ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารมอญพม่า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21
หน้า 15 >>>
กองทัพรามัญได้เมืองปรอนแล้ว ก็แยกกันทั้งทัพบกทัพเรือ ตีหัวเมืองพม่าฟากตะวันออกของแม่น้ำเอราวดีขึ้นมา คอยกันหัวเมืองฟากตะวันตกไว้ ไม่ให้เข้ามาช่วยเมืองฟากตะวันออกได้ พวกรามัญตีหัวเมืองฟากตะวันออกได้สิบหัวเมือง แล้วไปตั้งทัพที่เมืองจาเล ทางแต่เมืองจาเลถึงเมืองปะกันประมาณสามวัน
พระมหาอุปราชา ยกกองทัพเรือข้ามไปตีค่ายฟากตะวันตกตรงเมืองปะกันข้าม เจ้าเมืองปะกันต้านทานไม่อยู่พากันแตกข้ามมาเมืองปะกัน ฝ่ายรามัญให้เร่งกองทัพบกยกไปตีเมืองปะกัน ฟากตะวันออกให้ได้
พระเจ้ามังลาวะมินทราบข่าว การรบจึงตรัสปรึกษาการสงครามกับขุนนางทั้งปวงตกลงให้คิดตัดกองทัพเรือเสบียงของรามัญเสีย จึงตรัสสั่งให้อะตองหวุ่นมหาเสนาบดีอันเป็นพนักงานว่าข้างทิศใต้ ให้เกณฑ์คนหมื่นหนึ่ง ยกข้ามไป ณ เมืองจะเกิง เดินทัพไปทางฟากตะวันตก ยกลงไปถึงเมืองจะเป็นตรงหน้าเมืองปะกันแงข้ามเตรียมเรือรบเรือไล่ให้พร้อม คอยตีสกัดตัดลำเลียงกองเสบียงรามัญ แต่ถูกกองทัพรามัญซุ่มตีแตกกลับไป
พระมหาอุปราชาตีทัพอะตองรุ่นแตกกลับไปแล้ว ก็ยกกองทัพเรือข้ามมารบกระหนาบเข้าข้างด้านริมน้ำ แล้วขึ้นบกยกหนุนเข้าไปใกล้เชิงกำแพงเมืองปะกัน มังมหาราชาเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้ได้ ก็ชวนเจ้าเมืองปะกันเปิดประตูเมืองด้านเหนือตีฝ่ากองทัพรามัญออกไป แล้วหนีไปเมืองอังวะ กองทัพรามัญได้เมืองปะกันแล้วก็ยกขึ้นมาตีเมืองตะลูมะยู ได้เมืองแล้วก็ยกกำลังขึ้นมาตั้งล้อมเมืองอังวะไว้ ขณะนั้นมอญกับพม่าฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมาก ในเมืองอังวะนั้นข้าวแพงนักคิดเป็นเงินไทยทนานละบาทมีเศษ พวกรามัญล้อมเมืองอยู่สามเดือนเศษ ยังหักเอาเมืองไม่ได้
พระเจ้าอังะ ตรัสสั่งให้ประชุมขุนนาง แล้วตรัสว่าแผ่นดินพุกามประเทศคิดตั้งแต่พระเจ้าอะนอรมามังฉอเป็นใหญ่ในเมืองตะกอง ซึ่งเป็นเมืองหลวงแต่ก่อนนั้น ไม่เคยเสียแก่กษัตริย์องค์ใด ขณะนั้นพุกามประเทศผู้คนยังน้อย บ้านเมืองยังไม่มั่นคง พวกเงี้ยว พวกไทยใหญ่ อยู่ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือยกมาเบียดเบียนอยู่เนือง ๆ กษัตริย์วงศ์นั้นก็ได้ปราบปรามจนราบคาบ ครั้น จ.ศ.25
พระเจ้าอลังคจอสูผู้เป็นใหญ่ในเมืองปะกันอันเป็นเมืองหลวงครั้งนั้น
ก็ยกลงไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวง ให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น ครั้งนั้นภุกามประเทศกว้างใหญ่ไพศาล
ข้างทิศเหนือกระทั่งแดนจีนเป็นกำหนด ข้างทิศใต้ตลอดจนทะเล จ.ศ.649 มกะโทคิดขบถตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในรามัญประเทศ
สืบวงศ์มาถึงพระยาสีหราชาธิราช เป็นกษัตริย์ในรามัญประเทศเข้มแข็งนัก
ได้ยกกองทัพขึ้นมาทำสงครามในภุกามประเทศ ขณะนั้น
พระเจ้ามณเฑียรทองผู้เป็นใหญ่ในเมืองอังวะ ก็ได้ทำสงครามป้องกันแผ่นดินไว้
ไม่ให้รามัญชิงไปได้ ครั้งนั้น รามัญประเทศไม่อยู่ในอำนาจพม่า
ได้เป็นประเทศใหญ่มาจนถึง จ.ศ.901 จึงมีพระมหากษัตริย์
ผู้เป็นพระอัยกาทวดของเราทรงพระนามว่าพระเจ้าฝรั่งมังโสดถิ์
จึงยกกองทัพไปปราบปรามรามัญประเทศได้ทั้งสิ้นครั้นถึงพระเจ้าฝรั่งมังตรีผู้เป็นพระโอรสก็ยิ่งมีบุญมากกว่าพระบิดา
เที่ยวปราบปรามกษัตริย์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจสิ้นแล้วก็เป็นใหญ่ในภุกามประเทศ
รามัญประเทศ สยามประเทศ มลาวประเทศได้มาเป็นเขตแดนเมืองอังวะทั้งสิ้น
ครั้นถึงพระเจ้าน่านกะยอผู้เป็นโอรส ทำสงครามกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาก็เสียรามัญประเทศกลับเป็นเขตแดนของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยา
ครั้นถึง จ.ศ.965 พระอัยกาคนหนึ่งของเราทรงพระนาม พระเจ้าปราสาททองกลดแก้ว ยกทัพไปปราบปรามรามัญประเทศทั้งปวงได้แล้ว เสด็จไปครองราชย์ในเมืองหงษาวดี สืบวงศ์มาได้สามองค์จึงถึงพระเจ้ามังรายกะยอของได้ครองราชย์ในเมืองอังวะ จนถึง จ.ศ.1024 พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาให้เสนาบดียกกองทัพมาตีรามัญประเทศได้ แล้วล่วงขึ้นมาในภุกามประเทศนี้ ตีได้หัวเมืองขึ้นมาจนถึงเมืองปะกัน หักเอาไม่ได้ก็ล่าทัพกลับไป ต่อมามังรายกะยอของผู้เป็นอัยกาของเรา คิดอ่านเอารามัญประเทศมาไว้ในอำนาจได้เหมือนก่อน มาถึงบิดาของเราก็ยังรักษาภุกามประเทศ และรามัญประเทศไว้เป็นปรกติได้มาบัดนี้ตั้งแต่ จ.ศ.1104 ถึง 1114 เกิดความฉิบหายต่าง ๆ เห็นว่าวาสนาเราสิ้นแล้ว ถ้าจะปิดประตูเมืองนิ่งขึงอยู่ไพร่บ้านพลเมืองก็จะพากันฉิบหายตายเสียสิ้น เราคิดจะเปิดประตูเมืองปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาโดยดี แต่จะขอสัญญา อย่าให้เบียดเบียนราษฎรทั้งปวงเลย