เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกลองกอง
การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของลองกอง
ลองกองเป็นไม้ผลที่ติดผลได้เองโดยไม่ต้องมีการถ่ายละอองเกสร ดังนั้น
ไม่ว่าจะมีช่อดอกมากเท่าไรก็สามารถพัฒนาเป็นช่อผลได้ทั้งหมด
ปัญหาของลองกองจึงไม่เหมือนกับทุเรียน มะม่วง และเงาะ
ที่มักกกพบปัญหาว่าออกดอกแต่ไม่ติดผล
สำหรับลองกองนั้นจะพบว่าปริมาณช่อดอกและช่อผลมีมากเกินไป ทำให้ผลเจริญเติบโตช้า
มีขนาดเล็กและมีปัญหาผลร่วง เกษตรกรจึงควรปฏิบัติดังนี้
1. การตัดแต่งช่อดอก
เพื่อให้เหลือช่อดอกบนต้นในปริมาณที่พอเหมาะไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกันในระหว่างช่อ
แนะนำให้ตัดแต่ช่อดอกในขณะที่ช่อดอกกำลังยึดตัว มีความยาวประมาณ 5-10 ซม.
หรือประมาณสัปดาห์ที่ 3-5
เพราะถ้าตัดกกก่อนหน้านี้จะทำให้มีช่อดอกรุ่นน้องพัฒนาเพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย
แต่ถ้าตัดแต่งช้ากว่านี้
ต้นลองกองจะสูญเสียอาหารสะสมไปกับการเจริญของช่อดอกที่ต้องตัดทิ้งไป
เทคนิคการตัดแต่งช่อดอกมี ดังนี้
ครั้งที่ 1 ตัดแต่งช่อดอกที่ออกเป็นกระจุกให้เหลือ 1 ช่อต่อ 1 จุด
และเลือกตัดช่อดอกบริเวณปลายกิ่งที่เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 2-3 ซม.
ช่อดอกที่ชี้ขึ้นด้านบน ช่อดอกขนาดสั้นและไม่สมบูรณ์ตัดออกให้หมด
ครั้งที่ 2 ครั้งนี้อาจไม่จำเป็นแต่ถ้าหากว่ายังมีช่อดอกอยู่มากเกินความต้องการ
ให้ตัดแต่งได้อีกครั้งหนึ่งให้เหลือเฉพาะช่อดอกที่ยาวและสมบูรณ์แข็งแรงในปริมาณและตำแหน่งที่เหมาะสม
การไว้ช่อดอกในแต่ละต้นมีหลักยึดง่าย ๆ ว่า ควรไว้ระยะห่างของแต่ละช่อประมาณ 10-15
ซม. ปริมาณช่อที่ไว้ขึ้นอยู่กับขนาดของกิ่ง คือ ในต้นลองกองที่สมบูรณ์ดี
ในกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ไว้ช่อดอก 3-5 ช่อ กิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาาง
1 นิ้วครึ่งไว้ช่อดอก 10-15 ช่อ และควรเหลือช่อดอกบนต้นมากกว่าจำนวนที่จะไว้จริง
20-30 เปอร์เซนต์ เพราะจะต้องทำการตัดแต่งช่อผลอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการตัดสินใจจะไว้ช่อดอกจริงเท่าไรนั้น
เกษตรกรจำเป็นต้องพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้น ขนาดของทรงพุ่ม โครงสร้างของกิ่ง
การให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา อายุของต้น รวมทั้งขึ้นกับประสบการณ์ของเกษตรกรเอง
2. การตัดแต่งช่อผล
การบานของดอกลองกองภายในช่อเดียวกันจะทะยอยบาน และหลังจากที่ดอกบานแล้วอีกประมาณ
12-13 สัปดาห์ ผลจะแก่เก็บเกี่ยวได้
โดยปกติ หลังจากดอกลองกองบานและติดผลขนาดเล็ก
เกษตรกรจะพบกับปัญหาผลร่วงเพราะอาหารที่สะสมอยู่ในต้นลองกองไม่สามารถส่งไปเลี้ยงผลได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้น จึงแนะนำให้ทำการตัดแต่งช่อผลในเวลาที่ถูกต้อง
เพื่อให้เหลือช่อผลบนต้นในปริมาณและตำแหน่งที่เหมาะสม
ซึ่งจะเป็นการป้องกันการหลุดร่วงของผลอ่อนและเพื่อให้ได้ผลผลิตลองกองที่มีคุณภาพ
เทคนิคการตัดแต่งช่อผล เป็นดังนี้
ตัดแต่งช่อผลครั้งที่ 1 เมื่อช่อผลลองกองมีอายุ 2-3 สัปดาห์ หลังดอกบาน
ให้ตัดช่อผลที่มีการหลุดร่วงของผล ช่อผลที่เจริญเติบโตช้า
และช่อผลที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมทิ้งไป
เหลือช่อผลไว้บนต้นมากกว่าที่จะเอาไว้จริง 10-20 เปอร์เซนต์
นอกจากนี้แล้วเกษตรกรยังสามารถที่จะตัดปลายช่อผลลองกองทิ้งไปได้บ้าง
