เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
กระเจี๊ยบเขียว
กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร
ชื่อสามัญ Okra, Gumbo, Ladys finger, Quimbamto (อัฟริกา)
กระต้าด (แถบจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรปราการ)
มะเขือมอญ (ภาคกลาง)
มะเขือมื่น (ภาคเหนือ)
ถั่วเละ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmochus esculentus L. Moench
สกุล Malvaceae (Mallow family)
กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งต่างประเทศนิยมบริโภคแพร่หลาย ตลาดสำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมาก เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารและมีคุณค่าทางสมุนไพร รักษาโรค สำหรับคนไทยบริโภคกระเจี๊ยบเขียวมานานแล้ว เพราะเป็นผักพื้นบ้านของเราซึ่งปลูกง่าย ปลูกได้ตลอดปีและมีราคาไม่สูง
เราใช้ฝักอ่อนของกระเจี๊ยบเขียวเป็นอาหาร คือขนาดฝักยาว 4-9 ซม.
ซึ่งเป็นขนาดที่เก็บเกี่ยวมาบริโภคแล้วจะมีคุณภาพดี อ่อน ไม่มีเส้นใย
ฝักกระเจี๊ยบเขียวที่เก็บมาแล้ว ควรนำมาบริโภคทันทีสามารถนำมาประกอบอาหารได้
ตั้งแต่รับประทานเป็นผักจิ้ม ชุบแป้งทอด ยำต่าง ๆ ประกอบอาหารอื่น ๆ เช่น แกงเลียง
แกงจืด และฝักกระเจี๊ยบเขียวตากแห้งสามารถทำชา ซึ่งมีกลิ่นหอมได้อย่างดี
กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี และแคลเซียมสูง
เมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารจำพวกกัม (gum) และเพคติน (pectin)
ในปริมาณสูงทำให้อาหารที่ประกอบขึ้นจากฝักกระเจี๊ยบมีลักษณะเป็นเมือก
ซึ่งช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน สามารถรักษาโรคความดันโลหิต บำรุงสมอง
ลดอาการโรคกระเพาะอาหารและยังมีสารขับพยาธิตัวจี๊ดได้
ซึ่งปรากฏสรรพคุณในตำราแพทย์แผนโบราณ และการทดลองแพทย์แผนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวจัดเป็นแหล่งที่ให้น้ำมันไม่น้อยกว่า 14 เปอร์เซนต์
แล้วยังมีศักยภาพสามารถที่จะนำมาใช้เป็นแหล่งให้โปรตีนโดยมีปริมาณโปรตีนไม่น้อยกว่า
20 เปอร์เซนต์
แหล่งผลิตกระเจี๊ยบเขียวของโลก ได้แก่ แถบชายฝั่งทะเลแคลิเบียน ทวีปอัฟริกา โดยเฉพาะในประเทศซูดาน อียิปต์ ไนจีเรีย และในประเทศเขตเอเซีย ได้แก่ มาเลเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย แหล่งปลูกกระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ เขตหนองแขม กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรบุรี และสมุทรสาคร ซึ่ง เป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 2,000 ไร่ การส่งออก ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกฝักสดซึ่งร้อยละ 95 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดส่งไปประเทศญี่ปุ่น ในปี 2535 มีการส่งออกกระเจี๊ยบเขียวสดรวม 2,436 ตัน เป็นมูลค่า 113 ล้านบาท การส่งออกในรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องในน้ำเกลือ ทางภาคเอกชน ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เชียงราย พิจิตร นครนายก และนครปฐม เป็นต้น กระเจี๊ยบเขียว แช่แข็ง เริ่มมีการส่งออกตั้งแต่ปี 2533 และในปี 2535 มีปริมาณส่งออกโดยแช่แข็ง 256 ตัน มูลค่า 18.9 ล้านบาท ตลาดรองของกระเจี๊ยบเขียว ได้แก่ ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมันตะวันตก อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น สำหรับตลาดบรรจุกระป๋องแช่ในน้ำเกลือ ได้แก่ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง
»
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
»
พันธุ์และแหล่งพันธุ์
»
ฤดูปลูก
»
การเตรียมแปลงปลูกและการปลูก
»
อายุการเก็บเกี่ยว
»
แมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียว
»
โรคกระเจี๊ยบเขียว
»
วิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
»
การขนส่ง
»
การเก็บเมล็ดพันธุ์
»
ลักษณะคุณภาพของกระเจี๊ยบเขียวที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
»
ข้อควรคำนึงก่อนปลูก
เอกสารอ้างอิง
- กรมส่งเสริมการเกษตร. รายงานการประชุมแนวทางการพัฒนาการผลิตและการตลาดกระเจี๊ยบเขียวระหว่างนักวิจัย นักส่งเสริม เกษตรกรผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว 8 จังหวัด. วันที่ 28 พฤษภาคม 2533 ห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพฯ.
- กรมส่งเสริมการเกษตร. สถิติการส่งออกพืชผัก. กองแผนงานและโครงการพิเศษ
- การปลูกกระเจี๊ยบมอญที่ด้านใต้ของเกาะโอกินาวา (ฉบับโรเนียว)
- เกษม พิลึก และฉันทนา วัชรันต์. กระเจี๊ยบมอญพันธุ์ใหม่. วารสารเคหะการเกษตร, ปีที่ 13 ฉบับที่ 9, กันยายน 2532.
- นิยมรัฐ ไตรศรี และลักษณา วรรณภีร์. 2533 โรคกระเจี๊ยบเขียว. เอกสารประกอบการสัมมนา สนทนาปัญหาโรคพืช. 13 ธันวาคม 2533. สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย. หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, กรุงเทพฯ.
- ชำนาญ ทองกลัด และนรินทร์ พูลเพิ่ม. การปลูกกระเจี๊ยบเขียว. ศูนย์พืชสวนพิจิตรและสถาบันวิจัยพืชสวน, กรมวิชาการเกษตร.
- เบญจวรรณ ชูติชูเดช. การศึกษาดัชนีการเก็บเกี่ยว การทำ precooling การบรรจุและการเก็บรักษาฝักกระเจี๊ยบเขียว. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2534.
- ปิยรัตน์ เขียนมีสุขและอนันต์ วัฒนธัญกรรม. แมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียว. วารสารเคหะการเกษตร, ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2533.
- สมพร ทรัพย์สาร. กระเจี๊ยบเขียวฝักสด. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร. เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตรการปลูกพริกและกระเจี๊ยบเขียว. 16 สิงหาคม 2532. ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร.
- Division of Agricultural Science. University of California. OKRA. 1976.
คณะผู้จัดทำ
ที่ปรึกษา สมชาย สุคนธสิงห์ ,อำภา ตันติสิระ
จัดทำ เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา ,ภัสรา ชวประดิษฐ์ ,ปิยรัตน์ เขียนมีสุข
,นิยมรัฐ ไตรศรี