ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
จริต 6
จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการ หมายถึง ความประพฤติ คือกิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เห็น มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า จริย จริยา หรือ จรรยา โดยทั่วไปจะใช้หมายถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี เช่น เสียจริต วิกลจริต ดัดจริต จริตจะก้าน แต่ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความประพฤติ, พื้นเพ นิสัยใจคอ มี 6 อย่างคือ
- ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงามคือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ มักชอบพัฒนาศิลปะให้แก่สังคม
- โทสจริต หนักไปทางเจ้าอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว ชอบจับผิด จึงมองข้อตลกของคนได้ดี จึงมักเป็นคนที่พูดจาได้ตลกและสนุกสนาน เนื่องจากเป็นคนตรงไปตรงมา ปกป้องสังคมจากการเสื่อมได้ดี
- โมหจริต หนักไปทางลุ่มหลง ในทรัพย์สมบัติ นิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น ลุ่มหลงในลาภสักการะ ชื่อเสียงเกียรติยศ มักงมงายในบทบาทที่สังคมสมมุติให้ บ้าอำนาจ ถือความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ยึดความเป็นสถาบันสูง
- สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อถือจริงใจ น้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุผล พวกนี้ถูกหลอกได้ง่าย ใครแนะนำก็เชื่อโดยไม่พิจารณา ชอบเพื่อน ชอบร่วมกลุ่ม พวกมากลากไป แคร์สังคม กลัวคนนินทา ชอบช่วยเหลือผู้อ่อนแอ่
- พุทธิจริต หนักไปทางใช้ปัญญาเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี ถือหลักการ อนุรักษ์นิยม ชอบสั่งสอนคนอื่น
- วิตกจริต หนักไปทางชอบคิดมาก ถ้าขี้ขลาดจะวิตก กังวล ฟู้งซ่านชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คิดอย่างไม่มีเหตุผล เกินจริง ชอบแหกกฎเกณฑ์ ข้อดีคิดนอกกรอบ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆต่อสังคม
กรรมฐานที่เหมาะสมกับแต่ล่ะจริต
- ราคจริต เหมาะกับอสุภะ 10 นวสี 9 กายคตานุสสติ
- โทสจริต วรรณกสิน4พรหมวิหาร4
- โมหจริต อานาปานสติ
- วิตกจริต อานาปานสติ กสินทั้ง 6 คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน เตโชกสิน วาโยกสิน อาโลกกสิน อากาสกสิน
- สัทธาจริต อนุสสติ6 คือพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ ศีลานุสสติ เทวตานุสสติ
- พุทธิจริต พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาธาตุ4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ
อานาปานสติเหมาะสมกับทุกจริต อารมณ์ที่กล่าวมา 6 ประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน