ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
อ่านใจธรรมชาติ
เหตุของการปฏิบัติ
การภาวนา หมายความว่า ให้คิดดูให้ชัดๆ
พยายามอย่ารีบร้อนเกินไป อย่าช้าเกินไป ค่อยทำค่อยไป
แต่ให้มีวิธีการและจุดหมายในการปฏิบัติภาวนานั้น
ทุกคนที่ออกมาปฏิบัตินั้น ก็ออกมาด้วย ความอยาก กันทั้งนั้น มันมีความอยาก
แต่ความอยากนี้ บางทีมันก็ปนกับความหลง ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา
ความอยากอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นบารมีของตน แต่ไม่ใช่ทุกคนนะที่มีปัญญา
บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก
เพราะเข้าใจว่าการมาปฏิบัติก็เพื่อระงับความอยาก ความจริงน่ะ
ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ลองพิจารณาดูก็ได้
ทุกคน แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราก็ตาม ที่ท่านออกมาปฏิบัติ
ก็เพื่อจะให้บรรเทากิเลสทั้งหลายนั้น
แต่ว่ามันต้องอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากให้มันสงบ และก็ไม่อยากให้มันวุ่นวาย ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีความฉลาดในการกระทำอย่างนั้น เพราะว่ามันปนกันอยู่ อยากทั้งสองอย่างนี้ มันมีราคาเท่าๆกัน
อยากจะพ้นทุกข์ มันเป็นกิเลส สำหรับคนไม่มีปัญญา อยากด้วยความโง่ ไม่อยากมันก็เป็นกิเลสเพราะไม่อยากอันนั้น มันประกอบด้วยความโง่เหมือนกันคือ ทั้งอยาก ไม่อยาก ปัญญาก็ไม่มี ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธองค์ของเรา ขณะที่พระองค์กำลังทรงปฏิบัติอยู่นั้น ท่านก็หลงในอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านหาอุบายหลายประการ กว่าจะพบของสองสิ่งนี้
ทุกวันนี้
เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทั้งสองอย่างนี้ มันกวนอยู่
เราจึงเข้าสู่ทางไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ความเป็นจริงนี้ ทุกคนที่มาปฏิบัติ
ก็เป็นปุถุชนมาทั้งนั้นปุถุชนก็เต็มไปด้วยความอยาก
ความอยากที่ไม่มีปัญญาอยากด้วยความหลง ไม่อยากมันก็มีโทษเหมือนกัน ไม่อยาก
มันก็เป็นตัณหา อยาก มันก็เป็นตัณหาอีกเหมือนกัน
ทีนี้ นักปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องว่า จะเอายังไงกัน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ถูก เดินกลับไปข้างหลังก็ไม่ถูก จะหยุดก็ไม่หยุดไม่ได้ เพราะมันยังอยากอยู่ มันยังหลงอยู่ มีแต่ความอยาก แต่ปัญญาไม่มีมันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหา ถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เพราะอะไร? เพราะมันขาดปัญญา
ความเป็นจริงนั้น ธรรมะนั้นอยู่ตรงนั้นแหละตรงความอยากกับความไม่อยากนั่นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้อยากบ้าง เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจริงทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้ มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่คนละตัว แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน
พระพุทธเจ้าของเรา และสาวกทั้งหลายของพระองค์นั้น ท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ อยาก ของท่านนั้นเป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ หรือ ไม่อยาก ของท่านก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ อีกเหมือนกัน มันวูบเดียวเท่านั้น ก็หายไปแล้ว
ดังนั้นความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้มีปัญญานั้น อยาก ก็ไม่มีอุปาทาน ไม่อยาก ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น สักแต่ว่า อยากหรือไม่อยากนั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นแต่อาการของจิต อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเรามาตะครุบมันอยู่ที่ใกล้ๆ นี่ มันก็เห็นชัด
ดังนั้น
จึงว่าการพิจารณานั้น ไม่ใช่รู้ไปที่อื่นมันรู้ตรงนี้แหละ
เหมือนชาวประมงที่ออกไปทอดแหนั่นแหละทอดแหออกไปถูกปลาตัวใหญ่
เจ้าของผู้ทอดแหจะคิดอย่างไร? ก็กลัว กลัวปลาจะออกจากแหไปเสีย
เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจมันก็ดิ้นรนขึ้น ระวังมาก บังคับมาก
ตะครุบไปตะครุบมาอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวปลามันก็ออกจากแหไปเสีย
เพราะไปตะครุบมันแรงเกินไปอย่างนั้นโบราณท่านพูดถึงเรื่องอันนี้
ท่านว่าค่อยๆทำมัน แต่อย่าไปห่างจากมัน นี่คือปฏิปทาของเรา ค่อยๆ
คลำมันไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละอย่าปล่อยมัน หรือไม่อยากรู้มัน ต้องรู้ ต้องรู้
เรื่องของมัน พยายามทำมันไปเรื่อยๆ ให้เป็นปฏิปทาขี้เกียจเราก็ทำ
ไม่ขี้เกียจเราก็ทำ เรียกว่า การทำการปฏิบัติ ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้
ถ้าหากว่าเราขยัน ขยันเพราะความเชื่อ มันมีศรัทธา แต่ปัญญาไม่มี
ถ้าเป็นอย่างนี้ ขยันไปๆ แล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมากมาย ขยันไปนานๆเข้า
แต่มันไม่ถูกทาง มันก็ไม่สงบระงับ ทีนี้ก็จะเกิดความคิดว่า
เรานี้บุญน้อยหรือวาสนาน้อย หรือคิดไปว่า มนุษย์ในโลกนี้คงทำไม่ได้หรอก
แล้วก็เลยหยุด เลิกทำ เลิกปฏิบัติ
หน้าถัดไป >>
การปล่อยวาง
จิตที่ตื่นรู้
ตามดูจิต
สมถวิปัสสนา
บัว 4 เหล่า
ธาตุ 4
มรรค 8
ทางพ้นทุกข์
บ้านที่แท้จริง
ฝึกจิตให้มีกำลัง
ตุจโฉโปฏฐิละ
การทำจิตให้สงบ
อ่านใจธรรมชาติ
สองหน้าของสัจธรรม
ทางสายกลาง
ธรรมะกับธรรมชาติ
นอกเหตุเหนือผล
อยู่กับงูเห่า
ภาวนาพุทโธ
อยู่เพื่ออะไร
อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย
ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย
ปลาไม่เห็นน้ำ
สงบจิตได้ปัญญา
สมาธิภาวนา
ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย