุตรชายอยู่ 7 คนและบุตรีอยู่ 3 คน ซึ่งมีเจ้ากาวิละเป็นโอรสองค์โต เนื่องจากมีบุตรชายจำนวน 7 คนเป็นราชกุลที่ปกครองหัวเมืองล้านนาทั้งหมด จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันในสายสกุลวงค์เจ้าเจ็ดตน และเป็นต้นตระกูลของนามสกุลเจ้าเจ็ดตน, ณ เชียงใหม่, ณ ลำปาง, และ ณ ลำพูน
ใน พ.ศ. 2314 พระเจ้ากรุงธนบุรีได้นำกำลังมาโจมตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงทำให้พญาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่เข้าสวามิภักดิ์ และได้ชักชวนเจ้ากาวิละเจ้าเมืองลำปางให้เป็นพันธมิตรกับสยามใน พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านได้ขอกำลังจากกรุงธนบุรีเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ และในครั้งนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้บำเน็จความดีด้วยการแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้านเป็น พระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนเจ้ากาวิละเป็น พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง
ต่อมาพม่าได้เข้ามายึดอำนาจจากเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้ง จึงทำให้พระยากาวิละถอยหนีไปขอกำลังจากรัชกาลที่1 เพื่อขับไล่พม่าให้ออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ภายหลังสภาพเมืองเชียงใหม่ทรุดโทรมเป็นอย่างมากจากภัยสงคราม จึงทำให้พระยากาวิละไปสร้างเมืองชั่วคราวอยู่ที่เวียงป่าซาง(ลำพูน)เป็นเวลาหนึ่ง จนในปีพ.ศ. 2339 จึงได้ย้ายเข้าไปบูรณะเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอีกครั้งหนึ่ง โดยอยู่ภายใต้อำนาจของสยามในฐานะ ประเทศราช นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ภายหลัง พ.ศ. 2427 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงได้ทำการปฏิรูปหัวเมืองเหนือทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยการปฏิรูปมณฑลลาวเฉียงระยะที่ 1 และ 2 และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2442 เป็นต้นมาได้รวมเอาหัวเมืองเหนือทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยโดยปริยาย ด้วยการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล