เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

ระบบคุณค่า

ความเชื่อในกฎเกณฑ์ประเพณีเป็นระเบียบทางสังคมของชุมชนดั้งเดิม ความเชื่อนี้เป็นรากฐานของระบบคุณค่าต่าง ๆ ความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติรอบตัวและในสากลจักรวาล

ความเชื่อ “ผี” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติเป็นที่มาของการดำเนินชีวิตทั้งของส่วนบุคคลและของชุมชนโดยรวม การเคารพในผีปู่ตาหรือผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นลูกหลานของปู่ตาคนเดียวกัน รักษาป่าที่มีบ้านเล็ก ๆ สำหรับผีปลูกอยู่ติดหมู่บ้าน ผีป่าทำให้คนตัดไม้ด้วยความเคารพ ขออนุญาต เลือกตัดต้นแก่และปลูกทดแทน ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำด้วยความเคารพในแม่คงคา กินข้าวด้วยความเคารพในแม่โพสพ คนโบราณกินข้าวเสร็จจะไหว้ข้าว

พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีรื้อฟื้น กระชับหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คนจะเดินทางไกล หรือกลับจากการเดินทาง สมาชิกใหม่ในชุมชน คนป่วยหรือกำลังฟื้นไข้ คนเหล่านี้จะได้รับพิธีสู่ขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล มีความอยู่เย็นเป็นสุข นอกนั้นยังมีพิธีสืบชะตาชีวิตของบุคคลหรือของชุมชน

นอกจากพิธีกรรมกับคนแล้ว ยังมีพิธีกรรมกับสัตว์และธรรมชาติ มีพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย สู่ขวัญเกวียน เป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณ การขอขมา พิธีดังกล่าวไม่ได้มีความหมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้มีจิตมีผีในตัวมันเอง แต่เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์กับจิตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสากล ในธรรมชาติทั้งหมด ทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกสิ่ง คนขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯที่มาจากหมู่บ้าน ยังซื้อดอกไม้แล้วแขวนไว้ที่กระจกในรถ ไม่ใช่เพื่อเซ่นไหว้ผีในรถแท็กซี่ แต่เป็นการรำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลจักรวาล รวมถึงที่สิงอยู่ในรถคันนั้น

 

ผู้คนสมัยก่อนมีความสำนึกในข้อจำกัดของตนเอง รู้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอและเปราะบาง หากไม่รักษาความสัมพันธ์อันดีและไม่คงความสมดุลกับธรรมชาติรอบตัวไว้ เขาคงไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างเป็นสุขและยืนนาน ผู้คนทั่วไปจึงไม่มีความอวดกล้าในความสามารถของตน ไม่ท้าทายธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักษากฎระเบียบประเพณีอย่างเคร่งครัด

ชีวิตของชาวบ้านในรอบหนึ่งปีจึงมีพิธีกรรมทุกเดือน เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ดังกรณีงานบุญประเพณีของชาวภาคอีสานที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง คือ

  • เดือนอ้าย (เดือนที่หนึ่ง) บุญเข้ากรรม ให้พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม
  • เดือนยี่ (เดือนที่สอง) บุญคูณลาน ให้นำข้าวมากองกันที่ลาน ทำพิธีก่อนนวด
  • เดือนสาม บุญข้าวจี่ ให้ถวายข้าวข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นชุบไข่ทาเกลือนำไปย่างไฟ)
  • เดือนสี่ บุญพระเวส ให้ฟังเทศน์มหาชาติคือ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก
  • เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือบุญสงกรานต์ ให้สรงน้ำพระ ผู้เฒ่าผู้แก่
  • เดือนหก บุญบั้งไฟ บูชาพญาแถน ตามความเชื่อเดิม และบุญวิสาขบูชา ตามความเชื่อของชาวพุทธ
  • เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ) ให้บนบานพระภูมิเจ้าที่ เลี้ยงผีปู่ตา
  • เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
  • เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำบุญเช่นเดือนเก้ารวมให้ผีไม่มีญาติ (ภาคใต้มีพิธีคล้ายกัน คือ งานพิธีเดือนสิบ ทำบุญให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แบ่งข้าวปลาอาหารส่วนหนึ่งให้แก่ผีไม่มีญาติ พวกเด็ก ๆ ชอบแย่งกันเอาของที่แบ่งให้ผีไม่มีญาติหรือเปรต เรียกว่า “การชิงเปรต”)
  • เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
  • เดือนสิบสอง บุญกฐิน จัดงานกฐินและลอยกระทง

ความคิดและการแสดงออก
การทำมาหากิน
การอยู่ร่วมกันในสังคม
ระบบคุณค่า
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสังคมปัจจุบัน

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

» เงิน
ระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของหรือการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า ต่อมาได้ใช้สิ่งของเป็นสื่อ เช่น เปลือกหอย ผ้าขนสัตว์ หนังสัตว์ เกลือ ใบชา ใบยาสูบ

» ปรมนุตรสุญญตา
ว่างหมด คือ ปรมนุตรสุญญตา อะไรว่างหมด กาย ว่างหมด เวทนา ว่างหมด จิต ว่างหมด ธรรมชาติ ว่างหมด

» กฎบัตรสหประชาชาติ
บรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งเจตน์จำนง ที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจากภัยพิบัติแห่งสงคราม ซึ่งได้นำความวิปโยคอย่างสุดจะพรรณามาสู่มนุษย์ชาติในชั่วชีวิต

» กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
ไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร

» เพลงพื้นบ้าน
เพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกันไป

» วิถีโลก
เพื่อให้สามารถนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจการเมืองและการปกครองของสังคมไทยและโลก ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้

» ประเทศไทยในอดีต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หลายเรื่องเป็นเรื่องที่น่าจะได้ทราบไว้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่น ๆ