ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง องค์สามของความดี

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2515

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมะปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทะ ศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อัน เกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

คนไทยเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พุทธสาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เราได้ รับเอาพุทธศาสนามาเป็นสมบัติประจำใจเป็นเวลานานกว่าพันปีแล้ว บ้านเมืองของเรา ได้รับความร่มเย็น ก็เพราะบารมีของพระพุทธศาสนา เราจึงเทิดทูนพุทธศาสนาไว้ เสมอด้วยชีวิตของเรา มีหลายครั้งที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพคับขัน แต่โดยที่ชาวไทยและ ประมุขของชาติไทยยึดมั่นในธรรมะของพระพุทธองค์ ชาวเราจึงหลุดพ้นจากความเดือด ร้อนมาได้ ความเดือดร้อนและความสงบเป็นผลของการกระทำของประชาชนภายใน ประเทศ สมัยใดประชาชนมั่นคงในศีลธรรม ก็มีแต่ความสุขความสงบ แต่ถ้าสมัยใดประ ชาชนขาดศีลธรรม สมัยนั้นก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน

หลักพุทธศาสนาของเราได้ สอนให้เราเข้าใจว่า "ความสุข ความทุกข์ของเรา เป็นผลเนื่องมาจากการกระทำ ของเรา ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาดลบันดาลให้เราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ทำมัน ด้วยตัวเราเอง ครูบาอาจารย์เป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น การลงมือเดินเป็นกิจที่ เราเองจักต้องทำ" เมื่อเป็นเช่นนี้ การกระทำความดี จึงเป็นกิจจำเป็นของเราทุกคน

แต่การที่จักทำความดีนั้น ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนว่า ความดีคืออะไร? หลักที่ ควรจำง่ายๆ ในเรื่องความดีก็คือ สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์แก่ตน สิ่งที่ทำเป็นประโยชน์แก่ ผู้อื่น ท่านผู้รับรองว่าเป็นคนดี หลัก 3 ประการนี้ เป็นส่วนประกอบให้เป็นความดี ฉะนั้น ในเวลาจะกระทำอะไรเพื่อให้เป็นความดี ก็ควรพยายามทำให้ประกอบด้วยหลัก 3 ประการนี้ ขาดอันใดอันหนึ่งเสียมิได้ เหมือนก้อนเส้า 3 ก้อน ขาดก้อนหนึ่งหม้อแตก หลักนี้ก็เป็นเช่นนั้น

คนเราส่วนมากมักเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่ค่อยได้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่น ถ้าจะทำสิ่งใด ก็มุ่งแต่จะเอาประโยชน์ตนเป็นประมาณ ไม่ได้คิดว่าคนอื่นจักเสียผล คน เช่นนี้เป็นคนจำพวกที่ถือตนเป็นใหญ่ คิดเห็นเข้าข้างตนถ่ายเดียว เป็นคนเอาเปรียบสัง คม เพราะมุ่งหาและเก็บไว้เพื่อตนเองถ่ายเดียว ทำให้วัตถุอันเป็นของกลาง สำหรับ คนทั่วไปจักได้ใช้ และของเหล่านั้นมีเพียงพอสำหรับทุกคนจะหากิน หาใช้ แต่เกิดการ ไม่พอขึ้นก็เพราะคนบางคนโลภมาก แสวงหาและเอามาเพื่อตนถ่ายเดียว การกระทำใน รูปเช่นนี้ เป็นการเบียดเบียนประโยชน์ของผู้อื่น เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ เป็นความดี เมื่อเราจะแสวงหาประโยชน์แก่ตน ก็อย่าให้เป็นการทำลายประโยชน์ของ ผู้อื่น ให้เป็นคนคิดเห็นอกเขาอกเรา เพราะการเป็นอยู่ในโลกเป็นการเป็นอยู่แบบรวม กัน ผลประโยชน์ทุกอย่างต้องอิงอาศัยกัน ความสุขจึงเกิดขึ้นได้ประโยชน์ตน และประ โยชน์ท่าน จึงต้องมีส่วนสำพันธ์กันอยู่เสมอ

แต่ถ้าว่าในบางกรณี แม้การกระทำนั้นได้ประ โยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ก็ยังไม่แน่นักว่า จักเป็นความดีเสมอไป เช่นว่า นาย ก ทำ การต้มเหล้าขาย เขาคิดว่าการต้มเหล้าขายของเขาเป็นการได้ประโยชน์ตน ประ โยชน์ผู้อื่นก็ไม่เสีย เพราะมีคนจำนวนมากมาซื้อเหล้าจากเขาบ้าง มาพลอยร่วมวง เปล่าๆ บ้าง คงจะเป็นการดีแล้ว แต่ยังไม่ดีเพราะผู้รู้ทั้งหลายติเตียน การกระทำ เช่นนั้นว่า เป็นการผิดธรรม เป็นการผิดต่อกฏหมายของบ้านเมือง ผู้รู้ดีเขาติกันทั้งนั้น ฉะนั้นการกระทำเช่นนั้น จึงเป็นการเสียใช้ไม่ได้ ต้องมีองค์ที่สาม คือ ผู้รู้รับรองว่า ดีด้วย คำว่าผู้รู้ นั้นหมายถึงผู้รู้เหตุผลอย่างแท้จริง ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราก็ ยอมรับว่า ผู้รู้อย่างแท้จริงก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์ไม่มีชีวิตอยู่ก็จริง แต่คำสอนยังคงมีปรากฏตัวแทนพระองค์อยู่ ฉะนั้น เราจักทำอะไรลงไป ก็ต้องเอา หลักธรรมเป็นแว่นแก้วส่องดูเสียก่อนว่า การกระทำเช่นนั้นจักเป็นการขัดต่อคำสอน ของพระองค์หรือไม่

ถ้าเห็นว่าขัดกันก็ไม่ควรทำ ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นนำผลมาให้มาก หลาย เพราะผลที่เกิดจากการกระทำชั่วๆ นำความทุกข์มาให้แก่ผู้กระทำ พระพุทธองค์ จึงตรัสเตือนว่า ใค่รครวญก่อนจึงทำดีกว่า เพราะสิ่งที่ทำลงไปแล้วจักทำคืนอีกไม่ได้ การกระทำที่จักนำความเดือดร้อนมาให้ เป็นการกระทำที่ไม่ดีเป็นพระโอวาท ผู้ รักตนควรกกระทำโดยแท้

มีคำถามแทรกเข้ามาว่า ชาวโลกมีความต้องการอะไร? คำตอบพึงมีว่า ทุกคน ต้องการมีความสุข ความเจริญ ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ความเสื่อม แต่ทำไมทั้งๆที่ ทุกคนต้องการความสุข ความเจริญ เขายังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการสมหมาย กลับได้รับ ความทุกข์ ความเสื่อมเสมอ คำตอบในเรื่องนี้ก็มีอยู่ว่า เพราะเขาขาดคุณธรรมบางประ การ อันเป็นสิ่งสนับสนุน ให้เขามีความสุขสมหมาย

ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิบาต มีคำ กล่าวไว้ว่า คนอยู่เป็นทุกข์เพราะเหตุ 5 ประการ คือ 1 ไม่มีความเชื่อ 2 ไม่มี ความละอาย 3 ไม่มีความเกรงกลัว 4 มีความเกียจคร้าน 5 มีความรู้ชั่ว ในทางธรรมสอนให้เรามีความเชื่อในทางที่ชอบที่ถูก เป็นความเชื่อที่อาจนำผู้ปฏิ บัติตามไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ แต่มีคนจำนวนไม่ใช่น้อย ขาดความเชื่อในรูปนั้น เมื่อไม่มี ความเชื่อเขาก็ขาดความรู้สึกผิดชอบ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการทำความดี เพราะ ความรู้สึกผิดชอบ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นคอยสะกัดมิให้กระทำความชั่ว และบอกให้รู้ได้ทัน ที่ว่า สิ่งที่ตนกระทำอยู่นี้ เป็นสิ่งไม่ดี เป็นการฝึกต่อมในธรรมโดยแท้ ขณะใด ขาดความรู้สึกแบบนี้แล้ว ก็อาจก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดและเสียหายได้ง่าย เป็น ความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนควรเพาะนิสัยผิดชอบให้เกิดแก่ตน

