ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดชลบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดชลบุรี(2)

พระพนัสบดี มีพระพุทธลักษณะแปลกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ คือ เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนบนดอกบัว ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสอง เช่น พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา บนฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองมีลายธรรมจักร เบื้องพระปฤษฎางค์มีประภามณฑล ประทับยืนบนสัตว์ที่แปลกพิเศษกว่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นภาพสัตว์ที่เกิดจากจินตนาการจากประติมากรผู้สร้างพระพุทธรูป คือ นำโค ครุฑ หงส์ มารวมเป็นสัตว์ตัวเดียวกัน สัตว์นั้นหน้าเป็นครุฑ เขาเป็นโค ปีกเป็นหงส์ โค ครุฑ หงส์ เป็นพาหนะของเทพเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวรทรงโค พระนารายณ์ทรงครุฑ พระพรหมทรงหงส์ เมื่อรวมกันเข้าจึงเป็นสัตว์พิเศษที่มีเขาเป็นโค มีจงอยปากเป็นครุฑ และมีปีกเป็นหงส์ ผู้สร้างอาจหมายถึงพระพุทธเจ้าอาศัยศาสนาพราหมณ์เป็นพาหนะ ในการประกาศพระศาสนาหรือหมายถึงพระพุทธเจ้าทรงชัยชนะ แล้วซึ่งศาสนาพราหมณ์ก็ได้

สมัยพระยาพิพิธอำพลเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นอกจากมีการขุดพบพระพนัสบดีแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2460 บริเวณหน้าวัดพระธาตุ มีคนขุดพบกรุพระพิมพ์เนื้อตะกั่ว สนิมแดง คราบไขขาว มีพระพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระร่วงหลังรางปืน สวรรคโลก พระร่วงหลังลายผ้าลพบุรี เป็นพุทธศิลปสมัยทวารวดี พระเนตรโปนประหนึ่งตาตั๊กแตน ไม่ทรงเครื่องอลังการ พระเศียรไม่ทรงเทริด พระหัตถ์ขวาหงายทาบพระอุระ มีดอกจันทน์บนฝ่าพระหัตถ์ อาณาจักรพระเครื่องถวายนามว่า พระร่วงหน้าพระธาตุ มี 2 พิมพ์ คือ ชายจีวรแผ่กว้าง และชายจีวรธรรมดา องค์พระสูง 5 เซนติเมตร ชนิดชายจีวรแผ่กว้าง องค์พระกว้าง 2.5 เซนติเมตร ชนิดชายจีวรธรรมดา องค์พระกว้าง 2 เซนติเมตร นับเป็นพระกรุที่เลื่องชื่อลือชาในอาณาจักรพระเครื่องยิ่งนัก

นอกจากนั้น ยังขุดพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีกหลายองค์ และพระพิมพ์เนื้อดินดิบขนาดใหญ่ บริเวณหน้าพระธาตุ วัดกลางคลองหลวง วัดห้วยสูบ ฯลฯ โบราณวัตถุที่ขุดพบ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะสมัยทวารวดีเช่นเดียวกับเมืองศรีพะโร แต่เมืองศรีพะโรนั้นไม่ปรากฏว่าได้พบพระพุทธรูปหรือกรุพระพิมพ์ เท่าเมืองพระรถหรือเมืองพนัสนิคม

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฎชื่อเมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานทำเนียบ ศักดินาหัวเมือง ตราเมื่อมหาศักราช 1298 ตรงกับ พ.ศ. 1919 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ออกชื่อเมืองชลบุรีเป็นเมืองชั้นจัตวา ผู้รักษาเมืองเป็นที่ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร นา 2400 ขึ้นประแดงอินทปัญญาซ้าย ปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชำระเรียบเรียง

เมื่อ พ.ศ. 1927 ถึง 1929 รัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร กองทัพพระยากัมพูชายกเข้ามาถึงเมืองชลบุรี กวาดต้อนครอบครัวอพยพหญิงชายเมืองชลบุรีและเมืองจันทบูร คนประมาณ 6-7 พันคน ไปเมืองกัมพูชา

เมื่อ พ.ศ. 2130 รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทหารกัมพูชาก็ได้ยกทัพมากวาดต้อนครอบครัวเมืองชลบุรีไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมใน พ.ศ. 2309 กรมหมื่นเทพพิพิธพยายามเกลี้ย-กล่อมชาวหัวเมืองตะวันออก ตั้งแต่เมืองจันทบุรีตลอดถึงปราจีนบุรีเข้ากองทัพด้วยหวังว่าจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่า ชาวชลบุรีก็เต็มใจสนับสนุน พาสมัครพรรคพวกเข้ากองทัพกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก จนแทบจะทิ้งให้ชลบุรีเป็นเมืองร้าง ขณะนั้นพระยาแม่กลอง (เสม) เป็นข้าหลวงออกไปเร่งส่วยหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก พักค้างอยู่เมืองชลบุรี ไม่ยินดีเข้าร่วมมือในกรมหมื่นเทพพิพิธ พยายามรักษาเงินส่วยที่เก็บรวบรวมได้มานั้นแอบแฝงหลบภัยอยู่ในชลบุรี ครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธยกกองทัพไปตั้งมั่นที่เมืองปราจีนบุรีบอกเข้าไปยังกรุงให้กราบบังคมทูลขออาสาเป็นผู้ป้องกันพระนคร ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นว่า กรมหมื่นเทพพิพิธทำการซ่องสุมกำลังโดยบังอาจ แล้วยังทนงเอื้อมเข้าไปขอป้องกันกรุงด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง ชะรอยจะมีความไม่สุจริตเคลือบแฝงอยู่ด้วย จึงโปรดให้กองทัพออกไปปราบ กรมหมื่นเทพพิพิธกลับต่อสู้กองทัพกรุง รบบุกบั่นผลัดกันแพ้ชนะ จนกำลังย่อยยับลงทั้งสองฝ่าย ครั้นพม่าล้อมกรุงกระชั้นชิดมั่นคงแล้ว ได้ทราบว่ากรมหมื่นเทพพิพิธยังตั้งทัพประจัญอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี พม่าจึงส่งกองทัพออกไปตีเพราะทัพกรมหมื่นเทพพิพิธบอบช้ำอยู่แล้ว ถูกกองทัพพม่าซ้ำเติมจึงพาลแตกเอาง่ายๆ ผู้คนล้มตายมากต่อมาก ที่ยังเหลือก็กระจัดพรัดพรายไม่เป็นส่ำ เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ทำให้เมืองฉะเชิงเทราและเมืองชลบุรีต้องร้างอยู่ชั่วคราว

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระยากำแพงเพ็ชร ทรงพาพรรคพวกออกไปหากำลังทางหัวเมืองภาคตะวันออก เดินทางผ่านเมืองชลบุรีซึ่งขณะนั้นว่างร้างเสียแล้ว เสด็จเลยไปประทับแรมบางละมุง และเสด็จต่อไปยังเมืองระยอง ในระหว่างประทับอยู่ที่เมืองระยอง กรมการเมืองระยองมีขุนราม หมื่นซ่อง เป็นหัวหน้าคิดประทุษร้ายยกพวกลอบมาปล้นค่ายในเวลากลางคืน สมเด็จพระเจ้าตากสินต่อสู้ป้องกัน ปราบพวกคิดร้ายแตกกระจายไป แต่พวกนั้นยังไม่เลิกพยายามที่จะคิดกำจัด จึงแยกออกเป็น 2 หน่วย ขุนราม หมื่นซ่อง คุมหน่วยหนึ่ง ไปตั้งระหว่างทางจากระยองไปเมืองจันทบุรี นายทองอยู่ นกเล็ก คุมหน่วยหนึ่ง เล็ดลอดมาตั้งซ่องสุมอยู่บางปลาสร้อยเมืองชลบุรี ทั้งสองหน่วยนี้ คงจะมุ่งหมายช่วยกันตีกระหนาบกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินรีบเสด็จไปทำลายกำลังขุนราม หมื่นซ่องเสียก่อน แล้วเสด็จวกกลับมาเมืองชลบุรีเพื่อจะปราบนายทองอยู่ นกเล็ก ให้สิ้นฤทธิ์ (บริเวณที่ตั้งค่ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินครั้งนั้น บัดนี้ก็ยังเรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน และชื่อสะพาน คือบ้านในค่าย, สะพานหัวค่าย) ฝ่ายนายทองอยู่ นกเล็ก ยอมอ่อนน้อมโดยดี จึงโปรดให้ช่วยรักษาเมืองชลบุรี เพื่อราษฎรจะได้ตั้งทำมาหากินเป็นกำลังแก่บ้านเมืองต่อไป และคอยช่วยปราบพวกสลัดซึ่งเวลานั้นชุกชุมที่สุด ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้ามีใครสมัครจะไปเข้ากองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน ให้นายทองอยู่ นกเล็ก ช่วยสนับสนุน อย่ากีดกันเป็นอันขาด เมื่อทรงจัดที่ชลบุรีเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เสด็จยกทัพไปยังเมืองระยอง แล้วต่อไปยังเมืองจันทบุรี ตั้งรวบรวมกำลังอยู่อย่างรีบร้อน ฝ่ายนายทองอยู่ นกเล็ก ชั้นต้นก็ปฏิบัติตามพระบัญชา แต่ต่อมากลับเหลวไหลเป็นใจด้วยพวกสลัด และคอยขัดขวางมิให้ใครๆ ไปสมัครเข้ากองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินโดยสะดวก ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตระเตรียมกำลังได้เพียงพอสำหรับยกกลับไปปราบพม่าที่ยึดกรุงเก่าแล้วก็เคลื่อนกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรี ตรวจกวาดล้างสลัดทะเลฝั่งตะวันออกตลอดมาถึงชลบุรี ได้ความว่า นายทองอยู่ นกเล็ก และพวกกลับประพฤติการร้าย หากำลังโดยทุจริต มิได้คิดปลูกเลี้ยงชาวเมืองให้เป็นปึกแผ่นตามสมควรแก่หน้าที่ซึ่งทรงมอบหมายไว้ จึงโปรดให้ปลดนายทองอยู่ นกเล็ก และพวกออกหมดแต่จะทรงพระกรุณาให้ผู้ใดรักษาเมืองแทนต่อจากนายทองอยู่ นกเล็ก ยังไม่ได้ความ มาปรากฏเมื่อตอนสิ้นรัช-กาลสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า พระยาชลบุรี บุตรเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ต้นสกุล สมุทรานนท์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีคนแรกสมัยกรุงธนบุรี เป็นผู้รักษาเมือง

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

Feelathome
บ้านพักรายวัน สัตหีบ สไตล์โฮมสเตย์
4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 2 ห้อวครัว ห้องนั่งเล่น แอร์ wifi เตาปิ้งย่าง ที่จอดรถ อุปกรณ์ครบครัน ใกล้ทะเลเพียง 10 นาที ติดต่อ 083 2947254

คลิกดูรายละเอียด >>>

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือ กันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ล เป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตู หน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม