ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จริยธรรม

ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ

เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม


มนุษย์ทุกคนมีการแสดงออกทางพฤติกรรมแตกต่างกันตามพื้นฐานของแต่ละคน ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งในความรู้ เจตคติ ค่านิยม รวมไปถึงสภาวะทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์ไม่เหมือนกันทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน หรืออยู่ในสถานการณ์เหตุการณ์อันเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะเกณฑ์การตัดสินว่าพฤติกรรมใดถูกพฤติกรรมใดผิด พฤติกรรมใดดีพฤติกรรมใดไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไปมนุษย์มีอินทรีย์พิเศษ อันได้แก่ มโนธรรม หรือจิตสำนึกเป็นเครื่องตัดสิน แต่ในการพิจารณาของนักจริยศาสตร์ จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินจริยธรรมแตกต่างกันบ้างดังนี้

1. หลักจริยศาสตร์ของคานท์ (Kant, 1724 – 1840 อ้างในวิทย์ วิศทเวทย์ 2520 : 65 – 67 ) กล่าวโดยสรุป ดังนี้

คานท์ (Kant) มีความหมายว่าดี ชั่ว ถูก ผิด เป็นคุณค่าทางศีลธรรมนั้น จะต้องเป็นสิ่งตายตัว กล่าวคือ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการกระทำอันใดอันหนึ่งเป็นสิ่งดี มันจะต้องดีเสมอ โดยไม่เลือกเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม หรือตัวบุคคลแต่อย่างใด เช่น การพูดความจริง ถ้าเราถือว่าการพูดความจริง บางเวลาก็ดี บางเวลาก็ไม่ดี เช่นนี้ เท่ากับเรายอมรับว่าโดยตัวมันแล้ว การพูดความจริงไม่มีค่าเลย ค่าของมันอยู่ที่เวลา ความดีของมันเปลี่ยนไปมาตามกาลเวลา โดยหลักของคานท์นั้น การพูดจริงเป็นสิ่งที่ดีและต้องดีตลอดไป ไม่ว่าจะพูดเมื่อใด ที่ไหน กับใคร และสถานการณ์เช่นใด

ความคิดของคานท์ (Kant) การกระทำที่ดี หรือการกระทำที่ถูกคือการกระทำที่เกิดจากเจตนา จุดเด่นที่สุดในแนวคิดของคานท์ (Kant) ก็คือการสอนให้คนรู้สึกสำนึกในหน้าที่ คานท์ (Kant) เห็นว่าการโกงนั้นผิดแน่ ๆ แต่ความซื่อสัตย์ก็มิใช่ว่าควรได้รับการสรรเสริญเสมอไป ความซื่อสัตย์ที่เกิดขึ้นจากการหวังผลประโยชน์ไม่มีความดีอะไรในทางศีลธรรม แต่ความซื่อสัตย์ที่เกิดจากการสำนึกในหน้าที่เป็นสิ่งประเสริฐ คานท์ (Kant) สอนไม่ให้ยกตัวเองเหนือกฎศีลธรรมซึ่งไม่มีข้อยกเว้นสำหรับใคร นอกจากนี้คานท์ยังบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของตนเอง ดังนั้นการใช้คนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดมุงหมายบางอย่างนั้นเป็นการกระทำที่ผิดอย่างไม่มีข้อแม้ เพราะทุกคนมีค่าของตนเองและค่าเท่ากับผู้อื่น

2. ประโยชน์นิยม (Utilitarianism)

แนวคิดของกลุ่มประโยชน์นิยมเชื่อว่าประโยชน์สุขเป็นเครื่องตัดสินการกระทำของมนุษย์ว่าดีว่าชั่ว ถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ อยู่ที่ผลที่จะได้ คือ ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตัวที่จะตัดสินก็คือ อันไหนให้ประโยชน์สุขมากกว่าถือว่าดีกว่า ประโยชน์นิยมเห็นว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ ค่าของสิ่งอื่นๆนั้น ก็อยู่ที่ว่ามันพาไปสู่ความสุข ไม่มีอะไรมีค่าในตัวเอง นอกจากความสุข ดังนั้นการตัดสินใจว่าอะไรดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ถูกหรือผิด จึงต้องใช้ความสุขเป็นตัวตัดสิน กล่าวคือ ถ้าสิ่งใดให้ประโยชน์มากกว่าสิ่งนั้นก็ดีกว่า และควรทำมากกว่า แต่ประโยชน์ในที่นี้มิได้หมายถึงประโยชน์สุขของผู้กระทำเอง แต่หมายถึงประโยชน์สุขของคนทั่วไป ซึ่งประโยชน์กล่าวว่า หมายถึงสิ่งที่ก่อประโยชน์สุขมากที่สุด แก่คนจำนวนมากที่สุด หลักนี้รู้จักกันในนาม “หลักมหาสุข”

ประโยชน์นิยมมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมว่าสิ่งใดดูดี สิ่งใดถูกต้อง ดังนี้

  • สิ่งที่ให้ประโยชน์สุขยาวนานกว่า
  • ถ้าไม่มีสิ่งใดดีเลือกสิ่งที่เลวน้อยกว่า
  • ถือประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุดเป็นหลักสำคัญ
  • ไม่ลดส่วนของตนเองให้น้อยกว่าผู้อื่น และไม่ลดส่วนของผู้อื่นให้น้อยกว่าตนทุกฝ่ายมีประโยชน์เท่าเทียมกัน
  • เจตนาในการกระทำไม่สำคัญ แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกระทำสำคัญกว่า

3. มโนธรรมสัมบูรณ์ (Ultimate Consciencism)

มโนธรรมคือความสำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ความสำนึกนี้เป็นเสียงภายในจิตที่ทำให้เราตัดสินได้ว่า อะไรผิด อะไรถูก มโนธรรมสัมบูรณ์เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกต้องมีลักษณะเป็นแก่นแท้ของมัน ลักษณะนี้จะต้องมีอยู่ในตัวเสมอ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะตกอยู่ในสภาพใด เกลือย่อมเค็มอยู่เสมอ ไฟย่อมร้อนอยู่เสมอ ความถูกความผิดก็เหมือนกัน ความผิดเป็นลักษณะตายตัว การกระทำอาจก่อให้เกิดความพอใจกับบางคน ไม่พอใจกับบางคน แต่ความรู้สึกนี้ไม่เกี่ยวกับความถูกความผิดของมัน เพราะความถูกหรือผิดเป็นลักษณะตายตัวอยู่ที่ตัวมันเองแล้ว ปัญหาต่อไปนี้คือ ถ้า “ดี” เป็นลักษณะตายตัวของการกระทำที่ดีแล้วรู้จักสิ่งนั้นได้อย่างไร เกลือมีรสเค็มของเกลือได้ รสเค็มเป็นคุณสมบัติทางวัตถุ เรารู้รสนี้ด้วยลิ้น ลิ้นเป็นอินทรีย์ที่มีอยู่ในตัวเอง ทำให้รารู้รสเค็มของเกลือได้ แต่ “ดี”เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง เราไม่มีอินทรีย์อะไรที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี “ดี” เป็นคุณสมบัติทางจริยธรรม อินทรีย์ทางกายภาพ จึงรับรู้ไม่ได้ นักทฤษฏีมโนธรรมสัมบูรณ์ถือว่า มนุษย์มีอินทรีย์พิเศษอีกอันหนึ่งที่เป็นเครื่องมือช่วยมนุษย์ให้รู้จักความดี ตัดสินความดีได้ อินทรีย์ช่วยให้มนุษย์ตัดสินชี้ขาดเรื่อง ความถูก – ผิด – ดี – ชั่ว – ได้ บางคนเรียกอินทรีย์พิเศษนี้ว่า “ปัญญา” (Intellect Understanding) บางคนเรียกว่า “มโนธรรม” (Conscience) บางคนเรียกว่า “อินทรีย์ทางศีลธรรม” (Moral Faculty) จะเรียกชื่ออะไรก็ตาม อินทรีย์พิเศษนี้มิใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย เหมือนประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่เป็นส่วนหนึ่งของจิตหรือวิญญาณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นลักษณะรูปธรรม ต้องอาศัยอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นรูปธรรมชี้ขาด ส่วนดี – ชั่ว , ถูก – ผิด เป็นนามธรรม จึงต้องอาศัยปัญญา หรือมโนธรรมเป็นเครื่องตัดสิน

4. จริยธรรมแบบสัมบูรณ์ (absolute ethics)

หรือสัมบูรณ์นิยม เชื่อว่า คุณค่าทางจริยธรรม หรือ ความดี – ความชั่ว เป็นค่าที่มีอยู่จริงในตัวเอง สัมบูรณ์มีความหมายตรงกันข้ามกับสัมพัทธ์ สิ่งสัมบูรณ์ คือ สิ่งที่มีอยู่และเป็นอยู่โดยตัวของมันเอง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือสถานที่ สำหรับแนวคิดของกลุ่มสัมบูรณ์นิยม เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมที่ถูกต้องสูงสุดนั้นมีเพียงเกณฑ์เดียวและเป็นเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว แนวคิดของสมบูรณนิยมจะสอดคล้องกับแนวคิดของศาสนาโดยทั่วไป คือ ถือว่า ความดีความชั่ว เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างแน่นอนตายตัว ไม่ใช่ค่าที่มนุษย์ให้แก่การกระทำตามความชอบไม่ชอบของเขา ดี – ชั่ว ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเองตามประโยชน์สุขของพวกเขา และแนวคิดนี้ก็สอดคล้องกับลัทธิมโนธรรมสัมบูรณ์ คือลัทธิที่ถือว่ามโนธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมที่ตายตัวเพียงเกณฑ์เดียว มโนธรรมคือความสำนึกทางศีลธรรมที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่โดยธรรมชาติ เป็นจิตสำนึกภายในที่อกเราว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว โดยที่เราไม่ต้องคิดหาเหตุผล หรืออ้างอิงหลักเกณฑ์ใดๆ แต่เป็นการหยั่งรู้เองโดยตรง

ลัทธิสัมบูรณ์นิยม มีแนวคิดสอดคล้องกับหลักจริยศาสตร์ของคานท์ (Kant) คือเห็นว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างแน่นอนตายตัว กฎศีลธรรมในทรรศนะของคานท์ จึงมีกฎเกณฑ์ตายตัวและเป็นสิ่งมีค่าในตัวเอง ความถูกผิดของการกระทำ พิจารณาจากหลักการหรือเจตนาที่กระทำไม่ใช่ผลจากการกระทำ ถ้าการกระทำนั้นเกิดจากเจตนาดี ก็ถือว่าเป็นการกระทำดี เช่น การกระทำที่เกิดจากการสำนึกในหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

5. สัมพัทธ์นิยม (Relationism)

สัมพัทธ์นิยม เชื่อว่า ความดีความชั่วมิได้มีคุณค่าที่ดีอยู่ในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น คุณค่าทางจริยธรรม หรือความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด เป็นสิ่งสัมพัทธ์คือผันแปรตามตามสภาพการณ์และเวลา ดังนั้นการกระทำอย่างหนึ่ง เช่นการพูดปด จะถูก ผิด ดี ชั่ว ยังตอบไม่ได้จนกว่าจะทราบก่อนว่า ใครโกหกใคร โกหกทำไม โกหกแล้วเป็นอย่างไร เช่นถ้าแพทย์โกหกคนไข้ เพื่อหวังผลดีในการรักษา การโกหกเช่นนี้ก็ถือว่าไม่ผิด สัมพัทธ์นิยม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สัมพัทธ์นิยมส่วนบุคคล และสัมพันธ์นิยมทางสังคม

  • สัมพัทธ์นิยมส่วนบุคคล หมายถึง ความเชื่อที่ว่า ความดี ความชั่ว เป็นเรื่องส่วนบุคคล คนแต่ละคนย่อมมีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกัน การกระทำอย่างเดียวกัน คนหนึ่งอาจบอกว่าดี อีกคนหนึ่งอาจบอกว่าไม่ดีก็ได้ ในสมัยกรีกโบรานนักปรัชญาที่มีแนวคิดแบบนี้ได้แก่ พวกโซฟิสต์ (Sophist) ซึ่งกล่าวว่า “มนุษย์เป็นเครื่องวัดสิ่งทั้งปวง” ซึ่งหมายความว่า จริง เท็จ ดี ชั่วเป็นเรื่องส่วนบุคคล ใครรู้สึกว่าจริงก็จริง สำหรับคนนั้น ใครว่าเท็จก็เท็จสำหรับคนนั้น สิ่งที่ดีก็คือสิ่งที่ตรงกับความปรารถนาของคน ๆ หนึ่ง และสิ่งที่ชั่วก็คือสิ่งที่ตรงกับความเกลียดของคน ๆ นั้นไม่มีอะไรดีชั่วในตัวเอง และไม่มีเหตุการณ์อะไรตัดสินชี้ขาดสิ่งต่าง ๆ ว่า ดี ชั่ว ได้นอกจากบุคลเหล่านั้น
  • สัมพัทธ์นิยมทางสังคม หมายถึง ความเชื่อที่ว่า ความดี ความชั่ว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม สังคมเป็นตัวตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้รับการอบรมมาจากจารีตประเพณีของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ความชอบไม่ชอบหรือค่านิยมของแต่ละคนไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่เป็นสิ่งที่ได้รับจากสภาพแวดล้อมที่เจริญเติบโตขึ้นมา เนื่องจากสังคมมีจารีตที่แตกต่างกัน มีค่านิยมไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ถือว่าดี ชั่ว ถูก ผิด จึงไม่เหมือนกัน เช่นบางสังคม ชายมีภรรยาพร้อมกันได้หลายคนถือว่าไม่ผิด

