เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การทำปุ๋ยหมัก
เรียบเรียงโดย :
ชวลิต ฮงประยูร : ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปุ๋ยหมัก เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในทางการเกษตร แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจหรือแพร่หลายเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะสาเหตุหลายประการด้วยกัน เช่น เกษตรกรยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญที่แท้จริงของปุ๋ยหมักว่ามีคุณค่าเพียงใดในการช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น หรือช่วยรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดีอยู่เสมอ ไม่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ อย่างเช่นปัจจุบันนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เกษตรกรยังขาดแหล่งข้อมูลที่จะให้ความรู้ความเข้าใจในการทำปุ๋ยหมักอย่างถูกวิธี เป็นเหตุให้การทำปุ๋ยหมักก็ต้องใช้ในปริมาณมาก และมักไม่เห็นผลอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น
การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองก็ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก ต้องดูแลเอาใจใส่อยู่เสมอ การผลิตปุ๋ยหมักจึงจะได้ผลอย่างเต็มที่ การที่เกษตรกรจะผลิตปุ๋ยหมักขึ้นมาใช้กันอย่างจริงๆจังๆ จึงต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจในการทำปุ๋ยหมัก ต้องเข้าใจในคุณประโยชน์ที่แท้จริงของปุ๋ยหมัก และจะต้องมีความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริงที่จะปรับปรุงที่ดินของตนให้เป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูก
หวังว่าเอกสารฉบับนี้ จะช่วยให้เกษตรกรและผู้สนใจ ได้รับความรู้ ความเข้าใจ สามารถทำและใช้ปุ๋ยหมักได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาที่ดินของตนต่อไป
การทำปุ๋ยหมักคือ การนำเอาเศษซากหรือวัสดุต่างๆ ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ได้มาจากพืช เช่น เศษหญ้า ใบไม้ ฟางข้าว ผักตบชวา หรือแม้แต่ขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนมากองรวมกัน รดน้ำให้มีความชื้นพอเหมาะ หมักไว้จนกระทั่งเศษพืชหรือวัสดุเหล่านั้นย่อยสลายและแปรสภาพไป กลายเป็นขุยสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะพรุน ยุ่ย ร่วนซุย ที่เรียกว่า "ปุ๋ยหมัก" การย่อยและการแปรสภาพของเศษพืชหรือ วัสดุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่า "จุลินทรีย์" ซึ่งอาศัยอยู่ในกองปุ๋ยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้มีอยู่ มากมายหลายชนิดปะปนกันอยู่และพวกที่มีบทบาทในการแปรสภาพวัสดุมากที่สุดได้แก่ เชื้อราและเชื้อบักเตรี
วิธีการหมักวัสดุต่างๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก อาจทำใด้หลายๆ วิธี แตกต่างกันไป เช่น การหมักเศษพืชแต่เพียงอย่างเดียวหรือมีการเติมมูลสัตว์หรือปุ๋ยเคมีลงไปในกองปุ๋ยด้วย เพื่อเร่งให้เศษวัสดุแปรสภาพได้เร็วขึ้น การใส่ผงเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มเติมลงไปกองปุ๋ยเพื่อเสริมเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติหรือการมีรูปแบบของการกองปุ๋ยแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละวิธีอาจใช้ระยะเวลาในการหมักไม่เท่ากัน และปุ๋ยหมักที่ได้ก็มีคุณภาพแตกต่างกันไป
»
ประโยชน์ของปุ๋ยหมัก
»
การย่อยสลายและแปรสภาพของเศษพืชในการทำปุ๋ยหมัก
»
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายและการแปรสภาพของเศษพืช
»
วิธีการกองปุ๋ยหมัก
»
วิธีการใช้ปุ๋ยหมัก
- พิมพ์เผยแพร่โดย
: ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
: สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม
: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
: นครปฐม 73140