เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกข้าวตอซัง
เรียบเรียง : ไพบูลย์ พงษ์สกุล กลุ่มข้าวจากสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และสภาพดิน ที่เสื่อมลง เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกษตรกรต้องคิดหาวิธีการ ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง ลดการใช้สารเคมีและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เกษตรกรที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้พัฒนาวิธีการปลูกข้าว โดยอาศัยตอซังเดิม ซึ่งลดค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน และลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืช แต่เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน การปลูกข้าวตอซัง มีแนวทาง ดังนี้
ข้อควรระวังในการปลูกข้าวตอซัง
- จากพื้นที่ตอซังสม่ำเสมอ สามารถควบคุมระดับน้ำได้ ดังนั้น พื้นที่เขตชลประทาน หรือมีแหล่งน้ำจึงเหมาะสม ใช้ปลูกข้าวตอซัง
- เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ครั้งแรกต้องเป็นพันธุ์ไม่ไวแสง อายุ 115-120 วัน เช่นปทุมธานี 1ม สุพรรณบุรี 1 เป็นต้น(ก่อนทำข้าวตอซัง) ต้องมีความบริสุทธิ์ (ไม่มีพันธุ์ข้าวอื่นปน) และในแปลงนาต้องกำจัดข้าวเรื้อออกให้หมด
- ต้องเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง (เมล็ดข้าวสีเหลือง 80% ของรวง ตอซังสด) โดยระบายน้ำออกให้มีความชื้นพอเหมาะในวันเก็บเกี่ยว (ความชื้นดินในวันเก็บเกี่ยวหยิบขึ้นมาปั้นลูกกระสุนได้) โดยเกี่ยวตอซังให้ยาวที่สุด (เวลาย่ำตอซังราบเรียบกว่าไว้ต่อสั้น)
- การย่ำตอซัง และฟางที่ใช้คลุมต้องให้ราบเรียบไม่มีตอซังกระดก
ขั้นตอนและวิธีการปลูกข้าวตอซัง
- แปลงนาต้องสม่ำเสมอ
- ต้นข้าวที่ปลูกครั้งแรกด้วยเมล็ดต้องแข็งแรงปราศจากโรคแมลง
- เก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง โดยระบายน้ำออกจากแปลงนา ให้ดินมีความชื้นเหมาะสม (หยิบดินในแปลงนาปั้นเป็นลูกกระสุนได้)
- หลังเก็บเกี่ยว กระจายฟางคลุมตอซังทั่วแปลงนา ทำการย่ำต่อซัง และฟางที่คลุมให้ราบเรียบ อย่าให้ตอซังกระดกขึ้น (เพื่อป้องกันตอซังกระดกขึ้นมา หน่อข้าวจะงอกข้อที่ 2-3 หรือปลายตอซัง) จึงควรย่ำในช่วงเช้ามืด ดินมีความชื้น ตอซังและฟางนิ่ม ย่ำง่าย โดยใช้ลูกทุบ (อีขลุบ) ใช้ล้อเหล็กของรถไถเดินตาม หรือล้อขนาดเท่ากับมัดติดกัน 5 ล้อ ลากย่ำ
- หลังย่ำตอซังเกษตรกรต้องตรวจสอบว่าฟางที่คลุมจุดใดหนาให้เอาออก คลุมบาง ๆ ปล่อยทิ้งไว้รอจนกว่าหน่อข้าว (ที่เกิดจากกกข้าว) งอกเจริญ มี 2-3 ใบ (อายุประมาณ 15 วัน นับจากวันย่ำฟาง) จึงสูบน้ำเข้าแปลงนา พอแฉะ (อย่าให้น้ำมากจะทำให้ฟางที่คลุมลอย)
- หลังระบายน้ำเข้า 1 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ปุ๋ยยูเรีย) อัตรา 15-20 กก./ไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และเร่งขบวนการย่อยสลายของตอซังและฟาง รักษาน้ำในนาไม่ให้รั่ว เพื่อไม่ให้ปุ๋ยที่ใส่สูญหาย
- หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 10-12 วัน ระบายน้ำออก (เพื่อลดปัญหาการเกิดก๊าซซึ่งจะทำให้ใบเป็นสีส้ม ในระยะที่ฟางย่อยสลาย) ปล่อยให้ดินแห้ง 3-4 วัน ต้นข้าวจะมีรากงอกออกมา จึงสูบน้ำเข้าแปลงนาในระดับปูคลาน (5 ซม.) ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 30 กก./ไร่ หรือใช้ปุ๋ยสูตร 18-12-6 หรือ 16-128 อัตรา 35 กก./ไร่ ในกรณีปลูกข้าวติดต่อกันไม่มีเวลาหยุดพักเป็นเวลานานเพื่อชดเชยธาตุ P ที่ต้นข้าวใช้ไป
- ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า สูตร 46-0-0 อัตรา 7-10 กก./ไร่ หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10-12 วัน(ตามข้อ 7)
- หลังใส่ปุ๋ยแต่งหน้า (ตามข้อ 8) เพิ่มระดับน้ำในนาสูง 10-12 ซม. ควบคุมระดับน้ำไว้จนกว่ารวงข้าวเริ่มก้ม เมล็ดปลายรวงเริ่มเหลือง จึงระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อเตรียมการเก็บเกี่ยว
ข้อดีของการปลูกข้าวตอซัง
- ลดต้นทุนการปลูกข้าวได้ไร่ละ 470-911 บาท ดังนี้
- ค่าเตรียมดินไร่ละ 150 บาท
- ค่าเมล็ดพันธุ์ ไร่ละ 120 บาท (อัตราปลูกไร่ละ 30 กก.)
- สารเคมีคุมกำเนิดวัชพืช ไร่ละ 100 บาท - ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช/เพลี้ยไฟ/หอยเชอรี่ (ต้นข้าวที่เกิดจาก หน่อเติบโตเร็ว แข็งแรง หอยเชอรี่ทำลายได้น้อยมาก และหอยจะช่วยกินฟางในแปลงนา เพราะอ่อนนุ่มเน่า)
- ลดขั้นตอนการเตรียมดิน/การหว่านหรือดำ
- ลดอายุต้นข้าวได้น้อยลง (ปลูกข้าวตอซังแก่เร็วกว่าปลูกด้วยเมล็ด 10-15 วัน)
- เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน โครงสร้างดินโปร่งร่วนซุยขึ้น
- สามารถปลูกข้าวตอซัง โดยใช้ตอเดิมติดต่อกันได้ ถึง 2 ฤดู โดยให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน
ที่มา : ฐิรัส อินทพงษ์ เกษตรอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี