ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
สมาธิภาวนา
2การกระทำนี้ให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำด้วยการปล่อยวาง แต่มีความรู้สึกอยู่ ให้มีความรู้สึกอยู่ในการปล่อยวาง ลมหายใจเข้าออกสบาย ไม่ให้กดดันปล่อยตามธรรมชาติให้มันสบาย ให้คิดว่าธุระหน้าที่อย่างอื่นของเราไม่มี ความคิดที่ว่า การนั่งอย่างนี้มันจะเป็นอะไร แล้วมันจะเห็นอะไร อย่างนี้จะเกิดขึ้นมา ก็ให้หยุดหยุด ไม่เอา มันจะเป็นอะไร จะรู้อะไร มันจะเห็นอะไรไหม แม้ความคิดเช่นนี้มันจะเกิดขึ้นมาในเวลานั้นก็ตาม ที เมื่อ เรานั่งอยู่นั่นไม่ต้องรับรู้อารมณ์ เมื่ออารมณ์ที่มากระทบกระทั่ง รู้สึกเมื่อไหร่ รู้สึกในจิตของเราแล้วปล่อยมันไป มันจะดีจะชั่ว ก็ช่างมัน ในเวลานั้นไม่ใช่ธุระหน้าที่ของ เราจะไปจัด แจ้งในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ปล่อยมันออกไปเสียก่อน แล้วกำหนดลมเอาคืนมา ให้มีความรู้สึกแต่ลมอย่างเดียวเข้าออกแล้วให้มันสบาย อย่าให้มันทุกข์ เพราะมันสั้นทุกข์เพราะมันยาว อย่าให้มันทุกข์ ดูลมหายใจอย่าให้มีความกดดัน คืออย่ายึดมั่น รู้แล้วให้ปล่อยตามสภาวะของมันอย่างนั้น ให้ถึงความสงบ ต่อไปจิตมันก็จะว่าง ลมหายใจมันก็จะเบา เบาไป ผลที่สุดลมหายใจมันจะน้อยไป น้อยไป จนกระทั่งปรากฏว่ามันไม่มีลม ในเวลานั้นจิตมันก็จะเบากายมันก็จะเบา การเหน็ดเหนื่อยเลิกหมดแล้วมีเหลือความรู้อันเดียวอยู่อย่างนั้น นั่นเรียกว่าจิตมันเปลี่ยนไปหาความสงบแล้ว นี่พูดถึงการกระทำในเวลาเรานั่งสมาธิอย่างเดียว
ถ้าหากว่าจิตใจมันวุ่นวายมากก็ ตั้งสติขึ้นสูดลมเข้า ให้มันมาก จนไม่มีที่เก็บ แล้วก็ปล่อยให้มันหมดจนกว่าที่มันไม่มีในนี้แล้ว ก็หายใจเข้ามาอีกสูดให้มันเต็มที่แล้วก็ปล่อยไปสามครั้ง ตั้งจิตใหม่มีความสงบขึ้น ถ้ามีอารมณ์วุ่นวายอีกก็ทำอย่างนี้อีกทุกครั้ง จะเดินจงกรมก็ตาม จะนั่งสมาธิก็ตามถ้าเดินจงกรมมันวุ่นวายมากก็หยุดนิ่ง กำหนดให้ลงในที่สงบ ตั้งใหม่ให้รู้ จิตจึงจะเกาะ แล้วก็เดินต่อไปนั่งสมาธิก็เหมือนกันอย่างนั้น เดินจงกรมก็เหมือนกันอย่างนั้น มันต่างกันแต่อิริยาบถนั่งกับอิริยาบถเดิน เท่านั้น
บางทีความสงสัยก็มีบ้าง ต้องให้มีสติ มีผู้รู้ที่มันวุ่นวายเป็นอย่างๆก็ติดตามอยู่เสมอ อาการนี่เรียกว่ามีสติ สติตามดูจิต จิตเป็นผู้รู้อาการที่ตามดูจิตของเรานั้นอยู่ในลักษณะอันใด ก็ให้เรารู้อย่างนั้นอย่า เผลอไป
