ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระประวัติสังเขปของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
คำปรารภ
มิลินทปัญหา ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) พระราชกรรมวาจาจารย์ ซึ่งทรงเคารพยกย่องไว้ในฐานเป็นอุตดมครุฏฐานียบุคคล สมบูรณ์ด้วยวิมลสุตศีลสมาจาร ทรงแตกฉานในนิรุกติปฏิภาณโวหารวิจิตร ทรงฉลาดเชี่ยวชาญในวิวิธสังฆปสาสโนบายโกศล ทรงเป็นศรีสง่าแห่งสังฆมณฑลสกลพุทธบริษัท ทรงเป็นนิทัศนนิมิตแห่งกัลยาณบุคคล ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมและความสะอาดสุจริต ทรงเป็นบุญเขตที่สถิตแห่งคุณความดีอดิศัย อุดมด้วยพระเมตตากรุณาแผ่ไปทั่วทุกทิศ มีพระวิริยะประกอบกรณียกิจโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อเกื้อกูลความสุขของมวลชนทุกหมู่เหล่า โดยความเที่ยงตรงแน่วแน่และเสียสละ แม้พระชนมชีพก็ไม่ทรงคำนึงห่วงใย ทรงสละได้เพื่อศาสนาโดยแท้
พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเลือกให้พิมพ์หนังสือมิลินทปัญหา ปุจฉาวิสัชนา ระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนเถระ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ได้ทรงเคยตรวจชำระคำแปลในการพิมพ์เมื่อนานปีมา หนังสือนี้เป็นปกรณ์สำคัญและมีชื่อเสียงมากปกรณ์หนึ่งในพระพุทธศาสนา แสดงอธิบายธรรมด้วยวิธีปุจฉาวิสัชนา สาธกข้อที่ยากให้เห็นชัดได้ด้วยอุปมานานัปการ ยุติด้วยหลักฐานเหตุผลปฏิภาณและภาษาอันไพจิตรเป็นที่นับถือยกย่องของบัณฑิตทั้งหลายทุกกาลสมัย เป็นอุบายเรืองปัญญาของผู้ใคร่ศึกษาพระพุทธศาสนาธรรม ทรงอุทิศพระราชกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น เพื่อเป็นปัจจัยเผยแพร่พระเกียรติของท่านให้สมกับที่ทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติ เป็นหลักสำคัญในคณะสงฆ์ ซึ่งได้ทรงปกครองมาด้วยพรหมวิหารธรรมอันเลิศ ประกอบด้วยพระอุตสาหะและพระปัญญาอันประเสริฐสุขุมอันประชุมชนในภายภาคหน้าจักต้องระลึกถึงต่อไปด้วยคารวะตลอดกาลทั้งปวง
ผู้ที่กำลังศึกษาธรรมในส่วนข้างหน้านี้จงทำอย่างมีสมาธิ จะพบว่าข้อความเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้ผู้ศึกษา ค้นคว้า ใฝ่หา มีความรู้สึกยินดี สดใส ชุ่มชื่น อย่างวิจิตร ยากแก่การบรรยายออกมาเป็นความรู้สึกได้
คำปรารภ
มิลินทปัญหา
อารัมภคาถา
พาหิรกถา
ปรารภเมณฑกปัญหา
เมณฑกปัญหา
อนุมานปัญหา
อปรภาคกถา
อธิบายท้ายเรื่อง