ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา

พระประวัติสังเขปของ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(จวน อุฏฐายีมหาเถร)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชาติกาลและชาติภูมิ
       สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) ประสูติ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2440 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพ.ศ.ก จุลศักราช 1299 (ร.ศ. 166) ที่บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี            ท่านบิดาชื่อ หงส์ ศิริสม ท่านมารดาชื่อ จีน ศิริสม ทรงเป็นบุตรหัวปีในจำนวนพี่น้อง 7 คน

ประถมวัยและประถมศึกษา
       พ.ศ. 2449 พระชนม์ 10 พรรษา เข้ามาศึกษาวิชาภาษาไทยชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดคฤหบดี อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี
       พ.ศ. 2451 พระชนม์ 13 พรรษา เมื่อเรียนจบประถมศึกษาแล้ว สมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.) แต่ป่วยเป็นโรคเหน็บชา จึงต้องออกไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม
       พ.ศ. 2453 พระชนม์ 14 พรรษา ไปเรียนวิชาทางศาสนากับพระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตโต) เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา
       พ.ศ. 2455 พระชนม์ 16 พรรษา เข้ามาอยู่กับพระศาสนาโศภน (แจ่ม จตตสลโล ป.7) ครั้งยังเป็นพระอริยมุนี ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม และเริ่มศึกษาบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้างกับ พระมหาจิณ จิณณาจาโร ป.4 บ้าง

การบรรพชาและอุปสมบท
       พ.ศ. 2457 พระชนม์ 18 พรรษา ทรงบรรพชาเป็นสมเณร มีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.7) เป็นพระอุปัชฌาย์และพระอริยมุนี (แจ่ม จตตสลโล ป.7) เป็นสรณคมนาจารย์ที่พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ 2 กรกฎาคม
       พ.ศ. 2460 พระชนม์ 21 พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุมีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.7) เป็นพระอุปัชฌาย์และพระราชกวี (แจ่ม จตตสลโล ป.7) เป็นพระกรรมวาจารย์ที่พระอุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ 26 มิถุนายน

การศึกษานักธรรมและบาลี

       พ.ศ. 2457 พระชนม์ 18 พรรษา ทรงศึกษานักธรรมชั้นตรี สามเณรภูมิ กับพระอริยมุนี (แจ่ม จตตสลโล ป.7) เข้าสอบในสนามหลวงได้ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ และในปีเดียวกันนี้ ก็ทรงศึกษาบาลีไวยากรณ์กับพระมหาสุข สุขทายี ป.5 อีกด้วย
       พ.ศ. 2458–2459 พระชนม์ 19–20 พรรษา ทรงศึกษาบาลีประโยค 3 (ธัมมปทัฏฐกถา) กับพระราชวุฒาจารย์ (ชั้นกมาธิโก ป.5) ครั้งยังเป็นเปรียญ
       พ.ศ. 2460 พรรษาที่ 1 ทรงศึกษาวินัยบัญญัติกับพระราชกวี (แจ่ม จตตสลโล ป.7) และเข้าสอบในสนามหลวงได้เป็นนักธรรมชั้นตรี นวกภูมิ ส่วนบาลีประโยค 3 ก็ทรงศึกษาต่อควบคู่ไปด้วย และเข้าสอบในสนามหลวงได้ ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ในปีเดียวกัน.
       พ.ศ. 2461 พรรษาที่ 2 ทรงศึกษานักธรรมชั้นโท มัชฌิมภูมิ และสอบได้ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์
       พ.ศ. 2462 พรรษาที่ 3 ทรงศึกษาบาลีประโยค 4 (มังคลัตถทีปนี) กับพระมหาชั้น กมาธิโก ป.5 และสอบได้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์
       พ.ศ. 2464 พรรษาที่ 5 ทรงศึกษาบาลีประโยค 5 (บาลีมุตตกวินิจฉยสังคหะ) ด้วยพระองค์เอง และสอบได้ ณ วันที่ 20 ธันวาคม
       พ.ศ. 2465 พรรษาที่ 6 พรรษาที่ 6 ทรงศึกษาบาลีประโยค 6 (แปลธัมมปทัฏฐกถาพากย์ไทยเป็นบาลีและเขียนด้วยอักษรขอม) และสอบได้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม
       พ.ศ. 2466 พรรษาที่ 7 ทรงศึกษานักธรรมชั้นเอก เถรภูมิ และสอบได้ ณ วันที่ 20 ธันวาคม
       พ.ศ. 2467 พรรษาที่ 8 ทรงศึกษาบาลีประโยค 7 (แปลมังคลัตถปนีพากย์ไทยเป็นบาลีและเขียนด้วยอักษรขอม กับแปลปฐมสมันตปาสาทิกาเป็นไทย) และสอบได้ ณ วันที่ 17 ธันวาคม
        พ.ศ. 2470 พรรษาที่ 11 ทรงศึกษาบาลีประโยค 8 (แต่งฉันท์ภาษาบาลีเป็นบุพพภาค แปลปฐมสมันตปาสาทิกาพากย์ไทยเป็นบาลี กับแปลวิสุทธิมัคคปกรณ์เป็นไทย) และสอบได้ ณ วันที่ 14 ธันวาคม
       พ.ศ. 2472 พรรษาที่ 13 ทรงศึกษาบาลีประโยค 9 (แต่งบาลีร้อยแก้วเป็นบุพพภาค แปลวิสุทธิมัคคปกรณ์พากย์ไทยเป็นบาลีกับแปลอภิธัมมัตถวิภาวินีเป็นไทย) และสอบได้ ณ วันที่ 23 มกราคม

