สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
มีสาระดังนี้
"โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกล้ำเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามา ทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฎร ผู้ประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญ
ผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฏหมายระหว่างประเทศ และมนุษยธรรม ประเทศไทยไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปได้อีก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นต้นไป
ฉะนั้น จึงให้ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัย ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฎิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทย ประสบชัยชนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เป็นธรรมของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ด้วยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฎิบัติตามคำสั่งของราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งให้ประกอบอาชีพตามปกติของตนอย่างเต็มที่ให้ได้ผล เพื่อนำมาช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนร่วมชาติ และพันธมิตรของชาติอย่างมากที่สุด
ส่วนผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้ที่มิได้เป็นคนไทย และมิได้เป็นชนชาติศัตรู
ให้ตั้งตนอยู่ในความสงบ และดำเนินอาชีพอย่างปกติ
และให้กระทำกิจการให้สมกับที่ตนได้รับยกย่องว่า เป็นมิตรของประเทศไทย"
รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประกาศสงครามให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ในวันที่
25 มกราคม 2485 มีใจความว่า
ตั้งแต่แรกอังกฤษได้แผ่จักรภพมาทางด้านตะวันออก ประเทศไทยได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นมาโดยตลอด อังกฤษได้บั่นทอนดินแดน และแบ่งแยกเชื้อชาติไทยให้กระจัดกระจาย กระทำการทุกอย่างให้ไทยอ่อนแอทางการคลัง และเศรษกิจ ส่วนทางสหรัฐอเมริกาก็ดำเนินนโยบาย เช่นเดียวกับอังกฤษ ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน สหรัฐอเมริกาได้ขัดขวาง การดำเนินการของไทยทุกประการ ตลอดจนริบเครื่องบินและอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยสั่งซื้อ และชำระเงินให้เสร็จแล้ว
ครั้นเมื่อสงครามได้เกิดขึ้นในบูรพทิศ ประเทศไทยได้รู้สึกผูกพันในหน้าที่ ที่เป็นชาวเอเซีย จึงได้ร่วมเมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ไทยก็มิได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และมิได้ทำการประทุษร้ายรุกรานทั้งสองประเทศดังกล่าวแต่ประการใด ตรงกันข้ามอังกฤษและอเมริกา ได้กระทำประทุษร้ายไทยอย่างรุนแรง ในระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม ถึง 20 มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ 30 ครั้ง และโจมตีทางบกถึง 36 ครั้ง จังหวัดที่ถูกโจมตีมีจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ พระนครและธนบุรี ประจวนคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และยะลา ในบรรดานักบินที่จับได้ ก็มีนักบินที่เป็นคนชาติอเมริกันอยู่ด้วย การโจมตีทางอากาศก็มิได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือมิได้โจมตีที่สำคัญทางทหาร แต่กลับโจมตีบ้านเรือนราษฎร และใช้ปืนกลยิงผู้คนพลเมืองอย่างปราศจากศีลธรรม ครั้นเมื่อคืนวันที่ 24 มกราคม เครื่องบินอังกฤษไก้มาโจมตีพระนครอีก
พฤติกรรมทั้งนี้ย่อมตกอยู่ในวิสัยอันไม่สามารถจะทนดูต่อไปได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาในวันนี้ ตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป
การเตรียมการของไทย
การดำเนินการเจรจาทางการทูต
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น
การประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
การดำเนินสงคราม
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ
การจัดตั้งกองทัพพายัพ
การปกครองสหรัฐไทยเดิม
การปฏิบัติการทางอากาศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
ไทยประกาศสันติภาพ
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
สภาวการณ์หลังสงคราม
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ
จดหมายเหตุ