เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
การอยู่ร่วมกันในสังคม
การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การสั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฎระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ปัญหาในชุมชนก็มีไม่น้อย ปัญหาการทำมาหากิน ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด โจรลักวัวควาย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในชุมชนหรือระหว่างชุมชน การละเมิดกฎหมายประเพณี ส่วนใหญ่จะเป็นการ ผิผี คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิดการผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมีคนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจรขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงานที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การแลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการคนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง
กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้าน ถ้าปีหนึ่งชาวนาปลุกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัดเผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บไวเผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี.
ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยงสัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคนเก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี ค่าครู แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปรกติแล้ว เงินจำนวนนั้นก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือเพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมดยาหรือบุคคลผู้นั้นจะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว วิชา ที่ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ
ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการสอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อนตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือเก็บรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเอนบ้าน เพราะเมื่อเขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมชองหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกิจกรรมของส่วนรวจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูกหลายผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์หรือ บวชเรียน ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาทของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุกเดือน ต่อมาก็ลดลงไป หรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชนแสดงออกร่วมกัน
ความคิดและการแสดงออก
การทำมาหากิน
การอยู่ร่วมกันในสังคม
ระบบคุณค่า
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมปัจจุบัน