ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน

พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)

 

ตอนที่ 12

สารีบุตรและโมคคัลลานะ

       ในระยะเวลาที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใกล้นครราชคฤห์นี้ มีเจ้าลัทธิผู้หนึ่งชื่อ “สญชัย” ตั้งสำนักอยู่ใกล้ๆ นครราชคฤห์ มีสาวกประมาณ 200 คนเศษ ในบรรดาสาวกเหล่านั้นมีสาวกสองคน ชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ มีสติปัญญามาก ทั้งสองคนไม่พอใจในคำสั่งสอน ท่าที่อาจารย์ของตนได้สอนให้ แต่มีความประสงค์จะรู้สิ่งที่ดีและลึกซึ้งไปกว่านั้น อันเรียกกันว่า “อมฤตธรรม”คนทั้งสองนี้รักกันมาก คนหนึ่งจะต้องมีส่วนได้ในสิ่งที่อีกคนหนึ่งได้เสมอไป จึงได้ทำกติกาต่อกันอย่างเงียบๆ ว่า ต่างคนต่างพยายามศึกษาและคิดค้นให้สุดกำลังสติปัญญาของตนๆ เพื่อให้พบอมฤตธรรม ถ้าคนใดได้พบก่อน ก็จักบอกให้อีกคนหนึ่งได้รู้ด้วย
       วันหนึ่ง ในเวลาเช้า เมื่ออุปติสสะเดินไปตามถนนในนครราชคฤห์ เขาได้เห็นบรรพชิตรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มีอาการแปลกประหลาด จับตาจับใจของเขาเป็นอันมาก บรรพชิตรูปนั้นมีลักษณะอาการที่สุภาพเรียบร้อย สงบเสงี่ยมงดงามทั้งในการเดินและการยืนตลอดจนการรับบิณฑบาตชนิดที่เขาไม่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ยิ่งเดินเข้าไปใกล้ก็ยิ่งมีความฉงน และเต็มไปด้วยความเคารพยิ่งขึ้น เพราะว่าใบหน้าของบรรพชิตรูปนั้นเป็นใบหน้าชนิดที่เขาไม่เคยเห็นนักบวชรูปใดมีใบหน้าซึ่งประกอบด้วยลักษณะเช่นนั้นเลย คือเป็นใบหน้าที่แสดงความสุขอย่างเต็มเปี่ยม และแสดงถึงความสงบไม่มีความหวั่นไหว เปรียบประดุจดังผิวน้ำในเวลาที่เงียบสงัด ปราศจากลมรบกวน ในเวลากลางคืน อุปติสสะได้รำถึงอยู่ในใจว่า บรรพชิตรูปนี้ เป็นอย่างไรหนอ บรรพชิตรูปนี้ต้องเป็นบุคคลที่ได้บรรลุถึงธรรมที่เรากำลังแสวงหาแล้วอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นสาวกของผู้ที่ได้บรรลุธรรมนั้นแล้ว เราอยากรู้เหลือเกินว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่านผู้นี้ คำสอนของอาจารย์ท่านผู้นี้ จักเป็นอย่างไรหนอ เราจักต้องติดตามเอาความจริงให้ได้
       อย่างไรก็ตาม อุปติสสะรู้สึกว่า ยังไม่เหมาะที่จะเข้าไปไต่ถามบรรพชิตรูปนั้น ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่ จึงได้เดินตามไปห่างๆ จนกระทั่งบรรพชิตรูปนั้น ได้อาหารบิณฑบาตเพียงพอแล้ว กำลังเดินออกประตูเมืองไป อุปติสสะได้เข้าไปทำความเคารพทักทายปราศรัย พอให้เกิดความคุ้นเคย แล้วไต่ถามในข้อที่ว่า ท่านผู้ใดเป็นครูบาอาจารย์ที่บรรพชิตรูปนี้มีความเคารพ และรับปฏิบัติตามโอวาท อุปติสสะได้กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ อากัปกิริยาของท่านสงบเสงี่ยมยิ่งนัก ใบหน้าของท่านเปล่งปลั่ง สุกใสดียิ่งนัก ข้าพเจ้าใคร่จะทราบอย่างแท้จริงว่า ผู้ใดเป็นครูอาจารย์ของท่าน คำสอนของใคร ที่ท่านสละเหย้าเรือนและญาติมิตรมาอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อาจารย์ของท่านชื่ออะไร  และคำสอนของท่านเป็นอย่างไร ”


       บรรพชิตรูปนั้นได้ตอบอย่างยิ้มแย้มว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าอาจจะบอกท่านได้เดี๋ยวนี้ มีพระมหาสมณะแห่งวงศ์ศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งได้สละฆราวาสวิสัยออกมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าสละเหย้าเรือนบวชเพื่อประพฤติตามพระมหาสมณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นเอง เป็นครูของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านผู้นั้น”
       อุปติสสะได้คิดว่า บางทีเขาอาจจะได้ทราบจากบรรพชิตผู้นี้ ถึงเรื่อง “อมฤตธรรม” ซึ่งเขาและโกลิตะเพื่อนของเขาได้เสาะแสวงหามาเป็นเวลานานแล้ว จึงได้ถามขึ้นอย่างรีบร้อนว่า “ข้าแต่ท่านที่เคารพ คำสั่งสอนที่ท่านกล่าวถึงนั้น เป็นอย่างไร  ครูของท่านได้สอนอะไร  ข้าพเจ้าอยากทราบในข้อนั้นเป็นอย่างยิ่ง”
       บรรพชิตผู้นั้นได้ตอบอย่างสุภาพว่า “ข้าพเจ้าเป็นแต่คนเพิ่งมาบวชแรกศึกษา ยังเป็นเวลาน้อยมาก นับแต่ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าและประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยของพระองค์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ทราบอะไรในคำสอนของพระองค์มากนัก ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายแก่ท่านได้โดยละเอียด ถ้าท่านต้องการทราบแต่โดยย่อแล้ว ข้าพเจ้าก็อาจจะบอกให้ท่านทราบได้บ้างสักสองสามคำ”
       อุปติสสะได้กล่าวขึ้นโดยเร็วว่า “ท่านผู้เจริญ นั่นแหละที่ข้าพเจ้าต้องการทราบ จงบอกแต่ใจความให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ใจความนั่นแหละ สำคัญไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยถ้อยคำยืดยาวดอก” บรรพชิตผู้นั้น ได้กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว ท่านจงฟังเถิด สิ่งใด มีเหตุเป็นเครื่องบันดาลให้เกิดขึ้น พระตถาคตได้ตรัสบอกถึงเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับสนิทของสิ่งเหล่านั้น พระมหาสมณะองค์นั้นมีปรกติกล่าวด้วยอาการอย่างนี้”
       นักบวชได้กล่าวเพียงเท่านี้ แต่ขณะที่อุปติสสะได้ยืนฟังข้อความนี้อยู่ที่ประตูเมืองนั่นเอง ความแจ่มแจ้งได้โพลงขึ้นในใจของเขาอย่างรุ่งโรจน์ ในธรรมที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสอน เป็นธรรมที่แสดงให้ทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้นก็ตาม จักต้องดับลงไป อีกอย่างไม่มีทางยกเว้น อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไม่เคยผิดพลาดเลย อุปติสสะได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในขณะนั้นเองว่า “สิ่งที่ไม่มีการเกิด” เท่านั้นเองที่จะเป็นอิสระเหนือกฎที่ว่า “มันจะต้องดับ” หรือ “ต้องตาย” และสิ่งนั้นแหละคืออมฤตธรรม”
       อุปติสสะได้กล่าวแก่บรรพชิตรูปนั้นว่า “ถ้าความข้อนี้เป็นสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาจากอาจารย์ของท่านแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่าท่านได้ลุถึงสิ่งที่ไม่มีทุกข์ อยู่เหนือความตาย ซึ่งไม่เคยปรากฏแก่มนุษย์เรามาเป็นยุคๆ” เมื่ออุปติสสะกล่าวดังนี้แล้ว ก็ได้กล่าวขอบคุณแก่บรรพชิตรูปนั้น และได้ไต่ถามถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ แล้วลาจากไปเพื่อไปบอกกล่าวแก่โกลิตะเพื่อนของตน ให้ทราบถึงข่าวดีที่ว่า บัดนี้ ตนได้พบอมฤตธรรมนั้นแล้ว !
       บัดนี้อุปติสสะมีใบหน้าแจ่มใสอิ่มเอิบสงบเสงี่ยมเช่นเดียวกับใบหน้าของบรรพชิตผู้ที่ได้บอกกล่าวอมฤตธรรมแก่เขา เมื่อโกลิตะได้เห็นอุปติสสะ มีใบหน้าเช่นนั้นกำลังเดินใกล้เข้ามา ก็ทราบได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่สหายของเขาแล้ว จึงได้ถามว่า “เพื่อเอ๋ย ทำไมหน้าตาของท่านจึงดูแจ่มใส รุ่งเรืองยิ่งนัก ท่านได้พบอมฤตธรรม ซึ่งเราทั้งสองได้แสวงกันมาเป็นเวลานานนักแล้วอย่างนั้นหรือ ”
       อุปติสสะได้ตอบด้วยความร่าเริงว่า “อย่างนั้น อย่างนั้น เพื่อเอ๋ย เราได้พบอมฤตธรรมนั้นแล้ว” โกลิตะได้ถามอย่างรีบร้อนว่า “เป็นอย่างไรกันเพื่อน  เป็นอย่างไรกัน ”อุปติสสะได้บอกแก่โกลิตะเพื่อร่วมใจของเขาด้วยเรื่องบรรพชิตแปลกหน้า ที่เขาได้พบเที่ยวบิณฑบาตอยู่ตามถนนในเวลาเช้า นุ่งห่มจีวรสีเหลือง มีท่าทางสงบและสำรวม ชนิดที่เขาไม่เคยเห็นนักบวชรูปใดเป็นอย่างนั้นมาก่อนเลย และบอกให้ทราบถึงการที่เขาได้ติดตามไปจนถึงประตูเมือง และไต่ถามถึงมูลเหตุที่ทำให้ท่านมีผิวพรรณผ่องใส สงบเสงี่ยมเช่นนั้น ในที่สุดอุปติสสะได้กล่าวคาถามีจำนวนสี่บาท ซึ่งบรรพชิตรูปนั้นได้กล่าวแล้วให้โกลิตะฟัง และในขณะนั้นเอง โกลิตะก็ได้เห็นธรรม รู้แจ้งว่าอมฤตธรรมนั้น มิได้เกิดอยู่ในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและความคิดนึกต่างๆ และเพราะเหตุที่อมฤตธรรมนั้นมิได้เป็นสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดับ คือไม่ตาย
       ในที่สุด สหายคู่นั้น ได้ตรงไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า และถือเอาพระพุทธองค์เป็นครู แทนครูสญชัยสืบไป พระองค์ทรงรับเขาทั้งสองเข้าเป็นภิกษุ และต่อมาได้เป็นพระอัครสาวกของพระองค์ เนื่องจากมีความรู้สติปัญญาและความสามารถมาก และมีนามซึ่งรู้จักกันในโลกนี้ว่า “พระสารีบุตร” และ “พระโมคคัลลาน” บรรพชิตผู้ได้บอกอมฤตธรรมแก่ท่านทั้งสองโดยคาถาเพียงสี่บาทนั้น มีนามว่า “อัสสชิ” เพราะฉะนั้นคาถานั้นจึงได้นามว่า “คาถาของพระอัสสชิ”สืบมา
       มิใช่เพียงแต่อุปติสสะกับโกลิตะเท่านั้น ที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุกับพระพุทธองค์ ขณะที่ประทับอยู่ใกล้นครราชคฤห์ในคราวนี้ แต่ยังมีคนหนุ่มตระกูลสูงเป็นจำนวนมาก ได้สละบ้านเรือน มารดาบิดา ญาติใหญ่น้อย แล้วมาบวชเป็นภิกษุสาวกของพระองค์ ผู้มีนามที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พระศากยมหามุนี” ทั้งนี้เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นศาสดาแตกต่างจากศาสดาอื่นๆ ในประเทศนั้น ในข้อที่ทรงมีพระชาติกำเนิดอันสูงศักดิ์และประเสริฐ และทรงมีการบรรลุธรรมอันสูงสุด ซึ่งเมื่อใครปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์จนถึงที่สุดแล้ว จักได้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยสิ้นเชิง
       ความจริงมีว่า ในครั้งนั้น คนหนุ่มๆ ได้พากันออกบวชเป็นจำนวนมาก จนถึงกับประชาชนแห่งเมืองนั้นพากันรู้สึกตกใจ ไม่สบายใจ และบางพวกถึงกับโกรธแค้น คนบางพวกได้ไปร้องทุกข์กับพระองค์ว่า ถ้ายังออกบวชกันเป็นจำนวนมากอยู่เช่นนี้ ในไม่ช้าก็จักไม่มีคนหนุ่มที่จะประกอบกิจการงานตามบ้านเรือนอีกต่อไป เขาพากันกล่าวว่า ในไม่ช้าจักไม่มีครอบครัวเพิ่มขึ้น จักไม่มีเด็กเกิดมา บ้านเมืองก็จะรกร้างว่างเปล่า เพราะออกบวชเป็นภิกษุกันเสียหมด

กำเนิดพระสิทธัตถะ
วัยกุมาร
ในวัยรุ่น
ในวัยหนุ่ม
ความเบื่อหน่าย
การสละโลก
พระมหากรุณาธิคุณ
ความพยายามก่อนตรัสรู้
ประสพความสำเร็จ
ทรงประกาศพระธรรม
สิงคาลมาณพ
สารีบุตรและโมคคัลลานะ
เสด็จกบิลพัสดุ์
พุทธกิจประจำวัน
พระนางมหาปชาบดี
ปาฏิหาริย์
พระพุทธดำรัส
ความกรุณาของพระพุทธองค์
เทวทัต
ปรินิพพาน
 

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม