ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงพื้นบ้าน
นายบุญเสริม แก่นประกอบ ครู โรงเรียนบ้านชงโค
ที่มาของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านสันนิษฐานมีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย ตามตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์อ้างว่า เพลง ปรากฏในสมัยสุโขทัยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง โดยมีข้อความว่า
อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน
ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยแล้ว ก็เสด็จทางเรือพระที่นั่งไปถวาย ดอกไม้เพลิง
บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง
บรรดาที่อยู่ริมฝั่งนทีวนรอบกรุงทั้งทรงทอดบังสุกุลจีวร
ทรงพระราชอุทิศถวายพระภิกษุสงฆ์อันพึงปรารถนานั้นด้วย แล้วก็ทรงทอดพระเนตร
ทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการมหรสพต่าง ๆ สำราญ
ราชหฤทัยทั้งสามราตรี
ภิญโญ จิตต์ธรรม กล่าวถึงที่มาของเพลงพื้นบ้านว่า เพลงพื้นบ้านเกิดจากประเพณีทางศาสนาหรือวัฒนธรรมของชุมชนในถิ่นหรือเขตนั้นๆ นับตั้งแต่ชุมชนที่ห่างไกลความเจริญไปจนถึงชุมชนที่เจริญแล้ว มีลักษณะพิเศษตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ เพลงพื้นบ้านร้องสืบต่อกันมาโดยการจำ ผู้บอกจะบอกต่อกันหลายชั่วอายุคน รูปแบบหลากหลายแตกต่างแต่ละท้องถิ่น ต่อมาค่อยมีรูปแบบ ที่ชัดเจน มีสัมผัสคล้องจอง ท่วงทำนองมีลักษณะสัมพันธ์กับธรรมชาติของท้องถิ่นนั้น ในการร้องจะมีดนตรีท้องถิ่นให้จังหวะด้วย
จารุวรรณ ธรรมวัตร กล่าวถึงที่มาของเพลงพื้นบ้านว่า เพลงพื้นบ้านเกิดจากชุมชนที่ถ่ายทอดปรัชญาความนึกคิดของชาวบ้านเนื้อหาบอกถึงความรัก ความห่วงใย สอน ตำหนิ โกรธแค้น เศร้าสร้อยหรือประท้วงสังคม ฉะนั้นการศึกษาเพลงชาวบ้านจึงเป็นการศึกษาอารมณ์แก่นแท้ของมนุษย์อันเกี่ยวกับชีวิตและสังคม
เพลงพื้นบ้านมีมาตั้งแต่ตั้งอาณาจักรสุโขทัย ตามหลักฐานในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เพลงพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ เกิดจากประเพณี
พิธีกรรมหรือเกิดจากการละเล่นเพื่อความบันเทิงใจในงานนักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษ สงกรานต์
งานกฐิน เป็นต้น
เพลงพื้นบ้านมีรูปแบบไม่แน่นอน เนื้อหาบอกถึงความรัก ความดีใจ ความเศร้าโศก ฯลฯ
วัตถุประสงค์ในการเล่นเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านมีจุดประสงค์ในการเล่นดังนี้
1. เพื่อความบันเทิงใจ เป็นเพลงที่เล่นในงานเทศกาลหรืองานรื่นเริงต่างๆ เช่นเพลงเรือ เพลงฉ่อย หมอลำ เป็นต้น
2. เพื่อร้องประกอบการทำงาน เป็นเพลงที่ร้องในขณะที่ช่วยกันทำงานเป็นหมู่ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง
3. เพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะ เป็นเพลงที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะที่ชุมชนต้องการ เช่น เพลงขอทาน เพลงร่อยพรรษา เพลงแห่นางแมว และเพลงเชิญผีต่าง ๆ
4. เพลงที่ร้องในประเพณีทางศาสนาและพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น เพลงแหล่ เพลงสวด เพลงเชิ้งต่างๆ เช่น เชิ้งบั้งไฟ เชิ้งผีตาโขน เป็นต้น
โอกาสในการเล่นเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านโดยทั่วไปที่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ คิดรูปแบบการร้องและการเล่นขึ้นเพื่อความรื่นเริงสนุกสนานในโอกาสที่หญิงชายได้มาพบกันในงานเทศกาลและงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ ลอยกระทง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ไหว้พระประจำปี และในโอกาสที่มาช่วยกันทำงานในนา ในไร่ เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว ลากไม้ เป็นต้น เพลงพื้นบ้านจึงเป็นเพลงที่ชาวบ้านร้องเล่นกันเพื่อความสนุกสนานในงานเทศกาล และผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยในการทำงานร่วมกัน
สถานที่ที่ใช้เล่นเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านจะเล่นตามลานบ้าน ลานวัด ท้องนา และตามลำน้ำ แล้วแต่ประเภทของเพลง ในปัจจุบันเพลงพื้นบ้านเป็นมหรสพที่ผู้จ้างนำไปแสดงตามที่ต่าง ๆ เช่น โรงมหรสพ วัด หรือสถานที่แล้วแต่ผู้จ้างจะจัดไว้