สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฏผีบุญ

โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ

หน้า 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

      กบฏผู้มีบุญหรือขบถผีบุญ หรือกบฏผีบ้าผีบุญตามที่รัฐนิยามให้ ที่เกิดขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2443-2446 หรือในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย และไม่ค่อยมีใครจะกล่าวถึงกันมากนักในปัจจุบัน

เพราะด้วยความพยายามของผู้ปกครองที่จะสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชของสยามประเทศหรือที่รู้จักกันในนามของ “การปฏิรูปจักรี” โดยใช้มาตรฐานทางการเมืองการปกครองแบบแผนเดียวกันตลอดอาณาเขต ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคมภาคต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง ยกเว้นภาคกลาง ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ เพราะการปฏิรูปดังกล่าวก่อให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเศรษฐกิจในภาคกลาง ที่เห็นได้ชัดก็คือการที่ชาวนาภาคกลาง ได้พ้นจากสภาพการเป็นไพร่ทาสของขุนนางศักดินาต่างๆ แล้วหันมาผลิตข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในเขตเพาะปลูกใหม่ที่ได้บุกเบิกขึ้นสำหรับปลูกข้าวเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ เช่น เขตรังสิตและมีนบุรี ผลที่ตามมาก็คือชาวนาในภาคกลางได้เปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองจากสังคมจารีตสมัยเก่าเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ และเปลี่ยนจากการผลิตแบบยังชีพเข้าสู่การผลิตเพื่อขายในระบบทุนนิยม

ส่วนการปฏิรูปจักรีนั้นยังส่งผลต่อการปฎิรูประบบภาษีเพื่อสร้างรายได้แก่รัฐ โดยการจัดเก็บในรูปแบบของภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วรวบรวมเข้าสู่ส่วนกลางคือกระทรวงพระคลังโดยผ่านกลไกของระบอบเทศาภิบาล แทนการเก็บเงินค่าราชการแบบเดิมซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของระบอบกษัตริย์นั้นจะใช้การเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วยแบบในอดีต การเปลี่ยนแปลงนี้มีสาเหตุมาจากเมื่อมีการปลดปล่อยทาสไพร่เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และประกอบกับรัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าแรงงาน

 

การเก็บเงินค่าราชการก็ได้เริ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเร่งรัดเงินส่วยจากมูลนายที่มีหน้าที่ในการรวบรวมเงินส่วยหรือเงินค่าราชการ เมื่อไม่มีเงินจ่าย มูลนายต้องคืนไพร่สมให้หลวงหมด (ไพร่สม เป็นไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านาย และขุนนางที่มีตำแหน่งทางราชการ ไพร่สมจะตกเป็นของมูลนาย ตราบเท่าที่ขุนนางผู้เป็นมูลนายยังมีชีวิตอยู่ในตำแหน่งราชการ เมื่อมูลนายถึงแก่กรรมไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรของขุนนางผู้นั้นจะยื่นคำร้องขอควบคุมไพร่สมต่อไปจากบิดา) นโยบายนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้พลเมืองระดับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะพวกมูลนายไปเร่งรัดเอาเงินซึ่งเก็บมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เสมอกัน ในปี ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) รัฐบาลจึงออกกฎให้ทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานแต่นั้นมา

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ มาตรฐานดังกล่าวข้างต้นถูกกำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานเศรษฐกิจของภาคกลาง ซึ่งได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราแล้วอย่างชัดเจน และได้เริ่มมีการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์เข้าจัดระบบภาษีทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปี ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาน (ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลราชธานีระหว่าง ร.ศ.112-130 / พ.ศ.2435-พ.ศ.2453) ประกาศให้เก็บค่ารัชชูปการชายฉกรรจ์ผู้มีอายุระหว่าง 18-60 ปี คนละ 3.50 บาท ยกเว้นคนพิการ ข้าราชการ เจ้านายระดับท้องถิ่นและครอบครัว ชาวต่างชาติ นักบวชและพระ ช่างผีมือและเศรษฐี

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» "บ้าน" มรดกทางวัฒนธรรม
"บ้าน" คือการบอกเล่าความเป็นมา คือการบอกล่าวถึงพัฒนาการในการดำรงชีพของมนุษย์ "บ้าน" ที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ และบ่งบอกถึงความั่นคง

» ภูมิปัญญากีฬาไทย
กีฬาไทยที่บรรพชนไทยค้นคิด และถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน บางชนิดกลายเป็นตำนานและความทรงจำ และบางชนิดยังคงมีการเล่นกันอยู่

» สะพานสู่ฟ้าใหม่
สะพานข้ามน้ำเป็นสัญลักษณ์การข้ามอุปสรรคขวางกั้นไปสู่จุดหมาย และการเชื่อมโยงสิ่งตรงข้ามมา เพื่อสร้างเอกภาพอันกลมกลืนมั่นคง

» ทิวธงมงคลชัย
สิ่งสะท้อนความคิด และสืบทอดคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ของชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากยุคสมัยหนึ่งสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ดุจตัวแทนที่น้อมนำสู่มงคลแห่งชีวิต

» พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
ตราประจำพระมหากษัตริย์ แต่ละรัชกาล ซึ่งจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่างๆของชาติ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

» สามล้อไทย
วิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อยังคงผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

» กีฬาสัตว์
ด้วยนิสัยช่างสังเกตของคนไทย จึงเป็นที่มาของกีฬาซึ่งใช้สัตว์เป็นผู้แข่งขัน จนกลายเป็นกิจกรรมบันเทิงพื้นบ้าน ยามว่างนับแต่อดีต

» ตาลปัตร พัดรอง
พัดที่ทำจากใบตาลมีหลายรูปแบบ สำหรับใช้โบกให้ความเย็น และใช้เป็นการบ่งบอกถึงฐานะ บรรดาศักดิ์ของผู้ใช้