การกระทำโดยวิธีนี้ ก็ เป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่งเหมือนกัน มีคนบางคนเข้าใจว่า การกระทำความดี หรือ ปฏิบัติกิจศาสนานั้น เป็นเรื่องของคนแก่ ส่วนคนหนุ่มสาวนั้นยังไม่จำเป็นก่อน ความเข้า ใจในรูปนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย เหมือนกับอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ทุกคน ถ้าร่างกายของใคร ขาดอาหาร ก็คงถึงแก่ความตาย ธรรมะเป็นอกหารหล่อเลี้ยงใจ ใจของใครขาดธรรมะ เขาก็คงเป็นอยู่แบบคนที่ตายแล้ว การตายในขณะเป็นอยู่ เป็นการตายที่ร้ายแรงกว่า การตายของคนตายจริงๆ เพราะคนตายจริงๆ ไม่ให้โทษแก่ใคร แต่คนตายยังเป็นอยู่ เพราะขาดคุณความดีนั้น เป็นภัยต่อสังคมมาก จึงเป็นตายที่น่ากลัวโดยแท้ ชีวิตที่ต้อง การอยู่อย่างคนเป็นจึงต้องมีธรรมะประจำใจ

ธรรมะเป็นเกราะป้องกันมิให้เราตกไปสู่ ความชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อีกประการหนึ่งการกระทำความชั่วย่อมเกิดแก่คนทุก เพศทุกวัย ถ้าหากเขาไม่มีเครื่องห้ามเครื่องกันแล้ว ความลำบากก็เกิดแก่เขาได้ง่าย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจิตใจกำลังคึกคะนองร้อนแรง ถ้าเอนไปในทางดีก็ดีนัก ถ้าเอน ไปในทางชั่วก็ชั่วนัก แต่ส่วนมากมักเอนไปในทางที่ชั่ว เพราะธรรมชาติของใจคน มี ปกติเดินไปในทางต่ำอยู่เสมอ ยิ่งขาดการห้ามด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่ ประดุจม้าคะนองที่ ขาดสารถีบังคับ ม้าที่กำลังคะนองและพยศต้องการมีบังเหียนและควานม้าผู้จับบังเหียน ไว้ฉันใด คนหนุ่มสาวที่กำลังคะนองก็ควรที่จักมีสิ่งสำหรับบังคับไว้ฉันนั้น

ก็สิ่งนั้นไม่มีอะไร ดีไปกว่าธรรมะในทางศาสนา จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หนุ่มสาวในสมัยนี้จักนำตน เข้าหาพระกันเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นมารร้ายจักจูงท่านไปสู่ทางร้ายซึ่งมีตัว อย่างปรากฏอยู่อย่างชุกชุมในสมัยนี้ อันเป็นผลจากการขาดความสนใจในธรรมะ เป็น คนนับถือศาสนากันแต่เพียงชื่อเท่านั้น คนหนุ่มสาวยังมีหวังที่จะอยู่ไปในโลกอีกนานปีมากกว่าคนแก่ และจักมีโอกาสได้ กระทำความดีแก่โลกมากขึ้นไปอีก ความจำเป็นในการแสวงหาหลักทางใจจึงมากกว่า คนแก่เป็นธรรมดา คนไม่มีหลักศาสนาในใจเป็นคนปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยวเขาอาจทำ ผิดทำเสียเมื่อไรก็ได้ ในเรือนจำนักโทษ ส่วนมากเป็นคนหนุ่ม คนแก่มีแต่น้อย นี้ก็เนื่อง จากคนแก่ท่านมีธรรมะรั้งใจ ส่วนคนหนุ่มขาดคุณธรรมรั้งใจ จึงก่อกรรมทำเข็ญได้มาก ถ้าหากท่านไม่อยากเป็นทุกข์ จงหันเข้าหาธรรมะกันเถอะ เพราะถ้าไม่เข้าหาธรรมะ อธรรมก็จะเข้าจับใจของท่าน

ธรรมกับอธรรมให้ผลต่างกัน คือ ธรรมจะนำตนไปสู่ สถานที่ดี อธรรมนำตนไปสถานที่ชั่ว ท่านชอบอย่างไหนก็เลือกเอาเอง นึกว่าท่านคงไม่ เลือกอธรรมแน่ๆ เพราะใจของท่านยังปรารถนาความสุขความเจริญอยู่ จึงหวังว่า ท่านคงเลือกเอาธรรมะเป็นฝ่ายดี เป็นฝ่ายที่ทำให้ท่านเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ การที่เราเรียกกันว่ามนุษย์นั้น ย่อมหมายถึงร่างกายและจิตใจอันอาศัยกันอยู่ ดังคำ ว่า กายกับใจประกอบกันเข้า คำว่า "คน" จึงเกิดขึ้น ถ้ามีกายไม่มีใจ หรือมีแต่ใจไม่ มีกายก็หมดความเป็นคน ทั้งสองอย่างต้องอาศัยรวมกันเป็นอยู่เสมอ ในการบำรุงจึง ต้องบำรุงทั้งสองอย่าง

แต่คนเราส่วนมากมักพอใจบำรุงแต่ส่วนร่างกาย หาสนใจการบำ รุงใจไม่ มิใช่แต่ได้บำรุงเท่านั้น ซ้ำร้ายยังทำลายใจกันเสียด้วย การทำลายใจ ของตนก็คือ การห่างเหินจากธรรมะนั่นเอง ถ้าเราบำรุงกายด้วยอาหารการกิน อาบน้ำ ตกแต่งอย่างไหนแล้ว เราก็ต้องบำรุงใจด้วยอาหารและน้ำฉันนั้น อาหารของกายเป็นคำ ข้าว อาหารของใจเป็นธรรมะ ธรรมะนี่แหละเป็นอาหารของใจ ถ้าร่างกายอ้วนพี เพราะได้รับการบำรุงอย่างดีแล้ว ก็ควรบำรุงใจให้เป็นอย่างนั้นด้วย ใจที่ขาดการบำ รุงเป็นใจที่ซูบผอม ขาดกำลังสำหรับต่อสู้ เมื่อขาดกำลังย่อมแพ้ข้าศึกได้ง่าย ข้าศึก ทางกายได้แก่โรคภัยนานาชนิด ข้าศึกทางใจได้แก่ความชั่วทำใจให้อ่อนแอนั่นเอง ความชั่วที่เรียกว่า กิเลสบ้าง มารบ้าง ซาตานบ้างก็มี และถ้าเอาชนะไม่ได้ก็ต้องพ่าย แพ้ต่อมัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นดังคำที่ว่า

การพ่ายแพ้เป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะตกอยู่ในอำ นาจของมารร้ายที่คอยดึงไปสู่หลุมอบาย ตกเป็นทาสของมัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า การเป็นทาสเป็นทุกข์หนัก แต่ถ้าเรามีหลักในทางใจ มีอาหารหล่อเลี้ยง มีกำลังสกัด ต่อต้าน โดยวิธีการเข้าหาการฟังธรรมะ สนทนาธรรมะ คิดค้นธรรมะให้เข้าใจแจ่ม แจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติธรรมะนั้นๆ ให้ใจอ้วนพีมีกำลังมั่นคง ไม่มีข้าศึกใดๆ มาย่ำยีได้ เลย เมื่อไม่มีข้าศึกมารบกวน ก็นอนหลับอย่างเป็นสุขในหมู่ของคนที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ ทั้งหลาย ธรรมะย่อมรักษาคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมอย่างนี้แหละหนอ

มีพุทธภาษิตกล่าวไว้ว่า "ธมฺมกาโม ภวํ โหติ - ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ" ใน ทางตรงกันข้าม ผู้ไม่ใคร่ธรรมก็เป็นคนเสื่อมแน่ ความใคร่ธรรมก็คือความอยากได้ใน ทางดี ตรงกันข้ามกับความชังธรรม อันหมายถึงความไม่ปรารถนาในทางดีเสียเลย ภาษิตไทยโบราณ "รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา" จั่วเป็นของสูง เสาเป็นของต่ำและหนัก ด้วย นับว่าเป็นคำเตือนใจได้อย่างดี ให้พยายามทำตนเป็นคนเบากันเถิด อย่าเป็นคน หนักด้วยบาปอกุศลกันเลย คนจักเบาใจได้เพราะการกระทำในทางดี ทางดีเป็น ทางธรรม เป็นทางของพระที่ได้ประกาศไว้เป็นตัวศาสนา

ศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิต จึงเป็นการสมควรที่พวกเราจักเปลี่ยนใจมีเดินทางของศาสนา อันเป็นทางที่สงบและ ปลอดภัย การเดินก็เช่นเดียวกัน อย่ามัวให้ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เป็นอันขาด เมื่อรู้สึก ตนต้องการธรรมแล้ว ก็จงลงมือทำทันที่ เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ถ้าหากจะทำ ความดีจงทำทันทีอย่าช้าไว้เป็นอันขาด เพราะการทำความดีช้าๆ อาจตกไปสู่บาปเสีย" อีกแห่งหนึ่งตรัสสอนไว้ว่า "ความเพียรควรทำเสียแต่วันนี้ อย่าผลัดไว้ค่อยทำเลยเพราะ ใครจักรู้ได้ว่า ชีวิตจักตายในวันนี้" คิดอย่างนี้เป็นการคิดเพื่อเตือนใจให้เข้าหาความดี คนไทยโบราณก็ได้สอนไว้ว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก" น้ำลงจักไปตักได้ที่ไหน ฝรั่งสอนว่า "จงตี เหล็กเมื่อยังร้อน จงดายหญ้าเมื่อแดดออก" เหล่านี้เป็นคำเตือนใจให้รีบกระทำในสิ่งที่ ควรกระทำ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอันเกี่ยวกับใจเป็นงาน่รีบด่วน ช้านิดเดียวไม่ได้ จึง ควรมีสำนึกในเรื่องนี้ แล้วออกเดินทางทันที ทางได้เปิดไว้แล้วสำหรับทุกคน เป็น ทางตรงไปสู่ความพ้นทุกข์ ทางที่กล่าวถึงก็ คือ การเดินทางกาย วาจา ใจ ตามหลักพระพุทธศาสนา มีอยู่ ทางเดียวเป็นทางเอก อันประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นทางที่เป็นไปเพื่อ ความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความดับสนิทของความโศกร่ำไรรำพัน เพื่อ ความดับสนิทของทุกข์โทรมมนัส

เป็นทางที่พระบรมครูของเราทรงค้นพบด้วยพระปรีชา สามารถ และทรงเดินตามนั้น จนกระทั่งพ้นทุกข์ได้สมความปรารถนา มิใช่เดินแต่ลำพัง พระองค์ ยังทรงมีพระเมตตาแก่ชาวโลกผู้ตกอยู่ในกองทุกข์ ได้ทรงสอนให้เขาได้เข้าใจ หนทางนั้น และทรงเร่งเร้าให้ทุกคนเดินตามทางนั้น เป็นทางที่ทำให้ผู้เดินตามเปลี่ยน จากสภาพของปุถุชนไปเป็นพระอริยเจ้า เป็นทางที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงจากความทุกข์ ไปเป็นทางสงบสุข เป็นทางที่ให้ประโยชนแก่ทุกคนทุกสมัย ตราบใดที่ชาวโลกยังเห็นว่า ทางนั้เป็นทางถูก และพยายามเดินตามทางนี้อยู่แล้ว โลกจึงไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทางนั้นอันประกอบด้วยองค์แปดนี้คือ

1.สมฺมาทิฏฺฐิ - ความเห็นชอบ
2.สมฺมาสงฺกปฺป - ความคิดในทางที่ชอบ
3.สมฺมาวาจา - การพูดในทางที่ชอบ
4.สมฺมากมฺมนฺต - การกระทำที่ชอบ
5.สมฺมาอาชีว - การเลี้ยงชีวิตชอบ
6.สมฺมาวายาม - การทำความเพียรชอบ
7.สมฺมาสติ - การระลึกในทางที่ชอบ
8.สมฺมาสมาธิ - ความตั้งใจมั่นชอบ


มรรคหรือหนทางอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการนี้ เป็นทางสายกลางที่นำคนผู้เดิน ตามไปสู่ความพ้นทุกข์ ที่อิงทางนี้ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง คือ สัมมาทิฏฐิและ สัมมาสังกัปปะ เป็นตัวปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ส่วนนี้เป็นศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ส่วนนี้เป็นสมาธิ รวมความก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นบทเรียน 3 ประการ ของพระพุทธศาสนานั่นเอง

ต่อไปจักได้พิจารณาถึง มรรคเหล่านี้ไปตามลำดับ พอเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์

1.สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นในทางที่ชอบ ทิฏฐิ แปลว่าความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ในภาษาไทยมักหมายถึงความชั่ว เช่นพูดว่า คนนั้นทิ ฏฐิแรงมาก ต่อเมื่อได้ใส่คำเข้าข้างหน้า เช่น มิจฉาทิฏฐิ ก็หมายถึงความเห็นผิด สัม มาทิฏฐิ ก็หมายถึงความเห็นถูก ที่เอาคำอื่นมาใส่ข้างหลัง ทำให้เป็นคุณบทไปก็มี เช่น ทิฏฐิสัมปันโน-ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ทิฏฐิวิปันโน-วิบัติด้วยทิฏฐิ ในที่นี้มุ่งกล่าวถึงสัมมาทิฏฐิอัน เป็นทางประกอบของทางสายกลาง เรื่องของความคิดเห็นหรือความเข้าใจเป็นมูล ฐานอย่างสำคัญของการกระทำ ถ้าผู้ใดมีความเห็นถูกตรงแล้ว การกระทำเป็นไปใน ทางที่ดี ผู้มีความเห็นผิด การกระทำก็เป็นไปในทางชั่วเสีย ข้อนี้เป็นความจริงโดยแท้

ลองสังเกตเพื่อนของท่านก็พอเห็นได้ เช่น ถ้าเขามีความเห็นว่า การดื่มเหล้าเป็น ของดี เป็นเครื่องสมานมิตร เขาจักเป็นนักเลงเหล้าที่ดื่มได้อย่างไม่อั้นที่เดียว ถ้าใคร ไปชวนให้เขาเลิก เขาอาจเห็นเป็นความคิดที่เหลวไหลไปเลย คนใหนเห็นว่าการไม่ โกงไม่ร่ำรวย เขาก็ต้องเดินตามความเห็นของเขา นักศาสนาที่มีความเห็นในหลักใดก็ พอใจในหลักนั้น ทำตามความคิดเห็นนั้นๆ เสมอไป จึงเห็นได้ว่า ความเห็นก่อให้เกิด การกระทำทั้งส่วนดี และส่วนเสีย

การกระทำทั้งมวลของบุคคลและจากความเห็นของ เขา ความเห็นของแต่ละบุคคล การรวมกันเข้าก็เป็นความเห็นสาธารณ และการกระทำ ให้เกิดจากความเห็นแบบนั้น อันเป็นไปในทางที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง สุดแล้วแต่พื้นฐาน ของความเห็นโดยเหตุนี้แหละเจ้าลัทธิทุกฝ่ายไม่ว่าในด้านใหนได้ทำการชักจูงให้ประชา ชน มีความโน้มเอียงมาตามความเห็นฝ่ายตน โดยบอกให้เห็นว่า คนที่มีความเห็นแบบนี้ ย่อมเป็นคนก้าวหน้างอกงาม อยู่กันฉันท์พี่น้อง เมื่อชักจูงมากๆ เข้าก็เกิดความสนใจศึก ษาเห็นว่าดีก็รับไว้ อันการชักจูงนั้นเขาอาจทำของดำให้เป็นของขาว ของขาวให้เป็น ของดำ เพื่อยั่วใจของผู้ฟังก็ได้

ในทางด้านศาสนาก็มีความเห็นต่างๆกัน ใครมีความเห็นแบบใดก็พูดชักจูงคนให้ค ล้อยตามความเห็นในแบบนั้น ที่สุดก็มีหลายแบบหลายความเห็น ต้องถกเถียงกันเป็นการ ใหญ่ ทำไมจึงถกเถียงกัน เพราะเขาเป็นผู้ยึดถือในความเห็นของตนๆ ต่างก็ถือว่า อัน นี้จริง อันอื่นหาจริงไม่ เมื่อไม่ยอมกันก็เถียงกัน การยึดมั่นในความเห็น เป็นกิเลสแบบ หนึ่ง ท่านเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน - การยึดมั่นในความเห็น การยึดถืออย่างนี้ก็เป็นทุกข์ เหมือนกัน ทุกข์เพราะคิดว่า คนอื่นไม่เห็นเหมือนตัว ทุกข์ว่าน่าสงสารเขาที่เป็นคนเห็น ผิด แต่เจ้าตัวเองหาได้รู้ไม่ว่าตนเองก็เป็นคนเจ้าทิฏฐิ เห็นอะไรผิดอยู่เหมือนกัน

ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์มาถามพระพุทธองค์ว่าพระองค์มีทิฏฐิอย่างไร? ตรัสตอบว่า "ตถาคตไม่มี ทิฏฐิ" เพราะไม่ทรงยึดมั่นในอะไรๆ ทรงใช้ความรู้ความเห็นเป็นทางเดินเหมือนคนใช้ แพข้ามฟาก หาได้ทรงติดในแพนั้นไม่ จึงทรงกล่าวตอบอย่างนั้น ทิฏฐิหรือความเห็นผิด มีอิทธิพลเหนือใจคนเหนือสังคมอยู่มาก จึงเป็นการจำเป็นที่ ต้องมอบความเห็นในทางที่ชอบไว้แก่เขา ตั้งแต่ใจของเขายังว่าอยู่ ยังไม่ได้รับอะไร ไว้ว่าเป็นลัทธิของตน การทำงานอย่างนี้เป็นงานของผู้นำในครอบครัวที่ให้การศึกษาแก่ เด็กของตนอย่างถูกต้อง เพื่อให้เขารับไว้เฉพาะแต่สิ่งที่ถูกต้องอย่างเดียว

ไม่ว่าในด้านศาสนาการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจ งานอย่างนี้เป็นงานที่ต้องทำอย่างรีบด่วน ช้าไว้ ไม่ได้ เพราะเรื่องของใจคนเป็นเรื่องที่ช้านาที่เดียวก็เสียหาย จึงต้องพร้อมกันให้ ความเห็นถูกแก่เขา เราจะเห็นได้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเล่อร์ประมุขของประ เทศเยอรทันได้ทำการชักจูงใจชนเยอรมันให้เกิดความเชื่อว่า ชนเยอรมันเท่านั้นเป็น อารยัน เป็นผู้สมควรจักครองโลก นักรบเยอรมันเป็นนักรบไม่รู้จักคำว่าแพ้ พูดเสมอๆ ในวิทยุกระจายเสียง ในหนังสือพิมพ์ในบทละคร ในการสอนในโรงเรียนตลอดถึงใน ครอบครัว เป็นการฉีดความเห็นอย่างนี้เข้าสมองของเด็กหนุ่มเยอรมัน ผลที่สุด แถวทหารกล้าตายก็พร้อมพรัก เยอรมันทั้งชาติได้เข้าสู่สงคราม และได้รับความแหลก ลาญไปหมด

ความเห็นที่กล่าวในสมัยผู้นำมีอำนาจ ก็ยังคงถูกอยู่แต่มิใช่ถูกโดยธรรม ถูกตามความเห็นของเขาเท่านั้น ความถูกแบบนี้เป็นความถูกที่กลับกลายได้ เป็นความ ถูกที่ไม่ถูกแท้จริง ความเห็นที่มิใช่เป็นความจริงแท้ขั้นเด็ดขาด ซึ่งเรียกว่า อันติมติ แล้วยังมี การกลับกลายได้เสมอ

สมัยหนึ่งเขาว่าโลกแบน ดวงตะวันเป็นเทวดาชักรถเทียมม้า ส่องแสงสว่างแก่โลก พวกเดินเรือไม่กล้าไปไกลๆ เพราะกลัวจะตกออกไปนอกโ ลก แต่ต่อมาเขาเห็นกันใหม่ว่าโลกกลม โลกเดินรอบตัวเอง และเดินรอบดวงอาทิตย์ อาทิตย์เป็นไฟดวงใหญ่เวลานี้ชาวโลกมีความเข้าใจกันเช่นนั้น แต่ความเห็นแบบนี้ก็มิได้ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริงเป็นความเห็นด้านโลกเท่านั้น หาเป็นความเห็นที่ ควรจะเอามาเถียงกันไม่

ในฐานะที่เราท่านทั้งหลายเป็นชาวพุทธ ลองมาศึกษาความเห็นตามหลัก พุทธธรรม เป็นความเห็นที่เที่ยงแท้เป็นความเห็นที่พิสูจน์ได้ด้วยใจของตนได้ เป็น ความจริงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถึงแม้สิ่งทั้งหลายในโลกเปลี่ยนไป ความจริงหาได้ เปลี่ยนไปไม่ ก่อนที่เราจะเข้าถึงความเห็นที่ถูกต้อง - จริง - แท้ ของพระพุทธองค์ เรา ลองมาพิจารณาถึงความเห็นของคนในยุคของพระพุทธองค์กันสักเล็กน้อย คนในยุคก่อน แต่พระพุทธเจ้าบังเกิดเล็กน้อย หรือนานไปมาก จนกระทั่งถึงเวลาพระพุทธเจ้าแล้ว เขามีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็นอย่างมากทีเดียว ในเรื่องเกี่ยวกับการเกิด การตาย การได้รับความทุกข์สุข ตลอดถึงเรื่องโลกที่เขาอาศัยอยู่นี้ด้วย เขามีความเชื่อแปลกๆ ตามความคิดเห็นของเขา และปฏิบัติตามความคิดเห็นของเขา

ประการต้นในเรื่องเกี่ยวกับโลกและชีวิตเขาถือว่าโลกนี้มีผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้สร้างเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด ตัวผุ้สร้างเองเป็นผู้เกิดมาเอง เกิดจากความสิ่งว่างเปล่าเป็นตัวขึ้นแล้วสร้างอะไรต่ออะไร ให้ยุ่งไปหมด บางพวกถือผู้สร้างองค์เดียว บางพวกถือหลายองค์ ความเห็นก็แตก แยกออกไป เลยเป็นเหตุให้ทะเลาะกันยุ่งไปหมด

เพราะความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องความสุข-ทุกข์ บางพวกว่าสุขทุกข์เกิดจากภายนอก เช่นเทวดาดลให้เป็นไป ถ้าเทวดาโกรธก็ทำให้เป็นทุกข์ ถ้าเทวดาพอใจก็ช่วยให้เป็นสุข ความพอใจหรือไม่พอใจของเทวดาอยู่ที่การประจบกราบไหว้ เพียงพอหรือไม่เพียงพอฉะนั้น เขาจึงทำการบูชาเทวดาเป็นการใหญ่ ฆ่าสัตว์ ฆ่าคน บูชาเทวดา เป็นการกระทำที่อยากได้ ความสุข แต่ให้ผู้อื่นสัตว์อื่นเป็นทุกข์ เป็นการกระทำที่ดีหรือไม่ ลองคิดดูก็พอมองเห็น

 | หน้าถัดไป >>


มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข
ทุกข์ซ้อนทุกข์
ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
มันเป็นเช่นนั้นเอง
ศีลธรรมและสัจจธรรม
แหล่งเกิดความทุกข์
องค์สามของความดี
หลักใจ
ทำดีเสียก่อนตาย
ตามรอยพุทธบาท
ฐานของชีวิต
ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ชั่งหัวมัน
อนัตตาพาสุขใจ
ฤกษ์ยามที่ดี
อดีต ปัจจุบัน อนาคต
วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า
สำนึกสร้างปัญญา
สอนลูกให้ถูกวิธี
ปฏิวัติภายนอกกับภายใน
ร้อนกายไม่ร้อนใจ
อย่าโง่กันนักเลย
การทำศพแบบประหยัด
คนดีที่โลกนับถือ
ความจริงอันประเสริฐ
เสรีต้องมีธรรม
ทาน-บริจาค
เกียรติคุณของพระธรรม
เกียรติคุณของพระธรรม (2)
พักกาย พักใจ
เกิดดับ
การพึ่งธรรม
อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์
มรดกธรรม
ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี
ทำให้ถูกธรรม
วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» ชาร์ลส์ ดาร์วิน
ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้มีบทบาทนำให้เกิดการศึกษาค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการมากที่สุด ดาร์วินเสนอควาามคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ

» สงครามครูเสด (THE CRUSADES)
ดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นถิ่นกำเนิดของ พระเยซูไครสท์นั้นถือกันว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชน พากันไปจาริกแสวงบุญ ตั้งแต่ต้นคริสตกาล

» อาริสโตเติ้ล
อาริสโตเติ้ลเป็นชาวเมืองสตากีรา (Stagira) บิดารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอามินตัส (Amyntas) กษัตริย์แห่งมาเคด็อน (Macedon)

» ยอดมนุษย์
เรื่องราวและชีวิตของพวกเขา บางเรื่องเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่า เป็นความจริง บางคนไร้ตัวตนบางคนล้มเหลว บางคนเป็นต้นแบบ เป็นอาชญากร

» รพินทรนาถฐากูร
หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน

» ประเทศไทย 77 จังหวัด
ประวัตศาสตร์,ความเป็นมา,ศิลปะ,วัตนธรรม,ประเพณีสถานที่สำคัญ,แหล่งท่องเที่ยว

» สงครามเวียดนาม
เอกราชของขบวนการชาตินิยมเวียดมินห์ ต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยมเดิมคือ ฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสถอนตัวสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่และสนับสนุนเวียดนามใต้

» คาลิล ยิบราน
คาลิล ยิบราน ศิลปินผู้ใฝ่ฝ่ายจิตนิยม เขามักจะเทศนาหลักธรรมะ ด้วยการแสดงออกทางศิลปกรรม