เพื่อทำให้ผลลองกองสุกและมีคุณภาพสม่ำเสมอใกล้เคียงภายในช่อเดียวกัน
เพราะผลจากการที่ดอกลองกองภายในช่อเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกัน
ตัดแต่งช่อผลครั้งที่ 2 เมื่อช่อผลมีอายุ 7-8 สัปดาห์ หลังดอกบาน
อาจต้องตัดแต่งอีกครั้ง โดยเลือกตัดช่อผลที่หลุดร่วงมาก
ช่อผลที่เล็กและเจริญเติบโตช้าทิ้งไป แต่การตัดแต่งครั้งที่ 2
อาจจะไม่จำเป็นถ้าประเมินว่าการตัดแต่งครั้งแรกได้ผลดีแล้ว
ในระหว่างที่ผลลองกองกำลังเจริญนั้น
ควรหมั่นตรวจดูช่อผลลองกองอยู่เสมอโดยอาจจะพบว่ามีผลแตก ควรเขี่ยเอาผลที่แตกออก
เพื่อป้องกันไม่ให้ราเข้าทำลายและเน่าลามไปทำลายผลอื่น
ซึ่งเมื่อเขี่ยเอาผลเหล่านี้ออกแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะมีช่องว่างเกิดขึ้น
เพราะผลที่อยู่ใกล้กับช่องว่างจะขยายขนาดเพิ่มขึ้นมาแทนที่จนเต็ม
กลายเป็นช่อผลที่มีผลโตสวยงามและสม่ำเสมอขายได้ราคาดี
นอกจากนี้แล้วการปลิดผลตอนบนของช่อผลออกเพื่อให้มีที่ว่างระหว่างกิ่งกับช่อผล
จะทำให้การเก็บเกี่ยวทำได้สะดวกขึ้น
และยังช่วยลดปัญหาที่มดเข้าไปทำรังอยู่ในช่อผลได้อีกด้วย
3. การตัดแต่งกิ่งอ่อนและใบอ่อน
ในระหว่างการพัฒนาการของช่อดอกและช่อผลเกษตรกรควรหมั่นเข้าไปดูแลภายในสวนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะตัดแต่งช่อดอก ช่อผลและตัดแต่งผลภายในช่อแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ควรตรวจดูด้วยว่ามีการแตกกิ่งกระโดงภายในทรงพุ่มหรือไม่ ถ้ามีต้องตัดทิ้งไปเพื่อลดการแย่งอาหารของกิ่งเหล่านั้นกับช่อดอกและช่อผล รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง
4. การใส่ปุ๋ยบำรุงผล
ในการเจริญของช่อดอกและผลลองกองจะใช้สารอาหารจากที่สะสามอยู่ในต้นและสารอาหารจากการสังเคราะห์แสง
ซึ่งในระหว่างที่ช่อผลกำลังพัฒนา ลองกองจะมีการแตกกิ่งอ่อนและใบอ่อนด้วย
โดยที่กระบวนการแตกกิ่งอ่อนใบอ่อนและการเปลี่ยนจากใบอ่อนเป็นใบแก่นั้นต้องใช้สารอาหารเช่นเดียวกัน
ดังนั้นเพื่อเตรียมการให้ต้นลองกองสามารถสร้างสารอาหารได้เพียงพอ
ต่อการเจริญของช่อดอก ช่อผล กิ่งอ่อนและใบอ่อน รวมทั้งลดปัญหาผลร่วง
จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 12-12-17+2 ในช่วงที่ตาดอกกำลังยืดตัว ปริมาณ
500 กรัมต่อต้น
การป้องกันปัญหาผลร่วง นอกจากการตัดแต่งช่อ ตัดแต่งผล
และให้ปุ๋ยบำรุงผลตามที่กล่าวแล้ว
การให้อาหารเสริมทางใบในช่วงที่ลองกองกำลังแตกใบอ่อนก็จะช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของผลได้ดีขึ้นโดย
- ถ้าตรวจพบการแตกใบอ่อนในระยะที่ใบอ่อนเริ่มคลี่
ควรฉีดพ่นอาหารเสริมสูตรทางด่วนและเสริมด้วย มีพิควอท คลอไรด์ 150 พีพีเอ็ม
เพื่อให้ใบมีอาหารเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการโดยไม่แย่งอาหารที่เหมาะสมอยู่ภายในต้น
และช่วยชะลอให้ใบอ่อนเจริญอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป
- ถ้าตรวจพบการแตกใบอ่อนในระยะที่ใบอ่อนคลี่แล้วใบกำลังเจริญ ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 7-13-34+12.5 Zn อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเร่งให้ใบอ่อนนี้กลายเป็นใบแก่เร็วขึ้น จะได้ลดระยะเวลาการแข่งขันกับผลอ่อน
5. การให้น้ำ
ระหว่างการยีดตัวของช่อออก และการเจริญของผล
ลองกองต้องการน้ำในปริมาณที่มากและสม่ำเสมอ
ถ้าขาดน้ำในระยะยึดช่อจะทำให้ได้ช่อดอกที่สั้นกว่าปกติ
ถ้าขาดน้ำในระยะแรกของการติดผลจะทำให้ผลอ่อนร่วงมาก และถ้าขาดน้ำในช่วงสัปดาห์ที่
