ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
พระราชพงศาวดารเหนือ
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ
ศิลาจารึก
พงศาวดารเขมร
พงศาวดารมอญพม่า
พงศาวดารล้านช้าง
พงศาวดารมอญพม่า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21
หน้า 7 >>>
จ.ศ.919 พระเจ้าธอชุกคะลี กับพระมเหสีที่ซ่อนอยู่ในป่าถึงแก่พิราลัยในป่า พะตอย พระเจ้าฝรั่งมังตรีมีอานุภาพมาก ชนะพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงในประเทศต่าง ๆ
ได้เป็นใหญ่ในประเทศทั้งสี่ คือ รามัญประเทศ ภุกามประเทศ สยามประเทศ มลาวประเทศ
รามัญเรียก พระเจ้าฝรั่งมังตรีว่า ตะละพะเนียเธอเจาะ แปลว่า พระเจ้าชนะสิบทิศ
จ.ศ.914 เมื่อพระเจ้าชนะสิบทิศแรกได้ราชสมบัตินั้นเจ้าลังกาชื่อพระยา วิมะละธรรมสุริย
เป็นใหญ่อยู่เมืองศิริวัฒนะในเกาะลังกา ปรารถนาจะได้พระสงฆ์ที่ศีลบริสุทธิ์
ไปบวชกุลบุตรสืบสมณวงศ์ในลังกา จึงแต่งพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการมา ณ
เมืองยะไข่ ซึ่งอยู่ในอำนาจ พระเจ้าชนะสิบทิศ ๆ จึงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองยะไข่
จัดพระสงฆ์ และพระไตรปิฎก กับเครื่องราชบรรณาการตอบแทนส่งออกไป
พระเจ้าลังกาปรารถนาจะเป็นพระราชไมตรีกันต่อไป
ต่อมาจึงส่งราชธิดาองค์หนึ่งกับเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวาย พระเจ้าหงษาวดียินดีนักตั้งพระราชมารดาอินแซะนันกู
เป็นพระอัครมเหสีใหญ่ ตั้งราชธิดาพระเจ้าช้างเผือกกรุงศรีอยุธยาเป็น
พระมเหสีฝ่ายซ้าย ตั้งนางกษัตริย์ลังกาเป็น พระมเหสีขวา พระเจ้าฝรั่งมังตรีครองราชย์ได้ยี่สิบเก้าปี
จนถึง ปี จ.ศ.926 ก็สวรรคต อินแซะนันกู หรือที่มอญเรียกว่า นานกะยะผู้เป็นพระมหาอุปราชได้ครองราชย์สืบมา
จ.ศ.927 พระราชบุตรพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าชนะสิบทิศสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยกกองทัพขึ้นมา ณ เมืองหงษาวดี ทางด่านแม่ละเมาะ ว่าจะมาช่วยทำราชการสงครามตีเมืองอังวะ ครั้นถึงปลายแดนเมืองหงษาวดี พระราชบุตรกลับคิดขบถ กวาดครัวหัวเมืองปลายแดนได้แล้ว ก็กลับคืนไปกรุงศรีอยุธยา พระเจ้านันกูตรัสสั่งให้ราชบุตรผู้ใหญ่ชื่อมังษาเกียด อันเป็นที่มหาอุปราช ยกกองทัพตามไปจับพระราชบุตรกรุงไทยให้ได้ พวกราชบุตรกรุงไทยยกข้ามแม่น้ำจิตดองไปแล้ว พระมหาอุปราชเห็นจะตามไม่ทัน จึงยกกองทัพกลับ
จ.ศ.929 พระเจ้าหงษาวดีตรัสสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาโดยทางเมืองกำแพงเพ็ชร ให้เจ้าเมืองพะสิมยกไปทางเมืองกาญจนบุรี ให้ถึงพร้อมกันแล้วช่วยกันระดมตีกรุงศรีอยุทธยา พระราชบุตรทั้งสองของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ก็รับอาสาพระราชบิดามาทำสงคราม ตีกองทัพเมืองหงษาวดีทางเหนือทางใต้แตกกลับมาสิ้น
จ.ศ.930 เกิดแผ่นดินไหว พระเจดีย์เมืองร่างกุ้งทะลายลงมาเพียงชั้นกลาง พระเจ้าหงษาวดีสั่งให้กะเกณฑ์กันทำให้ปกติดังเก่า
จ.ศ.931 พระเจ้าหงษาวดี ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาโดยทางด่านเชียงทอง ยกไปตั้งถึงชานเมืองแล้ว ตั้งค่ายประชิดกรุงอยู่หกเดือน ครั้นถึงฤดูฝนก็ยกทัพกลับ
จ.ศ.932 พระเจ้าหงษาวดียกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีก ครั้นไม่ได้แล้วก็กลับมา
ตั้งแต่นั้นมา ก็ขยาดฝีมือพระราชบุตรกรุงไทยทั้งสองพี่น้องนัก
และมิได้ยกไปทำสงครามสืบไป จ.ศ.940 เมื่อทราบข่าวว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาสวรรคต จึงตรัสสั่งให้ มหาอุปราชยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าเชียงใหม่เป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชเป็นทัพหลวง ยกเข้าไปทางด่านกาญจนบุรี
พระเจ้ากรุงไทยทั้งสองพี่น้องยกทัพออกไป พบทัพพระมหาอุปราชา ณ แขวงเมืองสุพรรณบุรี รามัญกับไทยได้รบกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงไทยผู้เป็นพระเชษฐาไสช้างไปชนกับช้างพระมหาอุปราช ช้างมหาอุปราชเสียทีเบือนไป พระเจ้ากรุงไทยฟันด้วยพระแสงของ้าว พระมหาอุปราชถึงแก่กรรมในที่นั้น
พวกพม่ารามัญทั้งปวงก็แตกกลับเมืองหงษาวดี แต่นั้นมาก็ให้ระอาฝีมือไทย มิได้คิดที่จะมาตีกรุงศรีอยุทธยาสืบไป
จ.ศ.942 พระเจ้าเชียงใหม่ได้ยินข่าวว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จกยกทัพออกไปตีเมืองหงษาวดี ก็เกรงกลัวนักจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการลงไปถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยา ในปีนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาให้เสนาบดีออกไปตีเมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาวใต้ เมืองทั้งสามก็เป็นเขตแดนของกรุงศรีอยุทธยาแต่นั้นมา ครั้งนั้นสงครามมอญกับไทยงดกันไปถึงเจ็ดปี รามพี่น้องัญทั้งปวงกลัวอานุภาพพระเจ้ากรุงศรีอยุทธาทั้งสองพระองค์นั้น รามัญเรียกชื่อว่าตะละบากาวเตะ แปลว่าเจ้าสองพี่น้อง
พระเจ้านั้นกู ตรัสสั่งให้พระยาทะละเป็นแม่กองเอาทองคำห้าชั่ง เงินหนักห้าชั่งไปแผ่ปิดพระเจดีย์ร่างกุ้ง แล้วให้รัดด้วยลวดเงินทรงบำเพ็ญกุศลเป็นอันมาก อยู่ต่อมาหัวเมืองรามัญทั้งปวง เห็นพระเจ้านันกู หย่อนกำลังลงมากแล้ว ก็พากันกระด้างกระเดื่อง