สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วันปิยมหาราช
23 ตุลาคม
วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติและกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
5 พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ พระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.
2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระเทพ ศิรินทรา พระบรมราชินี พระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐา
3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กระพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ
หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถทรงจ้างครูซึ่งเป็นชาวต่างประเทศโดยตรงมาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทรงเห็นว่าต่อไปในอนาคตจะจำเป็นอย่างมาก และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่างๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ด้วยพระองค์เองด้วย
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ได้พร้อมกันถวายพระราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่
5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.
2411 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง
16 พรรษา ขุนนางผู้ใหญ่จึงแต่งตั้งเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ อาทิ
ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป
ด้านการปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี 6 กระทรวง และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกและให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
ด้านเศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล
ด้านการศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา
ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ
ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นต้น
ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นด้วยทรงอยากให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย
ด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรกด้วย
ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น
พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไทตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว พระองค์ได้ทำการปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่ายเพื่อหาวิธีไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส
ดังนั้นในปี พ.ศ.
2416 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่
18 ตุลาคม 2417 ด้วยพระวิริยะอุตสาหะทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว
นอกจากนี้ การเสด็จประพาสต้น ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับทางรถไฟหรือไม่ก็ทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.
2453 สิริรวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา พระปิยมหาราช ซึ่งแปลความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราชที่จะถึงนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยแสดงความจงรักภักดี ด้วยการสมัครสมานสามัคคี เนื่องจากประเทศไทยของเราตอนนี้กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ทำให้พี่น้องชาวไทยในบางพื้นที่ของประเทศประสบความเดือนร้อนจากภัยน้ำท่วม ในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน ต้องสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่บ้านเมืองประสบปัญหา เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงพัฒนาประเทศและปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความเป็นเอกราชมาจนถึงปัจจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมเหสี และ เจ้าจอมรวม 92 พระองค์ มีพระราชโอรส 32 พระองค์ พระราชธิดา 44 พระองค์ ประสูติจากพระมเหสีและเจ้าจอมมารดา เพียง 36 พระองค์ อีก 56 พระองค์ ไม่มี พระราชโอรส ธิดา เลย สำหรับพระมเหสีที่สำคัญ จะกล่าวถึง มีดังนี้
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตนพระบรมราชเทวี (อัครมเหสีองค์แรก)
หรือสมเด็จพระนางเรือล่ม เรือที่เสด็จได้ล่มลงทำให้ต้องสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระธิดา ที่มีพระชนมายุเพียง
2 พรรษาเท่านั้น ส่วน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
มีพระชันษา ย่างเข้า 21 พรรษา (1 ปี 9 เดือน 20 วัน ) และกำลังทรงพระครรภ์ 5 เดือน
อุบัติเหตุ เกิดที่ บางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.
2423
สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (อัครมเหสีองค์ที่
2)
พระองค์ก็คือสมเด็จย่าของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน) สิ้นพระชนม์เมื่อ วันจันทร์ ที่
17 ธันวาคม พ.ศ. 2499 มีพระชนมายุ 93 พรรษา
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ทรงเป็นพระชนนีใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่
6 พระองค์ทรงได้รับพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ประพาสยุโรป ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.
2440 พระองค์ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2406 สิ้นพระชนม์เมื่อ
วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 มีพระชนมายุ 56 ปี
ที่มา : สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
วันปิยมหาราช
วันรัฐธรรมนูญ
วันสุนทรภู่
วันฉัตรมงคล
วันอนุรักษ์มรดกไทย
วันลอยกระทง
วันแม่แห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันอาสาฬหบูชา
วันเข้าพรรษา
วันจักรี
วันมาฆบูชา
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
วันครู
วันเด็กแห่งชาติ
วันขึ้นปีใหม่
วันพระเจ้าตากสินมหาราช
วันสารทไทย
วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ
วันวิสาขบูชา
วันพืชมงคล
วันสงกรานต์
วันสตรีสากล
วันนักประดิษฐ์
วันศิลปินแห่งชาติ