ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

พระวินัยปิฎก
พระสุตตันตปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก
พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระสูตร

พระสูตร พรหมชาลสูตร

เรื่อง สุปปียปริพาชกกับพรหมทัตตมานพ

เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔

[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จึงบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ

๕. (๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้กลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่าง ครั้งนั้นสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสันความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุ หรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหม เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มขี่ได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า เราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว แม้สัตว์ที่เกิดภายหลัง ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้แลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มขี่ได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า พวกเราได้เห็นพระพรหมผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นมีอายุยืนกว่า มีผิวพรรณกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้วก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั่งมั่น อาศัยการประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มขี่ได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พระพรหมผู้เจริญใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยงยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

[๓๒] ๖. (๒) อนึ่ง ในฐานะที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกนั้นพากันหมกหมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการ เล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม จึงพากันจุติจากชั้นนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั่งมั่น อาศัยการประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพวกเทวดาผู้มิใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกนั้นไม่พากันหมกหมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมไม่หลงลืม เพราะสติไม่หลงลืม พวกเหล่านั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

[๓๓] ๗. (๓) อนึ่ง ในฐานะที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่ามโนปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นมักเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันเกินควร ย่อมคิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกายลำบากใจ พากันจุติจากชั้นนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้ว มาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั่งมั่น อาศัยการประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพวกเทวดาผู้มิใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวเพ่งโทษกันเกินควร ย่อมไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงไม่ลำบากกาย ไม่ลำบากใจ พวกนั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราได้เป็นพวกมโนปโทสิกะ มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันเกินควร ก็คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกาย ลำบากใจ พากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

[๓๔] ๘. (๔) อนึ่ง ในฐานะที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด กล่าวแสดงปฏิญาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรียกว่าจักษุก็ดี โสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอันแปรผันเป็นธรรมดา ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือใจ หรือวิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จะบัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฯลฯ เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ฯลฯ ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคต ตามความเป็นจริงโดยชอบ

- จุลศีล
- มัชฌิมศีล
- มหาศีล ติรัจฉานวิชา
- ทิฏฐิ ๖๒
- ปุพเพนิวาสานุสสติ
- สัสสตทิฏฐิ ๔
- เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔
- อันตานันติกทิฏฐิ ๔
- อมราวิกเขปีกทิฏฐิ
- อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒
- อปรันตกัปปีกทิฏฐิ
- สัญญีทิฏฐิ ๑๖
- อสัญญีทิฏฐิ ๘
- เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ ๘
- อุจเฉททิฏฐิ ๑๘
- ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ ๕
- ฐานะของผู้ถือทิฏฐิ


กัจจานโคตตสูตร
เกสปุตตสูตร
กุตุหลสาลาสูตร
โกกนุทสูตร
ขันธ์สังยุต ทิฏฐิวรรค
เขมาเถรีสูตร
จูฬกัมมวิภังคสูตร
จูฬมาลุงโกยวาทสูตร
ตตถสูตร
ติมพรุกขสูตร
ทิฏฐิกถา
ทิฏฐิสังยุต จตุตถเปยยาล
ทิฏฐิสังยุต ตติยเปยยาล
ทิฏฐิสังยุต ทุติยเปยยาล
ทิฏฐิสังยุต โสตาปัตติวรรค
ทิฏฐิสูตร
ปรัมมรณสูตร
ปัญจัตตยสูตร
โปฏฐปาทสูตร
พรหมชาลสูตร
ภัททิยสูตร
โมคคัลลานสูตร
โรหิตัสสสูตรที่ ๑
วัจฉสูตร
สภิยสูตร
สามัญญผลสูตร
สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๑
สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๒
สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๓
สารีปุตตโกฏฐิตสูตร ที่ ๔
สาฬหสูตร
อนันทสูตร
อนุราธสูตร
อัคคิวัจฉโคตตสูตร
อุตติยสูตร
อเจลกัสสปสูตร

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม