เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
คำแนะนำในการใช้วัคซีน
ข้อควรทราบก่อนการทำวัคซีน
- ทำวัคซีนให้แก่สัตว์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และไม่เป็นโรคเท่านั้น เพื่อให้สัตว์มีความสมบูรณ์พอที่จะสร้างภูมิต้านทานโรคแต่ละชนิด
- ศึกษารายละเอียดการเก็บรักษา และการทำวัคซีนตามคำแนะนำเฉพาะของวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อให้วัคซีน มีประสิทธิภาพดีที่สุด และสามารถเก็บรักษาได้นาน
- ใช้วัคซีนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นแล้ว หรือเกิดโรคระบาดในบริเวณใกล้เคียง
- ต้องใช้วัคซีน ก่อนวันหมดอายุที่แจ้งไว้ข้างขวด
- อย่าให้วัคซีนถูกความร้อนหรือแสงแดดและให้วัคซีนให้ครบตามขนาดที่กำหนดไว้
- อย่าให้วัคซีนแก่สัตว์ที่กำลังจะนำไปฆ่าเป็นอาหาร
- วัคซีนที่เหลือจากการใช้ควรทิ้งเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคอื่น ซึ่งจะทำให้คุณภาพวัคซีนลดลงและเป็นอันตรายในการนำไปใช้ครั้งต่อไป
- ขวดบรรจุวัคซีน หรือภาชนะที่ใช้ในการผสมวัคซีน เมื่อใช้แล้วควรต้มหรือเผาทำลายเชื้อก่อนทิ้ง โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นเชื้อเป็น
- ส่วนมากแล้วสัตว์จะมีความคุ้มโรคได้ภายหลังการทำวัคซีน แล้วประมาณ 15 วัน
- ต้องให้วัคซีนซ้ำเมื่อหมดระยะความคุ้มโรคของวัคซีนแต่ละชนิด
- วัคซีนแบบที่ต้องผสมกับน้ำยาละลายเมื่อผสมแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ระหว่างนั้นต้องเก็บในกระติกน้ำแข็ง
- สัตว์บางตัวอาจเกิดอาการแพ้หลังฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงควรรอสังเกตอาการสัตว์ภายหลังฉีดวัคซีนแล้ว ประมาณ 30 นาที ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นให้รักษาโดยใช้ Adrenaline และ Antihistamine
- วัคซีนที่เสื่อมสภาพ หมดอายุ มีการปนเปื้อน หรือสีของวัคซีนเปลี่ยนไป ห้ามนำมาใช้
- การฉีดวัคซีนให้ได้ผล ต้องพยายามฉีดให้แก่สัตว์ทุกตัวในหมุ่บ้าน ยิ่งปริมาณสัตว์ที่ได้รับวัคซีนมาก ระดับภูมิคุ้มกันโรคในฝูงก็ยิ่งสูง โอกาสที่โรคจะเข้าไประบาดได้จึงมีน้อย
- สัตว์จะป่วยหลังจากได้รับเชื้อโรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย หากเชื้อโรคมีปริมาณและความรุนแรงมากอาจทำให้สัตว์เป็นโรคได้
- ไม่ควรหวังผลจากการฉีดวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว การป้องกันการติดโรคจากแหล่งอื่น การจัดการและการสุขาภิบาลที่ดีจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ดีที่สุด
รูปแบบของวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่กรมปศุสัตว์ผลิตขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
- วัคซีนบรรจุขวดแบบน้ำพร้อมฉีด
วัคซีนแบบนี้ก่อนใช้ให้เขย่าขวดให้วัคซีนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
แล้วใช้เข็มฉีดยาดูดมาใช้ได้ทันที
- วัคซีนแบบที่ต้องผสมก่อนนี้ วัคซีนแบบนี้จะมี 2 ส่วนคือ ตัววัคซีนซึ่งจะอยู่ในขวดลักษณะแห้งเป็นก้อนหรือผงส่วนหนึ่ง และน้ำยาละลายซึ่งจะอยู่ในขวดแยกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง
การเตรียมอุปกรณ์ก่อนทำวัคซีน
- เข็มและกระบอกฉีดยาหรืออุปกรณ์ในการทำวัคซีนที่จะใช้ต้องต้มในน้ำสะอาดให้เดือดนาน 15 นาที ก่อนและหลังการใช้ ห้ามใช้แช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- วัคซีนแบบที่เป็นน้ำพร้อมฉีด จะต้องทำความสะอาดจุกยางและคอขวดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ เขย่าวัคซีนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงใช้เข็มที่ต้มสะอาดแล้วดูดวัคซีนออกมาตามขนาดที่จะใช้
- วัคซีนแบบที่ต้องผสมก่อนใช้ต้องใช้เข็มที่ต้มสะอาดแล้วดูดน้ำยาละลายที่เตรียมไว้สำหรับวัคซีน แต่ละชนิดฉีดเข้าไปในขวดบรรจุตัววัคซีน เขย่าให้ทั่วประมาณ 2-5 นาที แล้วจึงดูดวัคซีนออกมาตามขนาด ที่จะใช้วัคซีนที่ละลายแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ระหว่างการใช้วัคซีน จะต้องเก็บวัคซีนในกระติกน้ำแข็ง
หลอดบรรจุวัคซีน ภาชนะที่ใช้ และอุปกรณ์ในการทำเมื่อใช้แล้วควรต้มทำลายเชื้อก่อนทิ้งหรือเก็บไว้ โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นเชื้อเป็น
ตำแหน่งบนตัวสัตว์ที่จะใช้ฉีดวัคซีน
โค กระบือ สุกร
1. การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ มักจะกระทำบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหนา ๆ ส่วนมากจะใช้ 2 บริเวณ คือ
- บริเวณที่เห็นเป็นสามเหลี่ยมที่คอใต้สันกระดูกด้านหน้าของขาหน้า ด้านซ้ายหรือขวา
- บริเวณตะโพกที่ขาหลังซ้ายหรือขวา
2. การฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง มักจะกระทำบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมาก ๆ ส่วนมากจะใช้ 2 บริเวณ คือ
- บริเวณที่เห็นเป็นสามเหลี่ยม ที่คอใต้สันกระดูกด้านหน้าของขาหน้าด้านซ้ายหรือขวา
- บริเวณด้านหลังของขาหน้าด้านซ้ายหรือขวา
» วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยชนิดเข้มข้น
» วัคซีนเฮโมรายิกเซพติซีเมีย
» วัคซีนบรูเซลโลซีส
» วัคซีนแอนแทรกซ์ (โรคกาลี)
» วัคซีนแบลคเลก (โรคไข้ขา)
» วัคซีนรินเดอร์เปสต์
» วัคซีนรินเดอร์เปสต์ชนิดเลือดพิษกระต่ายผ่านไข่
» วัคซีนอหิวาต์สุกร
» วัคซีนนิวคาสเซิล สเตรน เอฟ.
» วัคซีนฝีดาษไก่
» วัคซีนหลอดลมอักเสบติดต่อในไก่
» วัคซีนอหิวาต์ เป็ด-ไก่
» วัคซีนกาฬโรคเป็ด
» วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า