ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
พุทธประวัติ ฉบับสำหรับยุวชน
พุทธทาสภิกขุ แปลและเรียบเรียงจาก ฉบับภาษาอังกฤษ ของ ภิกษุสีลาจาระ (J.F. Mc kechnie)
ตอนที่ 9
ประสพความสำเร็จ
ในวันหนึ่งต่อมา มีสตรีผู้หนึ่งนามว่า สุชาดา
ผู้อาศัยอยู่ในถิ่นนั้นได้นำข้าวอย่างดี
ซึ่งหุงขึ้นด้วยนมที่ได้คัดเลือกเป็นอย่างดีที่สุด
มาถวายพระองค์ถึงที่ที่พระองค์ประทับอยู่
เมื่อได้ถวายอาหารนี้แก่พระองค์แล้ว กุลสตรีนั้นได้กล่าวแก่พระองค์ว่า
ขอให้พระองค์จงทรงประสพความสำเร็จในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์
เช่นเดียวกับที่ดิฉันได้ประสพความสำเร็จในสิ่งซึ่งดิฉันประสงค์แล้วเถิดเจ้าข้า
ดั่งนี้ พระองค์ไม่ทรงปฏิเสธการถวายทานของสตรีผู้นี้
ทรงรับและฉันในขณะนั้นเอง ด้วยความพอพระทัย
และด้วยความรู้สึกในคุณประโยชน์ที่ให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ
แก่พระองค์เป็นอย่างยิ่ง ต่อจากนั้น
พระองค์ได้เสด็จไปสู่ต้นไม้ต้นหนึ่ง
ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์แห่งการตรัสรู้ของพระองค์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้
อันเราเรียกกันว่า ต้นโพธิ์ หรือไม้แห่งการตรัสรู้
คำกล่าวของกุลสตรีชื่อ สุชาดา ยังคงก้องอยู่ในพระโสตของพระองค์ว่า
ขอพระเป็นเจ้า จงประสพความสำเร็จ
ดังที่ดิฉันได้ประสพความสำเร็จเถิดเจ้าข้า
ดังนี้จนกระทั่งพระองค์ได้เสด็จเข้าไปสู่โคนไม้นั้น
ณ บัดนี้ พระองค์ได้ประทับนั่งลงที่โคนต้นไม้นั้น
ทางทิศตะวันออกอันเกลี่ยด้วยหญ้า 8 ฟ่อน ที่คนตัดหญ้า ชื่อ โสตถิยะ
ถวายแก่พระองค์ และได้ทรงอธิษฐานจิตกำหนดพระทัยต่อพระองค์เองว่า
แม้เลือดในกายจะแห้งไป แม้เนื้อจะหมดไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ นอกจากหนัง
เอ็น และกระดูกก็ตามที จักไม่ยอมลุกจากที่นั่งนี้
จนกว่าจะได้พบสิ่งซึ่งทรงแสวง ลุถึงจุดปลายทางที่ทรงประสงค์
กล่าวคือทรงพบวิธีที่จะทำให้พระองค์เองและมนุษย์ทั้งปวง
หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นผู้ไม่ต้องเกิดและตาย อย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในลักษณะที่เบื่อหน่ายอีกต่อไป
กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือพระองค์ทรงประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์
โดยตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า ถ้าไม่ลุถึงสภาพที่เรียกว่า นิพพาน
แล้ว
จักไม่ยอมลุกจากที่นั้นโดยไม่ทรงคำนึงถึงว่า
จักมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น
การอธิษฐานจิตเช่นนี้ เป็นสิ่งที่กระทำได้แสนยาก
ยังไม่เคยมีใครในโลกของเราแห่งสมัยนี้ เคยทำการอธิษฐานเช่นนั้น
ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น
มีนักบวชจำนวนมากซึ่งได้พยายามบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายและทำความเพียรทางจิตอย่างแข็งกล้า
ตลอดเวลาเป็นปีๆ
เพื่อให้บรรลุถึงสิ่งซึ่งเขาเหล่านั้นเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งดีที่สุดหรือสูงที่สุด
แต่สิ่งซึ่งเขาได้รับเหล่านั้นเป็นความสุขชนิดชั่วคราว
ไม่ยั่งยืนตลอดกาล
ยังไม่เป็นความสุขที่สามารถทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาได้
เมื่อกำลังแห่งความเพียรที่กระทำให้เขาเหล่านั้นได้ประสพสุขในสวรรค์เสื่อมสิ้นลง
เขาเหล่านั้นก็ต้องละจากโลกอันเป็นที่พอใจนั้น กลับมาสู่โลกชั้นต่ำ
อันเต็มไปด้วยสิ่งซึ่งไม่ตรงตามความประสงค์อีกต่อไป
ถ้าจะเปรียบความข้อนี้ ก็เหมือนกับบุคคลคนหนึ่ง
เริ่มสะสมเงินทองไว้ในหีบเป็นอันมาก แล้วก็เริ่มใช้สอย
ไม่นานนักก็จักหมดสิ้นไป
เหลือแต่หีบเปล่าซึ่งจะทำให้เขาต้องทำการสะสมใหม่อีกต่อไป
ข้อนี้เป็นฉันใด นักบวชที่ได้ประสพความสุขอันไม่ถาวร
เมื่อความสุขนั้นสิ้นไปแล้ว
เขาก็จักต้องทนความยากลำบากบำเพ็ญตบะกรรมใหม่
สืบต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดฉันเดียวกัน
การเป็นอย่างนี้ ทำให้เขาต้องวนเวียนไปมา
อยู่ในระหว่างการเกิดในโลกสวรรค์กับการเกิดในโลกแผ่นดินนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดลงได้เลย
การกระทำในทำนองนี้ มีความยากลำบากดุจดังการกลิ้งครกอย่างหนักขึ้นภูเขา
ซึ่งมันมีแต่จะกลิ้งกลับลงมาสู่ตีนเขาเสียร่ำไป
ซึ่งทำให้เขาต้องระดมกำลังกลิ้งใหม่อย่างซ้ำและซ้ำอีก
โดยไม่มีที่สิ้นสุด
ส่วนสิ่งซึ่งพระสิทธัตถะทรงประสงค์ในที่นี้นั้น
คือวิชชาที่จะทำให้พระองค์และมนุษย์ทั้งหลาย
ไม่จำต้องทนทรมานในทำนองกลิ้งครกขึ้นเขาเช่นนั้น
พระองค์ทรงแสวงหาสิ่งซึ่งมีความเที่ยงแท้ถาวร
อันจักไม่กลับเสื่อมสิ้นหรือตกต่ำอีก
ซึ่งเมื่อใครได้ประสพแล้วเพียงครั้งเดียวก็ไม่ต้องพยายามทำเพื่อให้ได้ให้มีอีกต่อไป
ณ โคนต้นโพธิ์ แห่งตำบลอุรุเวลานั้น พระองค์ทรงตั้งพระทัยอธิษฐานจิต
ทำความเพียรเพื่อให้ประสพสิ่งซึ่งเที่ยงแท้ถาวรสิ่งนี้เอง
หากไม่ประสพก็จักยอมให้ร่างกายพินาศทำลายไปในที่ตรงนั้น
ไม่ยอมเขยื้อนแม้แต่หน่อยเดียว
ณ บัดนี้ พระสิทธัตถะได้ทรงตั้งพระทัย
ระดมกำลังจิตของพระองค์ต่อสู้กับธรรมชาติฝ่ายต่ำ
และยกจิตของพระองค์ให้ขึ้นสูง
เหนือสิ่งซึ่งเป็นเพียงความสุขชั่วคราวไม่เที่ยงแท้ถาวร
ซึ่งพระองค์เคยทรงผ่านมาแล้วแต่หนหลังอย่างมากมาย
พระองค์ทรงประสงค์ที่จะสลัดความคิดอย่างโลกๆ เสียให้สิ้นเชิง
เพื่อปักใจค้นหาความจริงในข้อที่ว่า
ความทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
แต่แทนที่จิตของพระองค์จักคิดไปในทำนองนั้นอย่างเดียว
มันได้หวนคิดกลับไปกลับมา ถึงความสุขสบายในหนหลัง
มันได้นำภาพแห่งความเพลิดเพลินบันเทิงเริงรื่นอยู่ในท่ามกลางการบำรุงบำเรอที่พระองค์เคยทรงได้รับในพระราชวังแห่งพระบิดาของพระองค์
มาปรากฏ ณ ที่ดวงตาในภายในของพระองค์อย่างเด่นชัดอยู่บ่อยๆ
ความจำหมายได้ปรากฏขึ้นเป็นภาพอันชัดแจ้ง
ภาพในใจของพระองค์เป็นภาพห้องบรรทมอันสวยงาม ซึ่งพระองค์เคยประทับ
เป็นภาพแห่งลานในอุทยานอันสดชื่น เป็นภาพแห่งสระบัวซึ่งงามจับใจ
เป็นภาพแห่งคนผู้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ทุกวิถีทาง โดยไม่มีข้อขัดข้อง
และได้ทรงมองเห็นภาพแห่งพระชายา ผู้งามเลิศ ภาพแห่งโอรสองค์น้อยๆ
องค์เดียวของพระองค์ ซึ่งมีรูปโฉมงดงามและมีลักษณะอันแสดงว่า
จักเป็นโอรสที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างใหญ่หลวง
แก่บุคคลผู้เป็นบิดาในกาลข้างหน้า
และพระองค์ยังได้ทรงเห็นภาพแห่งพระบิดาของพระองค์อีกด้วย
ว่าบัดนี้เข้าสู่วัยชรามีพระเกศาหงอก เพราะเข้าถึงปัจฉิมวัย
และกำลังทรงระทมทุกข์อยู่
เพราะพระโอรสองค์ใหญ่มิได้ทรงอยู่เคียงข้างพระองค์
ในการช่วยกันปกครองบ้านเมืองและรับช่วงการครองราชย์สมบัติ
ในเมื่อพระองค์ทรงชรามากเกินกว่าที่จะทรงทำการปกครองได้สืบไป
พระสิทธัตถะโคตมะได้ทรงเห็นภาพแห่งสิ่งทั้งหลายดังกล่าวนี้
ด้วยพระเนตรในภายใน
ในท่ามกลางความสงัดเงียบและได้ทำให้เกิดความคิดชนิดซึ่งพระองค์ไม่ทรงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง
แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ว่า
สิทธัตถะ !