อันนี้เป็นเรื่องสติกับจิตควบคุม พอถึงกันแล้วก็จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง
ถ้าจิตมันพอที่จะสงบแล้วจิตที่มันถูกคุมขังอยู่ในที่สงบ
เหมือนกับเรามีไก่ตัวหนึ่งที่ใส่ไว้ในกรงนั้น
ไก่ที่อยู่ในกรงนั้นมันไม่ออกไปจากกรง แต่ว่ามันเดินไปเดินมาได้ในกรงนั้น
อาการที่มันเดินไปเดินมานี้ไม่เป็นอะไร เพราะมันเดินไปเดินมาอยู่ในกรง
ความรู้สึกของจิตที่
เรามีสติสงบอยู่นั้นมีความรู้สึกในที่สงบนั้น
ไม่ใช่เรื่องที่มันให้เราวุ่นวายคือเมื่อมันคิดมันรู้สึก
ให้มันรู้สึกอยู่ด้วยความสงบไม่ เป็น อะไร
บางคนเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมา ก็ไม่ให้มันมีความรู้สึกอะไร อย่างนี้ก็ผิดไป ไม่ได้ความรู้สึกอยู่ในที่สงบ รู้สึกอยู่ด้วยความสงบ รู้สึกอยู่ก็ไม่รำคาญนี่สงบอยู่อย่างนี้ไม่เป็นไร ตัวที่มันสำคัญก็คือตัวที่มันออกจากกรงไป เช่นว่า เรามีลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ลืมไป ลมหายใจไปเที่ยวในบ้าน ไปเที่ยวในตลาดไปเที่ยวโน้น สารพัดอย่าง บางทีครึ่งชั่วโมงถึงมา อ้าวอะไร ตายไม่รู้เรื่อง นี่ตัวสำคัญ ระวังให้ดี ตัวนี้ตัวสำคัญมันออกจากกรงไปแล้วนี่ มันออกจากความสงบแล้วนี่
ต้องระวัง ต้องให้มีสติมารู้ ต้องพยายามดึงมันมาที่ว่าดึงมันมานี่ก็คือไม่ใช่ดึงหรอก มันไม่ไปที่ไหนหรอกคือเปลี่ยนความรู้สึกเท่านั้นเอง ให้มันอยู่ที่นี้ มันก็มีอยู่ที่นี้มีสติที่นี้เมื่อไหร่ก็มีอยู่ที่นี่ แต่สมมติว่าดึงมันมามันไม่ได้ไปที่ไหนหรอก มันเปลี่ยนแปลงอยู่ที่จิตเรานี้ที่สังเกตว่ามันไปโน่นไปนี่ ความเป็นจริงมันไม่ได้ไปมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงนี้ มันมีสติพรึบเข้ามา แล้วมันก็มาทันที มันไม่มาจากอะไร มันรู้สึกอยู่ที่นี้เองให้เข้าใจอย่างนั้น
อันนี้เรื่องจิต จิตเราที่อยู่มีอะไรเป็นเครื่องหมายไหม คือ มีความรู้บริบูรณ์ ติดต่อกันไม่ได้ขาด รู้ตลอดเวลา ในเวลานั้นเรียกว่าจิตของเราอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไม่รู้ลมอะไร มันไปที่ไหน นั่นเรียกว่าขาด ถ้าหากรู้ว่าเมื่อไรมีลมก็มีจิต มีลม มีความรู้สึก สม่ำเสมอนี้ตัวเดียวอันนั้นน่ะอยู่กับเราแล้ว อันนี้พูดถึงอาการจิต มันจะต้องเป็นอย่างนี้
มันจะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ สติคือระลึกได้สัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ เดี๋ยวนี้รู้ตัวกับอะไร กับลมอยู่อย่างนี้ทำช่วยกันมีสติมีสัมปชัญญะปรากฏ ที่มันแบ่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวอยู่ มันจะเป็นคล้ายๆกับคนที่แยกไม้ ยกวัตถุที่มันหนักๆ อยู่สองคนมันหนักจนจะทนไม่ไหวอยู่อย่างนี้ จะมีคนที่มีเมตตาคือปัญญามองเห็น ปัญญาก็วิ่งเข้ามาช่วยนี่อย่างนี้มีสติมีสัมปชัญญะรู้อยู่ แล้วก็ปัญญาเกิดขึ้นมา ตรงนี้ช่วยกันมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาช่วยกันอย่างนี้ เมื่อมีปัญญาเข้ามาช่วย มันจะรู้จักอารมณ์ เช่นมานั่ง อาการจิตมันมีสติ มีสัมปชัญญะ แล้วก็มีปัญญาอารมณ์ผ่านเข้ามา มันเกิดความรู้สึก คิดถึงเพื่อนไม่ใช่ช่างมัน หยุด เลิก พรุ่งนี้เราจะไปโน้น อือ เลิกไม่เอา ตอนนี้ก็คิดถึงคนอื่น เอ้อไม่ใช่ เออ ไม่เอาไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ปล่อยมันทั้งนั้น ไม่เอาอย่ามายุ่งเลย ไม่แน่นอน ของไม่ แน่นอน ทำสมาธิอยู่มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่แน่ไม่แน่ ทำสมาธิอยู่มันจะรู้อย่างนี้ ให้เลิกคิด เลิกพูดเลิกสงสัย เลิกหมดอย่าเอามากวนในเวลานั้น ถ้ามันเลิกหมดแล้วมันจะเหลือแต่เพียงสติ สัมปชัญญะกับปัญญาล้วนๆถ้าหากว่ามันอ่อนเมื่อไร มันก็เกิดความสงสัยขึ้นมา เลิกๆๆ ให้เหลือแต่เพียงสติสัมปชัญญะกับปัญญาเท่านั้นพยายามให้มีสติที่สุดอย่างนี้ ทำอย่างนี้เรื่อย ๆไปจนตลอดเวลานั่นแหละ แล้วจะได้เห็นตัวสติเห็นสัมปชัญญะ แล้วก็เห็นปัญญา แล้วก็เห็นตัวสมาธิเห็นครบไปหมดทุกอย่าง
เมื่อเราเพิ่งเข้าไปตรงนั้น สติเราก็จะเห็นได้สัมปชัญญะเราก็จะเห็นได้ สมาธิเราก็จะเห็นได้ปัญญาก็จะเห็นได้ ครบในที่นั่นเลย มีอารมณ์จรมาข้างนอก เราจะชอบใจก็ตามเถอะว่า เออ ไม่แน่"ไม่ชอบใจก็อือ ไม่แน่ มันเป็นนิวรณ์ทั้งนั้น สิ่งทั้งหลายให้กวาดให้มันเตียนหมด ให้เหลือแต่สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้สึกตัว สมาธิความตั้งใจมั่น ปัญญารอบรู้ ให้เข้าใจอย่างนี้ อันนี้พูดถึงการกระทำ แล้วจบแค่นี้ก่อนนะ
การปล่อยวาง
จิตที่ตื่นรู้
ตามดูจิต
สมถวิปัสสนา
บัว 4 เหล่า
ธาตุ 4
มรรค 8
ทางพ้นทุกข์
บ้านที่แท้จริง
ฝึกจิตให้มีกำลัง
ตุจโฉโปฏฐิละ
การทำจิตให้สงบ
อ่านใจธรรมชาติ
สองหน้าของสัจธรรม
ทางสายกลาง
ธรรมะกับธรรมชาติ
นอกเหตุเหนือผล
อยู่กับงูเห่า
ภาวนาพุทโธ
อยู่เพื่ออะไร
อยากเกิดแต่ไม่อยากตาย
ไม่มีอะไรได้ไม่มีอะไรเสีย
ปลาไม่เห็นน้ำ
สงบจิตได้ปัญญา
สมาธิภาวนา
ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย