ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พระธาตุเชิงชุม
พระธาตุเชิงชุม ประดิษฐานอยู่บนเนินสูง ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ริมหนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน มาทางดินแดนทางทิศตะวันออก เพื่อโปรดสัตว์ เมื่อเสด็จตามลำแม่น้ำโขง ก็ได้ประทับรอยพระพุทธบาทมาตามลำดับ มีพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา แล้วมาพักฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้า อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม
จากนั้นได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ และได้ประทับพระพุทธบาทที่ภูเขาน้ำลอดเชิงชุม รวมกับพระพุทธบาทของอดีตพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอีก 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามกกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมะ และพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ
เมื่อพระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จออกต้อนรับ พร้อมทั้งพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์ให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น จึงทรงแสดงปาฏิหารย์บันดาลให้มีดวงมณีรัตน์มีรัศมี พวยพุ่งออกจากพระโอษฐ์พร้อมกันสามดวง พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ก็บังเกิดศรัทธา เปล่งวาจาสาธุการด้วยความปิติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ณ ที่นี้เป็นสถานที่อันอุดมประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์จะได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นที่สักการะแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ บังเกิดความปิติโสมนัส จึงได้ถอดมงกุฎทองคำของพระองค์ สวมลงบูชารอยพระพุทธบาท แล้วทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงได้ชื่อว่าพระธาตุเชิงชุมแต่นั้นมา เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมของพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์
พระธาตุเชิงชุม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง ส่วนที่เห็นอยู่ปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ครอบองค์เดิมไว้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างสมัยใด ประตูด้านทิศตะวันออกที่เชื่อมต่อกับพระวิหาร จะมีซุ้มเป็นคูหาลึกเข้าไป ด้านขวามือมีศิลาแลง จารึกอักษรขอมติดอยู่ ตัวอักษรลบเลือนมาก อ่านไม่ออก
พระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้องไม้แบบเดิม หันหน้าไปทางทิศใต้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น
ภายในพระวิหารประดิษยฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
พระปฐมเจดีย์
พระบรมธาตุดอยสุเทพ
พระบรมธาตุดอยตุง
พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุพนม
พระธาตุเชิงชุม
พระธาตุนารายณ์เจงเวง
พระบรมธาตุขามแก่น
พระธาตุบังพวน
พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุช่อแฮ
พระบรมธาตุเมืองนคร
พระธาตุไชยา