เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
สารเร่งดอกมะม่วง
มะม่วงเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก โดยมีทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
การปลูกมะม่วงในประเทศไทยมีมานานแล้ว จนกระทั่งอาจเรียกได้ว่าตามบ้านเรือนต่าง ๆ ก็มักจะมีการปลูกมะม่วงไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน ในสภาพปัจจุบันซึ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างมากมายเช่นนี้ และมีตลาดต่างประเทศรองรับผลผลิต อยู่อย่างกว้างขวาง หากมีการปลูกเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยปล่อยให้มะม่วงเติบโตไปตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ผลิตผลออกมาตามต้องการ นักวิชาการเกษตรได้ค้นคว้าเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งปัจจุบันสามารถบังคับให้มะม่วงออกดอกได้ในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยผลที่ได้รับนั้นค่อนข้างจะแน่นอน ทำให้เป็นที่สนใจ สำหรับเกษตรกรและผู้ปลูกมะม่วงโดยทั่วไป
การผลิตมะม่วงในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิชาการต่าง ๆ เข้าช่วยเพื่อควบคุมการเติบโตของมะม่วงให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ เรื่องการออกดอก ติดผลของมะม่วงในอดีต เป็นปัญหาสำคัญซึ่งทำให้การผลิตมะม่วงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถบังคับให้มะม่วงมีการออกดอกได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ โดยการใช้สารเคมีบางประเภท ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเกษตร และยังเป็นแนวทางในการผลิตพืชนอกฤดูชนิดอื่นอีกต่อไป
การออกดอกของมะม่วงนั้น มีหลักการอยู่ที่ว่า ต้นต้องมีความสมบูรณ์และมี ระดับฮอร์โมนภายในอย่างเหมาะสม ซึ่งในบรรดาฮอร์โมนทั้งหลายนั้นพบว่า จิบเบอเรลลิน (gibberellins) มีความสำคัญอย่างมากต่อการออกดอกของมะม่วง จิบเบอเรลลินเป็นฮอร์โมนที่พืชสร้างขึ้นเอง และมีผลกระตุ้นการยืดตัวของเชลล์ จึงทำให้กิ่ง ก้านยืดยาวออก แต่ที่สำคัญคือจิบเบอเรลลินเป็นฮอร์โมนที่เร่งการเติบโตทางด้านกิ่ง ใบ และยับยั้งการออกดอก ดังนั้นสภาพใดก็ตามที่ทำให้มีจิบเบอเรลลินภายในต้นมาก ก็จะทำให้เกิดการเติบโตแต่ทางด้านกิ่งใบเพียงอย่างเดียวโดยไม่ออกดอก เช่น ในสภาพที่ดินชื้นหรือมีน้ำมากเกินไป มีปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป แต่ใน ทางตรงกันข้าม คือถ้าในสภาพดินแห้ง มีไนโตรเจนน้อย หรือกระทบอากาศเย็นเป็นระยะเวลานานพอสมควร จะทำให้จิบเบอเรลลินลดน้อยลง ผลที่ตามมาก็คือ การเจริญทางด้านกิ่งใบหยุดชะงักลง และมีการสร้างตาดอกขึ้นมาแทน จากหลักการข้อนี้จึงอาจใช้เป็นหลักในการควบคุมการออกดอกของมะม่วงได้ โดยหาทางลดปริมาณจิบเบอเรลลินลง เพื่อให้มีโอกาสสร้างตาดอกได้มากขึ้น
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสารเคมีชนิดต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย และในบรรดาสารเหล่านี้มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือสารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth retardants) สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถยับยั้งการสร้างจิบเบอเรลลินภายในพืชได้ ถ้ามีการให้สารกลุ่มนี้กับต้นมะม่วงก็จะทำให้ปริมาณจิบเบอเรลลินภายในต้นลดน้อยลง และหยุดการเติบโตทางด้านกิ่ง ใบ แต่จะพัฒนาตาดอกขึ้นมาแทน จากการทดลองใช้สารกลุ่มนี้หลายชนิดกับ มะม่วง พบว่ามีอยู่สารหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งจิบเบอเรลลินในต้นมะม่วง นั่นคือ สารพาโคลบิวทราโชล (Paclobutrazol) และพบว่า สารนี้สามารถบังคับให้มะม่วงออกดอกนอกฤดูได้
จากการทดลองครั้งแรก โดยคณาจารย์ของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยทดลองกับมะม่วงน้ำดอกไม้ทะวายเบอร์ 4 ปรากฎว่าต้นมะม่วงที่ใช้สารพาโคลบิวทราโชลสามารถออกดอกได้ทุกต้นภายในเวลา 2-4 เดือนภายหลังการให้สาร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้งานวิจัยเรื่อง การใช้สารพาโคลบิวทราโซลเริ่มแผ่วงกว้างขวางมากขึ้น โดยได้มีการทดสอบกับ มะม่วงพันธุ์อื่น ๆ เช่น เขียวเสวย หนังกลางวัน เจ้าคุณทิพย์ ฟ้าลั่น ศาลายา หนองแซง อกร่อง ทองดำ ซึ่งก็ปรากฎว่าใช้ได้ผลดีเช่นกัน ต่อมาได้มีการนำสารพาโคลบิวทราโชล ออกมาจำหน่ายแก่เกษตรกรโดยใช้ชื่อการค้าต่าง ๆ กัน เพื่อใช้บังคับการออกดอกของมะม่วงโดยเฉพาะ
สารพาโคลบิวทราโซล เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้องอาจไม่ได้ผลตามคุณสมบัติที่สารนั้นมีอยู่ และอาจเกิดผลเสียแก่ ต้นพืชได้ จากการวิจัยมาเป็นเวลานาน พอได้ข้อสรุปที่จะแนะนำวิธีการใช้ได้ดังนี้
1. ต้นมะม่วงที่จะใช้สารต้องมีความ อุดมสมบูรณ์สูง ต้องบำรุงรักษาต้น โดยการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย และดูแลรักษาใบให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปราศจาก โรคและแมลงเข้าทำลาย
2. ระยะเวลาที่เหมาะต่อการให้สารคือ ในช่วงที่ใบยังอยู่ ในระยะใบอ่อนหรือใบพวง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้มีการออกใบอ่อนขึ้นมาไหม โดยการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง และให้น้ำสม่ำเสมอ นอกจากนี้อาจใช้สารเคมีประเภท โพแทสเซียมไนเตรท 2.5 % (ใช้สาร 500 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร) หรือไทโอยูเรีย 0.5% (ใช้สาร 100 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร) พ่นให้ทั่วต้นในระยะที่มะม่วงใบแกจัดเพื่อกระตุ้นให้มีการแตกตา
3. เมื่อมะม่วงมีการแตกใบอ่อนแล้ว ต้องดูแลใบอ่อนให้อยู่ในสภาพ สมบูรณ์ ปราศจากโรคและแมลงรบกวน จนกระทั่งใบอ่อนมีอายุ 15 ถึง 30 วัน จึงใช้ สารพาโคลบิวทราโชล เพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอก
4. วิธีการให้สารที่เหมาะสมที่สุดคือ การรดลงดิน เนื่องจากสารนี้ดูดซึมได้ดีทางรากขั้น ตอนการให้สารมีวิธีการดังนี้
- ให้น้ำแก่ต้นมะม่วงจนกระทั่งดินเปียกทั่ว
- ผสมสารพาโคลบิวทราโชลในน้ำตามอัตราที่ระบุใน ตารางที่ 1 แล้วรดสารรอบโคนต้น โดยให้สารกระจายอย่างสม่ำเสมอ
- ให้น้ำแก่ต้นมะม่วงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้การดูดซึมสารเข้าไปในต้นเป็นไปได้ดีขึ้น
5. ภายหลังการให้สารแล้วประมาณ 2 เดือนครึ่ง มะม่วงจะเริ่มออกดอกได้ หากต้องการให้มะม่วงมีการออกดอกอย่างสม่ำเสมพร้อมกันทั้งต้นก็สามารถกระตุ้นการแตกตาโดยการใช้สารโพแทสเชียมไนเตรท หรือไทโอยูเรียได้ โดยมีเทคนิคและวิธีการดังนี้
- ถ้าเป็นมะม่วงพันธ์ที่ออกดอกง่าย หรือมีแนวโน้มที่เป็นพันธุ์ทะวาย เช่น
ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้ ศาลายา เจ้าคุณทิพย์ เพชรบ้านลาด หนองแซง ให้ใช้โพแทสเชียมไนเตรท
2.5 % (ใช้สาร 500 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร) หรือ ไทโอยูเรีย 0.5 % (ใช้สาร 100
กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร) พ่นให้ทั่วต้นภายหลังจากการราดสาร พาโคลบิวทราโชลแล้ว 2
เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง มะม่วงจะแตกตากลายเป็นช่อดอกปรากฎให้เห็นได้ภายใน 7 ถึง
14 วัน ภายหลังการพ่นสารเหล่านี้
- ถ้าเป็นมะม่วงพันธุ์ที่ออกดอกยาก หรือไม่ปรากฎว่ามีพันธุ์ทะวาย เช่น
เขียวเสวย อกร่อง แรด หนังกลางวัน ทองดำ ให้ใช้ไทโอยูเรีย 0.5 % (ใช้สาร 100
กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร) พ่นให้ทั่วต้นภายหลังการรดสารพาโคลบิวทราโชลแล้ว 3
เดือนครึ่ง ถึง 4 เดือนช่อดอกจะปรากฎให้เห็นภายใน 10 ถึง 14 วัน
ถ้าระยะนี้ยังไม่พบการแตกตาหรือยังแตกตาไม่สม่ำเสมอ ให้ใช้สารโทโอยูเรียช้ำในอัตราเดิม
- ในกรณีที่มีการใช้สารโพแทสเชียมไนเตรท หรือไทโอยูเรียเร็วเกินไป ซึ่งตาดอกอาจยังสร้างไม่สมบูรณ์ จะมีผลทำให้มะม่วงมีการแตกใบอ่อนทั้งต้นแทนการออกดอก หรือเกิดเป็นช่อดอกปนใบ ดังนั้นอาจทดสอบได้ก่อนว่ามะม่วงมีการสร้างตาดอกพร้อมแล้วหรือไม่ โดยการพ่นสารโพแทสเซียมไนเตรท หรือไทโอยูเรีย เพียงบางกิ่งก่อน แล้วติดตามดูว่าตาที่เกิดขึ้นเป็นช่อดอกหรือใบ หากเกิดเป็นช่อดอกได้สมบูรณ์จึงพ่นสาร ให้ทั่วทั้งต้น เพื่อกระตุ้นตาที่เหลืออยู่ให้แตกออกมา แต่ถ้าตาที่ออกมาเป็นใบอ่อนก็ให้ชะลอการให้สารโพแทสเซียมไนเตรท หรือ ไทโอยูเรียไว้ก่อน
6. เมื่อช่อดอกมะม่วงเริ่มเจริญขึ้นมายาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ให้ใช้ เอทีฟอน ความเข้มข้น 10-20 พี พี เอ็ม (หากเป็นสารเอทีฟอนซึ่งมีเนื้อสาร 39.5 % ให้ใช้อัตรา 0.5-1 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร) พ่นให้ทั่วต้นเพื่อช่วยให้มีดอกสมบูรณ์เพศมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการติดผลได้มากขึ้นด้วย
7. เมื่อผลอ่อนมีอายุประมาณ 1 เดือน ถ้าพ่นด้วยสารเอ็นเอเอ ความเข้มข้น 20-40 พี พี เอ็ม (หากใช้สารที่มีเนื้อสารเอ็นเอเอ 4.5 % ให้ใช้อัตรา 8 ถึง 16 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร) จะช่วยป้องกันการร่วงของผลได้บางส่วน
8. เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรบำรุงต้นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอกในฤดูกาลถัดไปและถ้ามีการใช้สารเพื่อเร่งดอกอีกในปี ถัดไป ต้นต้องมีการแตกใบอ่อนมาแล้วอย่างน้อย 1 ชุด แล้วดำเนินการใช้สารเร่งการออก ดอกตามวิธีการเดิม
การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ช้ำในปีที่ 2 นั้น อาจลดอัตราการใช้ลงได้อีก ถ้าเป็นพันธุ์ที่ออกดอกง่ายเช่น น้ำดอกไม้ก็สามารถลดอัตราการใช้ลงได้ประมาณ ครึ่งหนึ่งของอัตราเดิม เช่น ปีแรกใช้สารอัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น เมื่อมีการใช้สารซ้ำต้นเดิมในปีถัดมาก็สามารถลดการใช้ลงให้เหลือเพียง 10 มิลลิลิตรต่อต้นได้ ส่วนพันธุ์ที่ออกดอกยากเช่น เขียวเสวย สามารถลดอัตราการใช้ลงได้ 1/4 ของอัตราเดิม เช่น ถ้าใช้ในปีแรก 20 มิลลิลิตร ก็สามารถใช้ซ้ำในอัตรา 15 มิลลิลิตร ในปีถัดมา โดยได้ผลเช่นเดียวกัน
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การบังคับให้มะม่วงออกดอกโดยการใช้สารเคมีนั้น ไม่เป็นเรื่องยากเย็นอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ ยังไม่มีวิธีการใดที่ช่วยเพิ่มการติดผลของมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการใช้สารเคมีนั้นยังได้ผลไม่แน่นอน จึงยังไม่อาจแนะนำให้ใช้ได้ ปัญหาเรื่องการติดผลของมะม่วงนั้นมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพแวดล้อมขณะออกดอก และความสมบูรณ์ของต้นมะม่วงจะมีการติดผลได้ ดีในสภาพที่อากาศไม่ชื้นเกินไป อุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำเกินไป และต้นมีความสมบูรณ์ สูง มีการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อสามารถบังคับการออกดอกของมะม่วงได้โดยไม่จำกัดฤดูกาลเช่นนี้ จึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรบังคับให้มะม่วงออกดอกในช่วงที่ฝนชุก ซึ่งมีความชื้นในอากาศสูงเกินไป ทำให้มีการติดผลได้น้อย และอีกประการหนึ่งคือ ควรบำรุงรักษาต้นให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดผลให้ดีขึ้น
อ้างอิง
ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โดย ผศ.พีรเดช ทองอำไพ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์