ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
กรรมฐาน 40
กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิ กรรมฐานจึงเป็นสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อให้จิตสงบอยู่ได้ ไม่เที่ยวเตลิดเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ไปอย่างไร้จุดหมายกรรมฐาน 40 เป็นอุบาย 40 วิธีที่ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ก็คือสิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด เพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ พอจิตกำหนดจับสิ่งนี้เข้าแล้ว จะชักนำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งนี้ จนเป็นสมาธิได้มั่นคงและเร็วที่สุด ในคัมภีร์อรรถกถาและปกรณ์ ได้รวบรวมแสดงกรรมฐานไว้ 40 อย่าง คือ
กสิณ 10
แปลว่า วัตถุอันจูงใจ หรือวัตถุสำหรับเพ่ง เพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ เป็นวิธีใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยวิธีเพ่งเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง มี 10 อย่าง คือ
- ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป) ได้แก่ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ
- วรรณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ
- กสิณอื่นๆ ได้แก่ อาโลกกสิณ อากาสกสิณ
อสุภะ 10
ได้แก่ การพิจารณาซากศพระยะต่างๆรวมกัน 10 ระยะ ตั้งแต่ศพเริ่มขึ้นอืด ไปจนถึงศพที่เหลือแต่โครงกระดูก
อนุสติ 10
คือ อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ได้แก่
- พุทธานุสติ
- ธัมมานุสติ
- สังฆานุสติ
- สีลานุสติ
- จาคานุสติ
- เทวตานุสติ
- มรณสติ
- กายคตาสติ
- อานาปานสติ
- อุปสมานุสติ
อัปปมัญญา 4
คือ ธรรมที่พึงแผ่ไปในมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย อย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกันไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต โดยมากเรียกกันว่า พรหมวิหาร 4 คือ
- เมตตา คือ ปรารถนาดี มีไมตรีอยากให้มนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย มีความสุขทั่วหน้า
- กรุณา คือ อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
- มุฑิตา คือ พลอยมีใจแช่มชื่นบาน เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข และเจริญงอกงาม ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป
- อุเบกขา คือ วางจิตเรียบสงบ สม่ำเสมอ เที่ยงตรงดุจตาชั่ง มองเห็นมนุษย์ สัตว์ทั้งหลาย ได้รับผลดีร้าย ตามเหตุปัจจัยที่ประกอบ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบหรือชัง
อาหารเรปฏิกูลสัญญา
กำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร
จตุธาตุววัฏฐาน
กำหนดพิจารณาธาตุ 4 คือ พิจารณาเห็นร่างกายของตน โดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ
อรูป 4
กำหนดสภาวะที่เป็นอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่งกสิณ 9 อย่างแรก จนได้จตุตถฌานมาแล้ว กรรมฐานแบบอรูป มี 4 อย่าง คือ
- อากาสานัญจายตนะ
- วิญญาณัญจายตนะ
- อากิญจัญญายตนะ
- เนวสัญญานาสัญญายตนะ