7-10 หลังดอกบาน จะทำให้ช่อผลและผลลองกองชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งระยะที่วิกฤติมาก
ค้อ ถ้าปล่อยให้การขาดน้ำในช่วงที่ผลลองกองกำลังเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง
และเมื่อมีฝนตกลองกองได้รับน้ำอย่างกระทันหันทำให้เปลือกผลแตก
โดยที่ผลแตกนี้ทำความเสียหายกับชาวสวนลองกองเป็นอย่างมาก
บางรายพบว่ามีผลแตกทั้งต้นหรือเป็นทั้งสวน นั่นหมายถึง
เกษตรกรจะไม่ได้รับผลผลิตในปีนั้นและพบกับภาวะขาดทุน
เพราะค่าใช้จ่ายและแรงงานที่เสียไปไม่มีผลตอบแทนกลับคืนมา
จะเห็นได้ว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกดอกของลองกอง
และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
จึงสอดคล้องกับที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า
เกษตรกรที่จะสร้างสวนลองกองจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ
และควรมีการวางระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพ
6. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ปัญหาที่พบในช่วงนี้ คือ โรคราดำ ทำให้ผลลองกองมีตำหนิ เห็นเป็นคราบสีดำเคลือบอยู่ที่ผิวผลแต่ไม่ทำลายเนื้อ สาเหตุของโรคราดำนอกจากจะมีเพลี้ยแป้งเพลี้ยหอยดูดกินน้ำเลี้ยง และถ่ายมูลที่มีน้ำหวานตกค้างบนผิวผลแล้ว ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 5-8 หลังดอกบาน ผลลองกองจะขับน้ำหวานออกมาจากต่อมน้ำหวานที่ผิวผล สังเกตเห็นเป็นหยดน้ำหวานได้ชัดเจนในช่วงเข้าที่อากาศเย็นและชื้น ซึ่งน้ำหวานนี้นอกจากเป็นแหล่งอาหารของราดำแล้วยังล่อให้แมลงอื่น เช่น ผีเสื้อมวนหวานมาดูดกินและทำลายผลลองกองอีกด้วย ดังนั้น จึงควรทำการป้องกันกำจัดทั้งเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเชื้อรา ตามคำแนะนำ สำหรับผีเสื้อมวนหวานให้ใช้เหยื่อพิษล่อ
7. การปฏิบัติอื่น ๆ
เพื่อเป็นการช่วยให้ช่อผลลองกองมีคุณภาพดีขึ้น แนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
- การฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม เพื่อลดการหลุดร่วงและการแตกของผล
โดยฉีดพ่นสารแคลเซียมคลอไรด์ 250 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อช่อออผลมีอายุ 2
สัปดาห์ หลังติดผล และฉีดพ่นซ้ำทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกันจนผลลองกองเริ่มเปลี่ยสี
(ประมาณสัปดาห์ที่ 10-11)
โดยให้ฉีดพ่นที่ช่อหรือใบโดยตรงและสามารถฉีดพ่นร่วมกับสารป้องกันกำจัดเชื้อราได้
- การห่อช่อผล ควรห่อในช่วงสัปดาห์ที่ 5-8 หลังติดผลเพื่อป้องกันแมลงมาดูดกินผลลองกอง และเพื่อเป็นการป้องกันราดำก็ควรจะฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนห่อผล วัสดุที่ใช้ห่ออาจนำกระสอบปุ๋ยตัดให้มีขนาดพอเหมาะกับช่อ ซึ่งการห่อผลนี้จะทำให้ได้ช่อผลที่มีสีเหลืองสวยและไม่มีริ้วรอยขูดขีด
»
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
»
พันธุ์
»
การขยายพันธุ์
»
การปลูก
»
การปฏิบัติดูแลต้นลองกองหลังปลูก
»
การปฏิบัติดูแลลองกองในช่วงที่ให้ผลผลิตแล้ว
»
การเตรียมต้นลองกองให้พร้อมที่จะออกดอก
»
การกระตุ้นการออกดอกและเร่งการพัฒนาของช่อดอก
»
การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตของลองกอง
»
การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาช่อผลลองกอง
»
วิธีการเก็บเกี่ยว
»
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด