วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
และผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มเกิดขึ้นแล้วจริงหรือ
ภัยพิบัติจากธรรมชาติทั่วโลกทำให้สื่อต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มแสวงหาความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้สาธารณชนรับรู้ ในประเทศไทยนั้นทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ได้เริ่มกระบวนการถ่ายทอดความรู้นี้แล้ว ดังตัวอย่างข้อความที่นำมาถ่ายทอด ณ ที่นี้
........พาเหรดพายุและน้ำท่วมที่ป่วนโลกอยู่ในตอนนี้ นอกจากความเสียหายระดับพระกาฬที่ทิ้งไว้ ยังแถมคำถามสำคัญมาให้ขบคิดด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นกับโลก
หรือคำทำนายบางอย่างจะเป็นจริง และโลกกำลังจะถึงจุดวิกฤติหรือไม่ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ(กรุงเทพธุรกิจ,วันพุธที่ 19 ต.ค. 2548) พาไปหาคำตอบตามหลักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้:-
- รศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวโทษมนุษย์ คือตัวการของหายนภัยดังกล่าว ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การบริโภคพลังงานและทรัพยากรโลกของมนุษย์ส่งผลให้เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ จนส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่เข้าขั้นวิกฤติ
- "พิบัติภัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนโดยตรง ประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลีกพ้นสภาวการณ์ดังกล่าวไปได้ จะเห็นได้ว่าบ้านเรามีแนวโน้มจะเกิดปริมาณฝนตกในฤดูลดลง หรือฤดูฝนสั้นลง ขณะที่ฤดูหนาวจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และจะเป็นฝนทิ้งช่วง ตกครั้งละมากๆ
- นอกจากนี้ โอกาสที่พายุโซนร้อนและไต้ฝุ่นจะเปลี่ยนทิศพัดเข้าสู่ประเทศไทยทางอ่าวไทยโดยตรงมากขึ้นด้วย จาก 3-5 ปีต่อลูก ก็จะเป็น 1-2 ปีต่อลูก ตามมาด้วยอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และกรุงเทพมหานคร"
นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ดังกล่าว อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นักสังคมศาสตร์ ได้กล่าวในบทความเรื่อง ภาวะฉุกเฉินของประชาชน ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (วันที่ 10 กรกฏาคม พ.ศ. 2549) ไว้ว่า
โศกนาฏกรรมทำนองนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกพื้นที่ซึ่งประสบภัยธรรมชาติ ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ น้ำท่วมใหญ่ที่บ้านกรูดเมื่อปีกลาย และน้ำท่วมใหญ่กับดินถล่มที่อุตรดิตถ์ในปีนี้, ฯลฯ ....................
บัดนี้ความเห็นทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างสอดคล้องกันแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลกทำให้อุบัติภัยทางธรรมชาติมีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ฉะนั้นสังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่ยุคภัยพิบัติระดับโลก โดยไม่มีวิธีจัดการกับผลของมันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ถึงเวลาที่เราควรคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าจะปรับปรุงความสามารถในภาครัฐและเอกชน เพื่อการบูรณะฟื้นฟูภัยพิบัติอย่างไร
ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างของความตระหนักที่ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักวิทยาศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์
โลกร้อน: ผลกระทบสะสมเชิงปฏิสัมพันธ์
หากจะกล่าวว่าผลกระทบของโลกร้อนที่คิดว่าเกิดขึ้นกับโลกของเราและประเทศของเราแล้วนี้ เป็นผลอันเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกจากประเทศอุตสาหกรรม จากการใช้พลังงานทั้งในเมืองและชนบท แต่เพียงมุมเดียวก็คงไม่ยุติธรรมสำหรับประเทศเหล่านั้นเท่าใดนัก ประเทศที่กำลังพัฒนาที่จะใช้ทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เป็นฐานในการพัฒนาก็ได้มีส่วนเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมดินของโลก และการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน จากการตัดไม้ทำลายป่าแล้วเผาเพื่อทำการเกษตร ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสทำให้พื้นที่นั้นกลับสู่สภาพเดิมได้อีก ดังนั้นภาวะโลกร้อนอันนี้ซึ่งเป็นลักษณะของผลกระทบแวดล้อมในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับทวีปและทั่วทั้งโลก อย่างมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมด ผลกระทบสะสมเชิงปฏิสัมพันธ์ได้มีมาตลอดและจะมีเพิ่มมากขึ้นตลอดไป
ผลกระทบที่พบเห็นได้ในขณะนี้ (Impacts Observable Now)
ในบทสรุปของรายงานก่อนจะเป็นฉบับสมบูรณ์ (Draft) ของ IPCC กลุ่ม 2 ในเรื่องของผลกระทบและการปรับตัวรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกซึ่งจะตีพิมพ์ออกเป็นทางการในปีหน้า (ค.ศ. 2007) ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจพอนำมาประมวลได้สั้น ๆ ดังนี้
- ลักษณะอากาศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบกายภาพ และชีวภาพ (physical and biological system)ที่ชัดเจนที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอันเกิดจาก GHG (High Confidence, HC หมายถึง ผู้ศึกษามีความมั่นใจในระดับสูง )
- ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้ส่งผลแล้วต่อ/กระบวนการทางอุทกวิทยา, ทรัพยากรน้ำ, มหาสมุทร, และ ชายฝั่งทะเล (HC)
- มีหลักฐานมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อระบบธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตบนบก (terrestrial natural biological systems) ระบบนิเวศมหาสมุทร และ แหล่งน้ำจืด (HC)
- ผลกระทบต่อการเกษตร และสุขภาพมนุษย์ก็พบบ้างแล้ว แต่ยังมีความมั่นใจในระดับปานกลาง เนื่องจากมีการปรับตัวรองรับเรื่องนี้กันบ้างแล้ว (Medium Confidence, MCหมายถึง ผู้ศึกษามีความมั่นใจในระดับปานกลาง)
รายละเอียดในเรื่องนี้คงจะต้องรอรายงานฉบับสมบูรณ์ของ IPCC Forth Assessment Report-Climate Change 2007: Climate Change Impacts, Adaptation and Vulnerability ยังคาดว่าจะออกมาในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้าบทสรุปข้างบนนี้ Ramachandran (2001) ได้นำผลการศึกษาจากรายงานของคณะกรรมการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างชาติ (IPCC) ในปีก่อนหน้านี้มาเสนอไว้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้พัฒนาตลอดมาได้ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อลักษณะทางอุตุ-อุทกวิทยาทั้งโลกโดยทั่วไปซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้:
- ระหว่างช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาปริมาณฝน หิมะ และ น้ำจากท้องฟ้ารูปแบบอื่นๆ(precipitation) ของพื้นที่ ที่อยู่ในเขตอบอุ่นตั้งแต่ ณ ที่เส้นรุ้งระดับกลาง- สูงของซีกโลกเหนือ (mid- and high-latitudes of the NH continents) ได้เพิ่มขึ้น 0.5-1.0 เปอร์เซ็นต์ต่อทศวรรษ เหตุการณ์ที่มีปริมาณฝนและหิมะที่ตกหนักมาก ๆ ( heavy rainfall events) ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2- 4 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณความชื้นในบรรยากาศ การเพิ่มขึ้นของฝนแบบฟ้าคะนอง (thunderstorm activity) และ พายุฝนที่กินบริเวณกว้าง (large-scale storm activity) ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การร้อนขึ้นของโลก
อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่ในเขตกึ่งร้อน (Sub-tropical) ของซีกโลกเหนือ (ระหว่างเส้นรุ้ง10oเหนือ-30o เหนือ), ปริมาณของฝนอาจจะลดลงประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อทศวรรษ
สำหรับในภูมิภาคเขตร้อน (ระหว่างเส้นรุ้ง10oเหนือ -10oใต้) ปริมาณฝนได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 0.2-0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อทศวรรษ ในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ตรวจวัดได้ในภูมิภาคนี้จะเห็นได้ว่า ข้อสรุปของ IPCC นั้นในหลายกรณีด้วยกันก็ยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เป็นจริงในบางภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะผลที่ได้จากการใช้แบบจำลองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปอย่างที่ IPCC สรุปไว้
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มเกิดขึ้นแล้วจริงหรือ
ผลสรุปจากการศึกษาในภูมิภาคเอเชียเพื่อการบริหารจัดการ
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนกับระบบนิเวศในทวีปเอเชีย
สัญญาณบ่งบอกผลกระทบของโลกร้อนในประเทศไทย
ผลกระทบที่เชื่อมโยงทั้งระบบ
ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล
องค์ความรู้ในปัจจุบันเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
บทสรุป
อ้างอิง