สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
กบฏผีบุญ
โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ
3
ขณะเดียวกันก็เกิดมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทั้งภาคอิสาน คือที่กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อถือผู้มีบุญ และผู้มีบุญเหล่านี้มักมีพฤติกรรมคล้ายๆ กันคือ อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ จุติมาจากสวรรค์เพื่อมาบอกธรรมแก่ชาวบ้านให้ถือศีล กินถั่วกินงา ตัวผู้มีบุญมักแต่งตัวประหลาดๆ เช่น นุ่งขาวห่มขาว ถือเทียนและดอกไม้ทำน้ำมนต์ และทำพิธีตัดกรรมวางเวร หลายคนอ้างตัวว่าเป็นพระยาธรรมิกราช หรือพระศรีอาริยเมตไตรย ลงมาโปรดโลกมนุษย์ ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นสมบูรณ์พูนสุขพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ใช่การรอดพ้นทุกข์แบบตัวใครตัวมัน และบ้านเมืองก็จะ ไม่มีเจ้ามีนาย ใบไม้จะกลายเป็นเงินเป็นทอง แผ่นดินเป็นตาผ้า แผ่นฟ้าเป็นใยแมงมุม
ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องราวรายละเอียดเฉพาะกลุ่มเจ้าผู้มีบุญที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือกลุ่มขององค์มั่นหรือมาน บ้านสะพือใหญ่ เมืองอุบลราชธานี (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
ครั้นเมื่อถึงปลายปีร.ศ.119 (พ.ศ.2443) มีนายมั่น
ว่าเป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือเมืองสุวรรณเขต
ซึ่งมีสายสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นลูกน้องขององค์แก้วหรือบักมี
ซึ่งเป็นเจ้าผู้มีบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตลาวฝั่งซ้าย
เล่าลือกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ชี้ไม้ชี้มือทำอะไรสิ่งไหนเป็นสิ่งนั้น
และได้ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมิกราช
อ้างตัวว่าจุติมาจากสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมวลมนุษย์ และมีองค์ต่างๆ
เป็นลูกน้องหรือบริวารในระดับรองลงมาอีกหลายคน เช่นองค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที
องค์พระบาท องค์พระเมตไตรย และองค์เหลือง
พวกองค์เหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้าจีบแบบบวชนาคสีต่างๆ กัน คือ สีแดง สีเขียวเข้ม
และสีเหลืองอย่างจีวรของพระ แล้วก็มีปลอกใบลานเป็นคาถาสวมศีรษะทุกคน
องค์มั่นได้พาพวกองค์บริวารเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ
และชักชวนชาวบ้านให้เข้าร่วมด้วย โดยเริ่มจากร่วมมือกับองค์ฟ้าลั่นหรือหลวงวิชา
(บรรดาศักดิ์ประทวน) แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นหมอพื้นเมืองของเมืองตระการพืชผล
(ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี)
โดยองค์มั่นตั้งให้เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์และคอยเสกคาถาอาคมให้กับชาวบ้าน
จากนั้นได้ไปซ่องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองโขงเจียมและบ้านนาโพธิ์ ตำบลหนามแท่น
แล้วก็ป่าวร้องกับราษฎรว่า จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นดังคำพยากรณ์ให้พากันระวังตัว
ฝ่ายราษฎรหวาดหวั่นกันอยู่แล้ว
ครั้นเห็นคนจำศีลแปลกหน้ามาก็สำคัญว่าเป็นผู้มีบุญและพากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัยพิบัติ
มีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยประมาณ 200 คนเศษ จากนั้นก็เข้าไปเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองเขมราช
เวลานั้นได้มี พระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาเมืองเขมราช และท้าวกุลบุตรผู้ช่วยกับท้าวโพธิ์สาร กรมการเมือง ต่อต้านขับไล่ไม่ให้ราษฎร์นับถือเข้าเป็นพรรคพวกด้วย เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้ท้าวกุลบุตรกับท้าวโพธิ์สารเสียชีวิต ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ฝ่ายพวกผู้มีบุญมิได้ทำร้าย เพียงแต่จับขึ้นแคร่หามเป็นตัวประกัน แห่ไปให้เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาเข้าเป็นพวก และได้ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่ มีชาวบ้านนับถือและเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน องค์มั่นผู้มีบุญก็สั่งให้ช่วยกันเกณฑ์ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา มีดพร้า ตลอดจนเสบียงอาหาร ข้าว เกลือ พริกต่างๆ เท่ามี และให้ตากข้าวเหนียวสุกยัดใส่ถุงผูกรอบเอว เตรียมจะไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายทางเมืองอุบลราชธานี ขณะที่องค์มั่นผู้มีบุญตั้งพิธีการอยู่บ้านสะพือใหญ่นั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าวก็ได้สั่งให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร่าย (เป็นทหารกองหนุนเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายพลเมืองอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์ฯที่เมืองอุบล) ไปสืบลาดเลาดู พอไปถึงบ้านนาสมัย ที่อยู่ระหว่างบ้านนาหลักกับบ้านห้วย ทางแยกไปอำเภอพนานิคม ก็พบกับพวกผู้มีบุญซึ่งได้ออกมาสืบลู่ทางเพื่อจะไปเมืองอุบลฯ เลยเกิดการปะทะกันขึ้น