ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ไทยใหญ่ (shan state)
วันปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน
รัฐฉานมีชายแดนติดกับประเทศไทย ประเทศลาว-ประเทศจีน และพม่านี้ เป็นเมืองที่มีเอกราชมาแต่สมัยก่อน ถึงแม้ว่า รัฐต่าง ๆ ของรัฐฉาน จะถูกแยกการปกครองโดยบรรดาเจ้าฟ้า แต่ระบอบการปกครองของเจ้าฟ้าเหล่านั้น ก็มีลักษณะจารีตประเพณี คล้ายคลึงและเป็น มาตรฐานเดียวกัน จนในที่สุด ก่อกำเนิดเป็น สหพันธ์รัฐ (Federated States) มาแต่บัดนั้น
ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 เนื่องจากการออกล่าอาณานิคมของประเทศฝั่งตะวันตก ส่งผลต่อระบอบการปกครองในรัฐฉาน เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ปี ค.ศ.1815 อังกฤษบุกเข้ายึดครองประเทศอินเดีย และต่อมา ใน ปี ค.ศ.1818 ก็ได้เข้ายึดครองเอาเมืองอสัม ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของชาวไตยอาหม เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงในประเทศอินเดีย
ในพม่านั้น เกิดสงครามการสู้รบ ถึง 3 ครั้ง (1824, 1852, 1885) สุดท้ายพม่าพ่ายแพ้ ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้น ทหารอังกฤษยังไม่ได้เข้ามาในรัฐฉาน แต่เพราะมีการต่อสู้ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ปกครองกันเองในรัฐฉาน เจ้าฟ้าหยองห้วยและเจ้าฟ้าสี่ป้อ จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ ให้ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ทหารอังกฤษจึงเข้ามาในรัฐฉานในปลายปี 1886 ในเวลาเดียวกันนี้ ประเทศฝรั่งเศสก็บุกเข้ายึดครอง ประเทศทางพื้นที่แถบตะวันออก ยึดเอาประเทศเวียตนาม ลาว และเขมร เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันของทั้งสอง ประเทศ เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องเขตแดน จึงมีการกำหนดเขตแดนของประเทศ ไตย ไทย ลาว และจีน ตามอำเภอใจ โดยไม่มีการสอบถามความสมัครใจของเจ้าของพื้นที่เดิม ตั้งแต่บัดนั้น เป็นเหตุให้กลุ่มบ้านพี่เมืองน้อง ที่ไม่เคยมีรั้วปิดกั้นเขตแดน ประชาชนต่างสามารถเดินทางไปมาหาสู่ ค้าขายต่อกันอย่างเสรี กลายเป็นประเทศของใครของมันไปในที่สุด แต่ถึงแม้จะมีการแบ่งเขตแดนกันอย่างชัดเจน อังกฤษก็ไม่เคยที่จะเข้ามายุ่งกับอำนาจการปกครอง จะมีก็แต่ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น อังกฤษเคยให้คำมั่นสัญญาว่า หากว่าประเทศไหน ให้ความร่วมมือกับอังกฤษช่วยรบกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะปลดปล่อยให้เป็นประเทศเอกราชในภายหลัง จากการที่เจ้าฟ้าผู้ปกครองรัฐฉาน นำทหารไทใหญ่ช่วยอังกฤษรบกับญี่ปุ่น ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1945 มีการตื่นตัว เพื่อเรียกร้องให้อังกฤษปลดปล่อยรัฐฉานให้เป็นเอกราช ตามคำสัญญาที่ให้ไว้
ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1945 มีการตระเตรียมการต่าง ๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน ในกลุ่มชาตพันธุ์เทือกเขา ปี ค.ศ.1946 เพื่อจุดมุ่งหมายแห่งการก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า สภาสูงสุดแห่งประชาชนเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill Peoples SCOUHP) จึงได้มีการเชิญตัวแทนของ ชาวคะฉิ่นและชาวชิน มาประชุมร่วมกันในการประชุมปางโหลง ครั้งที่ 1 และถัดมา ฉาน (ไทใหญ่) , คะฉิ่น , ชิน จึงสามารถร่วมกันก่อตั้ง สภาสูงสุดแห่งประชาชนเทือกเขา (SCOUHP) ได้สำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 ส่วนอีกทางด้านหนึ่งนั้น จากจุดมุ่งหมายที่ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองจาก การปกครองด้วยเจ้าฟ้า มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงมีการก่อตั้ง สภารัฐฉาน (Shan State Council) ที่ประกอบไปด้วย เจ้าฟ้า 7 องค์ และตัวแทนประชาชน 7 คน เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมกัน แต่เนื่องจากที่ประชาชนชาวฉาน (ไทใหญ่)ส่วนมาก ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการเมือง และการสถาปนารัฐฉานเป็นรัฐปกครองตนเอง ฉะนั้น จึงเห็นควรให้รัฐฉาน เป็นรัฐภายใต้อารักขาของอังกฤษ (Dominian State) ก่อน ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือทางด้าน การเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ต่อมาเมื่อช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว จึงค่อยประกาศเป็นประเทศเอกราชต่อไป ซึ่งทางประเทศอังกฤษเอง ก็มีคำสัญญาแน่นหนาไว้ว่า หากว่ารัฐฉาน ต้องการเอกราชเป็นของตนเอง โดยไม่เข้าร่วมกับพม่า อังกฤษก็พร้อมที่จะทำตามความต้องการของชาวฉาน
จากการพูดจาหว่านล้อม ยุยงส่งเสริมของนายพลอ่องซาน และกรณีที่เจ้าฟ้าและผู้นำของฉานบางส่วน ไปร่วมลงนามในสัญญาปางโหลง ซึ่งการที่ยอมลงนามในสัญญาปางโหลงนั้น เพราะเห็นว่า สัญญาปางโหลง เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1947 ที่บัญญัติไว้ว่า ฉานมีสิทธิ์ถอนตัว และจากสัญญาปางโหลงนี้เอง ที่ทำให้ฉานและพม่า ได้รับเอกราชร่วมกันจากประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 04/01/1948 ซึ่งในขณะนั้น บรรดาเจ้าฟ้าต่าง ๆ ก็ยังคงมีอำนาจปกครองรัฐของตนเองอยู่ แต่เพราะมีความเชื่อมั่นในข้อตกลงที่มีกับพม่า เจ้าฟ้าต่าง ๆ จึงไม่มีการจัดตั้งกองกำลังทหารของตนเอง แต่ใช้ทหารพม่า เข้ามาปกป้องภัยคุกคามจากต่างประเทศ เหมือนดั่งสมัยที่ตกเป็นรัฐในอารักขา (Domonian State) ของอังกฤษ
ในปี ค.ศ.1950 ก่อนที่ฉานจะทันได้ใช้สิทธิ์การถอนตัว (Right Secession) พม่าอ้างการขับไล่กองกำลังจีนคณะชาติก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่ถอยร่นเข้ามาปักหลัก ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในรัฐฉาน ส่งทหารเข้ามาในรัฐฉานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงแล้ว เพราะพม่า ต้องการยึดครองเอารัฐฉานทั้งหมด เนื่องจากพม่าเห็นว่า ฉานนั้นเป็นศัตรูที่มีความเข้มแข็งเป็นอันดับหนึ่งของพวกเขา และประชาชนชาวฉาน มีความสามัคคี และต่างก็ให้การสนับสนุนเจ้าฟ้าของตน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสาเหตุที่พม่าต้องการทำลายรัฐฉานให้ย่อยยับ ทหารพม่าจึงเริ่มทำการกดขี่ข่มแหง เข่นฆ่าประชาชนชาวฉานนับแต่บัดนั้นมา
ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1956 เป็นต้นมา เนื่องจากทหารพม่า กระทำการทารุณกรรมต่อชาวฉานอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ประชาชนชาวฉาน ที่ต้องการสิทธิเสรีภาพของตนเอง รักในความถูกต้อง เป็นธรรม ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องหาสิทธิของตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตย ดั่งเช่น สมาคมสงฆ์แห่งรัฐฉาน (The Sangha Association of Shan State) ที่ออกมาต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการเขียน การแสดงออกทางด้านวัฒนธรรม และการพัฒนาของคณะสงฆ์ และในวันที่ 27-28 ธันวาคม 1956 องค์กรที่เรียกว่า Shan State Organization ได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองใหย่ในภาคเหนือของรัฐฉาน มีเจ้าผู้ปกครองเมือง และตัวแทนประชาชนกว่า 150 คน เข้าร่วมถกเถียงกันอย่างเปิดกว้าง เกี่ยวกับทัศนะอันอยุติธรรมต่อรัฐฉานของรัฐบาลจาก พรรค AFPFL ของพม่า การประชุมยุติลงด้วยมติเอกฉันท์ ในประเด็นดังต่อไปนี้
- องค์กรแห่งรัฐฉาน คัดค้านอย่างเต็มที่ ต่อข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างอิสราเอลกับรัฐบาล สหภาพ ซึ่งยินยอมให้อิสราเอลเข้ามาทำการเกษตรบน พื้นที่ 1 ล้านเอเคอร์ของรัฐฉาน
- รัฐฉานต้องได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ จากการให้สัมปทานขุดแร่เงินที่เมืองน้ำตู่- บอว์ดวิน ในรัฐฉานภาคเหนือ
- รัฐฉานต้องได้รับส่วนแบ่งจากค่าปฏิกรรมสงครามของญี่ปุ่น เพื่อชดเชยค่าเสียหาย ในช่วงสงครามโลก
- รัฐบาลแห่งรัฐฉาน จะต้องเป็นผู้ร่างแผนการเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของรัฐฉานเอง
- จะต้องจัดการประชุมใหญ่ ระหว่างประชาชนและผู้นำของรัฐฉานโดยไม่ชักช้า
- รัฐบาลสหภาพ จะต้องแบ่งสรรงบประมาณให้กับรัฐฉาน
- รัฐบาลสหภาพ จะต้องยกเลิกภาษีที่เรียกว่า Tax on Profit ซึ่งเรียกเก็บจากรัฐฉาน
- ผู้คนในรัฐฉาน จะต้องสามารถจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรทางสังคมได้
- รัฐฉานจะระงับการเข้าร่วมในสมัชชาชนเทือกเขาที่จัดตั้งขึ้น ก่อนถึงเวลาอันควร
- ผู้ปกครองฉาน จะต้องไม่ยอมเสียสิทธิต่าง ๆ ในรัฐของตนโดยไม่จำเป็น
- รัฐฉานจะถอนตัวออกจากสหภาพ หลังจากครบ 10 ปี ดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
- รัฐฉานจะไม่เข้าร่วม หรือเป็นสมาชิกของพรรค AFPFL (Anti Fascist People Freedom League)
ภายหลังจากที่มีมติเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมแล้ว วันที่ 07/02/1957 ประชาชนชาวฉาน ได้จัดชุมนุมรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยสันติวิธี
การรัฐประหารยึดอำนาจ นอกจากเปรียบเสมือนการดูแคลนชนชาติอื่นในสหภาพว่า เป็นชาติที่ต้อยต่ำกว่าแล้ว นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ทหารพม่า ได้กระทำการทารุณกรรมต่อประชาชนชาวฉานมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ ในที่ประชุม เมื่อวันที่ 16-19/05/1957 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองใหย่ นั้น ต่างก็มีความเห็นว่า กองทัพพม่า คงจะไม่ยอมหยุดการระรานรัฐฉานง่าย ๆ จึงมีมติในที่ประชุมว่า ฉานจำเป็นต้องมีกองทัพของตนเอง และในที่ประชุม ได้ร่วมกันเลือกเอา ซอหนั่นต๊ะ (ภายหลังเรียก ซอหยั่นต๊ะ / เจ้าหยั่นต๊ะ / เจ้าน้อย / เจ้าเงือกกางลาย) ชาวฉานพื้นเพเมืองวัน มาโตที่บ้านหม้อ ที่มีประสบการณ์มาแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ
20/05/1958 เจ้าน้อยพากำลังพล 30 นาย ข้ามน้ำสาละวินที่ท่าผาแหลง ระหว่างเมืองปั่นและเมืองจ๊อด ไปนอนค้างแรมที่สบห้วยสมาน ห่างท่าผาแหลงประมาณ 3 ก.ม. เช้าตรู่ของวันที่ 21/05/1958 เวลา 07.00 น. เพื่อให้มีความมั่นใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำงานปฏิวัติร่วมกันนั้น จึงได้จัดพิธีดื่มน้ำ กล่าวคำสาบานต่อกัน ซึ่งในพิธี ประดับด้วย ธงชาติรัฐฉาน , ธงเจ้าเสือเผือก , ธงเจ้าเงือกกางลาย , ธงเจ้าเสือข่านฟ้า และธงหนุ่มศึกหาญ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีดื่มน้ำสาบานตนแล้ว ได้ร่วมกันจัดตั้ง กองทัพ หนุ่มศึกหาญ ซึ่งตอนเริ่มก่อตั้งนั้น หนุ่มศึกหาญ มีกำลังพล 31 นาย ปืน 7 กระบอก หลังจากนั้น ไปตั้งกองบังคับการอยู่ที่ ปุ่งแกงมัน ใกล้บ้านเมืองจ๊อด
ข่าวการจู่โจมกองทหารพม่าในจังหวัดเชีงตุงของหนุ่มศึกหาญ
ได้แพร่กระจายไปสู่ประชาชนทั่วรัฐฉาน เหตุการณ์ดังกล่าว
กระตุ้นให้ผู้คนจำนวนมาก ที่มิอาจทนต่อการกดขี่ของพม่า ลุกขึ้นมาจับอาวุธ
และรวมตัวกันเป็นหมวดหมู่ขนาดเล็ก
ทั้งปฏิบัติการโจมตีกองทหารของศัตรูที่ตั้งกระจายอยู่ในรัฐฉาน นับแต่นั้น
ผู้รักชาติทุกหนทุกแห่ง
ได้เข้าร่วมกับกองทหารเข้าต่อต้านกองทัพพม่า ในรัฐฉานนั้น
ก่อเกิดกลุ่มรักชาติขึ้นหลาย ๆ กลุ่ม ถึงแม้ว่าในวันนี้
การปฏิวัติเพื่อกอบกู้เอาเอกราชรัฐฉานยังไม่สิ้นสุดก็ตาม กลุ่มผู้รักชาติ
ต่างได้ยึดถือเอาวันที่ 21/05/1958 นี้ เป็นวันปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน
ซึ่งวันดังกล่าวนี้ เป็นวันที่เจ้าน้อย / ซอหยั่นต๊ะ ก่อตั้งกลุ่มหนุ่มศึกหาญ
เพื่อกอบกู้เอกราชของรัฐฉานกลับคืนมา ตามปณิธานที่ว่า เมื่อตัวเราพ้นทุกข์แล้ว
เพื่อให้ชาติพันธุ์ของเราพ้นทุกข์เหมือนตัวเรานั้น
จะยอมเอาหน้าอกเป็นป้อมปราการ ต่อสู้สืบไป
ข้อมูลอ้างอิง :
1. จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติและนโยบายกอบกู้รัฐฉาน
2. ประวัติรัฐฉานและการเมืองในรัฐฉาน
3. 50 ปี แห่งการปฏิวัติ เงาสะท้อนในปัจจุบัน (S.H.A.N.)
4. รัฐฉาน ประวัติศาสตร์และการปฏิวัติ (อัคนี มูลเมฆ)
ชานมาจากไหน
เมืองไตย (Shan State)
ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์รัฐฉาน
(ค.ศ.1939-ปัจจุบัน)
วันชาติรัฐฉาน (7 กุมภาพันธ์ 2490)
วันปฏิวัติกอบกู้รัฐฉาน
สถาบันหลักอันศักดิ์สิทธิ์ 4 สถาบัน
สัญญาปางหลวง
การต่อต้านและปราบปรามยาเสพติด