ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัด » กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ภาคเหนือ(3)
ระยะแรกเมืองเชียงใหม่ยังไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง หลังจากที่พระเจ้ามังรายสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าชัยสงครามราชโอรส ได้ครองราชย์สืบมา และประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เพียงยงสี่เดือน ก็เสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย ส่วนเมืองเชียงใหม่ทรงมอบให้พระเจ้าแสนภู ราชโอรส ปกครองแทน เมื่อพระเจ้าชัยสงครามสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงราย พระเจ้าแสนภูได้ขึ้นครอง ราชสมบัติแทน พระเจ้าแสนภูทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าคำฟู ราชโอรส ครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปประทับที่เมืองเชียงราย และต่อมาทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นเมืองหิรัญนครเงินยางเดิม เมื่อสร้างเมืองเชียงแสนแล้วศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาได้เลื่อนมาอยู่ที่เมืองเชียงแสนแทน หลังจากนั้นพระเจ้าแสนภู ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองเชียงแสนได้กลายเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
เมื่อพระเจ้าแสนภูสิ้นพระชนม์ พระเจ้าคำฟูได้ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าคำฟูทรงมอบให้ พระเจ้าผายูราชโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนและได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองน่าน ยกทัพไปตีเมืองพะเยาและสามารถรวมแคว้นพะเยาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้ เมือพระเจ้าคำฟูสิ้นพระชนม์ พระเจ้าผายูได้สืบราชสมบัติแทน แต่ไม่ได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเชียงแสน คงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ดังนั้น เมืองเชียงใหม่จึงได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลาง ของราชอาณาจักรอีกครั้งและนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง และกษัตริย์ล้านนาในลำดับต่อๆมา จะประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แทบทุกพระองค์
สมัยพระเจ้ากือนา ขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. 1898 พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ ได้เข้ามาสู่ดินแดนล้านนา เนื่องจากพระเจ้ากือนา ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย มาเผยแพร่ พระศาสนาในเมืองเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา พระสุมนเถระนั้นถือได้ว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการวางรากฐานพระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ในล้านนา การเข้ามาของพระพุทธศาสนา จากแค้วนสุโขทัยทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับสุโขทัย
เมื่อสิ้นพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าแสนเมืองมา ราชบุตร ของพระเจ้ากือนา ครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1928-1944 เมือขึ้นครองราชย์มีอายุเพียง 14 พรรษา ในเวลานั้นเจ้ามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นพระมาตุลาของพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ยกกองทัพมาเมืองเชียงใหม่เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ แต่ถูกกองทัพเมืองเชียงใหม่ตีพ่ายไป เจ้ามหาพรหมเสด็จไปขอความช่วยเหลือจาก สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา
ใน พ.ศ. 1929 กรุงศรีอยุธยาจึงได้ยกกองทัพ มาตีเมืองเขลางค์นครแต่ถูกตีพ่ายกลับไป ไม่นานเจ้ามหาพรหม มาขอพระราชทานอภัยโทษและ ได้อันเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากเมืองกำแพงเพชรมาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย ซึ่งก็โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดลีเชียงพระ หรือวัดพระสิงห์ในปัจจุบัน ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ยกกองทัพไปตีเมืองสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการศึกในครั้งนี้จะเป็นชนวนให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
เมื่อถึงสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนราชโอรสของพระเจ้าแสนเมืองมา ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 1945-1984 เป็นช่วงเวลาที่มีศึกสงครามทั้งทางเหนือและใต้ ท้าวยี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพระเชษฐาของ พระเจ้าสามฝั่งแกนไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้นครองราชย์ จึงขอกองทัพจากสุโขทัยไปช่วยรบแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพสุโขทัยพ่ายแพ้กลับไป เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน คือ การเข้ามาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายใหม่หรือสายสิงหล ทำให้ดินแดนล้านนามีพระพุทธศาสนา 3 คณะคือ คณะพื้นเมืองเดิมจากเมืองหริภุญไชย คณะรามัญหรือลังกาวงศ์สายเก่า และคณะสิงหลหรือลังกาวงศ์สายใหม่
พ.ศ. 1984 เจ้าชายลก โอรสองค์ที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าสามฝั่งแกน มีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช หรือ สิริธรรมจักวรรดิติโลกราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงสามารถขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทางทิศใต้และทิศตะวันออก สามารถยึดเมืองน่านและเมืองแพร่ได้ ด้านทิศตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐชาน หรือ ไทใหญ่ ได้ เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เป็นต้น ด้านเหนือได้เมืองเชียงรุ้ง การที่ได้ เมืองแพร่ เมืองน่าน ถือได้ว่าเป็นการรวบรวม อาณาจักรล้านนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนปรากฏถึงทุกวันนี้ และใช้เวลาในการรวมดินแดนล้านนาถึง 150 ปีเศษ
การที่ได้เมืองแพร่ เมืองน่านนี้ นอกจากจะได้แหล่งเกลือที่มีค่าแล้วยังได้ช่องทางใหม่ที่จะลงไปทางใต้อีกสองช่องทางคือทางลำน้ำยม และลำน้ำน่าน ทำให้เกิดการแย่งเมืองสุโขทัย ขึ้นกับพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ทำสงครามระหว่างล้านนากับกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นทำให้ ล้านนา อ่อนกำลังลงมากเนื่องจากเสียรี้พลในการทำศึกสงคราม สาเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ พม่ายึดครอง ล้านนา ได้ในเวลาต่อมา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทำการ สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งสำคัญเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร หรือวัดเจ็ดยอด ทรงสร้างวัดและ ปูชนียสถาน หลายแห่ง เช่นองค์พระเจดีย์หลวง วัดป่าแดงหลวง วัดโพธารามมหาวิหาร
พระเจ้ายอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช ได้ครองราชย์ ต่อจากพระเจ้าติโลกราช ในระหว่าง พ.ศ. 2030 2038 ต่อมาได้ถูกบรรดาขุนนางปลดออกด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่ได้ทำความเจริญให้แก่บ้านเมือง และได้อภิเษก พระเจ้าเมืองแก้ว ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
ในสมัยของพระเจ้าเมืองแก้วขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2038 2064 ถือได้ว่า เป็นยุครุ่งเรือง สูงสุดของอาณาจักรล้านนา อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่า จะมีการทำศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอยู่บ้าง โดยลงไปตีเมืองสุโขทัย และบางครั้งได้เลยไปตีถึงเมืองกำแพงเพชร และเชลียง