สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
4 สังฆาธิปไตย
4.1.คำนิยาม
4.2.อุดมการณ์
4.3.หลักการ
4.4.อำนาจ
4.5.พระราชอำนาจ
4.6.บทลงโทษ
4.3.หลักการ
ระบอบการปกครองทุกระบอบย่อมมีหลักการเพื่อที่จะให้เห็นว่านี้คือรูปแบบที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าหลักการของสังฆาธิปไตยกับหลัการของประชาธิปไตยนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก ไม่ว่าจะหลักการใดใดจะหยิบเอาของอีกระบอบหนึ่งมาให้ก็ตาม ซึ่งมีลักษณะของหลักการที่มีอยู่ ดังต่อไปนี้
ก.หลักความเสมอภาค (Equality)
ในการรับสมาชิกใหม่ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นวรรณะกษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์ และศูทร์ หรือวรรณะไหน ๆ ก็ตาม เมื่อเข้ามาในพระพุทธศาสนาโดยผ่านการอุปสมบทแล้ว บุคคลนั้นก็จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า ศากยบุตร เหมือนกันทุกคน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าพระพุทธศาสนามีหลักแห่งความเสมอภาค โดยไม่ได้ยอมรับนับถือคนที่ชาติตระกูล ดังคนอินเดียยุคนั้นที่ถือวรรณะเป็นยิ่งกว่าชีวิต แต่ทุกคนมีความเท่าเทียมกันกันหมด แต่มีการยอมรับนับถือกันตามหลักอาวุโส-ภันเต (บวชก่อน-หลัง) คือใครบวชเข้ามาก่อนย่อมถือว่าเป็นพี่ ศัพท์ภาษาบาลีว่า ภันเต แปลว่าท่านผู้เจริญ ส่วนผู้ที่บวชเข้ามาทีหลังย่อมเป็นน้อง ศัพท์ภาษาบาลีว่า อาวุโส แปลว่าท่านผู้มีอายุ ไม่ว่าจะอายุมากน้อยเท่าไหร่ไม่สำคัญ ให้นับพรรษา หรือจำนวนปีที่เข้ามาบวชเป็นหลัก
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่าอาวุโส ในภาษาไทยให้ความหมายว่าเป็นผู้ที่มีอายุกาลมากกว่า ซึ่งตรงข้ามกับภาษาบาลีคำว่าอาวุโส หมายถึงภิกษุผู้อ่อนกว่า ซึ่งคนไทยหยิบยืมมาใช้แล้วก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางด้านภาษาอยู่มิใช่น้อย
ข.หลักสิทธเสรีภาพ (Rights and Liberty)
เมื่อบุคคลเข้ามาบวชแล้วการทำกิจภาระเพื่อให้ตนได้บรรลุธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของภิกษุ
รูปนั้น ๆ พระพุทธเจ้า หรือพระอุปัชฌาย์เป็นแต่เพียงชี้แนวทางให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์เท่านั้น จึงจำเป็นที่ภิกษุรูปนั้นจะต้องพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐานแห่งความเป็นพระหรือสมณภาวะ และสิ่งเหล่านี้เองที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของภิกษุรูปนั้น ๆ ว่าจะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ได้มรรคผลระดับใด เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือกลุ่มหรือไม่ อยู่ที่การฝึกฝนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีใครบังคับขู่เข็ญ
ซึ่งภิกษุรูปดังกล่าวอาจจะยกตนเองจากคนที่เป็นสามัญสัตว์ที่ไม่มีความแตกต่างจากสัตว์
ทั่วๆ ไป สู่การเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจที่สูงขึ้น และพัฒนาการจากมนุษย์จนได้เป็นพระอริยบุคคล
โดยมีลำดับอยู่ 4 คู่ 8 ลำดับชั้นดังนี้
- คู่ที่หนึ่ง พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล
- คู่ที่สอง พระสกิทาคามิมรรค พระสกิทาคามิผล
- คู่ที่สาม พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล
- คู่ที่สี่ พระอรหันตมรรค พระอรหันตผล
ค.หลักภรดรภาพ (Fraternity)
หลักภรดรภาพที่ทุกอย่างย่อมมีความเกี่ยวดองและเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไม่ทางใด
ก็ทางหนึ่ง หลักการมองแบบนี้เรียกว่า หลักปฏิจจสมุปบาท อันบ่งชี้ให้เห็นว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงเกิด เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นจึงไม่เกิด หรือถ้าจะสรุปให้เห็นง่าย ๆ ก็คือทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ให้เบียดเบียนทำร้ายสัตว์ ก็เพราะว่ามนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอีกไม่รู้กี่ชาติ ๆ เช่นในชาตินี้เราอาจเป็นเพื่อนกัน เป็นคู่แค้นกัน แต่ในชาติที่แล้วเราอาจจะเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นภรรยา สามี เป็นลูก เป็นหลาน แล้วชาติต่อ ๆ อาจจะเป็นเพียงคนรู้จักกัน หรือสนิทกัน ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมาทำร้าย เบียดเบียนเข่นฆ่ากันเพราการที่คนเรามาคลุกคลีเดี่ยวข้องกันในชาติปัจจุบันนี้ก็ล้วนแล้วแต่เคยผูกพันเป็นญาติกันมาก่อน ทั้งนี้พระพุทธศาสนาเองได้แสดงหลักการใหญ่แห่งภราดรภาพหรือเอกภาพไว้โดยที่หลักการใหญ่นี้ครอบคลุมความเป็นอยู่และการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของเสรีภาพและสมภาพเอาไว้ในตัว ให้มีความหลากหลายที่โยงกันได้ในระบบที่ประสานเป็นหนึ่งเดียว หลักการหรือหลักธรรมนี้เรียกว่า สาราณียธรรม ที่แปลว่าธรรมเป็นเครื่องระลึกถึงกัน โดยมีความหมายทำนองเดียวกับภราดรภาพ เป็นหลักการที่ทำให้เกิดความประสานพร้อมเพรียงสามัคคีและผนึกรวมกันเป็นเอกีภาพ
หลักการดังที่กล่าวมานี้เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แม้โลกทั้งโลกในที่สุดก็มาจากสายตระกูลเดียวกัน นั้นก็หมายความว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน มีศีลเสมอกัน มีวัตรปฏิบัติเหมือน ๆ กัน เป็นต้น
ง.หลักเสียงส่วนมาก
หลักการนี้ใช้ในสังฆกรรมต่าง ๆ เมื่อขอญัตติกล่าวคือภิกษุทุกรูปมีสิทธิในการออกเสียงได้
1 เสียงเท่ากัน ไม่เลือกระดับชั้น ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นนวกะ, มัชฌิมะ, เถระ หรือแม้กระทั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ก็ตาม ทุกรูปมีสิทธิเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็นทั้งยอมรับโดยการเปล่งเสียงว่า สาธุ หรือว่าใช้วิธีดุษฎียภาพ คือนิ่งเสียถ้าไม่เห็นด้วยก็ทักท้วงคัดค้านในการลงมตินั้น ๆ ได้ เรียกว่าได้รับเสียงข้างมาก หรือหลายกรณีได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมในการอุปสมบทก็ดี ในเรื่องของกฐินก็ดี ในเรื่องของสีมาก็ดี ฯลฯ
ถึงอย่างไรก็ตามการใช้มติเอกฉันท์ไม่ได้เป็นไปในทุกกรณีกล่าวคือเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นสองฝ่ายก็ต้องหาทางระงับโดยวิธีการจับฉลาก หรือที่ตรงกับการลงคะแนนเพื่อดูว่าเสียงข้างมากไปทางไหนก็จะตัดสินให้เป็นไปตามเสียงข้างมากนั้น วิธีการนี้เรียกว่า เยภุยยสิกา คือการถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