ถ้าท่านจักอยู่ครองเหย้าเรือนเหมือนคนทั้งหลายอื่น
ท่านก็จักเป็นพระราชาผู้สูงศักดิ์ มีอำนาจมาก มีเกียรติคุณอันใหญ่หลวง
แต่ท่านได้หลีกหนีออกมา
โดยสละประชาชนและสิ่งมีค่าสูงสุดทุกอย่างไว้เบื้องหลัง
ออกมาแสวงหาสิ่งซึ่งไม่มีใครเคยคิดถึงมันเลย นอกจากท่านผู้เดียว
และทั้งเป็นสิ่งซึ่งบางทีไม่สามารถจะหาพบได้
และยิ่งไปกว่านั้นบางทีจักเป็นสิ่งซึ่งมิได้มีอยู่เลย !
ท่านรู้ได้อย่างไร ว่าท่านมิได้เป็นคนโง่หรือบ้าในการที่สละสิ่งต่างๆ
ซึ่งเป็นของที่มีตัวมีตนจริงๆ
และก็ได้เคยรู้รสเป็นความสุขแน่แก่ใจตนเองมาแล้วจริงๆ
ไปหลงแสวงหาสิ่งบางสิ่ง
ซึ่งท่านเองก็ยังไม่สามารถรู้ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือหาไม่
สิทธัตถะเอ๋ย ถ้าท่านต้องการที่จะละทิ้งของประเสริฐในโลก
ไปแสวงหาสิ่งซึ่งท่านคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่านั้นไปอีกจริงๆ แล้ว
ทำไมท่านจึงไม่พยายามแสวงหาโดยวิธีที่นักบวชอื่นๆ
เขาแสวงหากันด้วยการอดอาหารและการทรมานกาย
หรือด้วยการวิธีที่ประกอบการบูชายัญ
ดังเช่นคนใจบุญสุนทานทั้งหลายเขากระทำกันอยู่ทั่วไป ท่านเห็นวิธีของคนอื่นผิดหมด
ถูกอยู่แต่วิธีของท่านคนเดียวเท่านั้นหรือ และอย่างไรก็ตาม
ทำไมท่านจึงไม่สามารถพอใจในความสุขเท่าที่ท่านควรจะพอใจ
แม้จะไม่ถาวรเหมือนที่ท่านต้องการก็ตาม
สิทธัตถะเอ๋ย ชีวิตนี้เป็นของสั้นนิดเดียว ทุกคนต้องตายในไม่ช้า
ถึงท่านเองก็จักต้องตายในไม่ช้านี้แล้วเหมือนกัน
ทำไมท่านจึงไม่ใช้เวลาที่เหลือเพียงเล็กน้อยนี้เสวยความสุขเท่าที่อาจจะมีได้เสีย
ก่อนแต่ที่ความตายจะมาถึง
ซึ่งท่านจะไม่อาจเสวยความสุขอย่างใดได้อีกต่อไปแล้ว ความรักก็มี ชื่อเสียงก็มี ความสูงศักดิ์ก็มี
การบูชาสรรเสริญก็มี ทุกๆ อย่างพอสักว่าท่านต้องการ มันก็มีทุกอย่าง
เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวเป็นตน ซึ่งท่านสามารถลูบคลำสัมผัสบริโภคมันได้
ไม่ใช่เป็นเพียงความฝันหรือภาพมายาอย่างวิมานในอากาศเลย
ทำไมท่านจึงมากระทำการทรมานตัวเองให้ตกระกำลำบากอยู่ในป่าเปลี่ยว
เพื่อเสาะหาสิ่งซึ่งไม่เคยมีใครหาเช่นนี้เล่า
ความรู้สึกดังกล่าวนี้
ได้เกิดขึ้นในภายในพระหฤทัยของพระสิทธัตถะในคืนวันที่พระองค์ประทับนั่งภายใต้ต้นโพธิ์
เพื่อแสวงหาวิธีข้ามออกไปให้พ้นจากความเกิด ตาย มันได้ล่อหลอกพระองค์
ด้วยการทำให้รำลึกถึงความเพลิดเพลินนานาชนิดซึ่งพระองค์ทรงสลัดไว้เบื้องหลัง
ด้วยการทำความลังเลว่าพระองค์จักทรงมีความสามารถในการแสวงหาให้พบสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์นี้หรือหาไม่
และด้วยความไม่แน่พระทัยว่า
การเสาะแสวงหาทั้งนี้เป็นไปอย่างถูกทางแล้วหรือยัง
แต่พระองค์ไม่ทรงยอมให้พระองค์หมุนกลับจากสิ่งซึ่งทรงมุ่งหมาย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มาล่อหลอกพระองค์มากยิ่งขึ้นเพียงใด
พระองค์ยิ่งทรงบังคับพระทัยของพระองค์ให้มุ่งไปตามจุดหมายเดิมยิ่งขึ้นเพียงนั้น
พระองค์ทรงร้องขึ้นว่า มารเอย กลับไปเถิด !
