ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ราหูอมจันทร์
โดย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา)
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เนื่องจากจันทิมสูตร และสุริยสูตร เป็นพระสูตรที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมอินเดียสมัยโบราณ ดังนั้น การที่จะตอบคำถามว่า ทำไมพระสูตรทั้งสองถึงได้ปรากฏในรูปลักษณะอย่างนี้ ? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้นำเรื่องพระจันทร์ พระอาทิตย์ และพระราหู มาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรมขององค์ ? อะไรคือจุดยืนของพระพุทธเจ้าในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ? ผู้เขียนคิดว่าคำถามเหล่านี้จะไม่เป็นคำถามเลยถ้าเรามีชีวิตอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ที่เป็นคำถามขึ้นมาก็เพราะยุคสมัยของเราอยู่ห่างไกลจากยุคสมัยพระองค์เหลือเกิน บางครั้งก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนสมัยนี้มักจะใช้กรอบยุคสมัยของตัวเองเข้าไปจับยุคสมัยของคนโบราณ จึงได้ทำให้เกิดคำถามหรือข้อสงสัยขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า
การที่เราจะทำความเข้าใจเรื่องที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ได้ดี
เราต้องศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับบริบท นั่นคือการย้อนกลับไปดูบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และค่านิยมความเชื่อของยุคสมัยอันเป็นบ่อเกิดของตัวบทนั้น ๆ ดังที่ สตีเวน คอลลินส์ (Steven Collins) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดของเถรวาทเกิดมาจากบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แล้วสร้างรูปแบบและสมมติฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อปลดเปลื้องปัญหาเฉพาะบางอย่าง
นอกจากนั้น เขายังให้เหตุผลต่อไปว่า คัมภีร์ต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้ตามแนวคิดของ เอมิล เดอร์ไคม์ (Durkhiem)
ที่ว่าเป็น ข้อเท็จจริงทางสังคม นั่นหมายความว่า คัมภีร์ทางศาสนา
ไม่ได้ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางสังคมอันว่างเปล่า
หากแต่มีข้อเท็จจริงทางสังคมเป็นฐานรองรับหรือเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ ระหว่างคัมภีร์กับบริบททางสังคม
แมรี่ ดักลาส (Mary Douglas) ให้กล่าวว่า ความเชื่อและระบบคุณค่าต่าง ๆ
ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ถูกกำหนดหรือออกแบบโดยบริบทแวดล้อม
ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ออกแบบบริบทแวดล้อมขึ้นมาใหม่ด้วย
บริบททางสังคมเป็นตัวกำหนดโครงสร้างและแบบแผนการให้รางวัลและการลงโทษ
เป็นตัวกำหนดระบบคุณค่าบางอย่างและความหมายของการดำรงอยู่ ดังนั้น
บริบทแต่ละอย่างจึงมักก่อให้เกิดอคติเชิงวัฒนธรรมและจักรวาลวิทยา นั่นคือ
สำนึกร่วมทางศีลธรรมของสังคมที่เกี่ยวกับมนุษย์และตำแหน่งแห่งที่ของตนในจักรวาล
โดยนัยนี้ ตัวบท
จึงเกิดขึ้นภายใต้ความกดดันของบริบทและเป็นตัวแทนของบริบทนั้น หรือเรียกอีกอย่างว่า
ตัวบทเป็นตัวแทนของ จักรวาลวิทยาที่ถูกแช่แข็ง ดังที่ แคนต์เวลล์ สมิธ (W. Cantwell Smith) กล่าวว่า คัมภีร์ทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของจารีตที่ผ่านการสั่งสม ซึ่งตกทอดมาจากอดีต เมื่อมาเผชิญหน้ากับปัจเจกบุคคลผู้มีศรัทธา เขาก็จะตีความให้มีความหมายและความสมเหตุสมผลในบริบทของเขาเอง บริบทจึงมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำความเข้าใจคัมภีร์ของประชาชนสูงมาก และเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับติดสินใจว่าควรจะรับเอาหรือเน้นย้ำแนวคิดแบบใด และควรจะสลัดทิ้งแนวคิดแบบใด
จากทัศนะต่าง ๆ ที่ยกมา แสดงให้เห็นว่า ตัวบทหรือคัมภีร์ทางศาสนามีความสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมทางสังคมอย่างแยกกันไม่ออก เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในตัวบทหรือคัมภีร์ ก็คือภาพสะท้อนของบริบทหรือจักรวาลวิทยาของสังคมยุคนั้น ๆ ในขณะเดียวกัน บริบทก็คือรากฐานทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมความเชื่อที่ส่งอิทธิพลหรือเป็นตัวกำหนดรูปแบบเนื้อหาของตัวบทหรือคัมภีร์
กรอบแนวคิดที่ใช้ในการตีความ
แนวคิดการตีความแบบโรแมนติคของชไลมาเคอร์
วิธีการตีความแบบบุคลาธิษฐาน (Allegorical Method)
เทพ กับอสูร ในคัมภีร์อเวสตะของอิหร่าน
เทวาสุรสงครามในคัมภีร์พระเวท
เทวาสุรสงคราในวรรณคดีบาลี
ทัศนะเกี่ยวกับเทวาสุรสงคราม
เนื้อหาของจันทิมสูตร และสุริยสูตร
จันทิมสูตร กับสุริยสูตร กับบริบททางสังคม
จันทิมสูตรและสุริยสูตร : ไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริงทางอภิปรัชญา
ราหูอมจันทร์/อาทิตย์ : การแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐาน
สรุปและเสนอแนะ
อ้างอิง