ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
จิตเดิมแท้
"ธรรมญาณ" เป็นรากฐานเดิมตามธรรมชาติแท้ของจิต ยากที่จะอธิบายสภาวะนั้นด้วยภาษาคนเพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า "จิตเดิมแท้" แต่ในที่นี้เรียกว่า "ธรรมญาณ" อันเป็นญาณที่มาจากธรรมชาติดั้งเดิมแท้จึง การค้นพบภาวะ "ธรรมญาณ" ของตนเองจึงเป็นเรื่องที่ลึกล้ำและยากนัก ท่านหงเหยิ่นพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า จึงเรียกประชุมศิษย์ทั้งปวงแล้วกล่าวว่า "การเวียนว่ายตายเกิดเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่มีใครเอาใจใส่แทนที่จะหาหนทางพาตัวเองให้พ้นไปจากทะเลทุกข์แห่งการเวียนเกิดและเวียนตายอันไม่มีที่สิ้นสุด กลับพากันหมกมุ่นอยู่แต่บุญกุศล ที่มีตัณหาชักนำอันเป็นต้นเหตุให้เกิดใหม่ ถ้าธรรมญาณยังมืดมัวอยู่ บุญกุศลทั้งปวงก็หามีประโยชน์อันใดไม่ จนตั้งใจค้นหาปัญญาของตนเองแล้วเขียนโศลกว่าด้วยเรื่องของ "ธรรมญาณ" ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า "ธรรมญาณ" นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่ง พระสังฆปริณายก พร้อมทั้งธรรมะอันเป็นคำสอนเร้นลับแห่งนิกายเซ็น และจะสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หกแห่งนิกายเรา อย่ามัวรีรอตรึกตรองเพราะไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์อะไร ผู้ที่รู้แจ้งชัดใน "ธรรมญาณ" จะพูดได้ทันทีที่มีใครมาชวนคุยด้วยและมันไม่เลื่อนลอยไปจากธรรมจักษุของเขา แม้จะชุลมุนวุ่นวายอยู่ท่ามกลางสนามรบก็ตาม " วจนะของท่านหงเหยิ่นเป็นความจริงจนถึงการสมัยปัจจุบันมนุษย์ยังคงเวียนว่ายอยู่ในทะเลทุกข์โดยมิได้รู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในห้วงทะเลแห่งการเกิดและตาย เขาเหล่านั้นจะรู้สึกถึงปัญหานี้ ก็ต่อเมื่อความตายมาเยือนอยู่ตรงหน้า และพากันบอกหนทางโดยหวังว่าจะช่วยให้พ้นไปจากนรกอเวจีและเชื่อว่าบุญกุศลที่ได้สั่งงสมเอาไว้ทำให้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า การสร้างบุญกุศลเช่นนี้กระทำได้ง่ายกว่าการใช้ปัญญาค้นคิดหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์อันเกิดจากเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์จึงมี "บุญ" และ "บาป" เป็นเหตุปัจจัยให้ไปเวียนเกิด-ตายเพื่อไปรับผลอันมาจากเหตุที่ตนเองสร้างไว้ไม่มีที่สิ้นสุด การสร้างบุญจึงไม่ต่างอะไรกับการหาเงินฝากธนาคารเอาไว้เป็นของตน เมื่อใช้จนหมดแล้ววิถีแห่งชีวิตก็ต้องยากจนลงไปเหมือน "กินบุญ" หมดแล้วจึงไป "รับบาป" ชดใช้หนี้สินหมดแล้วจึงไป "กินบุญ" เวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่ไม่เข้าใจทุกข์แห่งการเกิดและตาย จึงทำบุญด้วยการอยากเกิดใหม่ เพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีกว่าเท่านั้นเอง วิถีแห่งชีวิตจึงไม่พ้นไปจากวัฎสงสาร เพราะตัณหาเป็นตัวชักนำ แต่พระพุทธองค์ทรงเบื่อหน่ายการเกิด-ตาย ทรงเล็งเห็นเป็นความทุกข์อันแท้จริงจึงทรงสละฐานันดรกษัตริย์ ซึ่งปุถุชนเห็นเป็นความสุขสมบูรณ์อันสูงงสุดทิ้งเสีย และทรงค้นคว้าหาหนทางที่สามารถไปพ้นจากทะเลทุกข์ ทรงลำบากตรากตรำทั้งปฏิบัติและศึกษานานถึง 6 ปี เมื่อกลางคืนวันเพ็ญเดือนหก พระพุทธองค์ทรงค้นพบ "ญาณทวาร" และ "วิถีจิต" อันเป็น "อนุตตรสัมมาสัมโพธิ" "ญาณทวาร" เป็นประตูวิเศษอันเร้นลับ ซึ่งพระพุทธทีปังกรเคยพยากรณ์ว่าสุเมธดาบสจักสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปน์ได้นิมิตเป็นแสงดาวสว่างวาบตรงจุดนั้น "วิถีแห่งจิต" เป็นหนทางอันตรงต่อประตูวิเศษซึ่งเป็นทางสายกลาง "อนุตตรสัมมาสัมโพธิ" เป็นปัญญาอันยิ่งเพราะรู้ถึง "ธรรมญาณ" ซึ่งพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดอันแท้จริง เพราะสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" นั้น มิได้ "เกิด" จึงมิได้ "ตาย" และไม่อาจนำเอาบัญญัติใดๆ ในโลกนี้มาเทียบเคียงหรืออธิบายให้ใครเข้าใจได้เลย เพราะสภาวะนั้นพ้นไปจาก "รูป" และ "นาม" "อนุตตรธรรม" ที่พุทธองค์ตรัสรู้จึงเป็นเรื่องรับรสได้เฉพาะตนแต่เหตุไฉนตลอด 45 พรรษา พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ชี้แนะหนทางเท่านั้น ส่วนการเดินไปสู่จุดหมายปลายทางล้วนต้องประคองจิตด้วยตนเองทั้งสิ้น และเพื่อมิได้ "อนุตตรธรรม" สูญหายไปจากโลกนี้ พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดประตูวิเศษนี้ไว้ด้วยวิธีอันเร้นลับ มิได้ถ่ายทอดโดยเปิดเผย สมกับคำกล่าวโบราณที่ว่า "ไม่รู้ถึงหูที่หก" สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์สาวกล้วนเป็นพระอรหันต์ 1,250 รูป ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แห่งกรุงราชคฤห์ และมิได้ตรัสประการใด จึงมีผู้ทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุไฉนวันนี้ พระองค์จึงมิได้ตรัสเทศนาโปรดเวไนยสัตว์เลย" ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งแล้วตรัสว่า "ตถาคตมีธรรมจักษุอันละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ อยู่ในครรโภทร " ที่ประชุมสงฆ์สาวกทั้งนั้น มีแต่พระมหากัสสปะซึ่งเป็นผู้สูงอายุหน้าตายับยู่ยี่ด้วยเร่งบำเพ็ญเพียรจนไม่เคยยิ้มเลยตลอดเวลาที่ปฏิบัติธรรมอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธองค์ทรงแสดงรหัสตรัสเช่นนี้จึงรู้ได้ด้วยไวปัญญา พระมหากัสสปะจึงยิ้มครั้งแรกในชีวิตและแสดงกริยาก้มหน้าเป็นการตอบรับ พระพุทธองค์ทรงกล่าวต่อไปว่า "ตถาคตได้ส่งมอบธรรมะนี้แก่พระมหากัสสปะแล้ว" พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่าเป็นผู้มีปัญญาอันเลิศ จึงทรงแลกบาตรและจีวรกับพระมหากัสสปะ ปัญหาที่น่าพิจารณาคือบรรดาพระอรหันต์ทั้ง 1,249 รูป นั้นมิได้รู้อนุตตรธรรม เหตุไฉนจึงสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์พ้นเวียนว่ายตายเกิดได้เล่า คำตอบอยู่ที่บรรดาสงฆ์สาวกทั้งปวงล้วนปฏิบัติตรงตามทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและประคองจิตของตนเองมิได้พ้นไปจากเส้นทางสายนี้ เช่นเดียวกับพระมหากัสสปะจึงเป็นผู้ได้หนทาง แต่มิได้รู้ถึง "ประตูวิเศษ" แต่พระพุทธองค์ทรงรู้ถึง "ทวารวิเศษ" บรรดาสงฆ์สาวกซึ่งรักษาจิตของตนเองในหนทางสายกลางย่อมเดินไปจนถึง "ทวารวิเศษ" นี้ ในวันสุดท้ายของการทิ้งกายสังขาร เมื่อพระมหากัสสปะได้รับการถ่ายทอด "ทวารวิเศษ" และประคองจิตของตนเองอยู่ในหนทางสายกลาง จึงย่อมเสมอเหมือนพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น บาตรและจีวรของพระพุทธองค์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการถ่ายทอด "ทวารวิเศษ ของอนุตตรธรรม" สืบต่อกันมาจนถึงพระธรรมาจารย์ หงเหยิ่น องค์ที่ห้า ในครั้งนั้นพระมหากัสสปะจึงเป็นพระธรรมาจารย์องค์ที่หนึ่งซึ่งได้รับรู้ "ประตู" ของ "ธรรมญาณ" อันเป็นหนทางแห่งอนุตตรธรรม นั่นเอง
เว่ยหล่าง หรือ
ฮุ่ยเหนิง
วิปัสสนาปัญญา
จิตเดิมแท้
อนุตตรสัมมาสัมโพธิ
ต้นโพธิ์กับกระจกเงา
โศลกอันลือเลื่อง
ต้นธาตุ ต้นธรรม
ศูนย์กลางจักรวาล
ดวงตาเห็นธรรม
สัจธรรมแห่งการกินเจ
เอกธรรมมรรค
บรรลุอย่างฉับพลัน
มหาปรัชญาปารมิตา
ความว่างที่ไม่รู้จักเต็ม
สัมมาปัญญา
กิเลสคือโพธิ
มหาปัญญา
เหมือนที่ต่าง
ครูที่แท้จริง
วิมุติปัญญา
ความไม่ต้องคิด
พ้นโง่-พ้นฉลาด
มองหาความผิดตนเอง
ทางที่ถูกต้อง
มหาธรรมนาวา
ติดบุญ-บาปพัวพัน
อหังการ
ดินแดนแห่งอมิตาภะ
มนุษย์นคร
แสงแห่งพระพุทธะ
บำเพ็ญในครัวเรือน
ถือศีลแต่ตกนรก
ไหว้พระในบ้าน
ความเป็นธรรม
บัวสีแดงเหนือตมสีดำ
เงินบังโพธิปัญญา
นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ
หลงสุขจึงไม่เห็นทุกข์
สมาธิที่ถูกวิธี
หลอกตัวเอง
หลงข้ามภพข้ามชาติ
ไม่ช้า-ไม่เร็ว
หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์