ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง การทำศพแบบประหยัด
วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2525
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ
ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง
ตามสมควรแก่เวลา
ฤดูนี้เป็นฤดูร้อน มีการงานต่างๆ เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ มากมาย
เช่นว่างานศพบ้าง งานบวชนาคบ้าง งานแต่งงาน ก็มีบ้าง แต่ใม่ค่อยจะมากนัก
นอกนั้นก็มีงานวัดต่างๆ จัดขึ้นเพราะเป็นหน้าร้อน
คนว่างจากงานจากการแล้วก็ได้มาเที่ยวงาน สนุกสนานกันเต็มที่
ได้ผลประโยชน์เป็นเงินเป็นทองบ้าง ไม่สู้จะมากนัก แต่ว่าก็จัดกันอยู่ทั่วๆ
ไป โดยเฉพาะงานบางประเภทเมื่อได้เห็นแล้วก็มีความคิดเกิดขึ้นในใจว่า
น่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขไห้ดีขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
เรื่องที่ควรจะแก้ไขนั้น มีหลายเรื่องหลายประการ
วันนี้ก็อยากจะพูดฝากไว้กับญาติโยม แล้วบันทึกไว้เป็นตัวอักษร
เพื่อจะได้พิมพ์ออกไปให้แพร่หลายต่อไป เพราะว่างานที่ทำกันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น
เราไม่ได้ถือหลักความจริงของงาน คือไม่รู้ว่าทำงานเพื่ออะไร
ทำแล้วจะได้อะไร ทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้น เราไม่ค่อยจะคิดถึงปัญหานี้
ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นนักคิด
นักศึกษาค้นคว้าในเรื่องอะไรต่างๆ เพราะลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้
เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส ในอะไรต่างๆ เมื่อเราจะทำงานอะไร
เราจึงครวจะคิดว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนั้นทำไม จะต้องทำอย่างนี้ ทำเพื่ออะไร
จุดหมายของการกระทำนั้นอยู่ที่อะไร น่าคิด
แล้วก็ควรจะได้ทำเอาแต่เฉพาะที่ต้องการ ส่วนใดที่เป็นเปลือกเป็นฝอย
ทำให้เสียเวลา ทำให้เกิดการชักช้า เราก็ควรจะตัดออกไปเสียบ้าง
เพื่อเอาแต่เนื้อๆ มันจะสะดวกดีขึ้น
อาตมาไปในงานต่างๆ บ่อยๆ แล้วก็นั่งดูที่เขาทำงาน บางงานก็สอดแทรกเข้าไปได้
ที่จะช่วยให้เขาประหยัดเวลา เรี่ยวแรง เงิน ทอง เขาก็ทำตาม
แต่ว่าบางงานก็ไม่สามารถจะสอดแทรกเข้าไปได้
ก็เลยนั่งดูอยู่ด้วยความสังเวชสลดใจสังเวชสลดใจในแง่ที่ว่า
ทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า หมดเงินมากมาย
แต่ผลที่จะได้นั้นน้อย ประโยชน์ทางกายก็ไม่คุ้ม
ประโยชน์ทางจิตทางวิญาณก็ไม่คุ้ม แต่ทำไมต้องทำอย่างนั้น
ก็เพราะว่าเขาทำกันมาอย่างนั้น ที่เขาทำกันมาอย่างนั้นในบางอย่างก็ดี
แต่บางอย่างไม่เข้าท่า ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขทำให้ดีขึ้น
แต่ว่าไม่มีใครคิดแก้ ไม่มีใครคิดถึงปัญหา เงินทองที่สิ้นเปลือง
ไม่มีใครคิดถึง เวลา เรี่ยวแรง ที่เราต้องลงทุน ไปอย่างมากมาย
เพื่อทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ แต่ว่าผลที่จะได้มันไม่คุ้มกัน
ถ้าพูดในทางการค้าก็เรียกว่าลงทุน แต่ว่าไม่ได้กำไร ห้างร้านใดๆ
ก็ตามถ้ามีการลงทุนแล้วไม่ได้กำไร มันก็ต้องล้มละลายกันแน่
ไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไป
ในเรื่องการทำงานในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน
เราไม่ค่อยได้คิดว่าจะได้อะไรสักเท่าใด เพียงแต่ได้นิดหน่อยก็นึกพอใจ
แล้วอย่างนี้จะไม่ก้าวหน้าในงานนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้คิดแก้ไขกัน
เพื่อทำให้ดีขึ้น ความจริงหน้าที่แก้ไขอะไรต่างๆ นั้นอยู่ที่กองวัฒนธรรม
ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ มีหัวหน้ากองเป็นถึงชั้นพิเศษ เรียกว่า
เป็นซี 11 หรือ 12 เข้าไปแล้ว แต่ว่าก็ไม่ปรากฏผลงานอันใดออกมา
กรรมการก็มาก ทำงานกันอยู่ แต่ไม่ค่อยปรากฏผลในรูปของการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นงานของกรมนั้น กองนั้น ก็ยังไม่เป็นวัฒนะ คือยังไม่เจริญอะไร
ทำไมจึงไม่กล้าทำอะไรลงไป ก็เกรงว่าจะไม่สำเร็จเกรงว่าคนเขาจะไม่ยินดีด้วย
อันนี้เราต้องวางแผน ในเมื่อจะทำอะไรมันต้องวางแผน โฆษณาชักจูง
โน้มน้อมจิตใจ แล้วก็ต้องร่วมงานกันหลายฝ่าย เช่นว่า
ถ้ากองวัฒนธรรมจะคิดทำอะไร ขึ้นมา ก็ต้องร่วมมือกับพระสงฆ์องค์เจ้า
เอาพระไปร่วมเป็นกรรมการ ปรึกษาหารือกัน แนะวิธีการที่จะพึงจัดพึงทำ
เพราะว่า เรื่องพิธีกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกี่ยวเนื่องกับวัดเป็นส่วนมาก
เกี่ยวเนื่องกับพระเป็นส่วนมาก แต่พระของเรานั้นพูดไปแล้ว
เหมือนกับว่าจะติพวกกันเอง คือยังไม่มีสมรรถภาพในการที่จะแก้ไขอะไร
ทำอะไรก็ทำไปตามโบราณ ตามเรื่องตามราว
ไม่สามารถที่จะอธิบายให้โยมเข้าใจได้ว่า ไม่ทำอย่างนั้นก็ได้
ทำอย่างอื่นก็ได้ ผลมันก็เท่ากัน
ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เมื่อวานนี้อาตมาไปในงานศพ บิดาคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ
ซึ่งเป็นพวกเผยแผ่ธรรมะ แล้วก็ขวนขวายในเรื่องอะไรต่ออะไรอยู่มาก
ก็นิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ก็ได้แสดงให้เขาฟังกันไปตามเรื่อง
เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว ก็มีการสวดมาติกาบังสุกุล พอมาติกาบังสุกุลเสร็จแล้ว
ก็เห็นเอาผ้ามามากมาย ผ้าอาบน้ำฝนผืนเล็กๆ สั้นๆ เอามามากมาย ก็เลยถามว่า
ทำอะไรอีกผ้านั้น บอกว่า จะมาชักมหาบังสุกุล
การชักมหาบังสุกุลที่อยุธยาเมืองสุพรรณ ทำกันแบบที่เรียกว่า ช้าเหลือเกิน
เพราะว่าทำมาก ทำนาน เขาทำอย่างไร หีบศพวางไว้ตรงนี้ แล้วก็ดึงผ้าสายโยง
ที่เขาทำสวยๆ ดีไปที่พื้น แล้วก็เชิญคนให้มาทอดผ้า
คนที่รับเชิญให้มาทอดผ้านั้น ล้วนแต่เป็นคนแก่ๆ ทั้งนั้น
กว่าจะได้เคลื่อนองค์ลงจากบัลลังก์เสียเวลาหลายนาที เรียกแล้วยังไม่ได้ยิน
เพราะคนแก่หูท่านตึง ต้องเรียกซ้ำ เรียกซ้ำแล้วก็ยังไม่เคลื่อนไหว
ต้องไปบอกว่า เขาเรียกแล้ว แล้วแกก็ค่อยๆ ต้วมเตี้ยมๆ มา ไม่ใช่เดิน
เขาเรียกว่าคลานมา มาถึงก็เอาผ้าทอด ทอดทีละ 10 ผืนหรือ 15 ผืน แต่ว่า 15
คนที่เคลื่อนไหวนั้น เชื่องช้าทั้งหมด เพราะเป็นคนแก่ แล้วก็ค่อยออกไป
ถอยออกไป แล้วก็นิมนต์พระ ก็ต้องอ่านรายชื่อว่าพระองค์นั้นๆ
พระกว่าจะได้มาชักก็อีกหลายนาที
สมมติว่าจะชักผ้ามหาบังสุกุลสัก 40 ผืน ต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง
อาตมาเคยไปเห็น เห็นแล้วก็ถามสมภารว่า ทำไมทำกันอยู่อย่างนี้
ท่านสมภารบอกว่า เขาทำกันมาอย่างนี้นานแล้ว แล้วทำไมไม่คิดแก้เสียบ้าง
บอกว่ามันแก้ไม่ได้ เขาทำกันมานานแล้ว
นี่แหละคือความไม่มีความสามารถที่จะพูดให้โยมเข้าใจในเรื่องนี้
อาตมาพอเห็นเช่นนั้นก็นึกว่าไม่ได้ คนกรุงเทพฯ มาเผาศพหลายคน
ถ้าขืนชักช้าอยู่พวกก็จะมืด กลับบ้านลำบาก มาได้ถนนมันดี แต่มืดๆ
ขับรถไม่ดี เดี๋ยวไปสะเออะ 10 ล้อเข้าก็จะลำบาก ก็เลยเข้าไปจะพูดกับโยมคน
แก่ที่เป็นมารดา พอจะพูดคนนั้นก็จะพูดคนนี้ก็จะพูดเลยตบขา ทุกคนนั่งนิ่งๆ
ฉันพูดเอง เลยก็บอกว่า โยมจะให้ทอดผ้าตรงนี้ เรียกว่าทอดผ้ามหาบังสุกุล
เมื่อตะกีนี้พระทั้งหมดได้ชักบังสุกุลแล้ว ได้กล่าวคำว่า "อนิจจา วต
สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปัตชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสโม สุโข"
เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านได้พิจารณาศพในโลงแล้ว
ผ้าที่ยังมีอยู่ไม่ต้องชักตรงนี้อีก เพราะเวลามันจะไม่พอ เอาไปถวายเลย
บอกโยมลุกขึ้น โยมก็ลุกข้นให้ไปถวาย โยมถวายองค์
หนึ่งอาตมาบอกว่าโยมไปนั่งได้ คนแก่หลังโกงเดินลำบาก บอกว่า
องค์เดียวก็พอแล้ว เราช่วยกันถวายก็แล้วกัน อาตมาก็ช่วยดึงมา ถวายองค์นั้น
ถวายองค์นี้ วิ่งถวายพักเดียว เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ให้โยมไปนั่งได้
เรื่องประเคนของ เราอย่าไปกวนคนแก่ให้มาประเคนมากนัก
ให้แกจับสักนิดหน่อยแล้วบอกว่า คุณยายนั่งได้แล้ว คุณแม่นั่งได้แล้ว
ไม่ใช่มันจะได้อะไรตรงประเคนมากนักหนาหรอก อยู่ที่ใจอนุโมทนา
เมื่อคนอื่นประเคนก็พลอยดีใจพร้อม อนุโมทนา มันก็พอแล้ว
เราให้คนแก่นั่งสบายๆ อย่าไปรบกวน ให้มาประเคนอะไรให้มากนักเลย
เอาสักนิดหนึ่ง เสร็จแล้วก็หมดเรื่อง
ทีนี้ก็จะยกศพลง เขาก็ให้อาตมาจูงศพ เพราะว่าเป็นพระมีชื่อมีเสียงหน่อย
ก็เลยไปจูงให้เขา พอจูงมาถึงสมภารเดินอยู่ข้างหลังว่า หลวงพ่อเดินด้านซ้าย
บอกว่า รู้แล้วเรื่องนั้น บอกว่า ไม่ต้องเวียนแล้ว เวลามันไม่พอ
เอาขึ้นเมรุเลย เลยมาถึงให้เขาเข็นไปบนเมรุเลย ไม่ต้องไปเดินเวียนอยู่
เวียน 3 รอบเพื่ออะไรเราไม่เข้าใจเรื่อง ก็นึกว่าต้องเวียนกันอยู่เรื่อยไป
ไม่เวียนก็ได้ไม่ใช่จำเป็นจะต้องเวียนเสมอไป แล้วถ้าเมรุมันกว้าง เวียนตั้ง
3 รอบ มันก็เสียเวลานาน เราเวียนสักรอบหนึ่งก็พอแล้วถ้าจะเวียน
แต่ถ้าไม่เวียนก็ไม่ใช่จะเสียหายอะไร
ไม่ใช่ยอดบุญมันอยู่ตรงที่พาศพเวียนเมรุ ไม่ใช่ ไม่อยู่ตรงนั้น
พอถึงก็เอาขึ้นไปบนเมรุเลยแล้วก็เมรุบ้านนอกเขาเรียกว่า เมรุเช่า
มันกรอบแกรบกรวบเกรียบ เดินเหินมันสบายกับเขาเมื่อไร แล้วก็ชอบทำสูงๆ
คนแก่ๆ ขึ้นเผาก็ลำบาก เผาแล้วลงก็ลำบาก แต่เขาชอบเมรุอย่างนั้น
คือไปเช่าเขามา
เลยบอกว่า ขึ้นเลยไม่ต้องเวียนแล้ว เวียนกันมานานแล้ว เอาขึ้นเผาเลย
ขึ้นเสร็จแล้วถามว่าทำอะไรอีก จะเชิญคนให้มาทอดผ้า ผ้าอยู่ไหนไปเอามาซิ
ไปเอาผ้าผืนเล็กๆ ผ้าอาบน้ำฝนที่เหลือเมื่อตะกี้นี่
ใส่พานมาเลยบอกว่าพานไม่ต้องใส่ เอาพานไปวางไว้ตรงโน้นข้างบน
แล้วก็เอาผ้ามอบให้คนที่จะทอด ทอดเสร็จแล้วก็ให้จุดไฟเลย ก็เลยสั้นไปหน่อย
ระยะมันสั้น นี่แหละคือว่าเราทำเพราะไม่รู้
พระเราก็ไม่ค่อยจะอธิบายให้โยมเข้าใจ ว่าทำอย่างนั้นเพื่ออะไร
ถ้าพูดให้เข้าใจกันเสียก็หมดเรื่อง ก็ไม่เสียเวลาไม่ชักช้า
งานการก็สะดวกรวดเร็วดี
เพราะฉะนั้นจึงใคร่จะทำความเข้าใจไว้ในที่นี้สักเล็กน้อยว่า พิธีกรรมนั้น
มันเป็นเครื่องเล่น สำหรับคนที่ยังขาด ปัญญา
แต่ผู้มีปัญญารู้จุดหมายของการกระทำแล้ว เขาไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้
เพราะมันไม่ใช่เรื่องขลังอะไร ไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไร เราต้องดูเวลา
เวลาที่เราจะทำนั้นว่ามันจะพอไหม ถ้าเราไปนั่งทำพิธีกันอยู่
เมื่อเวลามันน้อยมันสั้น ไม่พอที่จะทำอย่างนั้น
เราจะตัดพิธีเหล่านั้นออกเสียบ้าง ก็ไม่เสียหายอะไร
เพราะนั่นไม่ใช่เนื้อแท้
ถ้าเราจะแกงเนื้อ ไม่ใส่เครื่องก็ได้ถ้าเวลามันจำกัด
เอาเนื้อใส่น้ำแล้วก็ต้มให้มันเดือด ให้มันสุก แล้วก็กินได้ เพราะต้องรีบไป
แต่ถ้าไม่รีบไม่ร้อน จะมานั่งโขลกน้ำพริกอยู่
ใส่ไอ้นั่นใส่ไอ้นีให้มันอร่อยจนน้ำมูกน้ำตาไหลก็ไม่เห็นเป็นอะไร
แต่ว่ามันก็ใช้ได้ ถ้าเราดูว่าเวลามันน้อยเต็มทนแล้ว มันสั้นแล้ว
ต้องตัดทิ้งไป
อย่าไปตกใจว่า แหม่ ไม่ได้ทำอย่างนั้นไม่ได้ทำอย่างนี้คุณพ่อจะไม่ได้รับผล
มันไปไกลถึงขนาดอย่างนั้น ความจริงไม่ต้องอย่างนั้นก็ได้
เพราะพิธีกรรมไม่ใช่เนื้อแท้ มันเป็นเปลือกเท่านั้นเอง
ทีนี้บางครั้งบางคราวก็ต้องเอาเปลือกออกเสียบ้าง เพื่อจะได้กินเนื้อใน
ถ้าว่าเรารีบร้อนไม่ต้องเอาเปลือกก็ได้ หลักการมันควรจะเป็นอย่างนั้น
แต่คนเรามันติดในเรื่องอะไรเข้าไปแล้ว แกะออกยาก นี่แหละเขาเรียกว่า
อุปปาทาน ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความคิดความเห็น สีลัพพตุปาทาน
ยึดมั่นในขนบธรรมเนียม ประเพณี ว่าต้องอย่างนั้น ว่าต้องอย่างนี้
ถ้าขาดไปแล้วก็ไม่สบายใจ ก็เป็นอุปาทานที่สร้างปัญหายุ่งยากอยู่ไม่ใช่น้อย
เรื่องงานศพที่ทำๆ กันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น
มีที่จะตัดออกไปได้หลายเรื่องหลายประการ
เริ่มต้น เช่นเราไปตั้งศพ อาตมาอยากจะแนะนำญาติโยมว่า
เรื่องศพไม่ควรจะเก็บไว้นานๆ เกินไป ถ้าเราตัดสินว่าจะเผาก็เผาไป
ถ้าตัดสินว่าจะฝังก็ฝังไป เอาอย่างไหน เอาฝังหรือเอาเผา
ถ้าเอาเผาก็รีบเผาไป ฝังก็รีบฝังไป จะไปเก็บไว้ทำไมนานๆ
ทำให้เกิดกังวลห่วงใย ร่างกายของคนก็ไม่ใช่เที่ยงแท้ถาวรเมื่อไร
บางทีมันเกิดเจ็บไข้ตายเป็นลงมา ยังไม่ได้เผา คนที่ตายลงไป
เราตายตามไปอีกคนหนึ่ง เลยก็ต้องเผากัน 2 รายไป
เหมือนกับที่จังหวัดสงขลา สมภารองค์หนึ่งสิ้นบุญไป
สิ้นบุญไปแล้วยังไม่ได้เผา องค์ที่ 2 ตายตามไปอีกแล้ว
เลยกลายเป็นต้องเผาสมภาร 2 องค์ แล้วก็ตั้งองค์ที่ 3 ขึ้นมา องค์ที่ 3
หนุ่มหน่อย คงจะไม่ตายถึง 3 องค์ในวัดนั้นแน่ ไม่อย่างนั้นก็คงจะได้เผากัน
3 องค์รวดเลยทีเดียว นี่เพราะความชักช้า
ความจริงนั้น เมื่อท่านสิ้นบุญแล้ว ก็รีบเผาๆ ไปเสียให้หมดเรื่อง
ที่ช้าไม่ใช่เรื่องอะไรเรื่องว่าจะทำให้ทำให้สมเกียรติ คำว่า
เกียรติไม่รู้อะไรกันแน่ เอาเกียรติขนาดไหน
เอาอะไรมาวัดความมีเกียรติอะไรต่างๆ กัน เราก็วัดกันไม่ได้
เลยก็ต้องชักช้าเสียเวลากันไปนานๆ จึงจะได้เผาลงไป อย่างนี้มีอยู่ทั่วๆ ไป
ความจริงนั้นเมื่อสิ้นบุญแล้ว ควรจะรีบจัดการเสียให้เรียบร้อย
ตามเรื่องตามประเพณีที่เรากระทำกัน ไม่ต้องไว้นานเกินไป ที่ไว้นานๆ
ก็เรียกว่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นว่าเราสวด 7 คืน ก็สวดอย่างนั้น
สวดซ้ำกันอยู่อย่างนั้น
คืนแรกก็สวดอย่างนั้น คืน 2 หรือ 7 คืนก็สวดอย่างนั้น สวดเรื่องเดียว
ไม่ใช่สวดหลายเรื่อง แล้วเรื่องเดียวก็ไม่ใช่ฟังรู้เรื่องอะไร
เพราะว่าญาติโยมที่ไปนั่งฟังไม่รู้เลยว่าพระสวดอะไร เลยเราพูดว่า
พระท่านสวดผีไป หรือว่าท่านสวดศพไป มันเป็นอย่างนั้นไปได้
เพราะว่าคนเป็นไม่รู้ ก็เลยนึกว่าสวดให้ผีในโลงฟัง
เพราะเวลาจะสวดก็ยังไปเคาะข้างโลง ไปปลุกบอกว่า คุณพ่อลุกขึ้นฟังสวด
แปลว่าพระสวดภาษาที่ผีฟังได้ แต่ว่ามนุษย์ที่เป็นๆ ฟังไม่รู้เรื่อง
ก็สวดกันอยู่อย่างนั้น สวดตามเรื่องตามประเพณี อย่างนี้เขาเรียกว่า
ทำไปด้วยความเข้าใจอย่างนั้น ซึ่งมันไม่ได้ถูกต้องอะไร
สมมติว่าเราไม่สวดจะได้ไหม มันก็ได้ ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรว่าจะต้องสวด
เพราะการสวดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับ ศพ แต่จุดหมายสำคัญนั้น
ต้องการทำให้คนเป็นรู้เรื่อง ให้คนเป็นเข้าใจ
แต่เรากลับทำสิ่งที่คนเป็นไม่เข้าใจ มันเขวไปอย่างนี้
เพราะไปติดประเพณีสวดศพ โดยไม่รู้ว่าสวดเพื่อทำอะไร
ให้เรารู้ว่าสวดให้คนเป็นฟัง
แล้วเมื่อสวดให้คนเป็นฟังคนเป็นไม่รู้ภาษาที่สวด สวดไปทำไม
มันต้องสวดภาษาที่คนเป็นฟังรู้เรื่อง เมื่อจะสวดภาษาที่คนเป็นฟังรู้เรื่อง
ก็ต้องแสดงธรรม เช่นสมมติว่า พอมาประชุมพร้อมกันแล้ว เราแสดงธรรมเลยก็ได้
ถึงเวลาพร้อมแล้ว ทุ่มครึ่งพร้อม พระแสดงธรรมให้ฟัง
พอแสดงธรรมเสร็จแล้วก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง
เราจะถวายอะไรก็ถวายไปกับพระที่แสดงธรรมก็ได้
หรือไม่ถวายพระก็ถวายเป็นกองกลางไป ถวายเป็นส่วนก่อสร้างโรงเรียนไป
อะไรต่ออะไรไปตามเรื่องตามราว จะได้ประโยชน์กว่า
ได้อานิสงส์มากกว่าที่เราทำซ้ำแล้วซ้ำอีกกันอยู่อย่างนั้น
คนที่มีพรรคมีพวกมาก คนก็มาช่วยกันสวด ทำกันอยู่อย่างนั้น
ทำไมเราจึงไม่สามารถจะรวมคนมาทำสั้นๆ เช่นว่า เจ้าภาพมี 10 เจ้าภาพ เอาสัก
2 คืนๆ ละ 5 เจ้าภาพ หรือ จะมาอีกสัก 5 ก็เอาสัก 3 คืน มารวมกัน
เมื่อรวมกันปัจจัยก็มาก ปัจจัยที่มากนั้นจะเอาไปถวายพระที่เทศน์ที่สวด
มันก็มากเกินไป เพราะถวายส่วนบุคคลนี่ ถวายมากเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน
คือพระท่านฟุ้งซ่านได้ ได้มากแล้วมันเกิดกิเลส
อยากจะไปนุ่งกางเกงยีนอะไรกับเขาบ้าง เพราะว่ามีสตางค์เหลือใช้
เราไม่ยุให้พระเกิดกิเลส เราก็ไม่ถวายพระมาก
แต่เราถวายเป็นกองกลาง ถวายเป็นทุนของวัด ถวายเป็นมูลนิธิให้แก่วัด
หรือว่าวัดทำอะไรอยู่ เราก็สมทบสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งวัดกำลังก่อสร้าง
อันนี้จะช่วยให้พระศาสนาสดใสขึ้น เพราะว่าพระไม่มีสตางค์ใช้
พระมีสตางค์ใช้นี่มันยุ่งอยู่เวลานี้ ยุ่ง เป็นปัญหา
วัดไหนมีรายได้แย่งกันเป็นสมภาร วัดไหนไม่มีอะไร จ้างให้ไปเป็นก็ไม่ไปเป็น
นี่มันเรื่องอะไร มันเรื่องตัวปัจจัยตัวเดียว ที่มันยุ่งๆ กันอยู่นี้
วัดไหนมีป่าช้า เผาผีบ่อยๆ ใครๆ ก็อยากเป็นสมภาร
เพราะว่าเทศน์ทีไรสมภารก็ลงเทศน์ทุกที
บางทีก็เทศน์คนฟังไม่รู้ว่าท่านเทศน์เรื่องอะไรหรอก
แต่ว่าก็ยกหน้ากัณฑ์กลับกุฏิเท่ากันนั่นแหละ ไม่ได้เรื่องอะไร
อย่างนี้เราก็เปลี่ยนนโยบายได้
คือเปลี่ยนว่าเราถวายเป็นส่วนรวม หรือถวายเป็นทุนของวัดจะดีกว่า
เพราะวัดจะได้เก็บสิ่งนั้นไว้ใช้นานๆ จะได้เป็นประโยชน์ต่อไป
ดีกว่าถวายเป็นส่วนบุคคล ส่วนบุคคลนั้นถ้าเรารู้จักมักคุ้นกับพระในวัด
เราปวารณาไว้กับสมภารก็ได้ ถ้าพระขาดจีวรแล้วบอกดิฉัน ดิฉันจะซื้อถวาย
ขาดหนังสือขาดสมุด จะจัดถวาย อันนี้เรียกว่าทำบุญถูกต้อง ไม่พร่ำเพรื่อ
ไม่ฟู่มเฟื่อย ไม่สุรุ่ยสุร่าย พระก็สะดวกสบาย ได้ปัจจัยพอใช้ไม่ขาดแคลน
คือไม่ขาดในสิ่งจำเป็นจะต้องใช้ ไม่เหลือเฟือในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้
มันก็ดีขึ้น เป็นประโยชน์ขึ้น ก็เป็นการปรับปรุงองค์การศาสนาไปด้วยในตัว
อย่างนี้จะเป็นการถูกต้อง
เพราะฉะนั้นเมื่อเราตั้งศพไว้ เราก็ตั้งไว้เพื่อพิจารณา
ตั้งไว้เพื่อให้คนมาศึกษาอะไรๆ จากงานศพ
ในงานศพนั้นจึงต้องมีเฉพาะเรื่องพูดธรรมะ สนทนาธรรมะกัน
หรือว่าให้พระมาแสดงธรรม แสดงธรรมเสร็จแล้วมีข้อสงสัย เราก็มานั่งคุยกัน
สมควรเวลาแล้วก็ปิดศาลากลับบ้านได้ เอาไว้สัก 2-3 คืน
แล้วก็จัดการเผากันไปตามหน้าที่ เรื่องการทำบุญนั้น แม้ไม่มีศพอยู่ก็ทำได้
ไม่จำเป็นจะต้องมีศพเสมอไป เผาศพเสร็จแล้วเราก็ทำได้
เรานึกถึงคนที่ตายเมื่อใด เราทำบุญอุทิศไปให้แก่ผู้ตายนั้นๆ
ตามธรรมเนียมก็ใช้ได้ ไม่จ่าเป็นจะต้องว่ากันมากมายก่ายกองอย่างนั้น
นี่เป็นเรื่องน่าคิด
คือทำให้เป็นประโยชน์แก่คนเป็น เพราะจุดหมายนั้นต้องการพูดกับคนเป็น
ทำไมจึงต้องการพูดกับคนเป็น เพราะคนตายมันหมดทุกข์แล้ว ตายแล้วไม่ทุกข์
นอนนิ่งเฉย ใครทำอะไรก็ไม่ว่าอะไร หมดเรื่องกัน แต่คนเป็นมีความกลุ้มใจ
เพราะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็ย่อมมีความทุกข์ มีปัญหาขึ้นในชีวิต
พระไปช่วยเทศน์ช่วยแสดงธรรมให้คนนั้นได้รู้ความจริงของชีวิต
ได้เอาธรรมะไปเป็นหลักกลั่นกรองทางจิตใจ จะได้เกิดความเข้าใจว่า อ้อ
ธรรมดาสิ่งทั้งหลายมีเกิดก็ต้องมีตาย
ก็จะได้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนไป นี่คือจุดหมายที่ต้องการ
เมื่อเรารู้จุดหมายแล้ว สิ่งที่ไม่เข้าเป้าก็ต้องลิดทิ้งออกไปเสียบ้าง
เอาแต่เนื้อๆ สมมติว่ามีการทำศพ แล้วไม่สวด โยมอย่าไปตกใจว่า
ไม่ได้สวดให้คุณแม่ มันไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องสวด แต่ที่สวดอยู่นั้น
เพื่อเอาใจโยมเท่านั้นเอง ไม่ให้โศกเศร้าใจ เป็นทุกข์มากเกินไป
เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจกันแล้ว
อาจจะไม่สวดเลยก็ได้ มีเฉพาะแต่การแสดงธรรมก็ได้ นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้
ว่าการสวดนั้น ไม่ใช่สวดศพสวดผี
แต่เป็นการทำกิจกรรมเพื่อให้ตนเป็นผู้เข้าใจธรรมะ
ได้นำธรรมะไปเป็นหลักประเล้าประโลมไจ ให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
นั่นคือความถูกต้อง นี่ตัวอย่างเรื่องหนึ่ง
ครั้นถึงเวลาเราจะเผาศพกัน เวลาเผาศพนี่บางศพก็ทำใหญ่โต
ประดับประดาหรูหรามากมายก่ายกอง บางศพก็เอาแต่พอสัณฐานประมาณ
อันนี้ก็ยุ่งอยู่เหมือนกัน คือคนที่มีสตางค์ทำใหญ่ ทำอะไรใหญ่
เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น คนอื่นก็อยากทำอย่างนั้นบ้าง
เช่นเมื่อก่อนนี้ไม่มีการจัดดอกไม้ขึ้นไปตามราวบันได เดี๋ยวนี้มีจัดทุกแห่ง
อาตมาจำได้ว่า เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสักปีกลายนี้เอง จัดดอกไม้ที่ราวบันได
เพราะกล้วยไม้มันมากเมืองไทยเวลานี้ ดอกไม้มาก ก็เลยจัด
เมื่อจัดขึ้นสักรายแล้ว รายอื่นก็ทำตาม ไม่รู้เรื่อง พอมาถึงพวกป่าช้า
เพราะว่าในป่าช้ามีคนพวก หากินกับผีหลายพวกเหมือนกัน
พวกสัปเหร่อเรียกว่าประจำอยู่กับผีแล้ว ทีนี้พวกจัดดอกไม้อีกพวกหนึ่ง
มาติดต่อไว้กับพวกสัปเหร่อ หรือผู้จัดการป่าช้า
ว่าใครต้องการดอกไม้ก็ไปติดต่อร้านฉันนะ จะได้เปอร์เซ็นต์อะไรบ้างตามสมควร
เขาก็ไปติดต่อมาจัดให้
สมัยก่อนนี้เขาตั้งโลงศพไว้ แล้วเขาจัดดอกไม้ข้างๆ ใส่แจกันพอสวยพองาม
เดี๋ยวนี้ดันขึ้นไปวางไว้บนโลงเลย ดูแล้วมันไม่สมควร
ที่เอาดอกไม้ขึ้นไปวางไว้บนหีบศพ ถ้านึกแล้ว
ก็เหมือนกับไปวางไว้บนอกคุณแม่ที่ตายแล้วอย่างนั้นแหละ ถ้าเรานึกว่า แหม
ท่านคงจะหนักดอกไม้เหลือเกินแล้ว นอนอยู่นั้น มันไม่ถูก
เราประดับแต่ข้างล่างก็พอแล้ว บนโลงนั้นไม่ต้องมีอะไร เอาผ้าคลุมไว้
เป็นผ้าดำก็ได้ เพื่อจะได้เห็นง่าย หรือ เป็นผ้าริบบิ้นสวยๆ
มีไว้สำหรับป่าช้าเอามาคลุมไว้ แล้วก็ประดับดอกไม้ข้างล่าง
ใส่แจกันวางอะไรเป็นชั้นเป็นเชิงออกไปก็พอสมควร แล้วแต่ที่
วางไว้ข้างบนนี่อาตมาไม่ค่อยชอบใจเลย
ไปเห็นทีไรแล้วรู้สึกว่ามันหนักหน้าอกทุกที เพราะเอาไปวางไว้อย่างนั้น
มันไม่ใช่ที่วางที่บูชา
เราไปบูชาพระพุทธรูปนี้ ใครจะเอาดอกไม้ขึ้นไปวางไว้บนพระเศียรของท่านบ้าง
หรือว่าเอาไปผูกไว้บนไหล่ของท่านบ้าง มันไม่มี เขาวางไว้ข้างหน้า
ข้างที่สวยๆ งามๆ ศพนี่ก็เหมือนเราจัดดอกไม้
ไม่ต้องเอาไปวางไว้บนหีบเป็นท่อนใหญ่ๆ ตกช่อช่อหนึ่งไม่ใช่น้อย
ช่อละพันทีเดียวนะที่เอาไปวางไว้บนนั้น ช่อละพัน วันนั้นไปที่งานศพ
มีดอกไม้วางเพียง 3 ช่อข้างล่าง ถามว่า 3 ช่อนี่เท่าไร 3
ช่อนี่ราคาทั้งหมดพันห้าร้อย 3 ช่อ พันห้าร้อย แล้วก็เผา พรุ่งนี้ก็เผาแล้ว
ดอกไม้นั้นจัดคืนเดียว บอกว่ามันไม่ใช่พันห้าร้อย รวมทั้งหมดสี่พัน
เพราะพรุ่งนี้จัดที่บันไดด้วย เอาดอกไม้มาจัดบันไดด้วย กลายเป็นดอกไม้
สี่พันห้าพัน บางงานศพ เฉพาะดอกไม้นี่ วันเผาหมื่นหนึ่ง เอาไปจัดดอกไม้
แล้วดอกไม้นั้นก็ดูแว๊บเดียวเท่านั้นเอง ไม่ได้นานอะไรหรอก
แล้วก็เหี่ยวแห้งไป ร่วงโรยไป ความจริงพวกจัดดอกไม้เขาก็เก็บคืนไป
ดอกไหนเหี่ยวก็ทิ้งไป ดอกไม่เหี่ยวก็เอาไปจัดใหม่ เอาไปใส่อันอื่นต่อไป
กว่ามันจะเหี่ยวจริง
อาตมาเคยแอบไปดูที่วัดมกุฎ ที่เขาจัดดอกไม้อยู่ข้างหลัง นั่งจัดกันอยู่
เอาดอกไม้เก่านั่นแหละ แต่ว่าช่อไหนมันเหี่ยวมากก็ถอดทิ้ง
ช่อไหนไม่ค่อยเหี่ยวก็เอามาจัดใหม่ต่อไป พวกนี้ได้กำไรมาก เพราะของไม่ทิ้ง
ทิ้งนิดหน่อย แล้วเอามาจัดใหม่เพิ่มมาปะมาชุนกันเข้า พอจะหลอกตาเจ้าของได้
จัดกันไปจัดกันมา ราคานั้นเท่าเดิม แต่ดอกไม้ไม่ต้องชื้อ
เพราะเอาของเก่ามาใส่ได้ เราไปทำอย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นการสิ้นเปลืองไป
แต่ว่าโยมที่มีสตางค์บอกว่า เช้อ มันเรื่องของโยมนี่
เจ้าคุณไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร มันก็ไม่ได้เหมือนกัน
คือว่าเมื่อโยมคนหนึ่งทำแล้ว โยมอีกคนหนึ่งก็เอาอย่างอีก บอกว่า แหม
วันนั้นศพนั้นทำอย่างนั้น ฉันก็จะทำอย่างนั้นบ้าง ถ้าไม่ให้ทำอย่างนั้น
วัดไม่นุญาต เอ้า ! โกรธวัดอีก บอกไม่ไหววัดนั้น ไม่ให้ทำอย่างนั้น
ความจริงวัดที่ไม่ให้ทำคือช่วยให้ฉิบหายน้อยลงสักหน่อยเท่านั้นเอง
แต่เจ้าของกลับไม่ชอบ เพราะว่ามันเสียหน้าไป ไม่ได้จัดอย่างนั้น
การจัดฟุ่มเฟือยนี้เกิดมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ แล้วคนจัดดอกไม้ก็จัดแบบต่างๆ
เป็นช่อรูปอย่างนั้น รูปอย่างนี้ ให้มันแปลกๆ แปลกทีไรเพิ่มเงินทุกที
ไม่ใช่ลด ถ้าแปลกแล้วเงินก็เพิ่มขึ้นไป แล้วมันหนักกับใคร
ก็หนักกับเจ้าภาพนั่นเอง เจ้าภาพจะต้องทำลงไปด้วยความหนักอกหนักใจ
แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาทำกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้น
จึงต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นระเบียบขึ้นมา ว่าทำศพต้องอย่างนั้น
ให้มันเหมือนกัน ไม่ต้องมีการลดหลั่น แยกศพแยกผีกันต่อไป ให้มันเหมือนกันไป
มีอะไรก็ทำแบบเดียวกัน เอาง่ายๆ เรื่องที่ควรทำกลับไม่ได้ทำ
แต่กลับทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ที่เป็นอยู่เวลานี้มันเป็นอย่างนั้น
นี่คือการจัดดอกไม้ เพื่อจะอวดคนเวลาไปเผาศพกัน นี้เรื่องหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ของถวายพระ อยากจะบอกโยมว่า
ไม่จำเป็นที่จะต้องทอดผ้าบังสุกุลมากมายก่ายกอง ไม่ต้องมากอะไร
บางศพทอดตั้ง 10 ไตร แล้วผู้มีเกียรติมากเหลือเกิน เดี๋ยวเชิญคนนั้น
เชิญคนโน้น เชิญกัน เวลาจะเชิญก็มายืนปรึกษากันว่า
จะเอาใครก่อนจะเอาใครหลัง ผู้มีเกียรติมันมาก นานๆ เข้าก็ต้องจับสลาก
ว่าให้ใครขึ้นก่อนใครขึ้นหลังกันแล้ว เพราะมันหลายคนเกินไป
อาตมาฟังแล้วบอกว่า แหม รำคาญจริงๆ เอามันตามลำดับก็แล้วกัน ของใครก็ของใคร
ทีนี้มีลูกหลายคน เชิญนายของตัวมา
เมื่อเชิญมาก็ต้องให้นายได้ขึ้นไปทอดไตรบ้าง ก็เลยหาผ้าไตรมาให้ทอด
ผ้าไตรนั้นเอามาจากไหน ก็สั่งที่ป่าช้านั่นแหละ เผาวัดโสมนัส
ก็สั่งที่ป่าช้าวัดโสมนัสแหละ ป่าช้าเขาเตรียมผ้าไตรไว้แล้ว
สำหรับให้ทอดเอาหน้า แต่ไม่ได้ใช้หรอกผ้าไตรนั้น พอทอดเสร็จแล้ว
ถ้าเป็นพระวัดโสม ก็ถือลงมาแล้วสัปเหร่อก็เอาปัจจัยไปถวาย สมมติถวายสัก 50
บาท ก็เอาผ้าไตรคืนมา คนอื่นมาก็ผ้าไตรนั้นอีกแหละ ทอดไปทอดมา
| หน้าถัดไป >>
มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
มันเป็นเช่นนั้นเอง
ศีลธรรมและสัจจธรรม
แหล่งเกิดความทุกข์
องค์สามของความดี
หลักใจ
ทำดีเสียก่อนตาย
ตามรอยพุทธบาท
ฐานของชีวิต
ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ชั่งหัวมัน
อนัตตาพาสุขใจ
ฤกษ์ยามที่ดี
อดีต ปัจจุบัน อนาคต
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
สำนึกสร้างปัญญา
สอนลูกให้ถูกวิธี
ปฏิวัติภายนอกกับภายใน
ร้อนกายไม่ร้อนใจ
อย่าโง่กันนักเลย
การทำศพแบบประหยัด
คนดีที่โลกนับถือ
ความจริงอันประเสริฐ
เสรีต้องมีธรรม
ทาน-บริจาค
เกียรติคุณของพระธรรม
เกียรติคุณของพระธรรม (2)
พักกาย พักใจ
เกิดดับ
การพึ่งธรรม
อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์
มรดกธรรม
ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี
ทำให้ถูกธรรม
วางไม่เป็นเย็นไม่ได้