ทรงเป็นครูและกรรมการนักธรรม-บาลี

      พ.ศ. 2463 พรรษาที่ 4 เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ ในสำนักเรียนวัดมกุฏษัตริยาราม.
      พ.ศ. 2464 พรรษาที่ 5 เป็นครูสอนแปลธัมมปทัฏฐกถา (หลักสูตรประโยค 3) ณ วันที่ 1 พฤษภาคม.
      พ.ศ. 2466 พรรษาที่ 7 เป็นครูสอนแปลมังคลัตถทีปนี (หลักสูตรประโยค 4)
       พ.ศ. 2469 พรรษาที่ 10 เป็นครูสอนแปลตติยจตุตถปัญจมสมันตปาสาทิกา (หลักสูตรประโยค 5)
       พ.ศ. 2470 พรรษาที่ 11 เป็นกรรมการตรวจบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง
       พ.ศ. 2471 พรรษาที่ 12 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโท-เอก และบาลีประโยค 4-5-6 ในสนามหลวง และในปีเดียวกันนี้ ก็เป็นเลขานุการนักธรรมชั้นโท ของแม่กองธรรมตลอดมาถึง พ.ศ. 2484
       พ.ศ. 2475 พรรษาที่ 16 เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายบาลี ณ สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ 3 มิถุนายน ตลอดมาถึง พ.ศ. 2488
       พ.ศ. 2477 พรรษาที่ 18 เป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค 7-8-9 ในสนามหลวง ตลอดมาถึง พ.ศ. 2508 

กิจการมหามกุฏราชวิทยาลัย
      พ.ศ. 2476 พรรษาที่ 17 เป็นอนุกรรมการและกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยหลายอย่าง ดังนี้
       1. เป็นอนุกรรมการตรวจชำระแบบเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วันที่ 7 สิงหาคม.
       2. เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วันที่ 14 ตุลาคม.
       3. เป็นกรรมาธิการวางระเบียบบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัยกับกรมการศาสนา ณ วันที่ 24 ตุลาคม.
       4. เป็นกรรมการอำนวยการออกหนังสือธรรมจักษุ (รายเดือนรุ่นใหม่) และเป็นประธานกรรมการตรวจเลือกพระสูตร ณ วันที่ 15 ธันวาคม.
        5. เป็นหัวหน้ากองเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหามกุฏราชวิทยาลัย.
        พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 39 เป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย
        พ.ศ. 2501 พรรษาที่ 42 เป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน           

 

การคณะธรรมายุติกนิกาย

       พ.ศ. 2477 พรรษาที่ 18 เป็นกรรมการคณะธรรมายุติกนิกาย ณ เดือนพฤษภาคม
       พ.ศ. 2490 พรรษาที่ 31 เป็นเจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วันที่ 8 มิถุยายน.
       พ.ศ. 2488 พรรษาที่ 39 เป็นประธานคณะกรรมการคณะธรรมยุติกนิกาย
       พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 40 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย ณ วันที่ 5 ธันวาคม
        พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 42 เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ตลอดจนสิ้นพระชนม์. 

ทรงสมณศักดิ์
       พ.ศ. 2476 พรรษาที่ 17 เป็นพระกิตติสารมุนี ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน
       พ.ศ. 2476 พรรษาที่ 19 เป็นพระราชเวที ณ วันที่ 19 กันยายน
       พ.ศ. 2482 พรรษาที่ 23 เป็นพระเทพเวที ณ วันที่ 1 มีนาคม.
       พ.ศ. 2488 พรรษาที่ 29 เป็นพระธรรมปาโมกข์ ณ วันที่ 19 ธันวาคม
       พ.ศ. 2490 พรรษาที่ 31 เป็นพระศาสนโศภน ณ วันที่ 8 มิถุนายน
       พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 40 เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ณ วันที่ 5 ธันวาคม
       พ.ศ. 2508 พรรษาที่ 49 เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ลำดับที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน

การบริหารคณะสงฆ์
       พ.ศ. 2476 พรรษาที่ 17 เป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์
       พ.ศ. 2478 พรรษาที่ 19 เป็นประธานกรรมการบริหารในตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2485
        พ.ศ. 2479 พรรษาที่ 20 เป็นกรรมาธิการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการเดินทางไปมาติดต่อกับต่างประเทศของภิกษุสมเณรชายแดน และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์
       พ.ศ. 2485 พรรษาที่ 26 เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยคุณวุฒิ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม และเป็นสังฆมนตรีว่าการกองค์การเผยแผ่ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ณ วันที่ 2 มิถุนายน.
       พ.ศ. 2486 พรรษาที่ 27 รักษาการในตำแหน่งสังฆนายกแทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) วัดบรมนิวาส คือ ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน และครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
      พ.ศ. 2489 พรรษาที่ 30 สั่งการในหน้าที่สังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร ป.7) วัดเทพศิรินทราวาส ครั้งที่ 1 ณ วันที่ 30 พฤษภาคม
      พ.ศ. 2493 พรรษาที่ 34 สั่งการในหน้าที่สังฆนายก แทนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร ป.7)วัดเทพศิรินทราวาส ครั้งที่ 2 ณ วันที่ 30 พฤษภาคม
      พ.ศ. 2494 พรรษาที่ 35 เป็นสังฆนายก ณ วันที่ 11 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 มิถุยายน ก็ลาออกแล้วกับไปดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ ณ วันที่ 24 กรกฏาคม
      พ.ศ. 2503 พรรษาที่ 44 เป็นสังฆนายก (ครั้งที่ 2) ณ วันที่ 20 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2505
      พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 46 เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ในหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2494 ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม
      พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 47 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
       พ.ศ. 2508 พรรษาที่ 49 ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และทรงดำรงตำแหน่งประธานมหาเถรสมาคม ตาม พ.ร.บ. 2505 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2514 อันเป็นวันสิ้นพระชนม์

 เกียรติประวัติและภารกิจต่าง ๆ
       พ.ศ. 2468 พรรษาที่ 9 เป็นหัวหน้ากองตรวจชำระพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์อปทาน เถรคาถา เถรีคาถา ในนามของท่านเจ้าคุณอาจารย์ (พระศาสนโสภน แจ่ม จตตสลโล)
       พ.ศ. 2471 พรรษาที่ 12 ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ปปร. ชั้น 5 ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน
       พ.ศ. 2475 พรรษาที่ 16 เป็นกรรมการวัดมกุฏกษัตริยาราม
       พ.ศ. 2476 พรรษาที่ 17 เป็นกรรมการสอบจรรยาประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.8) ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ถึง พ.ศ. 2482
       พ.ศ. 2477 พรรษาที่ 18 เป็นกรรมการตรวจและสะสางศาสนสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน เป็นต้นมา
       พ.ศ. 2478 พรรษาที่ 19 เป็นกรรมการเทียบวิทยะฐานะเปรียญ 6 ประโยค ให้เท่ากับประโยคมัธยมบริบูรณ์ (ม.8)
      พ.ศ. 2479 พรรษาที่ 20 เป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฏก ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม
       พ.ศ. 2482 พรรษาที่ 23 ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดแต่ง “รตนตตยปปภาวสิทธิคาถา” สำหรับใช้สวดในพระราชพิธีแทน “รตนตตยปปภาวาภิยาจนคาถา” ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน
      พ.ศ. 2488 พรรษาที่ 29 เป็นประธานกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
       พ.ศ. 2488 พรรษาที่ 29 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน และเป็นเจ้าอาวาส ณ วันที่ 19 ธันวาคม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในปีเดียวกันนี้ (มีสัทธิวิหาริกทั้งสิ้น 1,848 รูป)
       พ.ศ. 2497 พรรษาที่ 38 เป็นประธานกรรมการจัดรายการวิทยุกระจายเสียงในวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา
       พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 40 เป็นผู้อุปถัมภ์คณะกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน
       พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 40 เป็นพระราชกรรมวาจารย์ ในการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ณ วันที่ 22 ตุลาคม
       พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 43 ทรงตั้งและอุปถัมภ์บำรุงมลนิธิกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.) ขึ้นที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ตั้งแต่วันที่ 12 เป็นต้นมา
       พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 46 เป็นประธานกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน ตั้งแต่ พ.ศ. นั้นเป็นต้นมา

การเสด็จต่างประเทศ

       พ.ศ. 2471 พรรษาที่ 12 ครั้งยังเป็นเปรียญ เสด็จไปดูการพระศาสนาในประเทศลาวบางแห่ง คือ สุวรรณเขต ท่าแขกปากหินบูน และนครเวียงจันทน์
       พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 39 เสด็จไปเยี่ยมคณะสงฆ์ในประเทศมาเลเซีย-สิงคโปร์ และเสด็จไปนมันสการสังเวชนียสถาน ในประเทศอินเดีย เนปาล และลังกา ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม
       พ.ศ. 2502 พรรษาที่ 43 เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในประเทศญี่ปุ่น และในเวลากลับได้แวะเยี่ยมทหารไทยในประเทศเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมถึงเดือนเมษายน
       พ.ศ. 2502 พรรษาที่ 43 เสด็จไปส่งคณะสงฆ์ไทยที่ไปอยู่ประจำ ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ณ วันที่ 20 พฤษภาคม
       พ.ศ. 2504 พรรษาที่ 45 เป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชไปร่วมประชุมการสังคายนา ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน
       พ.ศ. 2507 พรรษาที่ 48 เป็นหัวหน้าคณะทูตศาสนไมตรีไปเยี่ยมพุทธบริษัท ที่ฮ่องกง เกาะไต้หวัน (จีนคณะชาติ) ประเทศเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญเสด็จของพุทธบริษัทในประเทศนั้น ๆ ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน และในคราวเดียวกัน ได้เสด็จกลับมามอบพระไตรปิฏกแก่คณะสงฆ์ญวน ที่กรุงไซ่ง่อนประเทศเวียตนามใต้ ณ วันที่ 22 มิถุนายน
      พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 51 เสด็จไปเยี่ยมคณะสงฆ์ลังกาตามคำเชิญเสด็จของคณะสงฆ์และรัฐบาลประเทศลังกา ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 20 เดือนเดียวกัน
      พ.ศ. 2513 พรรษาที่ 54 ได้เสด็จไปเป็นประธานในการมอบตึกพยาบาลของพุทธศาสนิกชน และเป็นประธานในการสัมนาพุทธศาสนิกชนนานาชาติเพื่อสันติ ที่ฮ่องกง ณ วันที่ 29 มีนาคม ถึงวันที่ 4 เมษายน

การแปลพระนิพนธ์ และพระธรรมเทศนา
      พ.ศ. 2469 พรรษาที่ 10 ทรงแปลตติยจตุตถปัญจมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย และมอบลิขสิทธิให้มหากุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2480
      พระนิพนธ์ต่าง ๆ นั้น ได้ทรงไว้กว่า 100 เรื่อง เช่น มงคลในพระพุทธศาสนา สาระในตัวคน และฉันไม่โกรธ วิธีต่ออายุให้ยืน เป็นต้น
      พระธรรมเทศนา มีหลายร้อยกัณฑ์ และที่สำคัญ คือ พระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา โดยมากยังไม่ได้พิมพ์

การตั้งหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ

       พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 55 ทรงส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนากับกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาของภิกษุสามเณรขึ้นใหม่ เรียกว่า “โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ” โดยผนวกความรู้นักธรรม-บาลี และวิชาชั้นประถมและมัธยมสามัญเข้าด้วยกัน เริ่มด้วยประโยคประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 และ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 เป็นต้นไป
       ในการนี้ ได้ทรงขวนขวายให้สร้างอาคารเรียน 3 ชั้น ที่หลังวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้น เป็นสถานศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ.

กาลอวสารแห่งพระชนม์ชีพ

       พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 55 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สิ้นพระชนม์ทันทีทันใด โดยรถยนต์พระประเทียบที่ประทับ ถูกรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลขับสวนทางมา พุ่งเข้าชนตกถนน ณ วันที่ 18 ธันวาคม เวลา 10.05 น.

บทสรุป

      สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ก่อนบรรพชาอุปสมบท 17 ปี บรรพชาเป็นสามเณร 3 พรรษา อุปสมบทเป็นภิกษุ 55 พรรษา เป็นเจ้าอาวาส 27 พรรษา และดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 7 พรรษา  

คำปรารภ
มิลินทปัญหา
อารัมภคาถา
พาหิรกถา
ปรารภเมณฑกปัญหา
เมณฑกปัญหา
อนุมานปัญหา
อปรภาคกถา
อธิบายท้ายเรื่อง
 

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม