ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารมอญพม่า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21
หน้า 17 >>>
อองไชยะมังลอง ให้มองระผู้บุตรเป็นทัพหน้า ผู้บิดาเป็นทัพหลวง มีกำลังพลสามพันยกมาล้อมเมืองอังวะ ได้ต่อสู้กันอยู่ห้าวัน สมิงตะละปั้นก็แตกหนีออกจากเมืองอังวะ ถอยไปตั้งอยู่ที่เมืองปรอนใต้เมืองอังวะลงมาเจ็ดคืน แล้วมีหนังสือบอกมาให้กราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ รับสั่งให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพบก สมิงตะละปั้นเป็นแม่ทัพเรือ ยกกำลังไปล้อมเมืองอังวะ
จ.ศ.1115 เดือนห้า กองทัพรามัญยกมาติดเมืองอังวะ ได้รบกับพวกพม่าเป็นสามารถ จ.ศ.1116 เดือนหก กองทัพรามัญแตกถอยไปตั้งอยู่เมืองปรอน ในเดือนเจ็ด กองทัพมอญแตกถอยไปตั้งอยู่ ณ เมืองร่างกุ้ง อองไชยะมังลอง จึงให้มองระเป็นทัพหน้ายกมาตีเมืองร่างกุ้ง แต่ตัวอองไชยะมังลองตั้งมั่นอยู่เมืองปรอน
ขณะนั้น สมิงธอกวยอาศัยอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ทราบเรื่องจึงปรึกษาราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ ชักชวนพวกพ้องหนีพระเจ้าเชียงใหม่ไปเข้าหาอองไชยะมังลอง ณ เมืองปรอน ขออาสาเป็นทัพหน้ายกไปตีเมืองหงษาวดี จากนั้นก็พาภรรยากับพวกพ้องรามัญกับลาวประมาณร้อยเศษ ออกจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อ จ.ศ.1116 เดือนสี่ตัดทางไปข้างด้านตะวันตก ข้ามแม่น้ำกั้นแดนเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า แม่น้ำสลอน ลาวเรียก แม่น้ำคง เข้าไปในแดนเมืองตองอู
พม่าพวกอองไชยะมังลองตรวจด่านพบสมิงธอกวย และพวกจึงจับไปเมืองปรอน สมิงธอกวยให้การแต่หนหลังแก่อองไชยะมังลองทุกประการ อองไชยะมังลองทราบเรื่องแล้วจึงเลี้ยงไว้เป็นทหาร สมิงธอกวยอาสาเป็นทัพหน้ายกลงไปตีเมืองหงษาวดี แต่อองไชยะมังลองยังไม่ไว้ใจ จึงให้พาสมิงธอกวยและพวกพ้องไปคุมไว้ที่ค่ายมุกโชโบ ให้มังลอกบุตรชายคนใหญ่ดูแลไว้ สมิงธอกวยก็อยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นชีวิต
มองระบุตรอองไชยะมังลอง ลงมารบกับรามัญที่เมืองร่างกุ้ง ตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด ถึงปี จ.ศ.1117 เดือนหกก็ได้เมืองร่างกุ้ง พวกรามัญก็ถอยไปอยู่เมืองเสรี่ยง มองระจึงยกไปติดเมืองเสรี่ยงไว้แต่เดือนเจ็ด ตั้งรบกันอยู่ถึงเดือนสิบเอ็ดก็ได้เมืองเสรี่ยง มังลองก็ยกกองทัพมาจนถึงชานเมืองหงษาวดี ให้ตั้งค่ายประชิด จะหักเอาเมืองหงษาวดีให้จงได้ พระเจ้าหงษาวดีเห็นเหลือกำลัง จึงให้ขุนนางออกไปเจรจาความเมือง จะขอเป็นไมตรีต่อกัน จะถวายพระธิดาแล้วยอมเป็นเมืองขึ้น มังลองจึงให้งดการสงครามไว้ ในเดือนสี่ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ขุนนางรามัญนำพระบุตรี และเครื่องราชบรรณาการออกมาถวายมังลอง ส่วนพระมหาอุปราชา พระยาทะละสมิงตะละปั้น ไม่เต็มใจขึ้นแก่มังลอง ครั้นเวลากลางคืนก็ลอบออกมาตีค่ายมังลองแตก ประมาณสามส่วนสี่ส่วน มังลองโกรธนัก ว่าเจ้าเมืองหงษาวดีเสียสัตย์ ให้เร่งยกเข้าหักเอาเมืองให้จงได้
พระเจ้าอังวะเห็นว่า รามัญจะสู้พม่ามังลองไม่ได้ ก็ทุกข์ตรอมใจประชวรลง และสิ้นพระชนม์ในเดือนหก จ.ศ.1118 พม่าล้อมเมืองหงษาวดีประมาณปีกึ่ง ไพร่พลได้ความอดอยากลำบากนัก จึงนัดหมายเป็นใจด้วยพม่าบ้างก็ลอบจุดไฟขึ้นในเมือง บ้างก็หย่อนเชือกใหญ่ลงมารับกองทัพพม่าเข้าไปในเมือง
จ.ศ.1119 เดือนหก แรมห้าค่ำเพลาสองยาม เมืองหงษาวดีก็แตก เมื่อกองทัพมังลองเข้าเมืองได้ก็เที่ยวริบราชบาทว์ชาวบ้านชาวเมืองเก็บเอาพัสดุเงินทองสิ่งของต่าง ๆ มารวบรวมไว้เป็นอันมาก มังลองจึงให้พิจารณาโทษพระเจ้าหงษาวดี พระยาอุปราชา พระยาทะละว่าเป็นขบถประทุษร้ายต่อพระเจ้าอังวะ ชวนกันไปชิงราชสมบัติ จนกรุงอังวะพินาศฉิบหาย ขุนนางทั้งหลายเห็นว่าควรตัดศีรษะเสียบประจารไว้ ณ ประตูเมืองหงษาวดี มังลองจึงว่าโทษของคนทั้งสามถึงตายอยู่แล้วแต่ว่าคนทั้งสามเป็นเพียงปลายเหตุ เห็นว่าทั้งสามคนเป็นแต่ชิงราชสมบัติของผู้ขบถต่อ ๆ กันมา แต่ว่ามีความผิดที่ไม่ถวายรามัญประเทศแก่เจ้าอังวะ แล้วกลับขึ้นไปตีเมืองอังวะอีก จึงให้เอาคนทั้งสามไปคุมไว้ ณ เมืองมุกโชโบ
มังลองโกรธพระสงฆ์รามัญนักว่าทำมงคล ประเจียด ตะกรุด ลงเลขยันต์กันอาวุธให้แก่รามัญทั้งปวง จึงต่อสู้กล้าหาญในการสงคราม พระสงฆ์เหล่านี้ไม่เป็นสมณะ ขาดจากศีลขันธ์แล้ว มังลองจึงให้ทหารพม่าเที่ยวฆ่าพระสงฆ์เสียประมาณพันเศษ