สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การพนัน

การพนันและขันต่อ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ประวัติและวิวัฒนาการของการพนันและขันต่อนั้น มีประวัติและวิวัฒนาการเช่นเดียวกันกับการพนัน กล่าวคือ การพนันมีมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากมนุษย์ได้ เหมือนเป็นมรดกในสังคม โดยที่บางสังคมอนุญาต ให้เล่นได้ บางสังคมไม่ให้เปิดคาสิโน (casino) ก็เพราะเห็นว่าจะเป็นการมอมเมาสมาชิกในสังคม และประชาชนในประเทศทั้งยังมีผลเสีย แต่ก็มีการผ่อนปรนอยู่บ้าง ในประเทศไทยการพนันเริ่มเข้ามาโดยทางการค้า ซึ่งในสมัยก่อนประเทศจีนเป็น ผู้นำเข้ามา ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็มีการตั้งบ่อนมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าบ่อนเรียกว่า “อากรบ่อนเบี้ย” จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการเก็บเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไปในการค้าขายกับต่างประเทศ

การพนันและขันต่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 18 บัญญัติไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 853 “อันการพนันขันต่อนั้นท่านว่าหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้

ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใด อันฝ่ายเสียพนันขันต่อหากทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อด้วย”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า

  1. การพนันขันต่อหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ หมายความว่าหนี้ที่เสียไปในการพนันขันต่อไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้ บุคคลที่สูญเสียเงินหรือทรัพย์สินไปเพราะการพนันไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
  2. สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันขันต่อนั้นจะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างใดไม่ได้ คือ สิ่งใดที่ให้กันไปแล้วในการเล่นการพนันถือได้ว่าเป็นการให้

โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันจะทวงคืนไม่ได้ ทั้งนี้รวมถึงการฟ้องร้องเรียกร้องเอาของที่เสียกลับคืนโดยอ้างว่าการพนันหรือขันต่อไม่ก่อให้เกิดหนี้แก่กันเช่นนี้ กฎหมายจะไม่รับบังคับให้หมายความรวมตลอดถึงข้อตกลงที่ฝ่ายเสียก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นต่ออีกฝ่ายหนึ่งเพื่อเป็นการชำระหนี้สินการพนันหรือขันต่อนั้นด้วย

การพนันขันต่อตามพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 นั้น มีทั้งประเภทที่ห้ามเด็ดขาด และประเภทที่ห้ามเล่นแต่ขอรับอนุญาตเล่นได้ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการพะนัน พุทธศักราช 2478 รวมทั้งการเล่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่พระราชบัญญัติการพะนันห้ามไว้นั้น จึงนับว่าเป็นการพนันขันต่อตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 ด้วย เพราะฉะนั้นจึงหาก่อให้เกิดหนี้ต่อกันไม่ และสิ่งใดที่ได้ให้กันไปในการพนันขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้

มาตรา 854 “อันการออกสลากกินแบ่งก็ดี ออกสลากกินรวบก็ดี เป็นสัญญาอันจะผูกพันต่อเมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจหรือให้สัตยาบันแก่การนั้นเฉพาะราย นอกนั้นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 853”

การพนันขันต่อที่กฎหมายยกเว้นให้ผูกพันฟ้องร้องกันได้นั้นมี 2 ประเภท ดังนี้

  1. สลากกินแบ่ง (Lottery) เป็นการเล่นโดยการเสี่ยงโชค โดยผู้ซื้อสลากเล่นกันเอง เอาเงินที่ซื้อสลากมารวมเข้ากันเป็นก้อนเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนภาษีแล้ว เอาเงินที่เหลือมาจัดเป็นรางวัล โดยการเสี่ยงโชคด้วยการออกเลขสลาก เลขสลากที่ออกรางวัลตรงกับเลขสลากของผู้ซื้อไปคนใด ผู้นั้นก็มีสิทธิได้รับรางวัล
  2. สลากกินรวบ (Raffle) คือ การออกตั๋วสลากที่มีจำนวนจำกัดเพื่อเสี่ยงโชคโดยให้ของเป็นรางวัล เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น หรือสิ่งของอื่น แล้วขายสลากให้แก่ผู้เล่นเท่าจำนวนราคาของหรือมากกว่า แล้วผู้ออกของก็รวบรวมเอาเงินค่าสลากไปทั้งหมด ส่วนของรางวัลตกได้แก่ผู้ถือสลากที่ถูกรางวัลโดยวิธีการเสี่ยงโชค

ทั้งสลากกินแบ่งและสลากกินรวบนี้ เป็นสัญญาระหว่างผู้จัดให้มีการออกสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบ กับผู้เข้าเล่นนั้นจะผูกพันฟ้องร้องบังคับกันได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลให้อำนาจหรือให้สัตยาบันแก่การออกสลากนั้นเฉพาะรายไป เมื่อผู้จัดให้มี

