ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

 

ตอนที่ 8

ความพยายามก่อนตรัสรู้ 

      ในประเทศอินเดียสมัยนั้น ก็มีศาสดาผู้สอนลัทธิต่างๆ ในทางศาสนาให้แก่ศิษย์ของตนๆ มากมายหลายลัทธิหลายสำนัก เช่นเดียวกับในสมัยนี้ในบรรดาเจ้าลัทธิเหล่านี้ มีศาสดาคนหนึ่ง มีนามว่า อาฬาระ กาลามะ พระสิทธัตถะได้เสด็จไปสำนักของศาสดาผู้นี้ เพื่อศึกษาในลัทธิของท่าน พระองค์ได้ทรงศึกษาอยู่กับท่านอาฬาระ กาลามะ ด้วยความพากเพียรพยายามจนสามารถเรียนรู้และกระทำได้ทุกๆ อย่างเหมือนดังที่อาจารย์รู้และกระทำได้
       ท่านอาฬาระ กาลามะ มีความพอใจในพระองค์และในความสามารถของพระองค์ จนถึงกับวันหนึ่ง ได้กล่าวแก่พระองค์ว่า “บัดนี้ ท่านรู้ทุกๆ สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้ ท่านสามารถสั่งสอนลัทธินี้ได้เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าสอน ข้าพเจ้าเห็นอย่างใด ท่านเห็นอย่างนั้น ท่านเห็นอย่างใด ข้าพเจ้าเห็นอย่างนั้น ในระหว่างเราทั้งสอง ไม่มีความแตกต่างกันเลย จงอยู่ที่นี่ด้วยกัน ช่วยกันสั่งสอนศิษย์สืบไปเถิด”
       พระองค์ได้ตรัสถามว่า “ท่านอาจารย์ไม่มีสิ่งใดที่สอนข้าพเจ้าได้อีกแล้วหรือ  ท่านอาจารย์ไม่สามารถสอนวิธีที่จะทำให้มีอำนาจเหนือความเป็นอยู่ ความเจ็บไข้ และความตายเสียแล้วหรือ ” ท่านอาจารย์อาฬาระ กาลามะ ได้ตอบว่า “ไม่มีเลย ข้าพเจ้าไม่ทราบวิธีการทำให้อยู่เหนืออำนาจของความเป็นอยู่ และความตาย แล้วจะสามารถสอนท่านได้อย่างไรกัน ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีผู้ใดในโลกนี้ มีความรู้ในข้อนั้น”
       ท่านอาฬาระ กาลามะ มีความรู้เท่าที่ท่านได้สอนพระสิทธัตถะไปจนสิ้นเชิงแล้ว คือวิธีกระทำจิตให้ขึ้นถึงขั้นที่สงบเงียบ จนไม่มีความรู้สึกว่า มีสิ่งใดๆ อยู่ในโลกนี้หรือโลกไหน แล้วมีความพอใจอยู่ในความสงบอันนั้น แต่นี่หาใช่เป็นวิธีที่จะช่วยมนุษย์ให้พ้นไปจากการที่ต้องวนเวียนอยู่ในความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ไม่ ยังจะต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์เหล่านี้ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด ดั่งนั้นพระสิทธัตถะจึงไม่ทรงพอพระทัยในลัทธินี้ ได้เสด็จท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เพื่อทรงเสาะแสวงหาบุคคลที่สามารถสอนให้พระองค์ได้ทราบสิ่งที่สูงยิ่งไปกว่าที่ท่านอาฬาระ กาลามะได้สอนให้สืบไป