เรารู้แล้วละว่าเจ้าคือใคร เจ้าคือปีศาจร้าย ซึ่งลวงคนให้เลิกละจากทุกๆ
สิ่ง ซึ่งเป็นความดี ความงาม ความใหญ่ยิ่ง และความประเสริฐ
เจ้าอย่าพยายามหมุนเราให้กลับจากสิ่งซึ่งเราได้ออกมาแสวงหาให้ลำบากอีกต่อไปเลย
! มารเอย จิตของเราปักแน่นเสียแล้ว เราต้องนั่งที่นี่
จนกว่าจะได้รับสิ่งที่เราประสงค์
แม้ว่าเราจักต้องนั่งจนกระทั่งเลือดและเนื้อเหือดแห้งไป
ไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากหนังกับกระดูกก็ตามที
ณ ที่นั้น พระสิทธัตถะได้ประทับนั่งและทรงดำเนินการต่อสู้
และทรงพยายามบากบั่นทำการปลุกปล้ำด้วยกำลังพระหฤทัยทั้งหมด
เพื่อให้ทรงพบสิ่งซึ่งสามารถขจัดความทุกข์โศกของสรรพสัตว์
และทรงพยายามแสวงสิ่งซึ่งสามารถตัดรากเหง้าของสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง
ในโลกนี้ให้สูญสิ้นเด็ดขาดไป แล้วนำมาซึ่งสิ่งที่ดีงามเป็นความสงบสุข
อันไม่รู้จักสิ้นสูญหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอนันตกาล
ตั้งอยู่เหนือความแปรปรวนโดยสิ้นเชิง
การพิจารณาคิดค้นให้ทราบถึงการเกิดขึ้นของความทุกข์
และความดับลงของความทุกข์ตามลำดับ ทั้งขึ้นและลงเช่นนั้น
โดยละเอียดเช่นนี้ เรียกว่า การพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท
พระองค์ทรงประสพความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงแน่วแน่อยู่ในสมาธิจิต
ทรงปัดเป่าความคิดอันชั่วร้ายทั้งหลายที่เข้ามารบกวนพระทัย
และล่อหลอกพระองค์ให้ไหลหลงออกไปได้โดยสิ้นเชิงแล้ว
พระหฤทัยของพระองค์สงบรำงับเหมือนน้ำในสระ ในเวลาที่คลื่นลมสงบ
ท่ามกลางความเงียบสงัด
ความชั่วร้ายที่รบกวนพระองค์ด้วยการระลึกถึงความสุขในหนหลังได้สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง
ความสงสัยลังเลในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงแสวงและวิธีซึ่งพระองค์ทรงกระทำการแสวง
ก็มิได้เกิดขึ้นอีกต่อไป
ในท่ามกลางความเป็นสมาธิ อันแน่วแน่สงบเงียบแห่งพระหฤทัยของพระองค์
ซึ่งบัดนี้ได้รวมกำลังพุ่งไปสู่สิ่งที่มุ่งหมายเพียงจุดเดียว
และมีอานุภาพแห่งจิต ซึ่งประกอบด้วยกำลังอันมหาศาล
ซึ่งบัดนี้ได้รวมกำลังพุ่งไปเพื่อทำลายอวิชชาอย่างเดียวแล้ว ณ
ที่นั้นซึ่งพระองค์ได้ประทับนั่ง ณ โคนต้นโพธิ์ต้นนั้นเอง
พระสิทธัตถะโคตมะ ผู้สมณะศากยบุตร
ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระโคตมะพุทธะ
ผู้ซึ่งได้นำแสงสว่างแห่งสัจจธรรมมาสู่ชาวโลกทั้งปวงแห่งยุคนี้
ซึ่งกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ณ บัดนี้ทุกถ้วนหน้า
ณ บัดนี้ พระองค์ทรงมีความสว่างไสวแจ่มแจ้ง
ตรงกันข้ามจากชนทั้งหลายอื่น ซึ่งความแจ่มแจ้งของเขา
ก็คือความงมอยู่ในที่มืดชนิดใดชนิดหนึ่ง บัดนี้ พระองค์ทรงตื่นจากหลับ
ตรงกันข้ามจากความตื่นของคนเหล่าอื่น
ซึ่งความตื่นของเขาเป็นเพียงอาการของการละเมอเพ้อฝัน
บัดนี้พระองค์ทรงประกอบไปด้วยความรู้อันต่างจากความรู้ของชนเหล่าอื่น
ซึ่งที่แท้ความรู้ของชนเหล่านั้น
เป็นเพียงความงมงายชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น
นับแต่กาลนี้ พระองค์ได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอด
ในความหมายอันแท้จริงของชีวิตอย่างทั่วถึง ตั้งแต่มูลรากขึ้นไปทีเดียว
บัดนี้ พระองค์ได้ทรงทราบว่าทำไมมนุษย์เราจึงต้องเกิดแล้วเกิดเล่า
ตายแล้วตายเล่า
อยู่ร่ำไปและทรงทราบว่าทำอย่างไรมนุษย์เหล่านั้นจักทำความทนทรมานเพราะการเกิดและการตายนี้ให้สิ้นสุดลงได้
สิ่งแรกที่สุด ซึ่งพระองค์ได้ทรงเห็นอย่างชัดแจ้ง
ด้วยญาณอันคมกล้าของพระองค์ ณ ที่ประทับภายใต้ต้นโพธิ์ในคืนนี้นั้น
ก็คือลำดับอันยาวยืดแห่งการเกิดและการตายของพระองค์
ตลอดกัปป์ตลอดกัลป์เป็นอันมากว่าได้เคยทรงเกิดเป็นสัตว์มีรูปกายต่างๆ
กันมาแล้วทุกชนิด ได้เคยมีชีวิตต่างๆ กันมาแล้วครบทุกแบบ
ทั้งอย่างต่ำและอย่างสูง ทั้งอย่างเลวและอย่างประเสริฐ
ทั้งอย่างหยาบและอย่างปราณีต
จนกระทั่งการเกิดครั้งสุดท้ายได้ทรงมีกำเนิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายานี้
ความเห็นแจ้งในข้อนี้ เรียกชื่อว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
พระองค์ได้ทรงเพ่งพิจารณาด้วยญาณอันแรงกล้าต่อไปอีก
ก็ได้ทรงทราบถึงข้อที่สัตว์ทั้งหลาย ได้เกิดมาแล้วตายไป
และไปกำเนิดในที่อื่นอีกตามแต่กรรมที่ตนได้กระทำไว้ โดยลักษณะอย่างไร
พระองค์ได้ทรงเห็นชัดซึ่งคนบางจำพวก ได้เกิดเป็นคนมีความสุข
เพราะกรรมที่ตนทำไว้นั้นเป็นกรรมดี และคนบางพวกเกิดมามีความทุกข์
เพราะกรรมที่ตนทำไว้นั้นเป็นกรรมชั่ว
พระองค์ได้ทรงเห็นชัดว่าทั้งหมดนี้ เป็นเพราะกรรมของสัตว์นั้นๆเอง
หาใช่สิ่งอื่นใดไม่ ที่ทำให้เกิดเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ในโลกนี้และโลกอื่นทุกๆ โลก ความเห็นแจ้งในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า
จุตูปปาตญาณ
และในที่สุด สิ่งสุดท้ายและใหญ่ยิ่งที่พระองค์ได้ทรงประสพ
ในคืนอันสำคัญนั้น คือพระองค์ได้ทรงทราบและได้ทรงเห็นอย่างชัดแจ้ง
ปราศจากความสงสัยอย่างสิ้นเชิง
ว่ามันไม่เป็นการถูกต้องปลอดภัยแต่อย่างใด
ในการที่มนุษย์เราจักปล่อยชีวิตนี้
ให้เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
และว่าไม่เป็นความดีแต่อย่างใด
ในการที่มนุษย์เราจำต้องเป็นผู้ซึ่งประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ ขึ้นๆ
ลงๆ เหมือนเรือลำน้อยๆ ลอยไปในทะเลอันมีคลื่นลม
พระองค์ได้ทรงทราบว่า เหตุซึ่งทำให้คนเราเกิดมา
เพื่อกระโจนขึ้นกระโจนลง ไปตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้นั้น
เป็นเพราะคนเหล่านั้นหลงรักและหลงติดในความสุขอันเป็นมายา
ซึ่งเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งเป็นคราวในโลกนี้
พระองค์ได้ทรงเห็นว่า
สรรพสัตว์ติดอยู่ในบ่วงของการเรียนเกิดในโลกนี้เหมือนเนื้อติดบ่วง
เพราะมันละโมบในเหยื่อเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาวางไว้ล่อมัน
และพระองค์ได้ทรงทราบอีกว่า
ถ้าคนเราไม่ประสงค์จะติดอยู่ในบ่วงของการเกิดเช่นนี้แล้ว
ก็มีหนทางทางเดียวเท่านั้น
กล่าวคือการดับเสียซึ่งความตะกลามต่อความเพลิดเพลินทุกๆ
อย่างที่เขาได้พบได้เห็น และไม่ปล่อยตัวให้ตกจมลงไปในสิ่งซึ่งยั่วยวน
และไม่ปล่อยใจให้ทะเยอทะยานไปตามสิ่งที่โลกนี้มีไว้ยั่วมนุษย์
และต่อจากนั้น
พระองค์ได้ทรงทราบถึงหนทางซึ่งเมื่อบุคคลใดได้ปฏิบัติตามถึงที่สุดแล้ว
จะสามารถทำตนให้หลีกห่างจากความทะเยอทะยานและความหมกจมอยู่ในอารมณ์แห่งความยั่วยวนเหล่านั้นได้
เพราะเขาจะได้พบและพอใจในสิ่งซึ่งดีกว่าและสูงกว่า ซึ่งหลังจากนั้นแล้ว
เขาจักไม่หมุนกลับมาพอใจในโลกที่มีเพียงสิ่งยั่วยวน
และเป็นโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง
ความทุกข์ทรมานและความสุขที่เป็นมายาเช่นนั้นอีก
แต่จะสามารถลุถึงความสุขอันจริงแท้และถาวร กล่าวคือ พระนิพพาน
มรรคหรือหนทาง อันนี้ พระองค์ทรงเรียกว่า ทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดเพราะเป็นหนทางที่ดำเนินโดยบุคคลผู้มีความมุ่งหมายและความปรารถนาต่อสิ่งที่ประเสริฐ
และเป็นหนทางที่ประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบแปดประการ
ความเห็นในสิ่งทั้งสี่คือ ความทุกข์ มูลเหตุของความทุกข์
การดับมูลเหตุของความทุกข์ และวิธีดับมีองค์แปด เหล่านี้รวมเรียกว่า
อาสวักขยญาณ
ส่วนประกอบประการที่หนึ่ง ของหนทางอันประเสริฐประกอบไปด้วย
องค์แปดประการ ซึ่งจักดำเนินไปให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายทุกชนิด
ตามที่พระองค์ทรงสอนนั้นเรียกว่า
สัมมาทิฏฐิ
คือความเห็นหรือเข้าใจอันถูกต้อง
ความเห็นอันถูกต้องนี้หมายถึงเห็นทุกสิ่งๆ ในโลกนี้
แม้กระทั่งความเป็นอยู่ของผู้นั้นเองว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ไม่มีความเป็นแก่นสารและความถาวรที่แท้จริง
และมีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ทรมานอย่างเดียว
ถ้าหากเราไปหลงติดพันมันอย่างใกล้ชิด ความเห็นอันถูกต้องนี้
ยังหมายความไปถึงการเห็นว่า การทำความดีย่อมนำไปสู่ความสุข
และการทำความชั่วย่อมนำไปสู่ความทุกข์เสมอไป ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
ส่วนประกอบประการที่สอง
ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้นเรียกว่า
สัมมาสังกัปปะ
คือความมุ่งหมายอันถูกต้อง ความมุ่งหมายอันถูกต้องนี้
หมายถึงเมื่อได้เห็นสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งในโลกนี้ว่าเป็นอย่างไรโดยแท้จริง
แล้วก็ถอยห่างออกมาเสียจากการเข้าไปมัวเมาคลุกคลีอย่างหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น
ความมุ่งหมายอันถูกต้องนี้ยังหมายถึงความไม่มุ่งจะทำร้ายเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งล้วนแต่กำลังหลงใหลอยู่ในโลกนี้จนได้รับความทุกข์อยู่ทั้งกายและทางใจ
แต่มุ่งหมายในอันที่จะรักใคร่และสงสาร
แล้วช่วยเหลือเพื่อสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากทุกข์ซึ่งเขากำลังได้รับอยู่ให้สุดความสามารถที่จะช่วยได้
ส่งประกอบประการที่สาม ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้นคือ
สัมมาวาจา
ได้แก่
การพูดจาที่ถูกต้อง หมายถึงการพูดจริง พูดไพเราะ
พูดให้เกิดความรักใคร่สามัคคี และพูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็หมายถึงการเว้นจากการพูดเท็จ พูดหยาบคาย
พูดยุยงให้แตกร้าวและพูดอย่างเขลาๆ ไร้สาระ
ส่วนประกอบประการที่สี่ ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น
เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
หรือการกระทำที่ถูกต้อง หมายถึงการเว้นเสียจากการฆ่า การลักขโมย
การล่วงเกินของรักของผู้อื่น และการดื่มน้ำเมา
ซึ่งทำให้ผู้ดื่มไร้สติจนถึงกับทำสิ่งต่างๆ ซึ่งใครๆ ก็ไม่ปรารถนาให้ทำ
ส่วนประกอบประการที่ห้า ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น คือ
การเลี้ยงชีวิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมาอาชีวะ
หมายถึงการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตโดยวิธีที่ไม่ทำอันตรายให้เกิดขึ้นแก่บุคคลใดๆ
หรือสัตว์ใด
ส่วนประกอบประการที่หก ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น คือ
ความพากเพียรอย่างถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมาวายามะ
หมายถึงการพยายามบังคับความคิดนึกและความรู้สึกไม่ให้เกิดความคิดชั่ว
ทำชั่วขึ้นในตน
การพากเพียรทำความคิดชั่วและทำชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้สิ้นไป
และยังหมายถึงการพากเพียรทำให้เกิดความคิดที่ดีและการกระทำที่ดีขึ้นในตน
และการพากเพียรรักษาความดีเหล่านั้น ให้ยังคงมีอยู่
หรือให้แน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น
ส่วนประกอบประการที่เจ็ด ของหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดประการนั้น
ได้แก่ ความระลึกอย่างถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมาสติ
หมายถึงการระลึกหรือสำนึกไว้อย่างไม่มีลืมว่าร่างกายของเรานี้
โดยแท้จริงแล้ว คืออะไร เป็นอย่างไร และเพียงเท่าใด
เพื่อไม่หลงสำคัญผิดให้ดีกว่าหรือเกินกว่าความเป็นจริงของมัน
และหมายถึงความระลึกไว้อย่างถูกต้องว่า
การเคลื่อนไหวและการกระทำหรือหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายนี้
ก็เป็นการเคลื่อนไหวการกระทำแลหน้าที่ของมัน
ซึ่งจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น เมื่อเกิดผลอันใดขึ้น
อย่าได้หลงสำคัญผิด หลงรักหลงชังให้มากไปกว่านั้น
ความรู้สึกอย่างถูกต้องนี้
ยังหมายถึงความระลึกว่าจิตของเรานั้นเป็นสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งในทางความคิดและความรู้สึก
รุดหน้าเรื่อยไป ไม่มีหยุด หรือไม่ซ้ำกันแม้เพียงอย่างเดียว
และในขั้นสุดท้าย ยังหมายถึงการระลึกไว้โดยไม่มีการหลงลืม
ในข้อปฏิบัติมีอันดับต่างๆ กัน ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้แก่เรา
เพื่อปฏิบัติและกระทำจิตให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ผูกมัดห่อหุ้ม
จนกระทั่งลุถึงความเอาตัวรอดได้อย่างสมบูรณ์ อันเรียกว่า พระนิพพาน
ส่วนประกอบประการที่แปด
อันเป็นประการสุดท้ายของมรรคมีองค์แปดนั้นหมายถึง
ความดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องอันเรียกว่า สัมมาสมาธิ
ได้แก่การไม่ปล่อยใจของเราให้ฟุ้งไปตามที่มันอยากจะฟุ้ง
แต่จักควบคุมมันไว้ให้มั่นคงในสิ่งที่เราเห็นว่ามันควรจะดำรงอยู่ในสิ่งนั้น
จนกระทั่งเกิดผลเป็นความรู้ หรือความเข้าใจอันถูกต้อง
ในสิ่งซึ่งเราประสงค์จะรู้หรือจะเข้าใจ
หรือเพื่อกระทำให้เป็นผลสำเร็จในสิ่งที่เราประสงค์จะทำ
ทั้งหมดนี้
คือส่วนประกอบแปดประการของหนทางอันประเสริฐอันประกอบด้วยองค์แปด
ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะโคตมะ
ผู้ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นพระพุทธเจ้าไปแล้วนั้น
ได้ทรงค้นพบที่โคนแห่งต้นโพธิ์ ในตำบลอุรุเวลา เมื่อ 2,500
กว่าปีมาแล้ว
ส่วนประกอบ 3 ประการในเบื้องปลาย คือความพากเพียรอย่างถูกต้อง
ความระลึกอย่างถูกต้อง
และความดำรงจิตไว้อย่างถูกต้องนั้นมีความหมายกว้างไปถึงกับว่า
ผู้ที่จะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด
จักต้องกระทำจนสุดกำลังความสามารถของตน
จนถึงกับสละเหย้าเรือนออกบวชเป็นภิกษุ
จึงจะมีโอกาสกระทำได้อย่างสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตามคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือไม่
ล้วนแต่สามารถประพฤติในหลักธรรม 3 ข้อนี้
ในอัตราที่พอเหมาะแก่ความเป็นอยู่ของตนได้ทุกๆ คน ตามมากตามน้อย
ตามความหมายแห่งข้อธรรมนั้นๆ ดังที่กล่าวแล้ว
สำหรับหลักธรรม 2 ข้อข้างต้น
คือความเห็นอันถูกต้องและความมุ่งหมายอันถูกต้องนั้นก็เหมือนกัน
จะทำให้ดีถึงที่สุดได้ ก็เฉพาะบุคคลผู้ซึ่งได้พยายามเป็นปีๆ
ในการฝึกและการเจริญสมาธิภาวนา
จนกระทั่งเข้าใจและเห็นแจ้งในความจริงของสิ่งทั้งปวง
โดยทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเห็น
ถึงกระนั้นคนทุกคนไม่ว่าจักเป็นใคร ล้วนแต่ควรพยายามประพฤติในหลักธรรม
2 ข้อนี้ ตามมากตามน้อยเท่าที่ตนจะพึงกระทำได้เช่นเดียวกัน
ในบางครั้งเขาจะเห็นว่าสิ่งทุกสิ่งรอบตัวเขา
มิได้สวยงามน่ารักดังที่มันปรากฏแก่เขา
และในบางคราวเขาจักเกิดความแน่ใจว่า
วันหนึ่งเขาจะละทิ้งสิ่งซึ่งเป็นมายาต่างๆ ในโลกนี้
และหันไปสนใจกับสิ่งซึ่งดีกว่า เจริญกว่า และถาวรกว่า
นั้นได้เป็นแน่แท้
แต่สำหรับหลักธรรม 3 ประการ
ในตอนกลางของมรรคมีองค์แปดประการนั้น
เป็นหลักธรรมซึ่งบุคคลทุกประเภทสามารถประพฤติปฏิบัติได้
เต็มความสามารถของตน
ทุกคนควรพยายามประกอบอาชีพที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลผู้ใด
ทั้งโดยทางกายและทางวาจา ทุกๆ คนควรพยายามและสามารถที่จะพยายาม
เพื่อจะหลีกเลี่ยงเสียจากการพูดชั่วและทำชั่ว
และแล้วเขาจะได้รับผลตอบแทนอย่างเพียงพอ
เพราะเท่ากับเป็นการแผ้วถางหนทางของตนเองเพื่อในวันหนึ่งเขาจะสามารถควบคุมความคิดและฝึกจิตของตน
จนกระทั่งลุถึงวิชชาและความเห็นแจ้งอันแท้จริง
อันเป็นวิชชาและความเห็นแจ้งซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและทรงสอนไว้
ซึ่งทรงเรียกว่า ปัญญา (ญาณ)
เมื่อเขาได้ลุถึงปัญญาอันแท้จริงเช่นนี้แล้ว
จิตก็จะไม่ยึดถือพัวพันหลงใหลในสิ่งใดๆ ในโลกไหนๆ อีกต่อไป
และเพราะไม่ยึดถือเช่นนี้ จิตก็จักไม่ก่อให้เกิดนามและรูป (ใจและกาย)
ขึ้นในโลกไหนๆ ข้อนี้หมายความว่าเมื่อไม่มีการเกิดมาในโลกแล้ว
ก็ไม่มีความทุกข์ทรมานใดๆ ชนิดที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เกิดมาในโลก
ปรากฏขึ้นอีกต่อไป
และความทุกข์ทั้งปวงก็ถึงที่สุดและดับหมดไปไม่มีเหลือ
สิ่งนี้แหละ พระพุทธองค์ทรงค้นพบที่โคนแห่งต้นโพธิ์
คือพระองค์ทรงค้นพบหนทางอันประเสริฐอันประกอบด้วยองค์แปดประการ
ได้แก่ความเห็นอันถูกต้อง ความมุ่งหมายอันถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง
การกระทำอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง ความพากเพียรอันถูกต้อง
ความระลึกอันถูกต้อง และความดำรงจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้
ยังสรุปเรียกโดยชื่ออื่นได้อีกว่า แนวทางปฏิบัติ 3 ประการ
คือการประพฤติทางกาย วาจา และการอบรมจิตจนเกิดความรู้แจ้ง
หรือเรียกโดยภาษาบาลีว่า ศีล สมาธิ ปัญญาดังนี้
กำเนิดพระสิทธัตถะ
วัยกุมาร
ในวัยรุ่น
ในวัยหนุ่ม
ความเบื่อหน่าย
การสละโลก
พระมหากรุณาธิคุณ
ความพยายามก่อนตรัสรู้
ประสพความสำเร็จ
ทรงประกาศพระธรรม
สิงคาลมาณพ
สารีบุตรและโมคคัลลานะ
เสด็จกบิลพัสดุ์
พุทธกิจประจำวัน
พระนางมหาปชาบดี
ปาฏิหาริย์
พระพุทธดำรัส
ความกรุณาของพระพุทธองค์
เทวทัต
ปรินิพพาน