การเล่นรายใดได้รับอำนาจหรือสัตยาบันจากรัฐบาลแล้ว สัญญาก็ผูกพันกันและฟ้องบังคับกันได้ ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853 แต่ถ้ารายใดรัฐบาลไม่ให้อำนาจหรือสัตยาบัน การเล่นย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 853

การอนุญาตให้ออกสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบนี้ รัฐบาลให้อำนาจออกได้โดยไม่ต้องมีการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติการพะนัน โดยผู้ที่ขออาจจะเป็นองค์การ เทศบาล จังหวัดหรือเอกชน เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ออกสลากกินแบ่งหรือสลากกินรวบตามคำขอแล้ว เรียกว่ารัฐบาลให้อำนาจ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้ให้สัตยาบันนั้น ได้แก่ การออกสลากกินแบ่งของรัฐบาลซึ่งเป็นการจัดขึ้นโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลของกระทรวงการคลัง กรณีเช่นนี้ไม่ต้องมีการขออนุญาตโดยที่กระทรวงการคลังเสนอเหตุผลไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอออกสลากกินแบ่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่ารัฐบาลได้ให้สัตยาบัน

ในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนี้ เนื่องจากเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง และเป็นกิจการที่มีรายได้รายจ่ายมากทั้งปริมาณและรายการ ดังนั้น จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ขึ้น เพื่อกำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในการนี้เป็นนิติบุคคล และกำหนดรายได้รายจ่ายของสำนักงานให้เป็นไปโดยรัดกุมเป็นกิจจะลักษณะและเหมาะสม ซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีดังนี้ กำหนดนิยามคำศัพท์ที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดการโรงพิมพ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล และกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องและเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงาน โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลังไปเป็นของสำนักงาน ในเรื่องการกำกับ ควบคุมและการบริหารกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป และให้มีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและวางนโยบายของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กำหนดในเรื่องการเงิน การบัญชีของ

สำนักงาน กำหนดให้ถือว่าการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการออกสลากกินแบ่งโดยได้รับอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งทำให้หนี้ที่เกิดจากการออกสลากดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจเรียกร้องให้ชำระได้ตามกฎหมาย และให้ถือว่าการออกสลากดังกล่าวเป็นการออกสลากกินแบ่งที่ได้รับอนุญาตและประทับตราจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการพนันแล้ว และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีใด ๆ ตามกฎหมายนั้น โดยสิทธิเรียกร้องหนี้อันเกิดจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตามพระราชบัญญัตินี้มีอายุความสองปี กำหนดในเรื่องการสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้าง กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่กำหนดในสลาก

มาตรา 855 “ภายในบังคับแห่งมาตรา 312 และมาตรา 916 ตั๋วเงินหรือเอกสารอย่างอื่นทุกฉบับซึ่งออกให้เต็มจำนวน หรือแต่โดยส่วนเพื่อแทนเงินใดๆ อันได้แต่ชนะพนันหรือขันต่อก็ดี ออกให้เพื่อใช้เงินที่ยืมมาใช้ในการพนันหรือขันต่อเช่นว่านั้นก็ดี ท่านว่าไม่สมบูรณ์

เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัตินี้ เงินรายใดให้ยืมแก่บุคคลกำลังเล่นการพนันหรือขันต่อ ในเวลาหรือ ณ สถานที่เล่นเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินนั้นได้ให้ยืมไปเล่นเพื่อการพนันหรือขันต่อ”

(มาตรา 312 มูลหนี้อันพึงชำระตามเขาสั่ง ลูกหนี้จะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้เดิมเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่)

(มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วเงิน จะต่อสู้ผู้ทรง ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนเองกับผู้สั่งจ่ายหรือกับ ผู้ทรงก่อนๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยการคบคิดกันฉ้อฉล)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 855 นี้ แยกพิจารณาได้ 2 ประการ ดังนี้

  1. ตั๋วเงินหรือเอกสารทุกฉบับซึ่งผู้แพ้พนันออกให้เต็มจำนวน หรือเพียงบางส่วนแก่ผู้ชนะพนันไม่สมบูรณ์ ผู้ชนะพนันจะฟ้องผู้แพ้พนัน ชำระหนี้ตามตั๋วเงินหรือเอกสารนั้นไม่ได้ เช่น ไก่แพ้พนันไข่ 2,000 บาท จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไข่ฉบับหนึ่ง เพื่อแทนเงินที่ไก่แพ้พนันนั้น ถ้าไก่ไม่ใช้เงินเมื่อครบกำหนดตามตั๋ว ไข่จะฟ้องเรียกเงินจากไก่ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนั้นไม่ได้

    ในการที่จะวินิจฉัยว่าอย่างไรจึงถือได้ว่าให้ยืมเงินไปเพื่อเล่นการพนันหรือขันต่อนั้น กฎหมายวางข้อสันนิษฐานไว้ว่า เงินที่ให้ยืมแก่บุคคลกำลังเล่นการพนันหรือขันต่อหรือสถานที่เล่นเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินนั้นได้ใช้ไปในการเล่นการพนันขันต่อดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 855 วรรคท้าย
  2. ตั๋วเงินหรือเอกสารอย่างอื่นทุกฉบับซึ่งออกให้เพื่อใช้เงินที่ยืมมาใช้ ในการพนันและขันต่อ ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์ เนื่องจากกฎหมายไม่ต้องการให้มีการใช้หนี้เงินที่ยืมมาเล่นการพนัน เพื่อเป็นการปราบไม่ให้เล่นการพนัน

    ตั๋วเงินไม่สมบูรณ์ หมายความเฉพาะระหว่างผู้ออกตั๋วเงินกับผู้ชนะการพนันหรือขันต่อและผู้ให้ยืมเงินมาใช้ในการพนันหรือขันต่อที่จะยกขึ้นต่อสู้เท่านั้น ไม่รวมถึงผู้รับโอนตั๋วเงินมาโดยสุจริตด้วย ผู้รับโอนตั๋วเงินมาโดยสุจริตจึงฟ้องร้อง ให้บังคับชำระหนี้ตามตั๋วเงินนั้นได้โดยสมบูรณ์

สัญญาอื่นๆ ที่ไม่เป็นการพนันและขันต่อ

การเล่นแชร์เปียหวย เพราะไม่มีลักษณะว่าจะมีทางได้ทางเสียของผู้เล่น ดังนั้น จึงไม่เป็นการพนันและขันต่อ แต่เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งฟ้องร้องได้

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะมีการเสี่ยงว่าจะได้กำไรขาดทุน แต่ก็ไม่เป็นการพนัน เพราะแม้ราคาจะตกช่วงหนึ่ง ก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ ขายหุ้นนั้น เมื่อไม่ขายหุ้นนั้น ก็ไม่เกิดการเสียเช่นเดียวกับการซื้อทองเช่นกัน

สัญญาประกันภัย มาตรา 861 อันสัญญาประกันภัย คือ สัญญาที่บุคคลหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีมีวินาศภัยเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าสัญญานี้มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ เอาประกันภัยด้วยสัญญาจึงผูกพัน ถือว่าไม่เป็นการพนัน ไม่มีการได้เสีย การท้ากันในศาล ไม่เป็นการพนันแต่มีข้อจำกัดอยู่มาก

ความหมายและคำนิยามคำว่า “พนัน”
ประวัติและวิวัฒนาการของการพนัน
ประวัติและวิวัฒนาการของกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน
ความหมายและคำนิยามคำว่า “การพนันและขันต่อ”
การพนันและขันต่อ
กฎหมายแม่บทและกฎหมายอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
ประเภทของการพนัน
บุคคลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการพนัน
ลักษณะของการกระทำผิด
ทรัพย์สินพนัน และเครื่องมือเล่นการพนัน
สินบนนำจับ
การอนุญาตให้มีการเล่นการพนัน
ใบอนุญาต
สถานที่ยื่นใบอนุญาต
ข้อยกเว้นการพนันที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต
หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต
แนวทางในการพิจารณาการขอใบอนุญาต
ภาษีและค่าธรรมเนียมการพนัน
โทษและการเพิ่มโทษ
การฟ้องคดีการพนัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาของศาลฎีกา
ความเห็นทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
การเล่นการพนันตามบัญชี ก.
การเล่นการพนันตามบัญชี ข.
การเล่นการพนันที่เป็นการเล่นที่ให้รางวัล
การเล่นตามมาตรา 4 ทวิ

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

» เงิน
ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของหรือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า ต่อมาได้ใช้สิ่งของเป็นสื่อ เช่น เปลือกหอย ผ้าขนสัตว์ หนังสัตว์ เกลือ ใบชา ใบยาสูบ

» ปรมนุตรสุญญตา
ว่างหมด คือ ปรมนุตรสุญญตา อะไรว่างหมด กาย ว่างหมด เวทนา ว่างหมด จิต ว่างหมด ธรรมชาติ ว่างหมด

» กฎบัตรสหประชาชาติ
บรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเจตน์จำนง ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณามาสู่มนุษย์ชาติในชั่วชีวิต

» กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
ไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร

» เพลงพื้นบ้าน
เพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกันไป

» วิถีโลก
เพื่อให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจการเมืองและการปกครองของสังคมไทยและโลก ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้

» ประเทศไทยในอดีต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าจะได้ทราบไว้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น ๆ