เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การบรรจุหีบห่อ
ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยพลาสติก
พลาสติกเป็นสารสังเคราะห์จำพวกโพลิเมอร์ ประกอบด้วยสารหลายอย่าง
โดยใช้กรรมวิธีเคมีดัดแปลง ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานที่ใช้
เช่นกันการซึมของอากาศ น้ำ หรือ ไขมัน ทนต่อความร้อน หรือเย็น ทนกรดหรือด่าง
มีลักษณะแข็งหรือเหนียว ฯลฯ โดยทั่วๆไป พลาสติกมีน้ำหนักเบา ไม่นำความร้อน
ไม่นำไฟฟ้าและทำให้มีรูปร่างและขนาดต่างๆ ได้
ประเภทและคุณสมบัติพลาสติก
พลาสติกแบ่งตามรูปแบบได้ 2 ประเภท คือ ฟิล์มพลาสติก (plastic film) และภาชนะพลาสติก
(plastic container)
1. ฟิล์มพลาสติก
คือ พลาสติก ที่เป่ารีดเป็นแผ่นบาง ซึ่งมักใช้ทำถุงหรือใช้ห่อ
ถุงพลาสติกธรรมดา ได้แก่
- ถุงเย็น ทำมาจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE)
ถุงมีลักษณะค่อนข้างใส นิ่ม ยืดหยุ่นพอสมควร ใช้บรรจุของทั่วไป
รวมทั้งอาหารแช่แข็งได้
- ถุงร้อน ส่วนใหญ่ทำมาจากเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (PP) ถุงมีลักษณะใสมาก
และมีความกระด้างกว่าถุงเย็น สามารถบรรจุของร้อนได้ถึงจุดน้ำเดือด
แต่ไม่เหมาะกับการบรรจุอาหารแช่แข็ง เพราะพลาสติกจะเปราะ
อีกชนิดหนึ่งทำจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE)
ถุงจะมีลักษณะบางขุ่น
- ถุงหิ้ว โดยทั่วไปทำจากพลาสติกโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE)
แต่ส่วนใหญ่มักนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำความสะอาดแล้วหลอมใหม่ใส่สีให้ดูสวยงามขึ้น
ไม่ปลอดภัยกับการบรรจุอาหาร ที่เนื้ออาหารสัมผัสกับถุงโดยตรง
- ถุงซิบ (zip lock back) เป็นถุงที่ปากถุงมีล็อคเพื่อความสะดวกในการเปิดและปิด ใช้บรรจุอาหารสำเร็จรูปประเภทของแห้งและยาเม็ด ส่วนมากทำจากโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE)
ถุงพลาสติกอื่นๆ
ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ถุงชนิดนี้มีมากมายให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม
มีทั้งที่ทำจากฟิล์มพลาสติกชั้นเดียวและประเภทหลายชั้น
ตามร้านที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป เช่น ร้านขายอาหารกระป๋องหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต
เราจะเห็นมีอาหารสำเร็จรูปบรรจุในถุงพลาสติกหลายชนิด
ที่หน้าถุงมักมีรูปภาพตัวหนังสือพิมพ์ไว้อย่างสวยงามเป็นที่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้ซื้อ
ถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่จำหน่ายอยู่ตามร้านค้าทั่วไปนั้นมีลักษณะสีสรรแตกต่างกันไป
บางชนิดไม่มีสีและโปร่งแสง บางชนิดมีสีขาวใส บางชนิดมีสีขาวใส่ขุ่นและทึบแสง
บางชนิดมีสีต่างๆ เช่น สีน้ำตาล เขียว เหลือง เป็นต้นนั้น
ผู้บริโภคบางท่านอาจไม่ทราบว่าบางชนิดทำด้วยแผ่นพลาสติกเพียงชั้นเดียว
บางชนิดจะทำด้วยพลาสติกหลายชั้น และต่างชนิดประกบกันเรียกว่า ลามิเนท (laminate)
หมายเหตุ ถุงพลาสติกและถุงประกบเหล่านี้มีมากมายหลายชนิด
ผู้ที่ประกอบอุตสาหกรรมอาหารและต้องใช้ถุงเหล่านี้บรรจุอาหารต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิดด้วย
เพื่อการเก็บถนอมอาหารไว้ในระยะนานๆ โดยคุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง
ถุงประเภทหลายชั้น
การที่จะบรรจุอาหารเพื่อเก็บถนอมอาหารไว้ในระยะนาน โดยไม่ให้คุณภาพเปลี่ยนนแปลงนั้น ควรใช้ถุงบรรจุอาหารที่ทำด้วยฟิล์มพลาสติกต่างชนิดประกบกัน หรือระหว่างฟิล์มพลาสติกกับวัสดุอื่น เช่น กระดาษ แผ่นเปลวอลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งเรียก ลามิเนท เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ ดังนี้
- ถุงพลาสติกที่ต้มได้ ทำจากแผ่นประกบของแผ่น โพลิเอสเธอร์และแผ่นโพลิเอทิลีน
- ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหารแบบสูญญากาศ ทำจากแผ่นประกบของแผ่นไนล่อน
และแผ่นโพลิเอทิลีน
- ถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับบรรจุอาหารแห้ง ทำจากแผ่นประกบของ
แผ่นอลูมิเนียมบางๆ และแผ่นไวนิลอซิเตต
- ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารที่ทำให้แห้งโดยวิธีเยือกแข็งแบบสูญญากาศ (freeze
drying) ทำจากแผ่นประกบ ไมลาร์ แผ่นอลูมิเนียมบางๆ และแผ่นโพลิเอทิลีน
- ถุงพลาสติกชนิดต้มในน้ำเดือดได้ และทำเป็นสูญญากาศได้ ทำจากแผ่นโพลิเอทิลีนเคลือบด้วยซารานประกบกับแผ่นโพลิเอสเธอร์ใช้ได้ดีกับอาหารที่ไม่ต้องการสัมผัสกับอากาศและในถุงนั้นอุ่นอาหารได้เลย
โดยไม่ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นก่อน
- ถุงพลาสติกชนิดกันแสงสว่าง ความชื้น และก๊าซ เป็นพวกที่ทำจากแผ่นโพลิเอสเธอร์ประกบกับแผ่นอลูมิเนียมบาง
และแผ่นโพลิเอทิลีน รวมเป็น 3
ชั้นเหมาะสำหรับใช้บรรจุอาหารสำเร็จรูปพวกซุบแห้งหรืออาหารอื่นๆ เป็นต้น
หมายเหตุ ถุงประเภทหลายชั้นไม่สามารถแยกชนิดและชั้นได้ด้วยสายตา
การเลือกใช้ถุงพลาสติก
เลือกตามความเหมาะสมกับอาหารที่บรรจุ
จะทำให้อาหารมีคุณภาพดีเก็บไว้ได้นานโดยไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากชนิดถุงพลาสติกแล้ว
กรรมวิธีบรรจุมีความสำคัญในการรักษาคุณภาพอาหารเป็นอย่างมาก
อาหารที่ต้องการบรรจุแบบสูญญากาศนั้นเราไม่ต้องการให้ออกซิเจนเหลืออยู่
เพราะจะทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี ที่ทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพ เช่น
จะมีการเปลี่ยนแปลง สี กลิ่น และรสโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันจะเห็นได้ชัดมาก
ฉะนั้นจึงต้องใช้กรรมวิธีกำจัดออกซิเจนออกให้หมด
ถุงพลาสติกจึงจะทำหน้าที่ของมันได้โดยสมบูรณ์
การบรรจุด้วยก๊าซเฉื่อย เช่น ไนโตรเจน
ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการเก็บในถุงพลาสติกอย่างมีสมรรถภาพ
ในการใช้สารกันหืนที่ผู้ผลิตอาหารประเภทนมผง ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย
ซึ่งบางชนิดก็ไม่อยู่ใรายการที่ทางการอนุมัติให้ใช้ได้
เพราะฉะนั้นการใช้ชนิดของถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่เหมาะสม
กรรมวิธีการบรรจุที่ถูกต้อง จะดีกว่าการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
พลาสติกหดรัดรูป (shrink film) มี 2 ชนิด
- ฟิล์มพลาสติกรัดรูป
ฟิล์มพลาสติกชนิดนี้จะหดตัวเมื่อถูกความร้อนถึงจุดที่เรียกว่า ้heat set หรือ
heat memory โมเลกุลของพลาสติกจะกลับมีสภาพเดิม พลาสติกจะหดตัวลง
ตัวอย่างการบรรจุด้วยฟิล์มพลาสติกชนิดนี้ เช่น การบรรจุผลิตภัณฑ์ชุด
หรือเป็นโหล เช่น นมกล่อง จัดเป็น 6 กล่องต่อ 1 แพค
- ฉลากฟิล์มหดรัดรูป (shrink label) ฉลากฟิล์มหดรัดรูปแบบใหม่ได้เข้าสู่วงการบรรจุหีบห่อในประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ สามารถพิมพ์สอดสีได้กว่า 7 สี มีความคมชัด ประณีต และรัดรูปแนบสนิทติดกับตัวภาชนะบรรจุ แต่ราคาสูง ไม่คุ้มค่าสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีปริมาณการขายต่ำ
2. ภาชนะพลาสติก
คือ พลาสติกที่มีการขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น เป็นขวด กล่อง ถ้วย เป็นต้น
ชนิดของภาชนะพลาสติก แบ่งตามรูปทรงได้ ดังนี้
- ขวดพลาสติก นิยมแพร่หลายที่สุด เนื่องจากใช้ทดแทนขวดแก้ว เช่น
- ขวดที่ทำจากโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ใช้บรรจุน้ำมัน น้ำผลไม้
- ขวดที่ทำจากโพลิเอทิลีน (PE) (ชนิดความหนาแน่นสูง) ใช้บรรจุนม น้ำดื่ม ยา สารเคมี ผงซักฟอก เครื่องสำอาง
- ขวดที่ทำจากโพลิเอสเธอร์ (PET) ใช้บรรจุน้ำอัดลม เบียร์ ที่มีความจุมากกว่า 1 ลิตร
- ถ้วยพลาสติก เช่น ถ้วยใส่น้ำอัดลม สำหรับขายปลีก ถ้วยไอสครีม
ถ้วยสังขยา เป็นต้น
- ถาดและกล่องพลาสติก
มีทั้งแบบมีฝาและไม่มีฝานิยมใช้บรรจุอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป
ประเภทที่ปรุงสำเร็จได้ในเวลารวดเร็วที่เรียกว่าฟาสฟู๊ด (fast food) และอาหารสด
ซึ่งมักห่อรัดด้วยฟิล์มพลาสติกที่นิยมใช้ทำถาดคือ โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) โพลิสไตรีน(PS)
และโฟม (expanded polystyrene)
หมายเหตุ
คุณสมบัติของภาชนะบรรจุอาหารประเภทโฟม มีข้อดีดังนี้
1. การป้องกันน้ำและน้ำมัน เนื้อโฟมโพลิสไตรีนไม่ดูดซึมน้ำหรือน้ำมัน และความชื้นซึมผ่านไม่ได้
2. การเป็นฉนวนกันความร้อน ในเนื้อโฟมมีโพรงอากาศเล็กๆ อยู่มากมาย ซึ่งโพรงอากาศเหล่านี้จะกันความร้อนผ่านเนื้อโฟม ฉะนั้นจึงสามารถเก็บอาหารให้อุ่นอยู่ได้นานกว่า เมื่อเทียบกับกล่องกระดาษ
3. แบคทีเรียไม่ก่อตัวบนผิวโฟม โพลิสไตรีนทนทานต่อการทำลายของแบคทีเรีย
4. การช่วยกันกระแทกได้ โพรงอากาศในเนื้อโฟมจะช่วยกันการกระแทกได้ดีกว่า
5. การไม่เกิดการเป็นพิษ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตภาชนะนี้ ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา และของประเทศไทยแล้วว่า ไม่เกิดการเป็นพิษ จึงเหมาะแก่การใช้บรรจุอาหารได้โดยตรง
