สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฏผีบุญ

โดย ภูมิวัฒน์ นุกิจ

หน้า 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

5

ฝ่ายกบฏผู้มีบุญนั้น ส่วนมากจะถูกจับกุมมาจากบ้านสะพือใหญ่จนล้นคุกตะราง ไม่มีที่คุมขัง ได้ถูกเจ้าหน้าที่จองจำขื่อคาไว้ ณ ทุ่งศรีเมือง 2-3 วัน ตากแดดกรำฝน เพื่อรอคณะตุลาการสอบสวนตัดสิน บ้างถูกตัดสินให้ปล่อยตัวและภาคทัณฑ์ไปมากเพราะเป็นปลายเหตุ ส่วนหัวหน้าคนสำคัญๆ ดังกล่าวมา ถูกคณะตุลาการพิจารณาเป็นสัตย์ฐานกบฏก่อการจลาจลภายใน จึงพร้อมกันพิพากษาเป็นเอกฉันท์ตัดสินให้ประหารชีวิต และข้าหลวงต่างพระองค์ฯได้มีรับสั่งให้นำตัวนักโทษไปประหารชีวิตแล้วเสียบประจานไว้ ณ ที่เกิดเหตุทุกแห่งที่จับมาได้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดินสืบไป ส่วนพระครูอินกับพระสงฆ์อีก 3 รูปที่เป็นพวกฝ่ายกบฏผีบุญ ให้อยู่ในสมณเพศ ในเขตจำกัดตลอดชีวิต หากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต ก่อนการประหารชีวิตกบฏผีบุญครั้งนั้น เมอสิเออร์ลอร์เรน (ชาวฝรั่งเศสซึ่งทางการไทยจ้างมาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ณ เมืองอุบลฯ) ได้ทูลถามข้าหลวงต่างพระองค์ฯว่า “พระองค์มีอำนาจอย่างไร ในการรับสั่งให้ประหารชีวิตคนก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต” ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รับสั่งตอบว่า “ให้นำความกราบบังคมทูลดู” เมอร์สิเออร์ลอร์เรนเลยเงียบไป

เมื่อปราบกบฏผู้มีบุญเสร็จแล้ว ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ได้ส่งมอบมงกุฎขององค์กบฏผู้มีบุญหัวหน้าใหญ่ (องค์มั่น) เข้าไปยังเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหมวกหนีบสักหลาดและปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แล้วทรงประทานรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความดีความชอบในคราวปราบกบฏผีบุญ ลดหลั่นกันมาก-น้อย เป็นเงินอย่างสูง 100 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 25 สตางค์ สมัยนั้นนับว่ามากมายนัก ถ้าเป็นข้าราชการทหารหรือพลเรือน และคณะกรมการเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับพระราชทานเหรียญตราขั้น 6-7 (เหรียญมงกุฎสยามและช้างเผือก) ตามลำดับ เป็นบำเหน็จความดีความชอบ ส่วนพลทหารป้อมมีความชอบ ที่นำความมาแจ้งคราวออกไปสืบข่าวกับนายร้อยตรีหรี่และต่อสู้โดยไม่คิดชีวิตก็ได้รับพระราชทานสิ่งของและเสื้อผ้าตามความเหมาะสม

 

และต่อมาก็ได้มีตราประกาศ ห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือผีสางใดๆ ทั้งสิ้นเป็นอันขาด เช่น เข้าทรงลงเจ้า สูนผี มีผีไท้ ผีฟ้า ผีมเหศักดิ์หลักเมืองฯลฯ ต่างๆ ด้วยอาการใดๆ ก็ดี ให้เจ้าหน้าที่หัวเมืองจับผู้ลงผีถือนั้นไปทำการไต่สวนพิจารณา ถ้าได้ความจริงให้ปรับเป็นเงินคนละ 12 บาท มีรางวัลให้แก่ผู้แจ้งจับส่วนเงินรางวัลหลวงออกให้ และถ้าไม่มีเงินเสียค่าไถ่โทษ ให้จำคุก 1 เดือน หลังจากมีประกาศออกไปเช่นนี้ บรรดาพวกนับถือผีสางกลุ่มต่างๆ ก็สงบเงียบไป เงินรางวัลที่ทรงตั้งไว้หาได้จ่ายแก่ผู้แจ้งจับผู้ที่นับถือผีสางคนทรงถึง 3 รายไม่ เพราะราษฎรมีความเกรงกลัว และเข็ดหลาบจำ เมื่อคราวปราบกบฏผู้มีบุญ ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีกฎหมายเรื่องผีสางขึ้นเมื่อ ร.ศ.124,พ.ศ.2448 (และได้มีการประกาศพระราชบัญญัติทาส รศ. 124 ,พ.ศ. 2448) และปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะปราบกบฏผู้มีบุญลงได้ ก็ยังมีผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้มีบุญขึ้นอีกในหลายๆแห่ง และยังได้มีการนำเอาอุดมการณ์พระศรีอาริย์มาใช้ในการก่อกบฏของชาวบ้านอย่างแพร่หลาย