 

6. เกณฑ์การตัดสินจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนา

โดยเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย มีบทบาทมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตหรือการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นเกณฑ์การตัดสินความดี ชั่ว ถูก ผิด ของจริยธรรมในสังคมไทย ควรใช้เกณฑ์ตัดสินตามหลักการทางพระพุทธศาสนาด้วย

หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู (2525:28-29 อ้างใน บุญเรือง อินทวรันต์ 2534:28) กล่าวว่าในการพิจารณาหลักการทางพระพุทธศาสนา เราจะพิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้ คือ

“..ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้วจึงทำด้วยกาย ด้วยใจ
บุคคลว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
บุคคลทำกรรมใดแล้วเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี
บุคคลใดมีหน้าที่ชุ่มด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ เสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี
บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เสวยผลแห่งกรรมใด ด้วยหัวใจ
แช่มชื่น เบิกบาน กรรมนั้นทำแล้วเป็นการดี
บุคคลรู้กรรมใดว่า เป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว”

จากพุทธพจน์ดังกล่าว แสดงพระพุทธศาสนาในเรื่องการพิจารณาเกณฑ์การชี้วัดการประพฤติทางจริยธรรมดังนี้

  • พิจารณาจากเจตนา ถ้าทำด้วยเจตนาดี จัดว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นความดี ถ้าทำด้วยเจตนาไม่ดี จัดว่าเป็นการกระทำไม่ดี เป็นความชั่ว
  • พิจารณาจากลักษณะของการกระทำ ถ้าการกระทำนั้นเป็นการเบียดเบียนทำให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน จัดว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียน หรือไม่ทำให้ผู้อื่นหรือตนเองเดือดร้อน จัดว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นความดี
  • พิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นในภายหลัง การกระทำใดทำแล้วมีผลให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ดี การกระทำใดไม่เดือดร้อนในภายหลัง เป็นการกระทำที่ดี ทำดีย่อมได้รับผลดีเสมอ ถ้ากระทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วเสมอ

7. เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของนักสังคมวิทยา

เกณฑ์ตัดสินที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นทัศนะของนักจริยศาสตร์ ซึ่งพอจะนำมาเป็นเครื่องพิจารณาตัดสินสถานการณ์บางอย่างได้ สำหรับนักสังคมวิทยาเห็นว่า คุณค่าทางจริยธรรมมีคุณค่าจริงๆ ก็ต่อเมื่อสังคมมนุษย์นำไปใช้ ดังนั้นการตัดสินทางจริยธรรมจึงต้องคำนึงหลักปทัสถานหรือบรรทัดฐาน (norms) ทางสังคมซึ่งแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ

  • วิถีประชา (folkways) เป็นความประพฤติที่เหมาะสมดีงาม ปฏิบัติกันมานานจนเกิดความเคยชิน เช่น ขนมประเพณี แบบแผน กิริยามารยาท การมีสัมมาคารวะ การรู้จักที่ต่ำที่สูง การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรฐานสำหรับแต่ละบุคคล และไม่มีผลบังคับเคร่งครัดนัก ถ้าใครไม่ประพฤติตาม เช่น ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่อ่อนน้อม ไม่แต่งตัวตามธรรมเนียมประเพณี เช่น ไปงานศพไม่แต่งสีดำ หรือชายที่แต่งงานก่อนอุปสมบท สังคมก็จะซุบซิบนินทาตำหนิติเตียน หรือไม่คบหาสมาคมด้วย ทำให้ผู้นั้นเกิดความไม่สบายใจ วิถีประชาเป็นเรื่องของความเหมาะสมไม่เหมาะสม ในการแสดงพฤติกรรมทางสังคม
  • จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม (mores) เป็นบรรทัดฐานทางสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อห้ามของสังคมที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสังคม หรือเพื่อสวัสดิภาพของคนส่วนใหญ่ จารีตเป็นข้อบังคับที่มีผลสะท้อนรุนแรง ถ้าหากไม่กระทำตาม เช่น ห้ามไม่ให้ลูกเนรคุณพ่อแม่ ห้ามแพทย์เปิดเผยความลับของคนไข้ จารีตจึงเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของบุคคล จารีตจะกำหนดสิ่งถูกหรือผิด บุญหรือบาป โดยไม่ต้องบอกเหตุผล
  • กฎหมาย ( laws) เป็นบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร และมีหน่วยงานบังคับ เป็นแนวประพฤติปฏิบัติโดยรัฐ มีการลงโทษอย่างมีระเบียบแผน ถ้าหากไม่ประพฤติตามกฎหมายที่เขียนไว้ บางครั้งก็นำจารีตไปใช้ในกฎหมายก็มี ถ้ามีการตัดสินตามกระบวนการกฎหมายแล้วถือว่าถูกต้องชัดเจน เป็นแบบแผนได้เป็นเกณฑ์การตัดสินพฤติกรรมทางจริยธรรมได้ถูกต้องเพราะกฎหมายมีไว้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยยึดถือประโยชน์ของสังคมมาก่อนผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล ( สุพัตรา สุภาพ , สัญญา สัญญาวิวัฒน์ , 2534 : 10)

เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม จัดเป็นเรื่องชี้วัดคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในการตัดสินจริยธรรมนี้ อาจใช้การพิจารณาโดยเครื่องวัด 2 ประการ คือ สิ่งที่กำหนดทิศทางของจริยธรรม ซึ่งมีแนวคิดทางปรัชญาและทัศนะทาง ศาสนา รวมทั้ง แนวคิดของสังคมและหลักปฏิบัติ และพฤติกรรมของบุคคล การรับรู้ การประเมินค่า การตัดสินใจของบุคคลว่าการกระทำใดถูก ผิด ควรทำหรือไม่ควรทำ มีค่าหรือไม่มีค่า สำคัญหรือไม่สำคัญจัดเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมเป็นตัวทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย และสร้างแรงจูงใจให้บุคคลมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการและเป็นแนวทางสังเกตพฤติกรรมหรือการประพฤติปฏิบัติของบุคคลหรือกลุ่ม การประพฤติปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ในสังคม ย่อมมีค่านิยมของสังคมแฝงอยู่ภายใน หรือการประพฤติปฏิบัติที่บุคคลใดมีความพึงพอใจ ย่อมมีค่านิยมของบุคคลนั้นแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม จึงเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งในการประกอบการพิจารณาจริยธรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลสังคมหนึ่งๆด้วย.

ปัญหาค่านิยมของสังคมไทย

“....ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ
ทุกวันนี้ ความคิดความอ่านแล้วความประพฤติหลายอย่าง
ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่ว ความผิด
ได้กลายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ
และพากันประพฤติปฏิบัติ
โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน
จนทำให้เกิดปัญหา
และทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนไป
เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่น
อันไหลบ่ามาท่วมทั่วไปหมด
จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกัน
ฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น...”

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

» เงิน
ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของหรือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า ต่อมาได้ใช้สิ่งของเป็นสื่อ เช่น เปลือกหอย ผ้าขนสัตว์ หนังสัตว์ เกลือ ใบชา ใบยาสูบ

» ปรมนุตรสุญญตา
ว่างหมด คือ ปรมนุตรสุญญตา อะไรว่างหมด กาย ว่างหมด เวทนา ว่างหมด จิต ว่างหมด ธรรมชาติ ว่างหมด

» กฎบัตรสหประชาชาติ
บรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเจตน์จำนง ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณามาสู่มนุษย์ชาติในชั่วชีวิต

» กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
ไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร

» เพลงพื้นบ้าน
เพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกันไป

» วิถีโลก
เพื่อให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจการเมืองและการปกครองของสังคมไทยและโลก ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้

» ประเทศไทยในอดีต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าจะได้ทราบไว้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น ๆ