6. มีความคงตัวทั้งในอุณหภูมิสูงและต่ำ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ภาชนะบรรจุอาหารชนิดนี้ สามารถทนความเย็นจัดได้โดยไม่สูญเสียรูปทรง และสามารถใช้บรรจุอาหารร้อนๆ ได้ดี
- สกินแพค (skin pack) และบลิสเตอร์แพค (blister pack) เป็นภาชนะพลาสติกที่ทำจากแผ่นพลาสติกที่ขึ้นรูปด้วยความร้อน และนำมาประกบติดหรือประกอบกับแผ่นกระดาษแข็ง เพื่อให้สามารถแขวนได้ พลาสติกที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ โพลิไวนิลคลอไรด์ (polyvinylchloride) ส่วนใหญ่ใช้บรรจุสิ่งของเครื่องใช้ เช่น แปรงสีฟัน เครื่องเขียน ยา ลูกกวาด อมยิ้ม การบรรจุแบบสกินแพคนั้นพลาสติกจะประกบติดกับวัสดุที่จะบรรจุ (skin) พลิสเตอร์แพคพลาสติกจะไม่แนบติดกับวัสดุฯ
ปัญหาการใช้พลาสติกบรรจุอาหาร
- การผลิตพลาสติกบรรจุอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีสารเจือปนในพลาสติก
และสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร
ซึ่งแม้จะไม่เกิดพิษทันที
แต่สารเหล่านี้จะสะสมสารพิษในร่างกายและก่อให้เกิดพิษแบบเรื้อรัง
ซึ่งผู้บริโภคที่เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุอาจได้รับอันตรายได้เร็วกว่าบุคคลทั่วไป
- การใช้พลาสติกผิดประเภท คือ นำภาชนะพลาสติกที่ไม่ได้ผลิตมาสำหรับบรรจุอาหาร มาบรรจุอาหาร หรือใช้ภาชนะพลาสติก ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะใช้บรรจุอาหารชนิดนั้น เนื่องจากพลาสติกแต่ละชนิด มีคุณสมบัติต่างกัน จึงเหมาะสมที่ใช้บรรจุอาหารได้ต่างกัน
ข้อควรระวัง
- อย่าใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสีฉูดฉาดใส่อาหารและไม่นำภาชนะดังกล่าวใส่อาหาร้อน
ใส่อาหารที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม หรือมีไขมันอยู่ในปริมาณสูง
หรืออาหารที่เป็นกรด (มีรสเปรี้ยว)
- การนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว
มาบรรจุอาหารก็อาจเกิดอันตรายจากเชื้อโรคหรือสารที่ตกค้างอยู่ที่พลาสติกนั้นเพราะไม่สามารถล้างออกได้หมด
- อย่าใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่เป็นกรด (มีรสเปรี้ยว) เช่น บรรจุพริกดอง น้ำส้มสายชูในถ้วยพลาสติก เพราะน้ำส้มมีฤทธิ์เป็นกรด กรดจะกัดกร่อนพลาสติกและสีที่ผสมอยู่ในเนื้อพลาสติก ซึ่งมีสารตะกั่วและปรอทละลายปนอยู่ในพริกดอง เมื่อบริโภคเข้าไปสารเหล่านี้จะสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งได้ใช้แก้ว กระเบื้องเซรามิค หรือแสตนเลส จึงจะปลอดภัย
»
การออกแบบภาชนะบรรจุ
»
ประเภทของภาชนะบรรจุ
»
ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยกระดาษ
»
ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยพลาสติก
»
ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยแก้ว
»
ภาชนะบรรจุที่ทำด้วยโลหะ