สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฏผีบุญ

โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ

หน้า 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

4

ฝ่ายหม่อมราชวงศ์ร่ายมีกำลังน้อยกว่าก็เลยรีบถอยกลับไปเมืองอุบลฯ กราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ตามที่ได้ไปสืบรู้และเห็นมา พวกผู้มีบุญก็ได้ชื่อว่าเป็น“กบฏต่อแผ่นดิน”นับจากนั้น ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบข่าว จึงมีคำสั่งให้นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกองพันทหารราบเมืองอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ถ้ามีผู้ใดคิดการร้ายต่อแผ่นดินก็ให้ปราบและจับตัวมาสอบสวนลงโทษให้ได้ นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาลจึงมีคำสั่งให้นายร้อยตรีหรี่กับพลทหาร 12 คนพร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ เมื่อไปถึงบ้านขุหลุ ก็พบพวกกบฏผู้มีบุญ และเห็นว่ามีกำลังสู้กบฏผู้มีบุญไม่ได้ จึงจะไปหากำลังเพิ่มเติมจากบ้านเกษม แต่ก็ได้เกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันขึ้นที่บริเวณ “หนองขุหลุ” และได้เหลือเพียงพลทหารชื่อป้อมรอดกลับมาเพียงคนเดียว และได้นำความเข้ากราบทูลข้าหลวงต่างพระองค์ฯ โดยทันที ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเมื่อชนะทหารคราวนี้ ก็ได้มีชาวบ้านมาสมัครเข้าเป็นพรรคพวกด้วยราว 1,500 คน ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบความก็ได้ตรัสว่า “ไอ้การใช้เด็กหนุ่ม มันกล้าเกินไป หุนหันพลันแล่น ขาดความพินิจพิเคราะห์ เสียงานดังนี้” จึงทรงสั่งให้หลวงสรกิจพิศาลมีคำสั่งไปถึงนายร้อยเอกชิตสรการผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ให้นำนายสิบพลทหารประมาณ 100 คนเศษ มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนยาวเล็กครบมือ ออกไปปราบพวกกบฏผู้มีบุญให้จงได้ และได้ทรงสั่งให้พระอุบลการประชานิตย์ ข้าหลวงบริเวณเมืองอุบลฯ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (ผู้รักษา-การเมืองอุบลฯ ) เกณฑ์กำลังชาวบ้านสมทบกับทหาร และสั่งให้เคลื่อนขบวนกำลังออกไปปราบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2444 และพอวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2444 ก็ได้พักพลอยู่ห่างจากหมู่บ้านและค่ายของกบฏผู้มีบุญราว 50 เส้น (1 กิโลเมตร)

นายร้อยเอกหลวงชิตสรการ (ผู้บังคับบัญชาไพร่พล) ได้สั่งให้แบ่งทหารออกเป็นปีกซ้าย ปีกขวา และให้เข้าโอบล้อมพร้อมกันเมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นนัดแรก นายร้อยหลวงเอกชิตสรการเลือกได้ชัยภูมิที่ดี เป็นสายทางย่านตรงที่จะไปยังเมืองอุบลฯ และเป็นทางแคบ สองข้างทางเป็นป่าทึบเหมาะสำหรับตั้งดักซุ้มทหารไว้ในป่า ตรงหัวโค้งเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่ไว้ใต้พุ่มไม้ เมื่อพวกกบฏผู้มีบุญมาถึงตรงช่องนั้นก็ให้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่



ครั้นรุ่งขึ้นของวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2444 เวลาประมาณ 09.00 น. พวกกบฏผู้มีบุญก็ได้ยกกำลังจะไปตีเมืองอุบลฯ และผ่านตามทางที่ร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มปืนใหญ่ และดักกองทหารพรางไว้ จากนั้นก็ได้สั่งให้ทหารปืนเล็กยาวออกขยายแถว ยิงต้านไว้แล้วทำเป็นถอยล่อให้พวกกบฏผู้มีบุญตามมายังชัยภูมิที่ตั้งไว้ พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ก็สั่งให้ยิงออกไปนัดหนึ่ง โดยตั้งศูนย์ให้ข้ามพวกกบฏผู้มีบุญไปก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้ปีกซ้ายปีกขวารู้ตัว ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเห็นกระสุนปืนใหญ่ไม่ถูกพวกตนก็โห่ร้อง ซ่า ซ่า และวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร หลวงชิตสรการจึงสั่งให้ยิงออกไปอีกเป็นนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนใหญ่กะให้ตกระหว่างกลางพวกกบฏผู้มีบุญ คราวนี้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดลงถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญล้มตายหัวเด็ดตีนขาดระเนระนาด ส่วนพวกทหารปืนเล็กสั้นยาว ปีกซ้ายปีกขาว ก็ระดมยิงโห่ร้องซ้ำเติมเข้าไปอีก ฝ่ายกบฏผู้มีบุญที่อยู่ข้างหลังเห็นดังนั้นก็ชะงัก และปืนใหญ่ก็ยิงซ้ำเข้าไปอีกนัดที่ 3 ถูกพวกกบฏผู้มีบุญล้มตายประมาณ 300 คนเศษ ที่เหลือก็แตกฮือหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนองค์มั่นนั้นรอดชีวิตและปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ทหารและกำลังชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์มา ก็ได้ออกตามล่าจับกุมแต่ไม่ทัน และไม่ทราบว่าหนีไปทางใด ทราบข่าวตอนหลังว่าได้หลบหนีข้ามฟากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว

ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาการเมืองเขมราชซึ่งถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญจับกุมตัวไว้คราวนั้น ไม่ได้รับอันตรายจากกระสุนปืนใหญ่ หลวงชิตสรการ จึงได้นำตัวมาเข้าเฝ้าข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รวมทั้งคุมพวกกบฏผู้มีบุญที่รองๆ จากองค์มั่นและพรรคพวกชาวบ้านที่เข้าร่วมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 400 คนเศษ คุมใส่ขื่อคาจองจำไปยังเมืองอุบลฯ เพื่อฟังรับสั่งจากข้าหลวงต่างพระองค์ต่อไป ส่วนข้าหลวงต่างพระองค์ก็มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงว่า “ให้ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ เจ้าหน้าที่สืบจับพวกกบฏผีบุญที่กระเซ็นกระสายและหลบหนีคราวต่อสู้กับทหาร อย่าให้มีการหลบหนีไปได้เป็นอันขาด หรือผู้ใดที่สมรู้ร่วมคิดและปกปิดพวกเหล่าร้ายและเอาใจช่วยให้หลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปิดบัง และเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้นๆ อย่างหนัก” ผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญองค์สำคัญๆ ที่ถูกจับกุมมาได้คราวนั้นมีอยู่หลายองค์ เช่น

  1. องค์เหล็ก (นายเข้ม) ถูกจับกุมได้ที่บ้านหนองซำ ท้องที่เมืองเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. พระครูอิน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ วัดบ้านหนองอีตุ้ม ตำบลสำราญ อำเภอยโสธร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร)
  3. ท้าวไชยสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโพนเมือง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อ.ตระการพืช จังหวัดอุบลราชธานี
  4. องค์บุญ ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่เมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  5. องค์ลิ้นก่าน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านพับแล้ง อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  6. องค์พรหมา ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านแวงหนองแก้ว ท้องที่ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  7. องค์เขียว ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ในเมืองอุบลฯ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี)
  8. กำนันสุ่น บ้านส่างมิ่ง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อ.เกษมสีมา (เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อำเภอม่วงสามสิบ” จังหวัดอุบลราชธานี ) กำนันสุ่นนั้น ทางราชการได้สั่งให้เป็นหัวหน้านำกำลังพลไปช่วยปราบกบฏผีบุญ พอไปถึงกลางทุ่งได้พาชาวบ้านโกนคิ้วโกนหัว ไปเข้าเป็นฝ่ายองค์มั่นผู้มีบุญ
  9. หลวงประชุม (บรรดาศักดิ์ประทวน) ซึ่งทำการเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เกลียดชังรัฐบาลสยาม

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» "บ้าน" มรดกทางวัฒนธรรม
"บ้าน" คือการบอกเล่าความเป็นมา คือการบอกล่าวถึงพัฒนาการในการดำรงชีพของมนุษย์ "บ้าน" ที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ และบ่งบอกถึงความั่นคง

» ภูมิปัญญากีฬาไทย
กีฬาไทยที่บรรพชนไทยค้นคิด และถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน บางชนิดกลายเป็นตำนานและความทรงจำ และบางชนิดยังคงมีการเล่นกันอยู่

» สะพานสู่ฟ้าใหม่
สะพานข้ามน้ำเป็นสัญลักษณ์การข้ามอุปสรรคขวางกั้นไปสู่จุดหมาย และการเชื่อมโยงสิ่งตรงข้ามมา เพื่อสร้างเอกภาพอันกลมกลืนมั่นคง

» ทิวธงมงคลชัย
สิ่งสะท้อนความคิด และสืบทอดคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ของชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากยุคสมัยหนึ่งสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ดุจตัวแทนที่น้อมนำสู่มงคลแห่งชีวิต

» พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
ตราประจำพระมหากษัตริย์ แต่ละรัชกาล ซึ่งจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่างๆของชาติ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

» สามล้อไทย
วิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อยังคงผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

» กีฬาสัตว์
ด้วยนิสัยช่างสังเกตของคนไทย จึงเป็นที่มาของกีฬาซึ่งใช้สัตว์เป็นผู้แข่งขัน จนกลายเป็นกิจกรรมบันเทิงพื้นบ้าน ยามว่างนับแต่อดีต

» ตาลปัตร พัดรอง
พัดที่ทำจากใบตาลมีหลายรูปแบบ สำหรับใช้โบกให้ความเย็น และใช้เป็นการบ่งบอกถึงฐานะ บรรดาศักดิ์ของผู้ใช้