ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
สิกขา
อันคำว่า สิกขา นั้นเป็นภาษาบาลี ตรงกับคำว่าศึกษาที่ไทยเรานำมาใช้จากคำสันสกฤตว่า ศิกษา มาเป็น ศึกษา ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาจารึกพระพุทธวัจนะใช้คำว่าสิกขา ซึ่งเป็นคำเดียวกัน ซึ่งมีความหมายตั้งแต่การเรียนให้รู้ อันเป็นการเล่าเรียนหรือเรียกว่าปริยัติ ตลอดจนถึงปฏิบัติ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือความที่ตั้งใจสำเหนียกฟังอ่านทรงจำ พิจารณาให้เข้าใจ อันเป็นการเล่าเรียน แล้วก็นำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น รวมทั้งเรียนทั้งปฏิบัติเป็นศึกษาหรือสิกขา ฉะนั้นกิจที่จะพึงทำในพุทธศาสนานั้น จึงต้องศึกษาในศีล เรียนให้รู้จักศีล
และปฏิบัติศีลให้มีขึ้น ดังที่ได้สมาทานศีล 5 ศีล 8 หรือได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุ หรือเพียงบรรพชาเป็นสามเณร ก็มีวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จะพึงปฏิบัติ ถ้าเป็นศีลห้าศีลแปด ก็
5 ข้อ 8 ข้อ ถ้าเป็นภิกษุสามเณรก็มากขึ้นตามที่ทรงบัญญัติไว้ เป็น 10 ข้อ เป็น 227 ข้อ เป็นต้น การที่มาตั้งใจปฏิบัติวินัยทั้งคฤหัสถ์ทั้งบรรพชิตดังนี้ เรียกว่าเป็นศีล เพราะทำให้กายวาจาใจสงบเป็นปกติ
ศีลในขั้นต้นนั้นก็ปรากฏทางกายทางวาจา ซึ่งเว้นได้จากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และกระทำตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ปรากฏทางกายทางวาจา แต่ว่าศีลที่บริสุทธิ์จะต้องถึงจิตใจ คือจิตใจต้องเป็นศีล จิตใจต้องมีความปรกติ มีความสงบ อันเริ่มมาจากการตั้งใจงดเว้นตามพระวินัยบัญญัติ ตั้งใจปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ
แต่ว่าความตั้งใจนี้มีเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มีกำลังของศรัทธาปัญญาเป็นต้น แรง ความตั้งใจก็แน่วแน่ ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจาก็ถูกต้อง แต่ว่าเมื่อกำลังของศรัทธาปัญญาอ่อน ความตั้งใจก็รวนเร เมื่อความตั้งใจรวนเร ก็ทำให้การปฏิบัติทางกายทางวาจารวนเร ทำให้เกิดการปฏิบัติผิดพลาดต่างๆ เป็นการละเมิดศีลมากหรือน้อย
เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจิตใจนี้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย รักษายากห้ามยาก ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนั้น ก็คือดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลาย ที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจเองอยู่ตลอดเวลา อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านเข้ามาสู่จิตใจนี้ บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของราคะ คือความติดใจยินดี บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง บางอย่างก็เป็นที่ตั้งของโมหะ คือความหลง
เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติซึ่งเป็นเครื่องรักษาใจ อ่อน อารมณ์เหล่านี้มีกำลังแรง ก็เข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เมื่อเป็นดั่งนี้หากระงับใจไว้ไม่อยู่ ก็ทำให้ละเมิดออกไปทางกายทางวาจา เป็นการผิดศีลน้อยบ้างมากบ้าง ศีลก็ไม่บริสุทธิ์
จิตตภาวนา 2 กรรมฐาน 2
คันถธุระ วิปัสสนาธุระ
ศีลเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมทั้งหลาย
สิกขา
สติ จิตตภาวนาข้อแรก
อินทรียสังวร