       ในลำดับต่อมา พระองค์ได้ทราบข่าวเจ้าลัทธิชื่อ อุทกะ รามบุตร ว่าเป็นผู้มีความรู้และคุณวิเศษในทางจิตอันสูงยิ่ง พระองค์ได้เสด็จไปสู่สำนักของท่านอุทกะ รามบุตรผู้นี้ และได้เข้าเป็นศิษย์ศึกษาและปฏิบัติ ด้วยความพากเพียรอย่างแรงกล้า จนกระทั่งมีความรู้และความสามารถในการกระทำเช่นเดียวกับอาจารย์ของพระองค์ในที่สุด ท่านอุทกะ รามบุตร ก็เช่นเดยวกับท่านอาฬาระ กาลามะ คือมีความพอใจในความเฉลียวฉลาด และความสามารถของพระสิทธัตถะอย่างแรง จนถึงกับออกปากชักชวนให้อยู่ช่วยสั่งสอนศิษย์ร่วมกันสืบไป
       พระสิทธัตถะได้ทรงย้อนถามท่านอุทกะ รามบุตร เช่นเดียวกับที่ได้ทรงถามท่านอาฬาระ กาลามะ และก็ได้รับคำตอบอย่างเดียวกัน พระสิทธัตถะไม่ทรงพอพระทัยในลัทธิ ซึ่งสอนให้ได้ผลอย่างสูง เพียงแต่ทำจิตให้มีความสงบ ถึงขนาดที่ไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวง จนถึงกับจะเรียกว่า มีชีวิตอยู่ก็ไม่ใช่ ตายแล้วก็ไม่ใช่ ของท่านอาจารย์ผู้นี้ จึงได้ทรงลาจากสำนักนั้นไป และทรงตั้งพระทัยว่า จักเลิกการเสาะแสวงหาวิชาความรู้จากสำนักเจ้าลัทธิต่างๆ แต่จักทรงหาเอาตามลำพังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง
       ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ก็เหมือนกับประเทศอินเดียในสมัยนี้ ในการที่มีนักบวชจำนวนมาก สละบ้านเรือนออกไปบวช โดยพากันคิดว่า การอดอาหารและการทรมานกายโดยวิธีต่างๆ นั้น จักทำให้ตนได้รับความสุขในเทวโลกตลอดกาลนาน เขาเหล่านั้นเชื่อว่า เมื่อได้รับความทุกข์ในโลกนี้มากเพียงใด ก็ยิ่งมีความสุขในโลกหน้ามากขึ้นเพียงนั้น เขาเหล่านั้นมีความเชื่อเช่นนี้และปฏิบัติสืบๆ ตามกันมาอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
       ผู้บำเพ็ญพรตเหล่านั้น บางพวกได้ลดจำนวนอาหารที่ตนบริโภคลงวันละเล็กวันละน้อย ทุกวัน จนกระทั่งแทบไม่บริโภคอะไรเลย มีร่างกายเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก บางพวกปฏิบัติวิธีการยืนด้วยขาข้างเดียว จนขาข้างหนึ่งลีบตายไป บางพวกยืนยกมือข้างหนึ่งขึ้นชี้ไปบนอากาศตลอดเวลาจนกระทั่งแขนลีบตายไป เพราะไม่มีโลหิตขึ้นไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ บางพวกกำมือแน่นเสมอตลอดเวลาไม่ยอมคลาย จนกระทั่งเล็บมืองอก ทะลุฝ่ามือไปโผล่ทางหลังมือ บางพวกนอนบนหนามหรือบนแผ่นกระดาน ซึ่งเต็มไปด้วยเหล็กแหลม ที่ปลายตั้งชันขึ้นข้างบน ดั่งนี้เป็นต้น
       พระสิทธัตถะได้ทรงกระทำการทรมานพระองค์ โดยวิธีต่างๆ โดยทรงหวังว่าจักได้พบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความเจ็บปวดอันจะเกิดขึ้น แม้จะมากมายเพียงใด เมื่อพระองค์ไม่ได้ทรงประสพผลดีไปกว่าคนเหล่านั้น พระองค์ทรงดำริสืบไปว่า หากได้ประพฤติตบะทรมานร่างกายให้มากขึ้น จนเพียงพอแล้ว คงจะประสพความรู้ที่พระองค์ทรงประสงค์โดยแน่นอน
       ข้อความต่อไปนี้ เป็นการกล่าวถึงการกระทำของพระองค์ในครั้งนั้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาตรัสเล่าแก่พระมหาเถระชื่อสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกของพระองค์ในภายหลัง
       “ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติการกลั้นลมหายใจ จนกระทั่งเกิดเสียงบันลือลั่นในหูของเรา และมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในศีรษะราวกะว่าถูกแทงด้วยดาบหรือถูกหวดบนศีรษะด้วยแส้หนัง ตามเนื้อตัวนั้นเล่ารู้สึกเจ็บ เหมือนคนเอามีดคมมาแล่เถือเนื้อหนังเราทั่วทั้งตัว หรือเหมือนกับถูกจับโยนลงไปในกลุ่มถ่านเพลิง
       ดูก่อนสารีบุตร ต่อมา เราได้ประพฤติในความเป็นอยู่โดดเดี่ยว กลางคืนระหว่างวันดับและวันเพ็ญ เราได้เที่ยวไปผู้เดียวในที่เปลี่ยว อันเป็นที่ฝังศพ ตามระหว่างต้นไม้ใหญ่ๆ เราอยู่ที่นั่นตลอดคืน มีขนลุกชันไปทั้งตัว ทุกคราวที่ใบไม้หล่นลงมา เพราะลมพัดหรือนกบินมาจับต้นไม้ หรือเมื่อกวางหรือสัตว์อื่นวิ่งผ่านมาเราก็กลัวจนตัวสั่น เพราะไม่รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไร แต่เราไม่วิ่งหนี เราได้บังคับตัวเราให้ทนอยู่ที่นั่น ให้ผจญกับความกลัว และความสะดุ้งที่เราได้รับจนกระทั่งเราชนะความกลัวนั้น
       ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติการอดอาหารเป็นลำดับๆ ไป เราบริโภคอาหารวันหนึ่งเพียงครั้งเดียว แล้วบริโภคสองวันต่อครั้งหนึ่ง แล้วสามวันต่อครั้งหนึ่ง ดังนี้ เป็นลำดับไป จนกระทั่ง 15 วัน จึงบริโภคอาหารครั้งหนึ่ง บางคราวเราบริโภคแต่หญ้า บางคราวบริโภคแต่รากหญ้าแห้ง บางคราวบริโภคแต่ผลไม้ป่า รากไม้ ผักป่า เห็ด เมล็ดหญ้าป่า และมีบางคราวบริโภคสิ่งต่างๆ เท่าที่จะคว้ามาได้จากพื้นดินรอบๆ ตัวตรงที่เรานั่งนั้น เราปกปิดร่างกายของเราด้วยเศษผ้า ที่เขาทิ้งตามป่าช้า หรือกองขยะมูลฝอย บางคราวปกปิดร่างกายด้วยหนังสัตว์ที่ตายเองตามทุ่งนา บางคราวก็ปิดด้วยแผ่นหญ้าถักด้วยพวงขนนก ซึ่งเราพบเรี่ยราดอยู่ในที่นั้นๆ


       ดูก่อนสารีบุตร เราอยู่ผู้เดียวในป่าเปลี่ยว ไม่พบเห็นมนุษย์เป็นเดือนๆ ในฤดูหนาวในเวลาดึกหนาวจัดเราออกมาอยู่เสียกลางที่แจ้ง ไม่ผิงไฟ ถึงเวลากลางวันมีแสงแดด เราหมกตัวอยู่ในป่าไม้ ที่เย็นเยือก ครั้นถึงฤดูร้อนในเวลากลางวันที่ร้อนเปรี้ยง เรานั่งอยู่กลางแดดตลอดวัน ครั้นถึงเวลากลางคืน เราอยู่ในพุ่มไม้ที่รกทึบ
       ดูก่อนสารีบุตร เราได้ประพฤติวิธีที่เรียกกันว่า “ทำความบริสุทธิ์ด้วยอาหาร”เราไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากถั่ว ครั้นถึงสมัยอื่น เราไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากเมล็ดพันธุ์ผักกาด ครั้งถึงสมัยอื่นอีก ไม่บริโภคอะไรเลย นอกจากข้าวและเราลดปริมาณลงทุกวัน จนกระทั่งเหลือวันหนึ่งบริโภคถั่วเพียงเม็ดหนึ่ง หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาดเม็ดหนึ่ง หรือข้าวเมล็ดหนึ่งต่อวัน
       ดูก่อนสารีบุตร เมื่อเราบริโภคอาหารน้อยเช่นนี้ ร่างกายของเราก็ผอมและอ่อนระทวยอย่างน่ากลัว ขาของเรามีลักษณะอย่างต้นอ้อ ตะโพกที่นั่งทับของเรามีสัณฐานดั่งเท้าอูฐ กระดูกสันหลังของเราโปนขึ้น เหมือนเส้นเชือก สีข้างของเรา มีซี่โครงโผล่ขึ้นเป็นซี่ๆ เหมือนกลอนเรือน ที่ถูกทิ้งร้าง ตาของเราลึกอยู่ในเบ้าตา เหมือนดวงดาวที่ปรากฏอยู่ในก้นบ่ออันลึก หนังศีรษะของเราเหี่ยวย่นเหมือนน้ำเต้าอ่อนตัดทิ้งไว้กลางแดด เมื่อเราลูบแขนหรือลูบขาของเราด้วยฝ่ามือ เพื่อให้เกิดความสบายบ้าง ขนก็หลุดขึ้นทั้งรากติดไปกับฝ่ามือที่ลูบนั้น
       ดูก่อนสารีบุตร แม้เราได้รับความทุกข์อันแสบเผ็ดเห็นปานนี้ เราก็ยังไม่ได้รับความรู้ที่เราปรารถนา เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการประพฤติเช่นนั้น ตรงกันข้าม อาจจะเกิดจากการพินิจพิจารณาในภายใน และจากการสละเสียซึ่งการประพฤติอย่างชาวโลกทั้งปวง”ดังนี้
       พระสิทธัตถะ ทรงทรมานกายโดยทำนองนี้ เกือบตลอดเวลาประมาณ 6 ปี เท่าที่ทรงท่องเที่ยวไปมาตามที่ต่างๆ โดยทรงดำริว่า เมื่อทรงกระทำอย่างพอเพียงแล้ว จักได้ตรัสรู้ในตอนสุดท้าย พระองค์ได้เวียนมาประทับอยู่ในดินแดนของแคว้นมคธอีก ณ สถานที่อันเงียบสงัดในดงไม้ไผ่แห่งหนึ่งใกล้ๆ แม่น้ำซึ่งมีน้ำใสเย็นสนิท ไหลอยู่เสมอ มีท่าขึ้นลงโดยสะดวก มีหมู่บ้านสำหรับภิกขาจารได้โดยง่าย และไม่ไกลนัก พระองค์ทรงพอพระทัยว่า “สถานที่นี้เป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว สำหรับนักบวชเช่นเราอยู่อาศัยเพื่อการทำความเพียร เราจะอยู่อาศัยในสถานที่นี้ละ” ดั่งนี้
       พระสิทธัตถะ ได้ทรงถือเอาสถานที่ซึ่งเรียกว่า ตำบลอุรุเวลา เป็นที่อยู่ประจำของพระองค์ ทรงบำเพ็ญภาวนาและตบะกรรมอื่นๆ อย่างเคร่งครัดใต้ต้นไม้ในถิ่นนั้น โดยทรงแน่พระทัยว่า การทำเช่นนั้น จักรู้สิ่งซึ่งเป็นความจริงอันพระองค์ต้องประสงค์
       ในครั้งนั้น มีผู้เลื่อมใสในการกระทำอย่างเคร่งครัดของพระองค์จำนวนหนึ่ง ได้พากันมาเฝ้าปรนนิบัติพระองค์ คนเหล่านี้มีจำนวนห้าคนด้วยกัน เรียกว่า คณะปัญจวัคคีย์ ได้คอยเฝ้ารับใช้พระองค์ ในบางประการ โดยเขาเหล่านั้นเชื่อว่า ผู้ที่บำเพ็ญตบะกรรมอย่างกล้าเช่นพระสิทธัตถะนี้ต้องไม่ใช่คนธรรมดา เขาเชื่ออย่างแน่นอนว่า นักบวชผู้มีความอดทนและเสียสละเช่นนี้ ต้องประสพผลสำเร็จในสิ่งที่ตนประสงค์โดยแน่นอน และเมื่อประสพผลสำเร็จแล้วจักสั่งสอนสิ่งซึ่งได้รู้นั้น แก่ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลาย
       วันหนึ่ง เหตุการณ์ได้บังเอิญเป็นจนถึงกับว่า เมื่อพระสิทธัตถะประทับนั่งอยู่แต่ผู้เดียวใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง มีร่างกายอ่อนเพลียเพราะการอดอาหารและการทรมาน นั่งบำเพ็ญภาวนานานเกินไป พระองค์ได้ล้มลงนอนสลบแน่นิ่งอยู่ ณ พื้นดิน ไม่ไหวติง หมดกำลังจนถึงกับไม่สามารถจะฟื้นคืนชีวิตได้ โดยลำพังพระองค์เอง
       แต่เป็นโชคดี ที่เด็กเลี้ยงแพะในถิ่นนั้นคนหนึ่ง ได้บังเอิญเดินมาพบพระองค์บรรทมสลบอยู่ในที่นั้น และเดาเอาว่าพระองค์กำลังจะสิ้นชีวิตเพราะการอดอาหาร โดยที่คนทั้งหลายในถิ่นนั้น รู้กันอยู่ทั่วไปว่า พระอริยเจ้าผู้นี้ได้เว้นจากอาหารมาหลายวันแล้ว ดังนั้น เด็กเลี้ยงแพะคนนั้น ได้วิ่งไปที่ฝูงแพะของตน นำแพะนมตัวหนึ่งมาสู่ที่ที่พระองค์ล้มสลบอยู่ ได้รีดนมแพะให้ตกจากเต้านมโดยตรง หยดลงตรงพระโอษฐ์ของพระองค์ ซึ่งเผยออยู่เล็กน้อย เพราะเขาไม่กล้าแตะต้องเนื้อตัวของผู้ที่ใครๆ ถือกันว่า เป็นพระอริยเจ้า โดยเหตุที่เขาเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแพะ
       ในเวลาไม่นานนัก น้ำนมนั้นก็ได้แสดงผลตามหน้าที่ของมันแก่พระสิทธัตถะ ซึ่งอยู่ในลักษณะมีชีวิตเหลืออยู่เพียงนิดเดียว ในขณะนั้น ต่อมาอีกครู่หนึ่งพระองค์ทรงสามารถลุกนั่ง และรู้สึกมีความสบายขึ้นกว่าเวลาที่แล้วมา พระองค์เริ่มรู้สึกว่า เพราะเหตุใดจึงได้ทรงสลบไป และเพราะเหตุใดในบัดนี้ จึงมีความรู้สึกสดชื่นทั้งกายและใจขึ้นมาได้ พระองค์ทรงระลึกได้เป็นลำดับๆ ดังต่อไปนี้
       “โธ่เอ๋ย เราโง่มาเสียแล้วอย่างมากมาย เราได้สละภรรยาและครอบครัว สละเหย้าเรือนและทุกๆ สิ่ง เราออกบวช เป็นนักบวชไร้บ้านเรือนเพราะประสงค์จะรู้สัจจธรรม อันเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์เรา และให้รู้วิธีที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อลุผลอันเกี่ยวกับชีวิตให้ดีที่สุด แต่ในการที่จะให้ได้รับความรู้อันลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ได้เช่นนี้ เราควรจะมีสมองและจิตใจที่เข้มแข็งให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเราจะสามารถคิด และเจริญภาวนาอย่างแน่วแน่และเข้มแข็ง แต่ในที่สุดเรากลับไปทำให้ร่างกายนี้อ่อนเพลียทุพพลภาพไปด้วยการอดอาหาร และด้วยการปฏิบัติอย่างตึงเครียดอื่นๆ ดังที่เราปฏิบัติมาแล้ว ก็คนเราจักมีจิตใจอันเข้มแข็งสดชื่นในร่างกายที่อ่อนเพลียระส่ำระสายไร้สุขภาพได้อย่างไรกัน !”
