สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การเตรียมการของไทย
รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงแผนการถอนกำลังทหารญี่ปุ่น 25 กองพล จากประเทศจีน เพื่อระดมกำลังเตรียมบุก อาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเซียอาคเนย์ เห็นว่าไทยคงหลีกสงครามไปไม่พ้น จะต้องเตรียมสืบเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศส ตามชายแดนในเขตเขมรและลาว จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสืบราชการลับขึ้น โดยความร่วมมือกันระหว่างทหารและตำรวจ เร่งปรับปรุงกองทัพทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือ กับได้ยกฐานะกรมทหารอากาศขึ้นเป็นกองทัพอากาศ
ด้านกองทัพบก ได้ปรับปรุง กองทัพ กองพล เป็นหน่วยรบอย่างครบถ้วน วางแผนการระดมพล ขยายกำลังอัตราศึกไว้พร้อม เปิดโรงเรียนเสนาธิการขึ้นใหม่ ขยายหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยขึ้นเป็น ระดับโรงเรียนเทคนิค ปรับปรุงศูนย์การทหารปืนใหญ่ ให้มีเครื่องอุปกรณ์การฝึกยิงแบบทันสมัย ขยายโรงงานสรรพาวุธ ให้สามารถสร้างอาวุธ ปืนเล็ก ปืนกล และกระสุนขึ้นใช้ได้เอง ตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารบกขึ้น เพื่อใช้ในราชการในยามฉุกเฉิน ตั้งกรมเชื้อเพลิงและโรงกลั่นน้ำมันขึ้น จนเป็นเรื่องที่ต้องวิวาทกับบริษัทอังกฤษและอเมริกา ถึงขั้นแตกหักต้องเลิกกิจการไป นอกจากนี้ยังได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจาก เยอรมัน สวีเดน และอิตาลี อย่างครบครัน
ด้านกองทัพเรือ ได้สั่งต่อเรือรบที่ญี่ปุ่น และอิตาลี มีทั้งเรือฟรีเกต เรือบึน เรือตอร์ปิโด และเรือดำน้ำ เป็นจำนวนมาก ได้ปรับปรุงสถานีทหารเรือที่สัตหีบ เพื่อใช้เป็นฐานทัพ สร้างโรงเรียนนายเรือใหม่ นับว่าเป็นกองทัพเรือที่ทันสมัยมากในเวลานั้น
ด้านกองทัพอากาศ เมื่อได้ยกระดับกรมทหารอากาศขึ้นเป็นกองทัพอากาศแล้ว ก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินประเภทต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จัดเป็นฝูงบินรบและกองบินน้อยขึ้น ในหลายจังหวัด สร้างโรงงานซ่อมเครื่องบิน และประกอบลูกระเบิดขึ้นเอง
นอกจากการสร้างเสริมกำลังทั้งสามเหล่าทัพในด้านวัตถุแล้ว ในด้านคน ก็ได้จัดส่งนายทหารไปศึกษา และดูงานการทหารในต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำลังพลเหล่านี้ได้กลับมา เป็นกำลังสำคัญของกองทัพต่อไป
การจัดตั้งยุวชนทหาร เป็นการสร้างพลเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนให้เป็นทหารที่แกร่งกล้า มีความรักชาติ มีระเบียบวินัย เป็นพลเมืองกระดูกเหล็ก เป็นทหารใจเพชร มีความสำนึกในหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ
นอกจากนี้ในการขยายกำลังรบในยามสงคราม จะต้องฝึกสอนเตรียมนายทหารและนายสิบเข้าตามอัตราศึก ในเวลาระดมพลให้มีจำนวนเพียงพอ ในระดับผู้บังคับหมวด และผู้บังคับหมู่ การฝึกกำลังพลดังกล่าว อนุโลมตามแบบการฝึกนายทหารกองหนุนของสหรัฐอเมริกา และของประเทศอังกฤษ
การเตรียมการของไทย
การดำเนินการเจรจาทางการทูต
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น
การประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
การดำเนินสงคราม
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ
การจัดตั้งกองทัพพายัพ
การปกครองสหรัฐไทยเดิม
การปฏิบัติการทางอากาศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
ไทยประกาศสันติภาพ
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
สภาวการณ์หลังสงคราม
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ
จดหมายเหตุ