ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ฤกษ์ยามที่ดี
วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520
2
เช่นไม้กระดานนี่กองเรียบร้อย
แต่ถ้าคดมั่งซื่อมั่งเอามากองก็เหมือนกับกองฟืนอย่างนั้น
เราไปดูกองฟืนที่เขาเอาไม้มาจากป่า ไม่เรียบร้อยเก้งก้างอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้นของที่ไม่เหมือนกันก็เข้ากันไม่ได้ ของใดเหมือนกันมันเข้ากันได้
จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน
ถ้าจะให้เข้ากันได้ต้องมีธรรมะจิตใจที่มีธรรมะมันมีสภาพเหมือนกัน
พอเหมือนกันแล้วมันก็อยู่กันได้เข้ากันได้ ขาดธรรมะแล้วใจมันคดมันงอ
มันเข้าไม่ได้ หลักมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นสิ่งอะไรก็ตามจะว่าดีก็ดีตรงที่เราคิดชั่วก็ตรงที่เราคิด
ดอกไม้อย่างเดียวกันคนหนึ่งอาจจะชอบก็ได้คนหนึ่งอาจจะไม่ชอบก็ได้
ลองสังเกตุดูบางคนชอบดอกไม้อย่างนี้ บอกว่าแหมกลิ่นหอม
แต่บางคนว่าไม่ไหวได้กลิ่นแล้วปวดหัว เช่น ดอกลำเจียกเป็นต้น
ดอกลำเจียกยางคนชอบหอมดี
แต่บางคนพอได้กลิ่นดอกลำเจียกแล้วมึนศีรษะขึ้นมาเชียว
มันเป็นอย่างนั้นดอกไม้อย่างเดียวกันคนหนึ่งชอบอีกคนหนึ่งไม่ชอบ
อาหารก็เหมือนกันอาหารอย่างเดียว แต่คนหนึ่งชอบจะรับประทาน
อีกรนหนึ่งกลืนไม่ลง ทำไมอย่างนั้น
มันเรื่องของจิตใจที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับในสิ่งนั้น
มันไม่ใช่เกี่ยวด้วยอาหารแท้ๆแต่เกี่ยวด้วยจิตใจที่เข้าไปเกี่ยวข้องว่ามันเข้ากันได้หรือไม่
ฝากับตัวมันพอจะเข้ากันได้หรือไม่ได้นั้น
มันเนื่องจากสมมติฐานที่เรามีไว้ในใจของเรา
คนเราทุกคนมีฐานสมมติอยู่ในใจทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไรสีที่เราแต่งตัว
รูปร่างของสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง อารมณ์ประเภทต่างๆ มันมีฐานอยู่ในใจ
ฐานนั้นก็ไม่ใช่ของเดิมแท้ แต่ว่าเราอยู่กับสิ่งนั้นจนชินมาแต่ตัวน้อยๆ
เช่นบางคนชอบกินปลาร้า เพราะกินมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ว่าบางคนกินไม่ลง
พอได้กลิ่นก็ฮึดขึ้นมาทีเกี่ยวกินไม่ได้
คนที่กินได้เพราะเขาเคยกินมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ
คนชอบกินแกงกะหรี่ใส่เครื่องเทศ แต่บางคนพอได้กลิ่นแล้วกินไม่ไหว
เหมือนกับเมื่อไปอินเดีย เวลาไปอินเดียได้กลิ่นเครื่องเทศ
ญาติโยมจมูกฮึดไปตามๆกิน กินไม่ได้ เคยสั่งอาหาในรถไฟมาเลี้ยงโยม
บอกว่าเอาไปเถอะเจ้าคุณดิฉันกินไม่ลง อาหารก็ดีแกงกะหรี่ไข่เสียด้วย
กลิ่นมันเข้าจมูกแล้วดิฉันกินไม่ลง
แต่ว่าคนอินเดียทำไมเคี้ยวเพลิน ก็เขากินมาตั้งแต่ตัวน้อยๆเวลาเด็กๆ
ก็เหมือนกันทุกคนกินนมแม่ นมแม่ไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร
เราจำไม่ได้ว่าเรากินนมแม่ รสเป็นอย่างไร ไม่ได้ติดในรสนั้น
แล้วต่อมาพอโตขึ้นหน่อยเขาให้กินอาหารอื่น หัดให้กินอะไรมันก็ติดอันนั้น
หัดให้กินแกงชนิดไหนก็ชอบแกงชนิดนั้น หัดให้กินแกงจืดมันก็ติดแกงจืด
ให้กินแกงเผ็ด ก็ติดแกงเผ็ดหัดให้กินน้ำพริกก็ชอบน้ำพริก
หัดให้กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น อันนี้มันมาทีหลังทั้งนั้น
เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นในใจของเราเราเพาะมันขึ้นมา
มันจึงเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกัน
เรียกว่าเป็นนิสัยมันติดเป็นนิสัยทีนี้เมื่อคุ้นเคยกันเป็นนิสัยเช่นนั้นแล้ว
เราก็ไปนึกว่า ฉันชอบอย่างนั้น ฉันชอบอย่างนี้ ความชอบหรือความไม่ชอบนั้น
มันก็เนื่องกันว่าสิ่งนั้นมันถูกกับสิ่งที่ตนมีหรือเปล่า
ถ้ามันเข้ากันได้กับสิ่งที่ตนมี ตนก็ชอบใจ
ถ้ามันเข้ากันไม่ได้กับสิ่งที่ตนมี ตนก็ไม่ชอบใจ
เรื่องอะไรๆมันก็อย่างนั้นทั้งนั้น เรื่องรูป เรื่องเสียง กลิ่น รส สัมผัส
ห้าประการ ซึ่งเรียกว่า กามคุณห้า
มันอยู่ที่ว่าเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ ถ้าเข้ากันได้เราก็ชอบใจ
ถ้าเข้ากันไม่ได้เราก็ไม่ชอบใจ หลักมันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อจิตจะต้องไปพบกับอะไรๆ
เราก็ต้องมีธรรมะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ธรรมะที่เราจะใช้ก็คือว่า
ปรับตัวให้พอเข้ากันได้กับสิ่งนั้น จะไม่เป็นทุกข์
ถ้าเราปรับเราไม่ได้เราก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป เช่น
เราไปอยู่กับคนที่มันไม่ถูกอารมณ์ แต่ว่าต้องอยู่
เราก็ต้องปรับตัวเราให้มันพออยู่กันได้ ให้มีใจสบายไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน
ให้เราคิดง่ายๆอย่างนี้ ว่าการอยู่ที่เป็นทุกข์กับการอยู่ที่เป็นสุขนั้น
อันไหนจะดีกว่ากัน ลองคิดง่ายๆตั้งสูตรขึ้นมาพิจารณาง่ายๆ
ว่าการอยู่อย่างเป็นทุกข์กับการอยู่อย่างเป็นสุขนี้อันไหนดีกว่ากัน
ญาติโยมก็จะมองเห็นว่าอ้อไปอยู่เป็นสุขดีกว่าอยู่เป็นทุกข์ไม่ดีเลยหลักมันเป็นอย่างนั้น
แล้วเราก็มารู้ว่าการอยู่เป็นสุขดีการอยู่เป็นทุกข์ไม่ดี
แล้วก็สังเกตจิตใจของเราเองในขณะที่เราเป็นอยู่
เราก็มองดูใจเราว่าเวลานี้ใจของเราเป็นอย่างไรร้อนหรือว่าวุ่นวาย
มืดมัวกลุ้มหรือ มันเป็นอย่างไร หรือว่าสงบเย็นไม่วุ่นวายไม่กลุ้มไม่มัว
เราก็พิจารณาตัวเรา ก็มองเห็นว่ามันเป็นอะไร
ในเรื่องสงบไม่ต้องพูดถึงมันดีอยู่แล้ว
แต่ถ้าสมมุติว่าใจมันเร่าร้อนวุ่นวายขึ้นมา มีความทุกข์มีปัญหา
เราควรจะเก็บสิ่งนั้นไว้ดีหรือว่าควรจะกวาดมันทิ้งไป
สมมุติว่าในบ้านของเรามีแมวตัวหนึ่งมันมาถ่ายอะไรไว้
พอเราเข้าไปถึงก็เหม็นขึ้นมาเชียว เราจะทิ้งไว้อย่างนั้นไม่เป็นไร
มันไม่อยู่ในจมูกมีแต่กลิ่นมากระทบ ไว้อย่างนั้นแหละ มันจะถูกหรืออย่างนั้น
ไม่ได้ กลิ่นมันไม่ดีต้องจัดการเอาผ้ามากวาดมันไป เช็ดถูเสียให้เรียบร้อย
แล้วสิ่งนั้นมันก็หายไป ฉันใด อารมณ์ที่เข้ามาในใจของเราก็เหมือนกัน
ถ้าอารมณ์ใดมากระทบใจแล้วทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ หงุดหงิดงุ่นง่าน
เรียกว่าพื้นมันเสีย ของเดิมไม่เสียแต่ว่าเราไปทำอะไรราดลงไปเลยมันเสียไป
เป็นทุกข์ แล้วเราจะนั่งเป็นทุกข์อย่างนั้นหรือ
จะเดินเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นหรือ จะนอนเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นหรือ
อย่างนั้นมันก็ไม่ไหวเรียกว่าแย่เต็มที
ถ้าไปนั่งเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นก็ไม่เข้าเรื่องทางที่ถูกนั้นเราควรจะทำอย่างไร
เราควรจะแก้ปัญหานั้นเพราะขึ้นชื่อว่าความทุกข์ความเดือดร้อนแล้ว
ไม่ควรตั้งรากฐานขึ้นในใจของเราเป็นอันขาด
เพราะถ้ามันตั้งฐานขึ้นแล้วมันเจริญงอกงามขึ้นไป
แล้วไม่ได้เจริญงอกงามเพื่อความสุขของเรา
แต่มันเจริญงอกงามเพื่อความเสื่อมแก่ของชีวิตของเรา
เหมือนกับหญ้าชนิดหนึ่งขึ้นในสนามถ้ามันเจริญแล้วสนามเสียหมดเลย ไม่ได้
แล้วเราจะปล่อยให้มันเจริญอยู่อย่างนั้นหรือ เราควรจะแก้ไหม
ถ้าเป็นคนรักสนามหญ้าก็ต้องแก้ ต้องเอาออก อย่าว่าแต่ว่าหญ้าอื่นมาขึ้นเลย
แม้หญ้าที่มันอยู่แต่มันเปลี่ยนสีเป็นสีขาวไป มันไม่เขียวมันขาว
แสดงว่ามีเชื่อราเกิดขึ้นในหญ้านั้น
เราจะปล่อยให้มันขาวอย่างนั้นเราจะปล่อยให้มันขาวอย่างนั้นหรือ
มันไม่ได้ขาวหย่อมเดียว ต่อไปมันจะลุกล่ามไป
แล้วหญ้าในสนามที่เราลงทุนปลูกไว้มันแพงมันจะเสียหาย เราจะทำอย่างไร
เราก็ต้องไปซื้อยาปราบเชื้อรามาละลายน้ำเข้าตามส่วนผสม
เสร็จแล้วก็เอาไปราดหญ้าต้นนั้น หญ้านั้นกระทบยาฆ่าเชื้อราหาย
มันก็เขียวต่อไป นี่ฉันใด อะไรที่เป็นเชื่อราเกิดขึ้นในใจของเรา
ทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนสีเปลี่ยนสรรไป
ไม่เหมือนเดิมหน้าตาดั้งเดิมหายไปแล้ว
แต่มีใบหน้าใหม่ขึ้มมา เป็นหน้ายักษ์หน้ามารขึ้นมาเชียว
เช่นเข่นเขี้ยวกันฟันอยู่ตลอดเวลา มันสบายไหม นั่งกัดฟันกรอดๆ
อยู่นั้นมันสบายไหม นั่งเจ็บใจจริงเจ็บใจจริง บางคนนั่งบ่นอย่างนั้น
ก็รู้ว่าเจ็บใจแล้วเรื่องอะไรมานั่งเจ็บใจอยู่อย่างนั้น
มันไม่ได้เรื่องอะไร จิตใจมันตกต่ำลงไป เพาะเชื้อแห่งความไม่ดีไว้
เราก็ต้องรีบแก้ไข การแก้ไขนั้นจะทำอย่างไร ก็ต้องศึกษาสาเหตุของเรื่อง
ให้ยึดหลักว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุไม่มีเหตุผลจะเกิดขึ้นไม่ได้
และเหตุนั้นอย่าไปเอาภายนอกเป็นอันขาด
อย่าไปพูดว่าไอ้คนนี้แหละมันทำให้ข้าโกรธ ไปแก้มันอย่างไร
แก้ด้วยการทุบหัวคนนั่นหรือ มันก็ติดคุกกันเท่านั้นเอง
แก้ตรงนั้นไม่ได้เราอย่าไปแก้ที่เขา มันต้องแก้ที่เรา แก้ที่เรามันจึงจะถูก
ทีนี้บางคนไปแก้ที่เขา คนใช้ทำไม่ดีไล่ตีออกไปเสีย หาคนใช้ใหม่
คนใหม่ก็ไม่ดีอีกไล่มันออกมันออกบ่อยๆ มันอาจจะไปพบกันมั่ง
แหมนายบ้านนี้ไล่เราออกบ่อยๆ ทีหลังเราอย่าออกเฉยๆ ต้องเอาอะไรไปมั่ง
ทีนี้แหละมันยกเค้าไปเลย เลยเอาเสียเรียบไปเลย มันลงโทษไม่ใช่เรื่องอะไร
มันลงโทษเจ้าบ้านที่ไม่ประพฤติธรรม ลงโทษขนไปหมดเราก็เดือดร้อน
อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องแก้ที่ตัวเรา ใจมันร้อนก็แก้ให้มันเย็นเสีย
ใจมันไวแก้ให้มันช้าลงสักหน่อย อย่ามีอารมณ์วูบวาบรุนแรงมากเกินไป
ต้องคิดแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเรา
เมื่อเราแก้ที่ตัวสิ่งภายนอกก็พลอยถูกแก้ไปด้วย
การแก้ที่คนอื่นนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
แต่เราแก้ที่ตัวเราจึงจะถูกจะชอบ
เหมือนกับว่าคอมมิวนิสมันมีอยู่ในประเทศไทย
เวลานี้ผู้ก่อการร้ายเราจะไปปราบก็ปราบไปเถอะมันอาจไม่หมดไม่สิ้น
ทีนี้เราจะต้องปราบภายใน คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่พวกนั้นคิดแก้เมืองไทย
เหตุมันก็อยู่ที่การคอรัปชั่นอะไรต่ออะไรต่างๆ ในสังคม
เราก็ต้องคิดแก้พวกนั้น แก้คอรัปชั่น แก้ความเป็นอยู่ให้พอสบายตามสมควร
แก้เรื่องโจรผู้ร้าย อย่าให้พวกนั้นเอาไปใช้เป็นเครื่องมือไปโฆษณา
บอกว่านี้แหละมันแบบนี้แหละ มันลักวัวลักควายจะลักต่อไป
ไม่รู้ว่าจะลักเอาไปไหน คนก็จะมองเห็นว่ามันดีวัวไม่หายควายไม่สูญ
เคยไปพบกับชาวบ้านแถวนครศรีธรรมราช แหมวุ่นวายเหลือเกิน
มีวัวอยู่สองตัวมันจะมาลักอีกแล้ว อยู่ลำบาก ถ้ามันอยู่ใกล้ๆ
ผมจะไปแล้วจะไม่อยู่แล้วเมืองไทยนี่ ฟังแล้วชักจะสงสัยว่าแกจะไปไหน
ถามว่าจะไปไหน ไปอยู่ประเทศที่เขาเป็นคอมมิวนิส ใครบอกว่าประเทศนั้นมันสบาย
อธิบายกันเสียนานแกจึงจะรู้เรื่อง ว่าอ้อมันไม่สบายอะไร
มันสู้เมืองไทยไม่ได้ มันเที่ยวโฆษณาอย่างนี้เรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อ
ให้คนหลงผิดเข้าใจผิด ทีนี้เราต้องรู้จุดว่าเขาเอาจุดไหนไปโฆษณา
เอาจุดไหนไปเป็นเหยื่อล่อให้คนเข้าใจผิด ก็ต้องแก้ที่จุดนั้น
แก้การไปด้วยปราบก็ต้องปราบกันไปด้วย แก้ก็ต้องแก้ไปด้วย
เอาแต่ปราบอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ ต้องปลอบโยนประชาชนทั้งหลาย
ให้ได้อยู่ดีกินดีมีความสุขความเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็พวกโจรผู้ร้าย
ต้องเอาจริงเอาจังกันเสียหน่อย ปราบให้มันปราบเรียบลงไป
แล้วก็รู้ว่าที่มันเป็นโจรนี่เพราะอะไรด้วย
บางคนเขาบอกว่า คนมันยากจนคนจึงเป็นขโมยกัน อันนี้ไม่แน่
คนอินเดียมันจนกว่าบ้านเรา แต่มันไม่ขโมยกัน มันอยู่กันอย่างนั้น
มันไม่ลักขโมยฉกชิงวิ่งราวล้วงกะเป๋า ไม่ปรากฏมากมายเหมือนบ้านเรา นานๆ
มันจึงจะเกิดสักรายหนึ่ง เผลอๆ ก็เอามั่ง
แต่บ้านเราไม่เผลอลืมตาไปอย่างนี้มันเอาเลย สมันนี้ทันสมัย
นั่งจักรยานเฉี่ยวเอาไปเลย นั่งรถสามล้อก็เอาได้
นั่งรถยนต์มันก็เฉี่ยวได้พวกนี้ พวกนี้มันเก่ง
เรียกว่าเป็นเหยี่ยวจักรยานยนต์พวกนี้
ก็ต้องคิดปราบปรามพวกนี้มันอยู่ตรอกไหน ซอยไหน เก็บๆ
รวมไว้เกาะไหนซักเกาะหนึ่ง ให้มันทำงานทำการไปตามเรื่อง เอามาลงโทษเสียมั่ง
หรือเอาไปคุ้ยผักตบชวาข้างคูถนนเสียมั่ง อย่าตัดสินขังเฉยๆ
ต้องเอาออกมาทำงานให้คนเห็นหน้ามันบ่อยๆ แก้มัน มันขี้เกียจนักชอบขโมย
ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ตัวเราก็เหมือนกัน มีอะไรเกิดขึ้นต้องแก้ให้ถูกจุด การแก้ถูกจุดในแง่ธรรมะ
ต้องแก้ว่าฉันเองเป็นผู้ผิด ให้บอกตัวเองว่าฉันเป็นผู้ผิด
ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์อื่น
ไม่ใช่เรื่องดินฟ้าอากาศอะไรทั้งนั้นมันอยู่ที่เราปรับตัวเราไม่ถูก
เราจึงเป็นอย่างนั้น จึงควรจะแก้ที่ตัวเราเอง
ปรับตัวเราให้เรียบร้อยสิ่งทั้งหลายก็จะดีขึ้น
อันนี้เป็นหลักของพระพุทธเจ้า ท่านให้แก้ที่ตัวเราอย่าแก้ที่ภายนอก
แก้ที่อะไรๆ มันไม่ถูกจุดทั้งนั้น
เหมือนกับปวดหัวเอายาไปพอกหัวแม่เท้ามันไม่ถูก มันต้องพอกที่ขมับ
ที่ขมับมันก็ไม่หายปวดต้องกินยาแก้ปวด กินยาแก้ปวดมากก็ไม่ได้ติดยาอีก
ปวดทีไรกินยาทุกทีมันก็ยุ่ง เราต้องรู้ว่าเรื่องปวดหัวนี้มันเรื่องอะไร
เพราะคิดมาก วิตกกังวลอดหลับอดนอน มีเรื่องยุ่งในใจ
ก็เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา
อาตมาเคยเป็นเหมือนกันบางครั้ง พอเริ่มทำใจให้สงบ หายใจเบาๆ
อย่าให้มันแรงพอแรงแล้วความดันมันขึ้น หายใจเบาๆ ค่อยๆ ทำใจให้สงบเดี๋ยวๆ
มันก็หายไม่ต้องกินยา ใช้วิธีรักษาตามธรรมชาติ
คือเราว่าที่มันปวดเพราะเลือดมันขึ้น เลือดมันขึ้นเพราะสมองมันทำงานหนัก
เมื่อสมองคิดมากมันก็เร่งระดมพล มันทำงานมากต้องช่วยมันหน่อย
นี่เราเอางานไปให้สมองมันทำ หยุดคิดเสีย หายใจเบาๆ ทำจิตใจให้สงบว่างเปล่า
ปล่อยวางอารมณ์เสียประเดี๋ยวมันก็หายไป มันไม่ปวดนานๆ มันหายไป
มันต้องแก้อย่างนั้น บางคนปวดเช้าปวดเย็น
เราสังเกตุดูปวดเช้าปวดเย็นหมายความว่ามีความวิตกกังวล
พอตื่นเช้าวิตกกังวลแล้ว เรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องที่ไม่ค่อยจะเป็นสาระ
เอามาคิดมาอ่านให้มันวุ่นวายใจ เราตื่นเช้าต้องทำใจให้สดชื่น
ทำจิตใจให้มันว่างจากอารมณ์ต่างๆมองอะไร ดูอะไรก็ให้มันสบายใจ
อย่าคิดในเรื่องร้ายๆ คิดในเรื่องดีเรื่องงาม มองในแง่ดีแง่งาม
อากาศมันเป็นอย่างไร เราก็พอใจในสิ่งเหล่านั้น มองอะไรไปก็ต้องพอใจไว้ก่อน
จะดุด่าใครก็อย่าไปดุใครเช้าๆ ให้มันนุ่งห่มแต่งตัวกันเรียบร้อย
แล้วจะเรียกมาสอน ก็เรียกมาสอนกันให้สบายๆ อย่าสอนด้วยโมโหโทโส
ถ้าทำหน้านิ่วคิ้วขมวดเหมือเราสอนให้เขาโกรธด้วย เช่นเราจะสอนลูก
ทำโกรธขึ้นแล้วก็เรียกมานี่ๆ แล้วก็ดุ เหมือนกับสอนลูกให้ดุเหมือนเรา
จำไว้เถอะลูกเอ๋ยพ่อขี้ดุอย่างนี้ ทีนี้มันจำแบบไว้ เราสอนให้มันดุ
ลูกก็ดุเหมือนพ่อ หรือว่าดุเหมือนแม่ อย่าสอนเวลานั้น
เราต้องทำใจให้เย็นให้สงบ แล้วก็เรียกมาพูดกันทำความเข้าใจกัน ค่อยๆ
สอนค่อยๆ ปลอบ อย่างนั้นเขาเรียกว่า สอนด้วยปาก แล้วก็ทำให้มันดูด้วย
ทำความเป็นผู้ใจเย็นให้ลูกดูด้วย เด็กมันก็จำแบบไว้
แล้วต่อไปก็จะอารมณ์ดีไม่ขี้โกรธ จิตใจมันปกติ
เพราะว่าพบเรื่องปกติภายในบ้าน พ่อเป็นปกติ แม่ก็เป็นปกติ
จิตใจก็เป็นปกติแล้วเด็กอย่างนี้แหละจะเป็นคนอยู่เป็นสุขในโลกต่อไป
เพราะจิตใจเขาปกติ ไม่วู่วามไม่เร่าร้อน มีอารมณ์สดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส
อย่างนี้เราต้องฝึกต้องสอนเขา เราต้องทำให้เป็นตัวอย่าง
แล้วก็ชีแจงเหตุผลให้ เขาเข้าใจในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ
อันนี้มันต้องอ่านหนังสือรักลูกให้ถูกทาง เพราะว่าเขียนไว้ละเอียดแล้ว
หาอ่านได้ คนที่มีลูกต้องอ่าน ลูกสาวจะแต่งงานต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วย
เตรียมตัวจะมีลูกไว้ก่อน พอตั้งท้องมันจะได้ทำถูก
มีลูกมีเต้าก็จะได้ทำถูกต่อไป เป็นคู่มือมารดาดีมีประโยชน์
ก็คงพอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้เพียงแต่เท่านี้.
<< ย้อนกลับ
มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
มันเป็นเช่นนั้นเอง
ศีลธรรมและสัจจธรรม
แหล่งเกิดความทุกข์
องค์สามของความดี
หลักใจ
ทำดีเสียก่อนตาย
ตามรอยพุทธบาท
ฐานของชีวิต
ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ชั่งหัวมัน
อนัตตาพาสุขใจ
ฤกษ์ยามที่ดี
อดีต ปัจจุบัน อนาคต
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
สำนึกสร้างปัญญา
สอนลูกให้ถูกวิธี
ปฏิวัติภายนอกกับภายใน
ร้อนกายไม่ร้อนใจ
อย่าโง่กันนักเลย
การทำศพแบบประหยัด
คนดีที่โลกนับถือ
ความจริงอันประเสริฐ
เสรีต้องมีธรรม
ทาน-บริจาค
เกียรติคุณของพระธรรม
เกียรติคุณของพระธรรม (2)
พักกาย พักใจ
เกิดดับ
การพึ่งธรรม
อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์
มรดกธรรม
ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี
ทำให้ถูกธรรม
วางไม่เป็นเย็นไม่ได้