เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การปลูกชา
กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
ประวัติการปลูกชาของประเทศไทย
ในสมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน พบว่าได้มีการดื่มชากัน แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้ามาอย่างไร และเมื่อใด แต่จากจดหมายของท่านลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปี พ.ศ. 2530 ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยได้รู้จักการดื่มชาแล้ว โดยนิยมชงชาเพื่อรับแขก การดื่มชาของคนไทยสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล
สำหรับการปลูกชาในประเทศไทยนั้น แหล่งกำเนิดเดิมจะอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ
โดยจะกระจายอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ ที่สำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย
แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปางและตาก
จากการสำรวจของคณะทำงานโครงการหลวงวิจัยชาได้พบแหล่งชาป่าที่บ้างไม้ฮุง
กิ่งอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณเขตติดต่อชายแดนประเทศพม่า
ต้นชาป่าที่พบเป็นชาอัสสัม (Assam tea) อายุหลายร้อยปี
เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 0.5 เปมตร ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกต้นชาพันปี
เข้าใจว่าต้นชาป่าขนาดใหญ่
สามารถพบได้อีกตามบริเวณเทือกเขาสูงของจังหวัดแพร่และน่าน
โดยสวนชาส่วนใหญ่ทางภาคเหนือจะเป็นส่วนเก่าที่ได้จากการถางต้นไม้ชนิดอื่นออกเหลือไว้แต่ต้นชาป่าที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า
ต้นเมี่ยง จำนวนต้นต่อไร่ต่ำ ประมาณ 50-200 ต้น/ไร่ ผลผลิตใบชาสดต่ำเพียง 100-140
กิโลกรัม/ไร่ ชาวบ้านจะเก็บใบชาป่าด้วยมือโดยการรูดใบทิ้งกิ่ง
แล้วนำใบมาผลิตเป็นเมี่ยง ในปัจจุบันช่วงใดที่เมี่ยงมีราคาสูง
ใบชาป่าจะถูกนำมาผลิตเป็นเมี่ยง แต่เมื่อเมี่ยงมีราคาถูก
ใบชาป่าจะถูกนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตชาจีนขนาดเล็ก
ทำให้ชาจีนที่ผลิตได้มีคุณภาพต่ำ
การพัฒนาอุตสาหกรรมชาของประเทศไทย เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2480 โดย
นายประสิทธิ์ และนายประธาน พุ่มชูศรี สองพี่น้องได้ตั้งบริษัทใบชาตราภูเขาจำกัด
และสร้างโรงงานชาขนาดเล็กขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โดยรับซื้อใบชาสดจากชาวบ้านที่ทำเมี่ยงอยู่แล้ว
แต่ปรากฏว่าพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น ใบชาสดมีคุณภาพต่ำปริมาณไม่เพียงพอ
ชาวบ้านขาดความรู้ความชำนาญในการเก็บเกี่ยวยอดชาและการตัดแต่งต้นชา
ส่วนที่อำเภอฝางนั้น นายพร เกี่ยวการค้า ได้นำผู้เชี่ยวชาญทางด้านชา
ชาวฮกเกี้ยนมาจากประเทศจีน เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทย ต่อมาในปีพ.ศ. 2482
สองพี่น้องตระกูลพุ่มชูศรี ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ
โดยเริ่มปลูกสวนชาเป็นของตนเอง ใช้เมล็ดพันธุ์ชาพื้นเมืองมาเพาะ
สวนขาตั้งอยู่ที่แก่งพันท้าว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในเนื้อที่ประมาณ 100
ไร่ และต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกมาที่บ้านเหมืองกึด และบ้านช้าง ตำบลสันมหาพน
อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2508 ได้ส่งเสริมการผลิตมากขึ้น
โดยขอสัมปทานทำสวนชาจากกรมป่าไม้จำนวน 2,000 ไร่ ที่บ้านบางห้วยตาก ตำบลอินทขิน
อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในนามของ บริษัทชาระมิงค์ และทำสวนชาที่ตำบลสันมหาพน
อำเภทแม่แตง ในนามของ บริษัทชาบุญประธาน ชาที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นชาฝรั่ง
ต่อมาเอกชนเริ่มให้ความสนใจอุตสหากรรมการผลิตชามากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2530
บริษัทชาระมิงค์ได้ขายสัมปทานสวนชาให้แก่บริษัทชาสยาม
จากนั้นชาสยามได้เริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกไร่ในบริเวณใกล้เคียงปลูกสวนชาแบบใหม่
และรับซื้อใบชาสดจากเกษตรกรนำมาผลิตชาฝรั่งในนามชาลิปตัน จนกระทั่งปัจจุบันนี้
สำหรับภาครัฐนั้น การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2483
โดยปลัดกระทรวงเกษตร (ม.ล.เพช สนิทวงศ์) อธิบดีกรมเกษตร (คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ)
และหัวหน้ากองพืชสวน (ม.จ.ลักษณากร เกษมสันต์)
ได้เดินทางไปสำรวจหาแหล่งที่จะทำการปลูกและปรับปรุงชาที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ในที่สุดได้เลือกบริเวณโป่งน้ำร้อน เป็นที่ทดลองปลูกชา
โดยตั้งเป็นสถานีทดลองพืชสวนฝางมีนายพ่วง สุวรรณธาดา
เป็นหัวหน้าสถานีระยะแรกเมล็ดพันธุ์ชาที่นำมาปลูก
ได้ทำการเก็บมาจากท้องที่ตำบลม่อนบินและดอยขุนสวยที่มีต้นชาป่าขึ้นอยู่
ต่อมามีการนำชาพันธุ์ดีจากประเทศอินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่นมาทดลองปลูก
เพื่อทำการค้นคว้าและวิจัยต่อไป
ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรนั้นได้ขยายการศึกษาทดลองเกี่ยวกับชาออกไปยังสถานีเกษตรที่สูงหลายแห่ง
เช่น สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จังหวัดตาก สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี
จังหวัดเชียงราย และสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2518 ฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เริ่มโครงการปลูกชาในพื้นที่หมู่บ้านอพยพ
6 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองอุ แกน้อย แม่แอบ ถ้ำงอบ ถ้ำเปรียงหลวง และแม่สลอง
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน
จัดส่งเมล็ดพันธุ์ชาลูกผสมมาให้ทดลองปลูกพร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดเทคนิคการปลูกและการผลิตให้ด้วย
ต่อมาอีก 3 ปี มีการสร้างแปลงสาธิตการปลูกชาขึ้นที่บ้านแม่สลอง หนองอุและแกน้อย
ในปี พ.ศ. 2525 จึงได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ใบชาแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ทำให้สมาชิกที่ปลูกใบชาได้รับความช่วยเหลือในด้านการเงินและการแนะนำด้านต่างๆ
ในปี พ.ศ. 2525 กองบริการอุตสาหกรรมภาคเหนือ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งเอเซีย
ได้จัดทุนดูงานด้านอุตสาหกรรมชาแก่ผู้ประกอบกิจการชาจำนวน 12 คน ณ ประเทศไต้หวัน
และศรีลังกา เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526 ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งเอเซีย
ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านชาจีนจากประเทศไต้หวัน 2 คน คือนายซูหยิงเลียน
และนายจางเหลียนฟู มาให้คำแนะนำด้านการทำสวนชาและเทคนิคการผลิตชาจีน เป็นเวลา 2
สัปดาห์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2527 ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งเอเซียได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญสวนชาฝรั่งจากประเทศศรีลังกา
คือ นายเจซี รามานาเคน มาให้คำแนะนำและสาธิตเทคนิคการผลิตชาเป็นเวลา 3 สัปดาห์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 กรมวิชาการเกษตรได้ขอผู้เชี่ยวชาญจาก F.A.O.
มาสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตอุตสาหกรรมชา ซึ่งทาง F.A.O. ได้ส่ง Dr.
A.K.Aich ผู้เชี่ยวชาญชาฝรั่งจากประเทศอินเดีย เข้ามาศึกษาเป็นเวลา 1 เดือน
และมีการส่งนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรไปดูงานด้านการปลูกและการผลิตชาฝรั่งที่ประเทศอินเดีย
การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปลูกและการผลิตชา
นอกจากกรมวิชาการเกษตรที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว ในส่วนของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ในปีพ.ศ.
2520 งานเกษตรที่สูง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ปวิน ปุณศรี
ได้ขอผู้เชี่ยวชาญจากสถานีทดลองชาไต้หวัน คือ Dr.Juan I-Ming
เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชาของไทยเป็นระยะเวลา 3 เดือน
ในขณะเดียวกัน ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.วิเชียร ภู่สว่าง
ก็ได้เริ่มงานศึกษาวิจัย ทางด้านสรีรวิทยาของชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 สาขาไม้ผล
สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้โดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากโครงการหลวงได้เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาชาขึ้น
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ชาจีน ศึกษาวิธีขยายพันธุ์
ผลิตต้นกล้าชาพันธุ์ดี และปรับปรุงขบวนการผลิตใบชาให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ
ซึ่งอีก 3 ปีต่อมา ม.จ.ภีศเดช รัรชนี
ผู้อำนวยการโครงการหลวงได้ทรงอนุมัติให้จัดตั้งสถานีวิจัยชาขึ้นที่บ้านห้วยน้ำขุ่น
อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ปัจจุบันทางสถานีได้ทำการผลิตต้นกล้าชาจีนพันธ์ห้วยน้ำขุ่น เบอร์ 3 (HK.NO.3)
ที่คัดเลือกจากแม่พันธุ์ชาจีนลูกผสมของไต้หวันเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรในโครงการและหน่วยงานที่สนใจ
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกชาตั้งแต่ปี พ.ศ.
2533 โดยจัดทำแปลงขยายพันธุ์ชาพันธุ์ดีที่ศูนย์ส่งเสริมผลิตพันธุ์พืชสวนเชียงราย
จัดทำแปลงส่งเสริมการปลูกชาพันธุ์ดีเป็นสวนแก่เกษตรกร
และส่งเสริมการปรับปรุงสวนชาเก่า โดยส่งเสริมให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย
ดูแลรักษาและปลูกต้นชาเสริมในแปลงสวนชาเก่า
พร้อมทั้งฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการปลูกและการผลิตชาแก่เกษตรกรผู้สนใจ
พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกชา
และประสานงานด้านการตลาดระหว่างเกษตรกรและพ่อค้าผู้รับซื้อใบชาด้วย
»
ประโยชน์ของชา
» แหล่งกำเนิดและประวัติการปลูกชา
» ประวัติการปลูกชาของประเทศไทย
» พันธุ์และการขยายพันธุ์
» การคัดเลือกชาเพื่อทำพันธุ์
» การขยายพันธุ์
» การปลูกและการจัดการสวนชา
» การเตรียมดิน
» การปลูก
» การให้น้ำ
» การทำไม้บังร่ม
» การกำจัดวัชพืช
» ธาตุอาหาร
» การใส่ปุ๋ย
» การเก็บเกี่ยวชา
» การปรับปรุงสวนชา
» โรคและแมลงศัตรูชา
» แมลงศัตรูชา
» ผลกระทบจากข้อตกลงแกลต์และแนวทางการปรับตัว