การก่อกบฏเพื่อปฏิเสธรูปแบบการปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช และปฏิเสธอำนาจรัฐสยาม ในช่วงสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์มีมากถึง 13 ครั้ง ได้แก่ กบฏญาณพิเชียร (พ.ศ.1124) กบฏธรรมเสถียร (พ.ศ.2237) กบฏบุญกว้าง (พ.ศ.2241) กบฏเชียงแก้ว (พ.ศ.2334) กบฏสาเกียดโง้ง (พ.ศ.2358) กบฏพญาผาบหรือพญาปราบ (พ.ศ.2432) ที่นครเชียงใหม่ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการต่อต้านระบบการเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว คือมีการเก็บภาษีพืชสวน ดังนี้ หมาก 2 ต้นต่อวิ่น มะพร้าว 1 ต้นต่อวิ่น (1 วิ่น เท่ากับ 12.5 สตางค์) ซึ่งถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎร์เป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเกิดกบฏศึกสามโบก (พ.ศ.2438) กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445) กบฏผู้มีบุญอิสาน (พ.ศ.2444-พ.ศ.2445 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) กบฏผู้มีบุญภาคใต้ (พ.ศ.2452-พ.ศ.2454) ซึ่งเกิดขึ้นในท้องที่ตำบลบ้าน อำเภอยะรัง เมืองหนองจิก ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลปัตตานี และยังขยายไปถึงเมืองยะลาและสายบุรี มีสาเหตุมาจากสภาพปัญหาการปฏิรูปการปกครอง การเก็บภาษีอากร และความไม่มีประสิทธิภาพของข้าราชการประจำท้องถิ่น จนถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและศาสนา กบฏเจ้าผู้มีบุญหนองหมากแก้ว (พ.ศ.2467) กบฏหมอลำน้อยชาดา (พ.ศ.2479) กบฏนายศิลา วงศ์สิน (พ.ศ.2502) และเป็นกบฏที่เกิดขึ้นในเขตอิสาน 5 ครั้ง ภาคกลาง 4 ครั้ง และภาคใต้ 1 ครั้ง

ฝ่ายกบฏเจ้าผู้มีบุญต่างเชื่อถือว่าอุดมการณ์พระศรีอาริย์เป็นอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายสูงสุด คือเพื่อการปฏิวัติสังคมไปสู่สังคมที่ไม่มีชนชั้นของมนุษย์ และมีความอยู่ดีกินดีสมบูรณ์พูนสุขทั้งทางจิตใจและวัตถุ ทำให้อุดมการณ์นี้ถูกนำไปใช้ในขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านซึ่งปรากฏเป็นจำนวนหลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ที่ปรากฎชัดเจนที่สุดคือขบวนการผู้มีบุญภาคอิสานซึ่งมีหลายสาเหตุปัจจัย ที่เป็นตัวผลักดันให้ก่อเกิดเป็นรูปของการเคลื่อนไหว ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกหาความเป็นอิสระและความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ และเนื่องจากสังคมอิสานเองนั้น ก่อนที่จะมีขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้น ก็กำลังเผชิญในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะพบว่าเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398) มีผลกระทบต่อชาวนาภาคอื่นค่อนข้างน้อยกว่าภาคอิสาน เพราะภาคอิสานนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว ในยุคนั้นยังมีของป่าต่างๆ นาๆ ไม่แพ้ภาคอื่นๆ แต่การขนส่งก็ถือว่าค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เนื่องจากเพิ่งมีการขยายเส้นทางสร้างสถานีรถไฟ ที่ไปถึงเพียงแค่นครราชสีมาเท่านั้นเอง

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» "บ้าน" มรดกทางวัฒนธรรม
"บ้าน" คือการบอกเล่าความเป็นมา คือการบอกล่าวถึงพัฒนาการในการดำรงชีพของมนุษย์ "บ้าน" ที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับมนุษย์ และบ่งบอกถึงความั่นคง

» ภูมิปัญญากีฬาไทย
กีฬาไทยที่บรรพชนไทยค้นคิด และถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน บางชนิดกลายเป็นตำนานและความทรงจำ และบางชนิดยังคงมีการเล่นกันอยู่

» สะพานสู่ฟ้าใหม่
สะพานข้ามน้ำเป็นสัญลักษณ์การข้ามอุปสรรคขวางกั้นไปสู่จุดหมาย และการเชื่อมโยงสิ่งตรงข้ามมา เพื่อสร้างเอกภาพอันกลมกลืนมั่นคง

» ทิวธงมงคลชัย
สิ่งสะท้อนความคิด และสืบทอดคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ของชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จากยุคสมัยหนึ่งสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง ดุจตัวแทนที่น้อมนำสู่มงคลแห่งชีวิต

» พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
ตราประจำพระมหากษัตริย์ แต่ละรัชกาล ซึ่งจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่างๆของชาติ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน

» สามล้อไทย
วิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อยังคงผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

» กีฬาสัตว์
ด้วยนิสัยช่างสังเกตของคนไทย จึงเป็นที่มาของกีฬาซึ่งใช้สัตว์เป็นผู้แข่งขัน จนกลายเป็นกิจกรรมบันเทิงพื้นบ้าน ยามว่างนับแต่อดีต

» ตาลปัตร พัดรอง
พัดที่ทำจากใบตาลมีหลายรูปแบบ สำหรับใช้โบกให้ความเย็น และใช้เป็นการบ่งบอกถึงฐานะ บรรดาศักดิ์ของผู้ใช้