       “พุทโธ่เอ๋ย เราโง่อย่างเหลือเกิน ที่ได้ไปทรมานตัวเองให้อ่อนเพลียในขณะที่ต้องการกำลัง ที่เราอาจจะมีได้ในการปฏิบัติกิจอันสูงสุด ซึ่งเราได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเพื่อปฏิบัติ ! ต่อนี้ไป เราจักบริโภคอาหารทุกชนิดตามที่ร่างกายนี้ต้องการ เพื่อกลับคืนไปสู่ปรกติภาพ เราจักไม่บริโภคมากเกินควร เพราะจะทำให้มึนชาและง่วงซึม ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้พอเหมาะ เราจักบริโภคแต่พอให้เกิดกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อว่าเราจักมีจิตอันใสกระจ่าง ซึ่งในที่สุดเราอาจจะได้รู้สัจจธรรมที่เราประสงค์”ดั่งนี้
       เมื่อทรงดำริเช่นนั้น พระองค์ได้ทรงเหลียวไปทางเด็กเลี้ยงแพะ ซึ่งบัดนี้กำลังคุกเข่าอยู่ข้างๆ พระองค์ และตรัสขอให้เขานำนมแพะมาให้แก่พระองค์อีกชามหนึ่ง เพราะปรากฏว่า การบริโภคนมนั้นเป็นผลดีแก่พระองค์มาก เด็กเลี้ยงแพะได้ตอบว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแพะตระกูลต่ำ พระองค์เป็นพระอริยเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ หากข้าพเจ้าสัมผัสพระองค์ด้วยสิ่งใดที่ข้าพเจ้าเคยจับต้องแล้ว มันจักเกิดเป็นบาปแก่ข้าพเจ้าอย่างใหญ่หลวง”
       พระสิทธัตถะได้ตอบว่า “พ่อหนูเอ๋ย เราไม่ได้ขอสิ่งซึ่งเกี่ยวกับชาติหรือตระกูล เราขอแต่นม มันไม่มีความแตกต่างอย่างแท้จริงอะไรกันเลยในระหว่างเราทั้งสอง แม้ว่าเธอเป็นเด็กเลี้ยงแพะและเราเป็นฤษี ในสายเลือดของเราทั้งสอง ต่างก็มีเลือดไหลอยู่อย่างเดียวกัน ถ้ามีโจรเอาดาบมาตัดร่างกายเราทั้งสอง เลือดก็จะไหลออกมาเป็นสีแดงอย่างเดียวกัน คนเรานี้ถ้าทำดีก็เป็นคนดีและประเสริฐ ถ้าทำเลวก็เป็นคนเลวและไม่ประเสริฐ นั่นแหละคือชาติและตระกูลอันแท้จริง เธอได้ทำสิ่งที่ดี โดยการให้นมแก่ฉันในขณะที่กำลังร่อแร่ จวนจะขาดใจตายเพราะอดอาหาร เพราะฉะนั้นเธอจึงเป็นผู้ที่มีชาติและตระกูลดีพอแล้ว สำหรับจะให้นมแก่ฉันสักชามหนึ่ง”
       เด็กเลี้ยงแพะคนนั้น ดีใจจนบอกไม่ถูก ในถ้อยคำอันแปลกประหลาดและน่าชุ่มชื่นใจของพระมหาฤษีชั้นพิเศษ ซึ่งแทนที่จะโบกมือบอกให้เขาหลีกห่างออกไป เพราะเขาเป็นเด็กเลี้ยงแพะตระกูลต่ำ แต่กลับต้องการจะได้นมจากเขา และทั้งยินดีที่จะดื่มจากชามอันเป็นภาชนะใช้สอยประจำตัวของเขาด้วย เขาจึงได้วิ่งออกไปนำนมแพะเต็มชาม กลับมาถวายแก่พระองค์ด้วยความร่าเริงยินดี ในข้อที่ว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เขาเป็นผู้ที่มีชาติและตระกูลดีอย่างเพียงพอ สำหรับการที่ถวายนมแก่พระองค์ เขาได้รับชามเปล่ากลับ และได้ก้มศีรษะนมัสการขอพร แล้วก็วิ่งกลับไปสู่ฝูงแพะของตนด้วยความสุขใจอย่างหาที่เปรียบมิได้* (*เรื่องเด็กเลี้ยงแพะถวายนมอย่างนี้ ไม่มีในพุทธประวัติอย่างไทย มีแต่ในพุทธประวัติอย่างต่างประเทศ ส่วนในพุทธประวัติอย่างไทย มีข้อความกล่าวว่า เทวดาบางองค์ได้นำอาหารอันเป็นทิพย์มาแทรกเข้าตามขุมขนของพระองค์ จนกลับมีพระกำลังอย่างเดิม)
       เมื่อพระสิทธัตถะ กลับมีพระกำลังอย่างเดิมโดยการเสวยนมเช่นนี้แล้ว ได้ประทับที่โคนต้นไม้ เจริญภาวนาต่อไปเป็นผลดีกว่าที่แล้วมา เมื่อพระองค์ได้ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น พอตะวันตกลับขอบฟ้าไป ได้ทรงสดับเสียงเพลงของหญิงนักร้องหมู่หนึ่ง ซึ่งเป็นนักร้องและนักระบำอาชีพเดินผ่านมาทางนั้น เพื่อเข้าไปประกอบอาชีพในเมือง และเมื่อหญิงเหล่านั้นผ่านมาใกล้พระองค์ ก็พอดีกับที่หญิงเหล่านั้นได้ร้องเพลงขึ้น อันมีเนื้อความว่า
       “เมื่อสายพิณของเราหย่อนเกิดไป ย่อมส่งเสียงไม่น่าฟัง และเมื่อตึงเกินไป ก็ขาดและไม่อาจดังได้อีก เพราะฉะนั้น เพื่อผลอันดีที่สุด ใครๆ ไม่ควรขึงสายพิณให้หย่อนหรือตึงเกินไป แต่ควรขึงให้พอเหมาะ มักจักส่งเสียงอันไพเราะโดยแท้จริง” ดั่งนี้* (*พุทธประวัติอย่างไทย กล่าวว่า พระอินทร์ลงมาดีดพิณให้ฟัง แทนที่จะเป็นหญิงร้องเพลงเช่นนี้)
       เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับบทเพลงของหญิงเหล่านั้น ก็ทรงรู้สึกขึ้นในพระทัยว่า “บทเพลงของหญิงเหล่านี้ ช่างถูกแท้ หญิงเหล่านี้สอนอะไรๆ ให้แก่เรามากทีเดียว ที่แล้วมาเราขึงสายพิณแห่งชีวิตของเราตึงเกินไปอย่างน่าสังเวช มันตึงเกิน จนจวนจะขาดลงอย่างไม่มีเหลือ ถ้าในวันนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเด็กเลี้ยงแพะนั้นแล้ว เราก็คงตายไปแล้ว แล้วอะไรเล่า ที่เป็นผลแห่งการแสวงหาสัจจธรรมของเราทั้งที ! เรื่องก็จบลงที่นี่และบัดนี้ แล้วสิ่งซึ่งฉันและมนุษย์ทั้งหลาย จะพึงได้รับจากการเสาะแสวงของฉัน ก็มาพลอยล้มเหลวลงอย่างน่าเศร้า เพราะความเข้าใจผิดในเรื่องอาหารนี้นิดเดียว วิธีปฏิบัติอย่างทารุณต่อร่างกายเช่นนี้ มิใช่วิธีอันถูกต้องสำหรับการค้นหาสัจจธรรมเลย จำเดิมแต่นี้ไป ฉันจักเลิกปฏิบัติต่อร่างกายอย่างทารุณเสียโดยเด็ดขาด แต่จะปฏิบัติอย่างเอาใจใส่ระมัดระวังให้เหมาะสมที่สุด ที่จะพึงกระทำได้”
       ต่อจากนั้น พระสิทธัตถะได้ทรงออกบิณฑบาตทุกเวลาเช้า ทรงบริโภคอาหารตามแต่จะได้มาทุกๆ วัน พระองค์กลับทรงมีพระกำลังอย่างเดิม มีพระฉวีวรรณผุดผ่องเป็นสีทอง ดุจเดียวกับเมื่อยังประทับอยู่ในพระราชวังของพระองค์ในกาลก่อน แม้พระองค์จะได้ทรงมองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าการทรมานกายอย่างเคร่งเครียดของพระองค์นั้น มีผลทำนองเดียวกับการพยายามผูกอากาศให้เป็นปม หรือเช่นเดียวกับการนำทรายมาฟั่นให้เป็นเชือก โดยไม่มีผิดกันเลยดั่งนี้ก็ตาม ส่วนบุรุษห้าคน มิได้มีความคิดหรือรู้สึกเช่นเดียวกับพระองค์แต่อย่างใด คนทั้งห้านั้นยังคงมีความยึดถือเช่นเดียวกับคนอื่นๆ อยู่นั่นเองว่า วิธีที่จะตรัสรู้สัจจธรรมในศาสนานั้นต้องสำเร็จมาแต่การทรมานร่างกายแต่วิธีเดียวเท่านั้น
       เมื่อคนที่ห้านั้นเห็นว่า บุคคลซึ่งตนเคยยกย่องเป็นอาจารย์ได้เลิกละการอดอาหาร และการทรมานกายโดยวิธีต่างๆ มาบริโภคอาหารบำรุงร่างกายตามปรกติธรรมดาเช่นนั้น ก็พากันกล่าวแก่กันและกันว่า “อา !พระสมณะโคตรมะศากยบุตรนี้กลายเป็นคนมักมากไปเสียแล้ว เลิกละการต่อสู้และความพากเพียร กลับไปสู่ชีวิตแห่งความบันเทิงเริงรื่นเสียแล้ว”ดั่งนี้คนทั้งห้าได้พากันละทิ้งพระองค์ เพราะแน่ใจเสียแล้วว่า ไม่มีประโยชน์อันใดในการที่จะอยู่อาศัยกับอาจารย์ผู้เลิกละความเพียรโดยประการต่างๆ คือการทรมานกายเสียเช่นนี้
       คนทั้งห้าเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า นักบวชที่ไม่ทรมานกายนั้น ย่อมไม่มีทางที่จะตรัสรู้ธรรมอันสูงสุดในทางศาสนาเลย คนทั้งห้านี้ ได้มีความหลงผิดเพียงไร ได้ปฏิบัติอย่างเขลาที่สุดเพียงไร ได้ปรากฏเป็นความจริงออกมาในเวลาอันไม่นานเลย บัดนี้ อาจารย์ของเขา ซึ่งที่แท้หาได้หมุนไปจากทางแห่งสัจจธรรมแต่ประการใดไม่นั้น ได้เป็นผู้ซึ่งกำลังก้าวมาถึงจุดแห่งความสำเร็จ ในการที่จะบรรลุสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์อย่างแน่นอนแล้ว

กำเนิดพระสิทธัตถะ
วัยกุมาร
ในวัยรุ่น
ในวัยหนุ่ม
ความเบื่อหน่าย
การสละโลก
พระมหากรุณาธิคุณ
ความพยายามก่อนตรัสรู้
ประสพความสำเร็จ
ทรงประกาศพระธรรม
สิงคาลมาณพ
สารีบุตรและโมคคัลลานะ
เสด็จกบิลพัสดุ์
พุทธกิจประจำวัน
พระนางมหาปชาบดี
ปาฏิหาริย์
พระพุทธดำรัส
ความกรุณาของพระพุทธองค์
เทวทัต
ปรินิพพาน
 

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม